คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน น้ำหนักตัวเกินในเด็กเนื้องอกสมองหลังการรักษา

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน น้ำหนักตัวเกินในเด็กเนื้องอกสมองหลังการรักษา

เนื้องอกสมองในเด็ก เป็นเนื้องอกพบบ่อยที่สุดในเนื้องอก/มะเร็งทุกชนิดของเด็กทั้งเพศหญิงและเพศชาย มีรายงานพบทั่วโลกประมาณ 1.15 - 5.14  รายต่อประชากรเด็ก 100,000 คน   

 กรณีเป็นเนื้องอกทั่วไปที่ไม่ใช่มะเร็ง อัตรารอดที่ห้าปีหลังการรักษาจะค่อนข้างดี แต่ขึ้นกับแต่ละชนิดย่อยของเซลล์เนื้องอก มีรายงานอยู่ในช่วง 75-95% และแพทย์ได้สังเกตพบว่า เด็กที่รอดชีวิตเหล่านี้มักมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน

คณะนักวิทยาศาสตร์และแพทย์จากประเทศเนเทอร์แลนด์นำโดย Jiska van Schaik  จาก Department of Pediatric Endocrinology, Wilhelmina Children's Hospital, University Medical Center Utrecht, Utrecht, Netherland จึงต้องการทราบถึงอัตราเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินในเด็กเนื้องอกสมองชนิดพบบ่อยคือชนิด 'ไกลโอมา(Glioma)’ที่รอดชีวิตหลังการรักษา รวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะนี้ และได้รายงานผลการศึกษาในวารสารการแพทย์ด้านโรคมะเร็ง Journal of Clinical Oncology (JCO) ฉบับ 10 เมษายน 2021

การศึกษานี้เป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลจาก Nationwide Cohort of Childhood Brain Tumor Survivors ประเทศเนเทอร์แลนด์ช่วง 10 ปี (2002-2012) โดยนิยามน้ำหนักตัวเกินคือ มีค่า ดัชนีมวลกาย >/=+2.0 ทั้งนี้ศึกษาเฉพาะเนื้องอกชนิดไกลโอมา (ไม่รวมโรคเนื้องอกต่อมใต้สมองและเนื้องอกชนิด Craniopharyngioma)

         ผลการศึกษา: มีเด็กเนื้องอกสมองที่รอดชีวิตหลังรักษา 661 ราย อายุกึ่งกลาง(median age)=7.3ปี พบ

  • ผู้ป่วยช่วงอายุ 4-20ปี: 7% มี น้ำหนักตัวเพิ่มผิดปกติ, น้ำหนักตัวเกิน หรือ อ้วน(ต่อไปขอรวมเรียกว่า ‘โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน’) เปรียบเทียบกับประชากรทั่วไปวัยเดียวกันที่จะมีโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน=13.2%
  • ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินในเด็กเนื้องอกฯกลุ่มนี้ คือ
  • ตั้งแต่เมื่อวินิจฉัยได้ว่าเป็นเนื้องอกสมอง เด็กมีภาวะ
  • ค่าดัชนีมวลกายสูงกว่าปกติ
  • มีภาวะเบาจืด
  • มีภาวะเจริญก่อนวัย
  • มีความผิดปกติในการทำงานของระบบสมองส่วนที่สัมพันธ์กับการทำงานของไฮโปธาลามัสและต่อมใต้สมอง(Hypothalamic-Pituitary Dysfunction) เมื่อเปรียบเทียบกับเด็กเนื้องอกสมองที่มีน้ำหนักตัวในเกณฑ์ปกติ

คณะผู้ศึกษาสรุปว่า โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินเป็นภาวะพบบ่อยในเด็กเนื้องอกสมองที่รอดชีวิตหลังการรักษา โดยเกิดจากมีความผิดปกติในการทำงานของระบบสมองที่มีหน้าที่กำกับการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อที่เป็นระบบสมองที่เกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัวที่รวมถึงความอยากอาหาร(Hypothalamic-Pituitary Dysfunction) ดังนั้นการดูแลผู้ป่วยเด็กโรคนี้ที่รอดชีวิต แพทย์ควรให้ความสนใจเรื่องของระบบการทำงานของระบบต่อมไร้ท่อของเด็กด้วยเพื่อ ป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินที่จะส่งผลต่อสุขภาพของเด็กรวมถึงเมื่อเด็กเจริญวัยเป็นผู้ใหญ่

 

บรรณานุกรม

  1. Jiska van Schaik. High Prevalence of Weight Gain in Childhood Brain Tumor Survivors and Its Association With Hypothalamic-Pituitary Dysfunction. JCO 2021; 39(11): 1264-1273 (abstract)
  2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK535415/ [2021,Nov23]
  3. https://www.cancer.org/cancer/brain-spinal-cord-tumors-children/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2021,Nov23]