เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งช่องปากระยะแรกด้วยเทคนิคผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ต่างกัน

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งช่องปากระยะแรกด้วยเทคนิคผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองที่ต่างกัน 

มะเร็งช่องปากทั้งเพศหญิงและเพศชายรวมกันพบบ่อยเป็นมะเร็งลำดับ16ของโลก ส่วนในไทยพบเป็นลำดับ6ในเพศชายและลำดับ10ในเพศหญิง  

คณะแพทย์จากประเทศญี่ปุ่นนำโดย นพ. Yasuhisa Hasegawa จาก Asahi University Hospital, Gifu, Japan ต้องการศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งช่องปากระยะแรกที่เป็นมะเร็งชนิดพบบ่อยที่สุดของช่องปากคือชนิด Squamous cell carcinoma ระหว่างรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน คือ  ผ่าตัดริมฝีปากร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองลำคอ(Elective neck dissection) กับวิธีผ่าตัดที่จะช่วยลดผลข้างเคียงโดยผ่าตัดริมฝีปากร่วมกับตัดต่อมน้ำเหลืองเฉพาะกลุ่มแรกที่เซลล์มะเร็งจะลุกลาม(Sentinel nodes, SD), และได้รายงานผลการศึกษาใน วารสารการแพทย์ JCO ฉบับ 20 มิถุนายน2021   

การศึกษานี้เป็นแบบ   Randomized, Multicenter, and Noninferiority Trial ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งช่องปากระยะแรกคือระยะ1,2จาก 16โรงพยาบาลในญี่ปุ่นรวมผู้ป่วยทั้งเพศหญิงและเพศชาย  โดยเปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่ม กลุ่มแรกรักษาแบบมาตรฐานที่จะตัดริมฝีปากร่วมกับผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองลำคอ, และกลุ่มที่2 กลุ่มเปรียบเทียบที่รักษาโดยผ่าตัดริมฝีปากร่วมกับผ่าตัดเฉพาะต่อมน้ำเหลืองกลุ่มSD , มะเร็งอยู่ในระยะT1,T2,N0M0 โดยกลุ่มรักษามาตรฐาน=137ราย, กลุ่มศึกษาตัดเฉพาะSD=134ราย ติดตามผลการรักษาอย่างน้อย3ปี

         ผลการศึกษา:

  • จากการตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มรักษามาตรฐานมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง=24.8%, กลุ่มผ่าตัดเฉพาะต่อมSDมีโรคลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง=33.6%, ซึ่งไม่ต่างกันทางสถิติ(P=0.190)
  • อัตรารอดที่3ปี: กลุ่มมาตรฐาน=86.6%, กลุ่ม SD=87.9%, ไม่ต่างกันทางสถิติ
  • อัตราปลอดโรคที่3ปี: กลุ่มมาตรฐาน=81.3%,กลุ่ม SD=78.7%, ไม่ต่างกันทางสถิติ
  • ที่3ปี:การทำงานของกล้ามเนื้อคอ: กลุ่มSD ดีกว่าอย่างสำคัญทางสถิติ

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า  การรักษามะเร็งช่องปากระยะ1,2ด้วยการผ่าตัดริมฝีปากร่วมกับการผ่าตัดต่อมน้ำเหลืองเฉพาะกลุ่มแรกที่มะเร็งลุกลาม(SD) อาจเป็นวิธีรักษาที่ใช้แทนการผ่าตัดแบบมาตรฐานได้ เพราะอัตรารอดไม่ต่างกันแต่คุณภาพชีวิตผู้ป่วยในการทำงานของลำคอดีกว่า

 

บรรณานุกรม

  1. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. https://www.wcrf.org/dietandcancer/mouth-pharynx-larynx-cancer-statistics/ [2022,Feb1]
  3. JCO 2021; 39(18):2025-2036 (Abstract)