คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลข้างเคียงที่เกิดได้ล่าช้าจากยาภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งไฝ

คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน ผลข้างเคียงที่เกิดได้ล่าช้าจากยาภูมิคุ้มกันบำบัดในการรักษามะเร็งไฝ

 

มะเร็งไฝ/มะเร็งเมลาโนมาผิวหนัง เป็นมะเร็งผิวหนังชนิดหนึ่งที่รุนแรง พบน้อยในบ้านเราแต่พบบ่อยในสหรัฐอเมริกา พบทั้งสองเพศ เป็นมะเร็งในผู้ใหญ่ สาเหตุเกิดที่แน่ชัดแพทย์ยังไม่ทราบ แต่พบว่า การที่ผิวหนังได้รับแสงแดดจัดต่อเนื่องเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งของโรคนี้ การรักษาหลักคือการผ่าตัด อาจร่วมกับยาเคมีบำบัด และ/หรือการฉายรังสีรักษาขึ้นกับระยะโรคและดุลพินิจของแพทย์

 ปัจจุบันในโรคระยะลุกลามได้มีการนำ’ยาภูมิคุ้มกันบำบัด’ มาใช้รักษาร่วมกับการผ่าตัด ซึ่งรายงานว่าได้ผลการรักษาเป็นที่น่าพอใจของแพทย์  โดยยาดังกล่าวมีใช้แล้วในบ้านเราแต่มักยังจำกัดอยู่เฉพาะโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีหน่วยงานยาเคมีบำบัดและรังสีรักษา 

 ทั้งนี้ หนึ่งในยาภูมิคุ้มกันบำบัดที่ได้รับการรับรองจาก FDA ของสหรัฐอเมริกาในการนำมารักษามะเร็งไฝ คือยาในกลุ่ม Anti-PD1-based therapy (ยาในกลุ่มนี้ ยังใช้รักษา มะเร็งปอด และมะเร็งไต ระยะลุกลามเช่นกัน) ซึ่งยากลุ่มนี้มีผลข้างเคียงที่เกิดจากยาที่ทำให้เกิดความผิดปกติในระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย(Immune related adverse event ย่อว่า irAE) โดยเกิดระหว่างให้ยา เช่น ท้องเสีย, ผื่นคัน, ปอดอักเสบ, ค่าการทำงานของไตผิดปกติ, การทำงานของฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติ,  อย่างไรก็ตามผลข้างเคียงของยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจแสดงอาการหลังจากได้ยานี้นานตั้งแต่12 เดือนขึ้นไปหลังจากได้รับยานี้ครั้งแรก ซึ่งเรียกผลข้างเคียงที่เกิดล่าช้านี้ว่า ‘delayed irAE’

 คณะแพทย์จากหลายประเทศในตะวันตก เช่น ออสเตรเลีย, สหราชอาณาจักร, และสหรัฐอเมริกา  นำโดย C.N Owen จาก Melanoma institute, The University of Sydney, Australia  ต้องการศึกษาถึงสถิติเกิดผลข้างเคียงที่ล่าช้าจากยานี้ รวมถึงวิธีรักษาและได้รายงานการศึกษานี้ทางอินเทอร์เนท ในวารสารการแพทย์ Annals of Oncology เมื่อ 30 มีนาคม 2021

ผลการศึกษา: ศึกษาในผู้ป่วยมะเร็งไฝที่ได้รับยานี้ทั้งหมดจากโรงพยาบาลทั้งหมด 20 แห่ง พบ

  • ผู้ป่วยที่เกิดผลข้างเคียงระยะล่าช้า(delayed irAE) โดยเกิดหลังได้รับยากลุ่ม Anti-PD1-based therapy นานตั้งแต่  12 เดือนขึ้นไป คิดเป็น 3%ของผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ทั้งหมด
  • ระยะเวลาที่เกิดผลข้างเคียงระยะล่าช้า อยู่ในช่วง 12-53 เดือน, ระยะเวลากึ่งกลาง(median)= 16 เดือน
  • 74% ของผู้ป่วยที่มีผลข้างเคียงระยะล่าช้า ยังได้รับยานี้อยู่ต่อเนื่อง
  • 12% ของผลข้างเคียงระยะล่าช้า เกิดในช่วงเวลาน้อยกว่า 3 เดือนหลังได้รับยานี้โดส(dose)สุดท้าย
  • 14% ของผลข้างเคียงระยะล่าช้า เกิดในช่วงเวลานานมากกว่า 3 เดือนหลังได้รับยานี้โดสสุดท้าย
  • 58%มีผลข้างเคียงฯที่เกิดในช่วงทั่วไปคือก่อน12เดือน(early irAR)ร่วมด้วย ซึ่งผลข้างเคียงที่เกิดช่วงทั่วไปและที่เกิดล่าช้า, 86%พบว่าเกิดในอวัยวะที่ต่างกัน   
  • ผลข้างเคียงล่าช้าฯ ที่พบบ่อย คือ ลำไส้ใหญ่อักเสบ, ขึ้นผื่น, และปอดอักเสบ, และ ผลข้างเคียงฯต่างๆเหล่านี้ค่อนข้างรุนแรง, 39%พบระดับความรุนแรงตั้งแต่ Grade3 ขึ้นไป , และมี2รายเสียชีวิต
  • การรักษาผลข้างเคียงล่าช้าฯ: 68%ได้รับยากลุ่มสเตียรอยด์, และ23%ได้รับยากดภูมิคุ้มกันร่วมด้วย

 คณะผู้ศึกษาสรุปว่า: ผลข้างเคียงที่เกิดล่าช้าจากการรักษามะเร็งไฝด้วยยาภูมิคุ้มกันบำบัดมะเร็งกลุ่ม  ‘Anti-PD1-based therapy’ เกิดได้น้อย แต่มีอาการรุนแรงค่อนข้างสูง และเป็นสาเหตุเสียชีวิตได้ ส่วนใหญ่พบในผู้ป่วยที่ยังคงได้รับยานี้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา นาน อย่างไรก็ตามในผู้ที่หยุดยานี้แล้ว ก็สามารถพบเกิดผลข้างเคียงฯนี้ได้ เพียงแต่พบได้น้อย

 

บรรณานุกรม

  1. C N Owen, et al. Delay immune-related adverse events with anti-PD1-based immunotherapy in melanoma.

       2. Annals of Oncology. https://www.annalsofoncology.org/article/S0923-7534(21)01101-7/fulltext  (abstract) [2021,Nov23]