คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฉายรังสีรักษาปอดอักเสบจากโรคโควิด-19

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน การฉายรังสีรักษาปอดอักเสบจากโรคโควิด-19      

การศึกษาทางการแพทย์ต่างๆด้านรังสีรักษาทั้งในอดีตและปัจจุบัน ทั้งในห้องปฏิบัติการและทางคลินิกซึ่งใช้รักษาโรคต่างๆเกี่ยวกับการอักเสบ   แพทย์ทราบกันดีว่า ปริมาณรังสีรักษาระดับต่ำ สามารถลดการอักเสบของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆได้ดีที่รวมถึงการอักเสบจากเชื้อโรคต่างๆโดยเฉพาะเชื้อไวรัสและจากการอักเสบในโรคภูมิต้านตนเองที่ เกิดโดยไม่มีการติดเชื้อ

         คณะแพทย์และนักวิทยาศาสตร์จากสหรัฐอเมริกานำโดย Clayton B. Hess แพทย์จาก Department/Division of Radiation Oncology, Emory University, Atlanta จึงได้ศึกษาทดลอง โดยการฉายรังสีรักษาปริมาณ1.5Gy/F โดยฉายรักษาเพียงครั้งเดียว(1F)ที่ปอดทั้ง2ข้างในผู้ป่วยโควิด-19ที่เชื้อเข้าสู่ปอดจนเกิดปอดบวม/ปอดอักเสบ ด้วยเทคนิค 2D, APและPA beam configulation, จากเครื่องฉาย Linear accelerator รังสีโฟตอน 15 MV, Standard dose rate 600MU/min ทั้งนี้ศึกษาในผู้ป่วยโควิด-19 ของโรงพยาบาลดังกล่าวในช่วง11มิถุนายน-7 ธันวาคม 2020(Clinical Trial Registration: NCT04366791) และได้ตีพิมพ์การศึกษาในวารสารการแพทย์ Radiotherapy&Oncology ฉบับ 1ธันวาคม 2021 และทางอินเทอร์เน็ต

         เป็นการศึกษาทดลองทางการแพทย์แบบล่วงหน้า ระยะ2,  เปรียบเทียบผู้ป่วย2กลุ่มที่ลักษณะทางคลินิกเหมือนกันทางสถิติและมีปอดบวมจากโควิดที่ต้องได้รับออกซิเจน, กลุ่มแรก 20 ราย ได้การรักษามาตรฐาน คือ ยาสเตียรอยด์ Dexamethazone และ/หรือ ยาต้านไวรัส Remdesevir, และอีกกลุ่ม 20รายเช่นกัน(กลุ่มศึกษา)ได้ยาดังกล่าวและร่วมกับฉายรังสีฯที่ปอดดังกล่าวในตอนต้น   

คณะผู้ศึกษาสรุปผลการศึกษานี้ว่า: เมื่อเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยโควิด-19ที่ปอดบวม จากโควิดฯกลุ่มรักษาด้วยยามาตรฐานร่วมกับฉายรังสีที่ปอดปริมาณรังสีต่ำ คือ1.5Gy กับ ผู้ป่วยกลุ่มได้การรักษาวิธีมาตรฐานคือรับยาฯเพียงวิธีเดียว

  • ผู้ป่วยกลุ่มฉายรังสีรักษาปริมาณรังสีต่ำร่วมด้วย มีการลดลงของค่าการอักเสบของอวัยวะต่างๆ(CRP)ลงได้อย่างสำคัญทางสถิต และในทางสถิติมีแนวโน้มอาจลดโอกาสใส่ท่อช่วยหายใจลงได้
  • ในกรณีผู้ป่วยมีค่าการอักเสบของอวัยวะต่างๆในเลือดลดลงอย่างต่อเนื่องในกลุ่มได้รังสีฯ จะเป็นตัวบ่งชี้ถึง การมีภาวะฟื้นตัวที่ดีจากโรค, มีโอกาสสูงที่จะไม่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจ, ระยะเวลาอยู่โรงพยาบาลลดลง, และระยะเวลาที่ต้องใช้ออกซิเจนลดลง

ดังนั้น คณะผู้ศึกษา จึงกำลังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาทางการแพทย์โครงการนี้ต่อเนื่อง   เพื่อยืนยันประสิทธิผลของวิธีรักษานี้ให้ได้แน่ชัด ที่อาจจะนำมาเป็นอีกวิธีหนึ่งในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่เกิดปอดบวมจากเชื้อโควิดฯ

บรรณานุกรม

Clayton B. Hess etal.  Radiotherapy&Oncology 2021,165:20-31 . https://www.thegreenjournal.com/article/S0167-8140(21)08759-4/fulltext  [2022,Jan10]