ปัจจัยทำนายกระบวนการรับรู้ของทารกเนื้องอกสมองหลังการรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ปัจจัยทำนายกระบวนการรับรู้ของทารกเนื้องอกสมองหลังการรักษา

         เนื้องอกสมองในเด็กหมายรวมทั้งเนื้องอกทั่วไปทั้งที่ไม่ใช่มะเร็งและมะเร็งสมอง พบได้ประมาณ 1.15-5.14 ราย ต่อเด็ก1แสนคน,  โดยในทารกแรกเกิดที่อายุไม่เกิน1ปีพบเนื้องอกสมองได้น้อยประมาณ 1.4-8.45%ของเนื้องอกสมองทั้งหมดในเด็ก  สมองของทารกฯเป็นช่วงเซลล์สมองมีการเจริญเติบโตสูง การรักษาโรคจึงอาจส่งผลถึงกระบวนการเจริญเติบโตของสมองโดยเฉพาะส่วนสำคัญคือ’กระบวนการรับรู้’

         คณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย ดร. J S Ali จาก Department of Psychology, St Jude Children's Research Hospital, Memphis, รัฐ เทนเนสซี จึงต้องการศึกษาว่า อะไรเป็นปัจจัยช่วยทำนายถึงผลกระทบของวิธีรักษาต่อการทำงานสมองของทารกในด้านกระบวนการรับรู้  และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง สหรัฐอเมริกา JCO ฉบับ วันที่ 20 กรกฎาคม 2021

         โดยเป็นการศึกษาแบบ Prospective, multisite, longitudinal trial ในทารกเนื้องอกสมองที่อายุไม่เกิน1ปี 139 ราย การรักษาคือ การให้ยาเคมีบำบัด บางรายอาจได้รับการฉายรังสีรักษาเฉพาะก้อนเนื้อร่วมด้วยโดยอาจเป็นรังสีโปรตอนหรือโฟตอน ซึ่งก่อนการรักษา ทารกจะได้รับการตรวจประเมินทางสมองด้านกระบวนการรับรู้ และต่อจากนั้นหลังการรักษาจะมีการตรวจประเมินซ้ำที่ 6เดือน และต่อไปทุกๆ 1 ปีเป็นระยะเวลา 5ปี, ระยะกึ่งกลางการติดตามโรคคือ 26.8เดือน, การประเมินทางสมอง คือ การตรวจวัด ไอคิว, การบอกเล่าของพ่อแม่ถึง กระบวนการรับรู้, อารมณ์, การปรับตัว, และพฤติกรรมต่างๆของเด็ก, และรวมถึงเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว

         ผลการศึกษา:พบว่า

  • ก่อนรักษา: เด็กมีปัญหาทางสมองด้านกระบวนการรับรู้ทุกรายในระดับที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของเด็ก, ปัจจัยต่อกระบวนการรับรู้ที่ด้อยกว่าเกณฑ์คือ อายุที่น้อยขณะเมื่อเกิดโรค และปัญหาด้านเศรษฐกิจและสังคมของครอบครัว
  • หลังรักษา:
  • พบเด็กไม่มีการต่ำลงของไอคิว
  • บิดามารดารายงานว่าเด็กมีความก้าวหน้าในกระบวนการรับรู้ต่อเนื่อง
  • อัตราความก้าวหน้าในกระบวนการรับรู้ที่ด้อยกว่าขึ้นกับตำแหน่งเกิดเนื้องอก คือตำแหน่ง Supratentorial และกลุ่มที่รักษาด้วยการเปลี่ยนทางเดินน้ำไขสันหลังด้วยการผ่าตัด  
  • กระบวนการรับรู้ไม่ต่างกันระหว่างเด็กที่ได้เพียงยาเคมีบำบัด หรือ กลุ่มได้ยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษา หรือ กลุ่มได้รังสีฯ โปรตอน หรือ รังสีโฟตอน

         คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ทารกเนื้องอกสมองที่อายุต่ำกว่า1ปี มีกระบวนการรับรู้ด้อยกว่าเกณฑ์ตั้งแต่ก่อนรักษา และการพัฒนาในกระบวนการรับรู้หลังรักษาขึ้นกับตำแหน่งก้อนเนื้อและการเปลี่ยนแปลงทางเดินน้ำไขสันหลังมากกว่าจากยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา

 

 บรรณานุกรม

  1. J S Ali et al. JCO 2021:39(21): 2350–2358 (abstract)
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK535415/ [2022,March8]
  3. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4770644/ [2022,March8]