คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบวิธีรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะT1bN0M0

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบวิธีรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะT1bN0M0

มะเร็งหลอดอาหาร พบบ่อยเป็นลำดับ 8-9 ของโลก พบสูงกว่าในคนเชื้อสายจีน รวมถึงเอเชียตะวันออก เช่น เกาหลีและญี่ปุ่น เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงประมาณ 3-4 เท่า  มีรายงานพบ7.7 รายต่อประชากรโลกเพศชาย1แสนคน ขณะเพศหญิง=2.8 รายต่อประชากรเพศหญิง1แสนคน    ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติปี 2018 พบบ่อยเป็นลำดับ8ของเพศชาย =4.1รายต่อประชากรชายไทย1แสนคน, และ 0.6รายต่อประชากรเพศหญิง1แสนคน ไม่ติด1ใน10มะเร็งพบบ่อยของเพศหญิง

 คณะแพทย์จากประเทศเกาหลี นำโดย นพ. Yoon Young Jo จาก  Department of Radiation Oncology, Asan Medical Center, University of Ulsan College of Medicine, Seoul, Republic of Korea ต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะ T1bN0M0(ระยะ1b)ระหว่างการให้ยาเคมีบำบัด+การฉายรังสีรักษา  กับ การผ่าตัดแบบถอนรากถอนโคน(Radical surgery)  ทั้งนี้ทั่วไป วิธีรักษาหลักในมะเร็งระยะนี้คือการผ่าตัดฯ ซึ่งมะเร็งหลอดอาหารระยะ1b คือ เซลล์มะเร็งลุกลามถึงเนื้อเยื่อหลอดอาหารชั้นกล้ามเนื้อ, ยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง, โดยเซลล์มะเร็งเป็นชนิดแบ่งตัวเร็วหรือช้าก็ได้ ,และมะเร็งจะเกิดตำแหน่งใดของหลอดอาหารก็ได้เช่นกัน,   และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์โรคมะเร็ง สหราชอาณาจักร Radiotherapy & Oncology ฉบับ 1 กันยายน 2021

 โดยเป็นการศึกษาย้อนหลังในผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารชนิด Squamous cell carcinoma(ชนิดพบบ่อยที่สุด)282รายทั้งเพศหญิงและชาย , 238รายได้รับการรักษาด้วยการผ่าตัดฯ ,  ผู้ป่วยผ่าตัดอายุเฉลี่ย 63 ปี, และ 44รายได้รับการรักษาด้วยยาเคมีฯ+การฉายรังสีฯ กลุ่มนี้อายุเฉลี่ย 73 ปี, ซึ่งกลุ่มผ่าตัดมีสมรรถภาพร่างกาย(ECOG status)ดีกว่ากลุ่มให้ยาเคมีฯ+รังสีฯอย่างสำคัญทางสถิติ(p<0.001),  ระยะกึ่งกลางการติดตามโรคในกลุ่มผ่าตัด=49.5เดือน(ช่วงระหว่าง 0.4-97.0เดือน), ส่วนกลุ่มยาเคมีฯ+รังสีฯ = 45.5เดือน(ช่วง 5.0-112.0เดือน)

ผลการรักษา:

  • ผู้ป่วยได้ยาเคมีฯ+รังสีฯ: ก้อนมะเร็งยุบหายทั้งหมดใน1เดือนหลังครบการรักษา=43ราย(7%)
  • อัตรารอดที่ห้าปี: ไม่ต่างกันทางสถิติ, p=0.135
    • กลุ่มผ่าตัดฯ= 75.8%
    • กลุ่มได้ยาเคมีฯ+รังสีฯ=68.8%
  • อัตราปลอดโรคลุกลามที่ห้าปี:ไม่ต่างกันทางสถิติ, p= 0.637
    • กลุ่มผ่าตัด=63.8%
    • กลุ่มได้ยาเคมีฯ+รังสีฯ=57.8%
  • อัตราย้อนกลับเป็นซ้ำที่ตำแหน่งเดิมเท่ากันในทั้งสองวิธีรักษา=11.4%
  • อัตราแพร่กระจายทางกระแสเลือดต่ำในกลุ่มได้ยาเคมีฯ+รังสีฯ=2.27%, กลุ่มผ่าตัด=12.5%
  • ผลข้างเคียงระดับรุนแรงของระบบเลือด(ระดับ3-4)ในกลุ่มยาเคมีฯ+รังสีฯ=25%
  • ผลข้างเคียงรุนแรงจากผ่าตัด(ระดับ3-5) =23.5% และมีเสียชีวิต 5ราย

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า  วิธีรักษาทั้ง2วิธีในมะเร็งหลอดอาหารระยะ T1bN0M0ให้ผลไม่ต่างกันในด้าน   อัตรารอดชีวิต และอัตราย้อนกลับเป็นซ้ำที่ตำแหน่งเกิดโรค  และรวมถึงผลข้างเคียงที่ไม่นับรวมการเสียชีวิต

 บรรณานุกรม

  1. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. Yoon Young Jo, et al. Radiotherapy & Oncology. 2021; 162: 112-118 (abstract)
  3. https://en.wikipedia.org/wiki/Esophageal_cancer [2022,April14]