ผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 17 มกราคม 2565
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลการรักษามะเร็งหลอดอาหารระยะกระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า
มะเร็งหลอดอาหารพบได้บ่อยทั่วโลก ซึ่งในค.ศ. 2018 มีการศึกษาพบบ่อยเป็นลำดับ 7 ของทั้งเพศหญิงและเพศชายรวมกัน ส่วนในประเทศไทยในปีเดียวกัน รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบมะเร็งหลอดอาหารได้บ่อยเป็นลำดับ 8 ของมะเร็งเพศชาย ส่วนในเพศหญิงไม่อยู่ใน 10 ลำดับแรก ปัจจุบันการรักษาโรคระยะลุกลามที่ผ่าตัดไม่ได้เพื่อหวังผลหายขาด คือรักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาและอาจตามด้วยผ่าตัดกรณีแพทย์ประเมินแล้วว่าก้อนมะเร็งตอบสนองดีต่อการรักษาดีจนกลับมาสามารถผ่าตัดได้
มะเร็งหลอดอาหารชนิด สแควมัส(Squamous cell carcinoma)และที่มีโรคแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือกระดูกไหปลาร้าซึ่งเป็นโรคระยะรุนแรงที่แพทย์จัดเป็นกลุ่มที่ไม่ควรผ่าตัด การรักษาหลักที่หวังผลหายขาดคือ รักษาร่วมกันระหว่างยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา คณะแพทย์จากไต้หวัน นำโดย Jia-Hua Yen แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยาจาก Department of Radiation Oncology, Koo Foundation Sun Yat-Sen Cancer Center, Taipei จึงต้องการศึกษาว่าอะไรเป็นปัจจัยต่อการพยากรณ์โรคของผู้ป่วยกลุ่มนี้เมื่อได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดร่วมกับรังสีรักษาเพื่อหวังผลหายขาด และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็งของไต้หวันรวมถึงทางอินเทอร์เน็ต คือ Therapeutic Radiology and Oncology(TRO, The Radiol Oncol)ฉบับ 30 ธันวาคม 2020
โดยเป็นการศึกษาด้วยวิธี Observational cohort study แบบเก็บข้อมูลย้อนหลังในผู้ป่วยกลุ่มดังกล่าวของโรคพยาบาลดังกล่าวในช่วง 2006-2017 ซึ่งมีผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารทั้งหมด 143 ราย, 72รายไม่มีโรคแพร่กระจายเข้าต่อน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า และ71รายมีการแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า, ทั้งหมดอายุในช่วง 37.6-84.7 ปี(อายุกึ่งกลาง=57.5ปี), เพศชาย 92.4%, ระยะติดตามโรคช่วง1.9-139.3เดือน(ระยะกึ่งกลาง=14.3เดือน), การรักษาเป็นการให้ยาเคมีบำบัดพร้อมการฉายรังสีฯ, ยาเคมีบำบัดคือ Cisplatin+5FUรวมทั้งหมด2วงรอบ, ปริมาณรังสีอยู่ในช่วง 50-70Gy(ปริมาณกึ่งกลาง=59.4Gy)ด้วยเทคนิค 3D CRT หรือ IMRT, และตำแหน่งมะเร็งส่วนใหญ่อยู่ส่วนบนและส่วนกลางของหลอดอาหาร ผลการศึกษา:
- ระยะเวลาอยู่รอดผู้ป่วยทุกคนอยู่ในช่วง 9-20.7เดือน(ระยะกึ่งกลาง=16.1เดือน)
- อัตรารอดที่2ปี ของผู้ป่วยกลุ่มมีการแพร่กระจายฯและกลุ่มไม่มีการแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้าเท่ากัน=32.8% ไม่ต่างกันทางสถิติ(p=0.88), และ
ระยะเวลาควบคุมโรคได้ก็ไม่ต่างกันทางสถิติ(p=0.54)
- ปัจจัยต่อการพยากรณ์โรค(Multivariate analysis): พบว่า
- การมีโรคแพร่กระจายมาต่อมน้ำเหลืองเหนือไหปลาร้า มีการพยากรณ์โรคไม่ต่างกับกลุ่มที่ไม่มีโรคแพร่กระจายฯ, (p=0.837)
- การได้รับปริมาณรังสีที่สูงกว่า 50Gy มีการพยากรณ์โรคดีกว่ากลุ่มได้รังสีต่ำกว่าอย่างสำคัญทางสถิติ, p=0.025
คณะผู้ศึกษาสรุปว่า ในการรักษาเพื่อหายขาดในผู้ป่วยมะเร็งหลอดอาหารชนิดสแควมัส ด้วยการให้ยาเคมีบำบัดและรังสีรักษาพร้อมกัน อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยกลุ่มมีและไม่มีโรคแพร่มายังต่อมน้ำเหลือเหนือไหปลาร้า ไม่แตกต่างกันทางสถิติ ดังนั้นในผู้ป่วยกลุ่มมีการแพร่กระจายฯดังกล่าวจึงควรให้การรักษาแบบหายขาด และผลการรักษาที่ดีกว่าทางสถิติขึ้นกับปริมาณรังสีฯที่ผู้ป่วยได้รับ
บรรณานุกรม
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Jia-Hua Yen, et al. Ther Radiol Oncol 2020;4:28
- https://www.wcrf.org/dietandcancer/worldwide-cancer-data/ [2022,Jan10]