การให้น้ำแร่รังสีไอโอดีนรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งหรือไม่
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การให้น้ำแร่รังสีไอโอดีนรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดมะเร็งหรือไม่
การรักษามาตรฐานของภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินโดยเฉพาะในกลุ่ม ’โรคเกรฟส์ (โรคคอพอกตาโปน) คือการใช้ยาลดการทำงานของต่อมไทรอยด์ แต่ในผู้ป่วยหลายรายที่ยาฯควบคุมไม่ได้ หรือแพ้ยาฯ แพทย์จะให้การรักษาด้วยการให้กินน้ำแร่รังสีไอโอดีนซึ่งเป็นรังสีในกลุ่มเดียวกับเอกซเรย์ที่จัดเป็นสารก่อมะเร็งในระยะยาว ตั้งแต่5ปี-มากกว่า10ปีขึ้นไปหลังให้น้ำแร่รังสีฯ และจากการศึกษาที่ผ่านมา ไม่พบว่าการให้น้ำแร่รังสีฯเพิ่มอัตราเกิดมะเร็งอย่างมีความสำคัญทางสถิติ
คณะนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกา นำโดย ดร. Cari M. Kitahara จาก Radiation Epidemiology Branch, Division of Cancer Epidemiology and Genetics, National Cancer Institute, National Institutes of Health, Bethesda, Maryland ต้องการศึกษาว่า รังสีฯที่ได้รับจากการกินน้ำแร่รังสีฯในการรักษาผู้ป่วยภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินจะมีผลเพิ่มอัตราตายจากมะเร็งชนิดต่างๆหรือไม่ ทั้งนี้ได้รายงานผลการศึกษาทางอินเทอร์เนทใน วารสารการแพทย์ JAMA Intern Med ฉบับเดือนสิงหาคม 2021
การศึกษานี้เป็นการศึกษาแบบ การศึกษาจากเหตุไปหาผล(Cohort study)โดยรวบรวมผู้ป่วยจากหลากหลายโรงพยาบาลในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษในกลุ่ม Cooperative Thyrotoxicosis Therapy Follow-up Study ส่วนใหญ่เป็นข้อมูลจาก the National Death Index, Social Security Administration เป็นข้อมูลเริ่มในปีค.ศ. 1946 ข้อมูลนานประมาณ 24 ปี และการศึกษานี้ดำเนินการในช่วง 28 เมษายน 2017- 30มกราคม 2019, ทั้งนี้ผู้ป่วยที่ศึกษาทั้งหมดมี18,805ราย ทุกรายไม่มีประวัติเป็นมะเร็งก่อนการกินน้ำแร่ฯ, อายุเฉลี่ย=49 ปี(SD= 14ปี), เพศหญิง=78%, 93.7%เป็นโรคเกรฟส์
ผลศึกษาพบว่า อัตราตายจากมะเร็งจะขึ้นกับปริมาณรังสีที่อวัยวะนั้นๆได้รับต่อทุกๆปริมาณรังสีที่ได้รับ100mGy แต่มีความสำคัญทางสถิติอยู่ในระดับสำคัญไม่ชัดเจน (Modest positive associated) ทั้งจากมะเร็งกระเพาะอาหาร, มะเร็งเต้านม, และมะเร็งชนิดอื่นๆที่ไม่ใช่ในระบบโรคเลือด(Solid cancer)
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การให้น้ำแร่รังสีไอโอดีนรักษาภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกินเป็นปัจจัยเสี่ยงในระดับพอประมาณ/ไม่สำคัญชัดเจน ต่อการเพิ่มอัตราตายจากมะเร็งในกลุ่มไม่ใช่มะเร็งระบบโรคเลือดที่รวมถึงมะเร็งเต้านม จึงสมควรมีการศึกษาต่อด้วยวิธีการที่แม่นยำกว่าการศึกษานี้ เพื่อให้ได้ข้อมูลที่แท้จริงถึงผลดีและผลเสียของการรักษาภาวะนี้ด้วยน้ำแร่รังสีไอโอดี
บรรณานุกรม
JAMA Intern Med. 2019;179(8):1034-1042 https://jamanetwork.com/journals/jamainternalmedicine/fullarticle/2737319 [2022,Feb1]