ผลเปรียบเทียบการฉายรังสีรักษาแบบป้องกันที่สมองในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กด้วยเทคนิคทั่วไปกับเทคนิคปิดกั้นไม่ฉายคลุมสมองฮิปโปแคมพัส

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลเปรียบเทียบการฉายรังสีรักษาแบบป้องกันที่สมองในมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กด้วยเทคนิคทั่วไปกับเทคนิคปิดกั้นไม่ฉายคลุมสมองฮิปโปแคมพัส

มะเร็งสมองชนิดเซลล์ตัวเล็ก มีธรรมชาติของโรคแพร่กระจายสู่สมองสูง ดังนั้นวิธีหนึ่งในการรักษาเสริมหลังได้ยาเคมีบำบัดครบและตรวจไม่พบรอยโรคทั้งที่ปอดและในร่างกาย คือการฉายรังสีรักษาแบบป้องกันที่สมอง(Prophylactic cranial irradiation ย่อว่า พีซีไอ/PCI)ในผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงสูงต่อการเกิดมะเร็งแพร่กระจายสู่สมอง แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะมีผลกระทบต่อความจำของผู้ป่วยเพราะต้องฉายคลุมสมองส่วนฮิปโปแคมพัส(Hippocampus)ที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับความจำ

คณะแพทย์จากประเทศสเปน นำโดย พญ. Núria Rodríguez de Dios แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา จาก  Radiation Oncology, Hospital del Mar, Barcelona,  สเปน จึงต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลการฉายรังสีรักษาป้องกันที่สมองทุกส่วน(ต่อไปขอ เรียกว่า ‘PCI’) กับ การฉายรังสีฯป้องกันที่สมองแต่ใช้เทคนิคปิดกั้นไม่ให้สมองส่วนฮิปโปแคมพัสได้รับรังสี (Hippocampal avoidance-prophylactic cranial irradiation ย่อว่า ‘HA-PCI’)ว่า จะมีผลต่อความจำของผู้ป่วยอย่างไร รวมถึง คุณภาพชีวิตของผู้ป่วย, อัตราเกิดการแพร่กระจายของมะเร็งปอดฯมาที่สมอง, และอัตรารอดชีวิตของผู้ป่วย,  และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งสหรัฐอเมริกา Journal of Clinical Oncology ฉบับ 1ตุลาคม 2021

การศึกษานี้ เป็นการศึกษาร่วมกันจากหลายโรงพยาบาลในสเปนและเป็นการศึกษาทางการแพทย์ขั้น3 (A multicenter phase III randomized controlled clinical trial จาก13 Oncologic Group for the Study of lung Cancer-Spanish Radiation Oncology Group institutions, A GICOR-GOECP-SEOR Study การศึกษานี้ศึกษาต่อเนื่องจาก A phase II study ของ สมาคมรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา สหรัฐอเมริกา /RTOG 0933  โดยศึกษา ผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กที่ปลอดโรคหลังครบการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด จำนวนผู้ป่วยทั้งหมด150ราย(71.3%โรคอยู่ในระยะจำกัด ที่เหลือเป็นระยะแพร่กระจาย) เริ่มการศึกษาในเดือนมีนาคม 2015 และติดตามผู้ป่วยไปจนถึง 60 เดือน  โดยผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มได้รับปริมาณรังสีที่สมอง=25Gyใน10ครั้งด้วยเทคนิคIMRT  ผู้ป่วยทุกรายจะได้รับการตรวจประเมินที่ระยะเวลา 3,6,12,และ24เดือนหลังครบการฉายรังสีฯ ซึ่งการวินิจฉัยโรคแพร่กระจายมาสมองจะใช้การตรวจภาพสมองด้วยเอมอาร์ไอ ระยะกลางของการติดตามโรค(Median follow-up time) คือ 40.4 เดือน  ผลการศึกษาพบว่า

  • ความทรงจำ(Neurocognitive function)ในผู้ป่วยกลุ่มได้PCIต่ำกว่ากลุ่มHA-PCIอย่างมีความสำคัญทางสถิติ
  • แต่ไม่พบความแตกต่างอย่างสำคัญทางสถิติของผู้ป่วยทั้ง2กลุ่มในด้าน อัตราการรอดชีวิต, การเกิดมะเร็งแพร่กระจายมาที่สมอง, และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยในด้านทั่วไป
  • ระยะกึ่งกลางการรอดชีวิตไม่ต่างกันทางสถิติ คือ= 4เดือนในกลุ่ม HA-PCI, และ=24.9เดือนในกลุ่ม PCI  
  • อัตรารอดชีวิตไม่ต่างกันทางสถิติทั้งในผู้ป่วยกลุ่มระยะโรคจำกัดและกลุ่มระยะโรคแพร่กระจาย

 

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ผลจากการศึกษานี้สนับสนุนให้การฉายรังสีรักษาแบบป้องกันที่สมองในผู้ป่วยมะเร็งปอดชนิดเซลล์ตัวเล็กด้วยเทคนิคปิดกั้นรังสีฯที่สมองส่วนฮิปโปแคมพัส  สมควรพิจารณาให้เป็นเทคนิคมาตรฐาน

บรรณานุกรม

  1. Núria Rodríguez de Dios, et al. JCO 2021;39(28):3118-3127
  2. https://ascopubs.org/doi/10.1200/JCO.20.03364 [2022,April14]