คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดของมะเร็งผิวหนัง
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 มิถุนายน 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดของมะเร็งผิวหนัง
มะเร็งผิวหนังชนิด’ไม่ใช่มะเร็งไฝ’(มะเร็งผิวหนังเมลาโนมา) ทั่วโลกรายงานในปี ค.ศ.2018 ทั้งเพศหญิงและเพศชายพบบ่อยเป็นลำดับ5ของมะเร็งทุกชนิด ส่วนประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติในปีค.ศ2018 มะเร็งผิวหนังไม่ติด10ลำดับพบบ่อยทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งกลุ่มไม่ใช่มะเร็งไฝชนิดที่มีความรุนแรงระดับปานกลางคือชนิด’สแควมัสเซลล์(Squamous cell carcinoma)’ การรักษาหลักของมะเร็งชนิดนี้ คือ การผ่าตัด ส่วนการฉายรังสีรักษาจะใช้กรณีผ่าตัดไม่ได้ หรือผ่าตัดออกได้ไม่หมด หรือมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัด
คณะแพทย์จากฝรั่งเศสนำโดย พญ.Adeline Petre จาก Centre Léon Bérard, Lyon ฝรั่งเศส จึงต้องการศึกษาว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดการกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดในมะเร็งผิวหนังสแควมัสเซลล์นี้ และได้นำเสนอผลการศึกษาในการประชุมประจำปีด้านโรคมะเร็งของแพทย์ในยุโรป (European Society for Medical Oncology : ESMO Congress 2021) เมื่อ 16-21 กันยายน 2021 ที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์, abstract 1067P โดยศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งผิวหนังสแควมัสเซลล์ของโรงพยาบาล Centre Léon Bérard จำนวน ทั้งหมด 303ราย มีระยะกึ่งกลางติดตามโรค=54เดือน, พบผู้ป่วยโรคกลับเป็นซ้ำ34% ผลการศึกษาพบว่า
- ปัจจัยโรคกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดโดยไม่ได้รับรังสีฯร่วมด้วย คือ เซลล์มะเร็งลุกลามลงลึก, ขนาดก้อนมะเร็งที่ใหญ่, ตำแหน่งผิวหนังที่เกิดมะเร็ง, มีการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็งสูง, และเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาท
- แต่ที่มีความสำคัญทางสถิติ คือ เซลล์มะเร็งแบ่งตัวสูง(p<0.001), และเซลล์มะเร็งลุกลามเข้าเนื้อเยื่อรอบเส้นประสาท(p=0.027)
- ปัจจัยที่พบว่าสัมพันธ์แต่ยังไม่สำคัญทางสถิติกับโรคกลับเป็นซ้ำหลังผ่าตัดวิธีการเดียวคือ เซลล์มะเร็งลุกลามลงลึก, ขนาดก้อนมะเร็ง, และตำแหน่งผิวหนังที่เกิดมะเร็ง
- ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคกลับเป็นซ้ำจะยิ่งสูงขึ้นเมื่อพบปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัยร่วมกันโดยเฉพาะตั้งแต่3ปัจจัยขึ้นไป
- ไม่มีความต่างกันในระยะเวลาปลอดโรค(Progression-free survival) ของผู้ป่วยที่ผ่าตัดวิธีเดียว และผ่าตัด+รังสีฯ(p=0.087)
- แต่ ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่3ปัจจัยขึ้นไป ระยะเวลาปลอดโรคหลังรักษาจะสูงขึ้นอย่างสำคัญทางสถิติในผู้ป่วยที่ได้การผ่าตัด+รังสีฯเมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดวิธีเดียว(p=0.028)
บรรณานุกรม
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- https://www.wcrf.org/dietandcancer/skin-cancer-statistics/ [2022,May17]
- https://jnccn360.org/non-melanoma-skin-cancers/news/predictive-factors-of-relapse-in-cutaneous-squamous-cell-carcinoma/?utm_source=JNCCN%2D360%2DINTL%5F10%2F19%2F21&utm_medium=email&utm_term=fe87e3e00a453fe4f46a2bf99c662629 (Abstract 1067P) [2022,May17]