ผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาและตามด้วยผ่าตัด

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาและตามด้วยผ่าตัด

มะเร็งหลอดอาหารเป็นมะเร็งพบบ่อยลำดับ8ของชายไทยแต่ไม่ติด10ลำดับแรกของหญิงไทย  ส่วนลำดับโลกคือลำดับที่7ในเพศชายและลำดับ13ในเพศหญิง เป็นมะเร็งที่มีการพยากรณ์โรคแย่โดยเฉพาะโรคระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่ที่พบบ่อยกว่าทุกระยะเพราะโรคตอบสนองไม่ดีทั้งจาก  การผ่าตัด ยาเคมีบำบัด และรังสีรักษา

         คณะแพทย์จากประเทศเนเธอร์แลนด์ นำโดย นพ. Ben M. Eyck จาก Department of Surgery, Erasmus MC—University Medical Center Rotterdam จึงต้องการศึกษาถึงผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่นี้ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดขณะฉายรังสีรักษา นำก่อนเมื่อรักษาครบแล้วจึงตามด้วยการผ่าตัดหลอดอาหาร  และได้รายงานผลศึกษาในวารสารการแพทย์ JCO ฉบับ 20 มิถุนายน 2021  

         โดยเป็นการศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างในโครงการ The Randomized Controlled CROSS Trial, ข้อมูลอยู่ในช่วงปีค.ศ. 2004-2008  ติดตามโรคนานอย่างน้อย10ปีจนถึงปี 2018 (ระยะเวลากึ่งกลาง=147เดือน) ศึกษาในผู้ป่วยทั้งหมด 366ราย แบ่งเป็น2กลุ่ม คือ กลุ่มศึกษาที่ได้รับยาเคมีบำบัดชื่อCarboplatin+Paclitaxel ให้ยาไปพร้อมขณะได้รับการฉายรังสี 41.4 Gy ใน 23 ครั้ง(F/fractions), 5วัน/สัปดาห์ หลังครบจากนั้นจึงตามด้วยผ่าตัด, อีกกลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดวิธีเดียว

         ผลศึกษาพบว่า:

  • กลุ่มที่ได้3วิธีรักษาร่วมกันมีอัตรารอดที่ทุกระยะเวลารวมถึงที่ 10 ปีดีกว่ากลุ่มรักษาด้วยผ่าตัดวิธีเดียวอย่างสำคัญทางสถิติ(HR=0.70)
  • การได้รับการรักษาทั้ง3วิธีร่วมกัน ยังลดอัตราตายจากมะเร็งหลอดอาหารลงได้อย่างสำคัญทางสถิติเช่นกัน(HR, 0.60)
  • อัตราเกิดการย้อนกลับเป็นซ้ำที่หลอดอาหาร, การเกิดเป็นซ้ำฯ+การแพร่กระจายทางกระแสเลือด, และการแพร่กระจายทางกระแสเลือดเพียงอย่างเดียว, ไม่ต่างกันทางสถิติ

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า มะเร็งหลอดอาหารระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่ผ่าตัดได้เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับการฉายรังสีรักษานำก่อนการผ่าตัด ให้อัตรารอดชีวิตดีกว่ารักษาด้วยการผ่าตัดวิธีเดียว

    ผู้เขียน: วิธีรักษานี้ ในประเทศไทยก็ใช้เป็นวิธีหนึ่ง กรณีสภาพร่างกายผู้ป่วยทนต่อยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาได้ดี รวมถึงสุขภาพสามารถผ่าตัดหลอดอาหารที่เป็นการผ่าตัดใหญ่ได้

 บรรณานุกรม

  1. Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand Vol IX, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
  2. https://www.wcrf.org/dietandcancer/oesophageal-cancer-statistics/ [2022,Feb1]
  3. Ben M. Eyck, et al. JCO 39(18):1995-2004 ( abstract)