ไม่มีประโยชน์ในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐาน
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 14 กุมภาพันธ์ 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ไม่มีประโยชน์ในการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐาน
วิธีรักษามาตรฐานในมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่(ระยะIB2-IVA) คือให้รังสีรักษาด้วยการฉายรังสีรักษาร่วมกับการใส่แร่และร่วมกับการให้ยาเคมีบำบัด ซิสพลาติน(Cispltin)ระหว่างฉายรังสีสัปดาห์ละ1ครั้ง ซึ่งผลการรักษายังพบโรคมีการแพร่กระจายทางกระแสเลือดและย้อนกลับเป็นซ้ำได้ แพทย์หลายท่าน/หลายโรงพยาบาลจึงเพิ่มเติมการรักษาโดยให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐานแล้วให้กับผู้ป่วยอีก(Adjuvant chemotherapy)เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
คณะแพทย์จากออสเตรเลียนำโดย พญ. Linda R. Mileshkin แพทย์อายุรกรรมโรคมะเร็งจากโรงพยาบาล Peter MacCallum Cancer Centre in Victoria, Australia จึงศึกษาเพื่อให้ทราบถึงผลการรักษามะเร็งปากมดลูกกลุ่มดังกล่าวด้วยการให้ยาเคมีบำบัดเพิ่มเติมหลังครบการรักษามาตรฐานแล้ว ซึ่งเป็นการศึกษาแบบล่วงหน้าและสุมตัวอย่าง(Prospective randomization)ในโครงการที่ชื่อ OUTBACK trial เพื่อดูอัตรารอดที่ห้าปีของผู้ป่วย ซึ่งยาเคมีบำบัดที่ให้หลังครบวิธีมาตรฐานคือ ยา Carboplatin AUC 5 และยา Pac-litaxel ขนาดยา 155 mg/m2 ทุก3สัปดาห์(1รอบ) ทั้งหมด 4 รอบ, ระยะกึ่งกลางการติดตามโรค=5 ปี ศึกษาผู้ป่วยทั้งหมด919ราย แบ่งเป็น2กลุ่มด้วยการสุ่มตัวอย่าง คือกลุ่มควบคุม/กลุ่มรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน, และกลุ่มศึกษาทดลองที่ได้ยาเคมีบำบัดเพิ่มหลังครบการรักษามาตรฐาน, ทั้งนี้ ทั้ง2กลุ่ม, 77% ได้รับการรักษาครบและได้ขนาดยาครบตามมาตรฐาน และได้รายงานผลการศึกษาทางอินเทอร์เนทใน The ASCOPost เมื่อ 25 มิถุนายน 2021
ผลการศึกษาพบว่า: ที่ 5ปี
- อัตรารอดทีห้าปีในกลุ่มรักษาวิธีมาตรฐานฯ=71%, กลุ่มได้ยาเคมีฯเพิ่ม=72%, ไม่ต่างกันทางสถิติ, P=0.8
- อัตราควบคุมโรคได้(Progression free survival)= 61%ในกลุ่มรักษาวิธีมาตรฐานฯ, กลุ่มได้ยาเคมีฯเพิ่มฯ=63%, ไม่ต่างกันทางสถิติ,P=0.6
- การแพร่กระจายทางกระแสเลือดไม่ต่างกันทางสถิติ: กลุ่มรักษามาตรฐาน=11%, กลุ่มได้ยาเคมีฯเพิ่ม=9%
- โรคย้อนกลับเป็นซ้ำที่ปากมดลูก ไม่ต่างกันทางสถิติ: กลุ่มรักษามาตรฐาน=7%, กลุ่มได้ยาเคมีฯเพิ่ม=10%
- การศึกษาละเอียดเพิ่มเติมเพื่อดูว่าผู้ป่วยกลุ่มเฉพาะกลุ่มไหนที่อาจได้ประโยชน์จากการให้ยาเคมีฯเพิ่มเติม: ผลศึกษา ไม่พบกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากได้ยาเคมีฯเพิ่ม
- พบผลข้างเคียงที่รุนแรง(Grade3-5)มากขึ้นในกลุ่มได้ยาเคมีฯเพิ่ม(81%), กลุ่มรักษามาตรฐาน=62%
- คุณภาพชีวิตที่ 3,6เดือนของกลุ่มได้ยาเคมีฯเพิ่มแย่กว่ากลุ่มมาตรฐาน, แต่กลับมาเท่ากันหลัง12เดือน
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า
- ผลการศึกษานี้ ไม่สนับสนุนการรักษามะเร็งปากมดลูกระยะลุกลามรุนแรงเฉพาะที่ด้วยการเพิ่มยาเคมีบำบัดหลังครบการรักษามาตรฐานแล้ว
- การรักษามาตรฐานของมะเร็งปากมดลูกระยะดังกล่าว ยังคงเป็นการให้รังสีรักษาร่วมกับยาเคมีบำบัดขณะฉายรังสีรักษา
บรรณานุกรม
- The ASCOPost 25 June2521.
- https://ascopost.com/issues/june-25-2021/outback-no-benefit-for-adjuvant-chemotherapy-in-cervical-cancer/ [2022,Feb1]