คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การตั้งครรภ์หลังครบการรักษามะเร็งเต้านม

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การตั้งครรภ์หลังครบการรักษามะเร็งเต้านม

ปัจจุบัน มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งพบบ่อยลำดับ1ของสตรีทั่วโลกที่รวมถึงประเทศไทย และพบในสตรีในวัยอายุน้อยที่ยังต้องการมีบุตร  คณะแพทย์จากประเทศในกลุ่มอียู/ยุโรป นำโดยแพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็ง นพ.Matteo Lambertini จาก  Department of Medical Oncology, U.O. Clinica di Oncologia Medica, IRCCS Ospedale Policlinico San Martino, Genova, ประเทศอิตาลี จึงต้องการศึกษาว่า การตั้งครรภ์หลังได้รับการรักษาครบในมะเร็งเต้านมมีผลอย่างไรต่อโรคมะเร็งเต้านมของมารดา และมีผลอย่างไรต่อทารก และได้รายงานการศึกษาครั้งนี้ในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology ฉบับ  10ตุลาคม 2021

         การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาแบบSystematic review and meta-analysis ซึ่งพบการศึกษาที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของคณะแพทย์ฯ 39 การศึกษา  โดยเป็นสตรีทั่วไปที่ไม่ได้เป็นมะเร็งเต้านมทั้งหมด 8,093,401 ราย, และเป็นมะเร็งเต้านมทั้งหมด 112,840ราย ซึ่งในกลุ่มนี้มีสตรีตั้งครรภ์หลังการวินิจฉัยและรักษามะเร็งเต้านม 7,505 ราย,  ผลการศึกษาพบว่า

  • ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมฯมีโอกาสตั้งครรภ์ต่ำกว่าสตรีทั่วไปอย่างสำคัญทางสถิติ (RR=0.40)
  • มีการผ่าตัดคลอด, ทารกน้ำหนักตัวน้อยกว่าเกณฑ์, คลอดก่อนกำหนด, ทารกเติบโตช้ากว่าอายุครรภ์, สูงกว่าสตรีทั่วไปอย่างสำคัญทางสถิติโดยเฉพาะในสตรีที่ได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด
  • ไม่พบความแตกต่างทางสถิติกับกลุ่มสตรีทั่วไปของทารกในด้าน การเกิดความพิการแต่กำเนิด, และความพิการผิดปกติของอวัยวะสืบพันธ์
  • เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ไม่ได้ตั้งครรภ์: ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์มี อัตราปลอดโรคมะเร็งเต้านม(HR=0.66),และอัตรารอดชีวิตจากมะเร็งเต้านม(HR=0.56) สูงกว่าอย่างสำคัญทางสถิติ

ทั้งนี้ การศึกษาได้คำนึงถึงและได้ปรับแก้ในเรื่องของตัวกวนต่างๆในผู้ป่วยทุกกลุ่มศึกษาแล้ว เช่น ลักษณะของโรค, วิธีรักษา, ประวัติการตั้งครรภ์, และระยะเวลาตั้งครรภ์หลังการรักษา

         คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การตั้งครรภ์ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมหลังครบการรักษามีความปลอดภัยทั้งต่อมารดาที่รวมถึงในด้านของมะเร็งเต้านมและต่อทารก ดังนั้นแพทย์ผู้รักษาจึงควรต้องเตรียมความพร้อมอย่างจริงจังและรวมอยู่ในแผนการรักษาดูแลผู้ป่วย ในการให้คำปรึกษา คำแนะนำ และการดูแลรักษาผู้ป่วยกลุ่มนี้ตั้งแต่แรกเริ่มรักษามะเร็งเต้านมถึงเรื่องการตั้งครรภ์หลังครบการรักษาและตรวจไม่พบมีมะเร็งหลงเหลืออยู่

บรรณานุกรม

  1. Matteo Lambertini, et al. JCO 2021;39(29): 3293–3305 (abstract)