คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 ในมะเร็งเต้านมที่อ้วนและน้ำหนักตัวเกินที่รอดชีวิต

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง-01

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 ในมะเร็งเต้านมที่อ้วนและน้ำหนักตัวเกินที่รอดชีวิต

มะเร็งเต้านมในสตรีพบสูงสุดเป็นลำดับ1ของมะเร็งสตรีทั่วโลก ปัจจุบันมีวิธีรักษาที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้นในผู้ป่วยทุกระยะโรค ส่งผลให้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยสูงขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะในประเทศเจริญแล้ว ซึ่งอัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะต่างๆในสหรัฐอเมริกา คือ ประมาณ 90% เมื่อระยะโรคจำกัดอยู่ในเต้านม, ประมาณ 80% เมื่อโรคลุกลามเพียงต่อมน้ำเหลืองรักแร้, และประมาณ 20-30% เมื่อโรคแพร่กระจายเข้ากระแสเลือดแล้ว,  อย่างไรก็ตามมีหลายการศึกษารายงานตรงกันว่า มะเร็งเต้านมสตรีหลังครบการรักษาเมื่ออยู่ได้นานขึ้นจะเกิดมะเร็งชนิดที่2ได้สูงขึ้น มีรายงานพบประมาณ 7.5% เมื่ออยู่รอดถึง 10ปี เช่น มะเร็งเต้านมอีกข้าง(พบสูงสุด), มะเร็งรังไข่, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งต่อมไทรอยด์, มะเร็งเม็ดเลือดขาว  

คณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกานำโดย ดร. Heather Spencer Feigelson จาก Kaiser Permanente Colorado Institute for Health Research, Denver, โคโลราโด จึงต้องการศึกษาว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินร่วมด้วยตั้งแต่วินิจฉัยโรคได้ มีผลเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดที่2หรือไม่, และได้รายงานผลการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา Journal of the National Cancer Institute  ทางอินเทอร์เนท เมื่อ 5 เมษายน 2021

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาแบบย้อนหลัง(Retrospective cohort study)จากข้อมูลของ Kaiser Permanente Colorado and Washington ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีทั้งหมด 6,481 ราย, ค่ากึ่งกลางอายุเมื่อวินิจฉัยมะเร็งฯ = 61.2 ปี,  มีน้ำหนักตัวเกิน = 33.4%, อ้วน = 33.8%, มะเร็งระยะ 1 = 62%, และพบเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 = 822 ราย (12.7%) ที่ค่ากึ่งกลางระยะติดตามโรค = 88 เดือน 

จากสถิติการวิเคราะห์พหุตัวแปรพบว่า ทุกๆค่าดัชนีมวลกายที่เพิ่มขึ้น 5 กก./พื้นที่ร่างกาย1ตารางเมตร  ปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 จะเพิ่มขึ้น = 7% (RR = 1.07),  โดยเป็นมะเร็งชนิดที่ 2 ที่สัมพันธ์กับโรคอ้วน = 13% (RR = 1.13), และ 11% มะเร็งชนิดที่ 2 คือมะเร็งเต้านมอีกด้าน (RR = 1.11) ซึ่งในกลุ่มนี้เป็นมะเร็งเต้านมชนิดจับฮอร์โมนเอสโตรเจน 15% (RR = 1.15)  

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การศึกษานี้พบว่า โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมตั้งแต่แรกวินิจฉัยโรค เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งชนิดที่ 2 ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่รอดชีวิตหลังครบการรักษาอย่างมีความสำคัญทางสถิติ ดังนั้นข้อมูลนี้สามารถนำไปใช้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจติดตามโรคของผู้ป่วยกลุ่มนี้เพื่อจะได้พบมะเร็งชนิดที่ 2 ตั้งแต่เนิ่นๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของการรักษา และยังเป็นข้อมูลทางสาธารณสุขที่จะแนะนำดูแลประชากรไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน

บรรณานุกรม

  1. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6970432/ [2022,June27]
  2. Heather Spencer Feigelson, et al. Body Mass Index and Risk of Second Cancer among Women with Breast Cancer.  Journal of the National Cancer Institute. https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/33823007/  (abstract)  [2022,June27]
  3. https://www.cancer.org/cancer/breast-cancer/understanding-a-breast-cancer-diagnosis/breast-cancer-survival-rates.html   [2022,June27]