คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยารักษาผู้ป่วยมีบุตรยากไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 11 เมษายน 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ยารักษาผู้ป่วยมีบุตรยากไม่เป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม
ยาใช้ในการรักษาสตรีมีบุตรยากเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถมีบุตรได้ มักเป็นยาในกลุ่มฮอร์โมนเอสโตรเจน ซึ่งฮอร์โมนกลุ่มนี้มีการศึกษายืนยันว่า เมื่อใช้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลานานๆ ทั่วไปที่มีรายงานคือมักเกิน 5ปี โดยเฉพาะในปริมาณสูง อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านมได้ สตรีที่เข้ารักษาในคลินิกมีบุตรยาก จึงมักกังวลว่า เมื่อรักษาไปแล้ว ตนเองจะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้สูงกว่าปกติหรือไม่
เรื่องนี้เป็นการศึกษาจากคณะนักวิจัยจาก King college, London สหราชอาณาจักรแต่ในเนื้อข่าวไม่ได้กล่าวเน้นในเรื่องรูปแบบวิจัย เพียงรายงานผล แต่ด้วยเป็นการวิจัยจากสถาบันที่เชื่อถือได้ จึงนำมาเล่าสู่กันฟัง ซึ่งการศึกษานี้ได้เขียนเป็นข่าวการแพทย์ทางอินเอร์เน็ทเมื่อ 21 มิถุนายน 2021
เป็นการศึกษาจากสตรี 1.8 ล้าน จากการทบทวนรายงานต่างๆในช่วงปี 1990-มกราคม 2020 ในสตรีที่ได้รับการดูแลรักษาในเรื่องมีบุตรยาก และได้ติดตามสตรีกลุ่มนี้นานเฉลี่ย 27 ปี
ผลการศึกษาพบว่า วิธีการรักษาด้วยฮอร์โมนที่ใช้ในสตรีมีบุตรยากที่ต้องการมีบุตร ’ไม่เพิ่มปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งเต้านม’
ในความเห็นของผู้เขียน สตรีทุกท่านที่ได้รับการรักษากรณีมีบุตรยาก ควรต้องสอบ ถามแพทย์ผู้ดูแลรักษาในเรื่องนี้จนพอใจก่อนตัดสินใจรับการรักษา เพราะจะได้ข้อมูลที่ถูกต้องเหมาะสมเฉพาะตัวสำหรับผู้รับการรักษา
บรรณานุกรม
https://www.kcl.ac.uk/news/fertility-drugs-do-not-increase-breast-cancer-risk-study-finds [2022,March8]