เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งเต้านมระหว่างวิธีผ่าตัดเก็บเต้านม+ฉายรังสีกับผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด+/-ฉายรังสี

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน เปรียบเทียบผลการรักษามะเร็งเต้านมระหว่างวิธีผ่าตัดเก็บเต้านม+ฉายรังสีกับผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด+/-ฉายรังสี

หลักวิธีรักษามะเร็งเต้านมระยะT1-2,No-2(ระยะลุกลามเฉพาะที่น้อย-ปานกลาง)คือ การผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้(คือผ่าออกเฉพาะก้อนมะเร็ง)+ฉายรังสีเต้านม+/-ยาเคมีบำบัด หรือ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด+รังสีรักษา+/-ยาเคมีบำบัด หรือ ผ่าตัดเต้านมทั้งหมด+/-ยาเคมีบำบัดโดยไม่ฉายรังสี

         คณะนักวิทยาศาสตร์จากประเทศสวีเดน นำโดย ดร. Jana de Boniface จาก Department of Surgery, Capio St Göran’s Hospital, Stockholm, ประเทศสวีเดนจึงต้องการเปรียบเทียบประสิทธิผลของวิธีรักษาทั้ง3วิธีว่า มีผลต่ออัตรารอดชีวิต และต่ออัตรารอดจากมะเร็งเต้านมเป็นอย่างไรเมื่อนำตัวแปรสำคัญต่อผลการรักษามาศึกษาด้วย  คือ โรคประจำตัวและสภาพทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละผู้ป่วย, และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ JAMA Surg เมื่อ 5 พฤษภาคม 2021

         โดยเป็นการศึกษาจากเหตุไปหาผลแบบไปข้างหน้า(Prospective cohort study)จากข้อมูลของ The National Breast Cancer Quality Register, Register, comorbidity data from Patient Registers at the National Board of Health and Welfare, and individual-level education and income data from Statistics Sweden.  ซึ่งใช้ข้อมูลช่วง 2008-2017 และได้ศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลในช่วง 19 สิงหาคม 2020- 12 พฤศจิกายน 2020   ผู้ป่วยอยู่ในระยะโรค T1-2,N0-2 โดยแบ่งผู้ป่วยเปรียบเทียบกัน 3 กลุ่มคือ กลุ่มรักษาแบบผ่าตัดเก็บเต้านม+ฉายรังสี,  กลุ่มผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดโดยไม่ฉายรังสี, และผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด+ฉายรังสี

         ในการศึกษานี้มีผู้ป่วยมะเร็งเต้านมสตรีทั้งหมด 48, 986 ราย, 29, 367ราย (59.9%) ทำผ่าตัดเก็บเต้านม+ฉายรังสี, 12,413 (25.3%)ทำผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมดโดยไม่ฉายรังสี, และ 7,206ราย (14.7%)ทำผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด+ฉายรังสี, ระยะกึ่งกลางการติดตามโรค= 6.28 ปี(ช่วง0.01-11.70 ปี), มีผู้ป่วยเสียชีวิตทั้งหมด= 6,573ราย ในการนี้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านม=2,313ราย

  • อัตรารอดที่5ปีของทุกผู้ป่วยรวมกัน=91.1%
  • อัตรารอดจากมะเร็งเต้านมที่5ปี =96.3%

หลังจากศึกษาโดยนำตัวแปรทั้ง 2 ตัวคือ โรคประจำตัวและสถานทางเศรษฐกิจและสังคมเข้ามาศึกษาด้วย พบว่า อัตรารอดที่5ปีของทุกผู้ป่วยรวมกัน, และ อัตรารอดจากมะเร็งเต้านมที่5ปี  ของผู้ป่วยกลุ่มผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด(ทั้งที่ได้รับการฉายรังสีและไม่ได้รับการฉายรังสี)มีอัตรารอดชีวิตที่5ปีและอัตรารอดที่5ปีจากมะเร็งเต้านมต่ำกว่ากลุ่มได้รับการรักษาแบบเก็บเต้านมไว้+รังสีรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ, p<0.001

          คณะผู้ศึกษาสรุปว่า การรักษามะเร็งเต้านมสตรีระยะ T1-2,No-2 ด้วยการผ่าตัดแบบเก็บเต้านมไว้+การฉายรังสีให้ผลการรักษาในด้านอัตรารอดชีวิตดีกว่า การทำผ่าตัดเต้านมออกไม่ว่าจะฉายรังสีร่วมด้วยหรือไม่ก็ตาม

  บรรณานุกรม

  1. Jana de Boniface, et al. Survival After Breast Conservation vs Mastectomy Adjusted for Comorbidity and Socioeconomic StatusA Swedish National 6-Year Follow-up of 48 986 Women. JAMA Surg.  https://jamanetwork.com/journals/jamasurgery/fullarticle/2779531   [2022,Jan10]