คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน วิธีตรวจหามะเร็งปอดจากลมหายใจ
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 6 ธันวาคม 2564
- Tweet
คุยกับหมอรักษาโรคมะเร็ง ตอน วิธีตรวจหามะเร็งปอดจากลมหายใจ
มะเร็งปอด เป็นมะเร็งพบบ่อยทั่วโลกทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบบ่อยเป็นลำดับ2รองจากมะเร็งเต้านม แต่อัตราตายจากมะเร็งปอดสูงเป็นอันดับแรกของมะเร็งทุกชนิด
ส่วนในประเทศไทย รายงานจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติเมื่อ2018 พบมะเร็งปอด สูงเป็นลำดับ 2 ในชายไทย รองจากมะเร็งตับ, ส่วนในหญิงไทยพบเป็นลำดับ5รองจากมะเร็งเต้านม, มะเร็งตับ, มะเร็งปากมดลูก, และมะเร็งลำไส้ใหญ่,
มะเร็งปอด เป็นมะเร็งมักมีอาการต่อเมื่อระยะโรคเป็นมากแล้ว รวมถึงการวินิจฉัยและการตรวจคัดกรองเป็นวิธีที่ยุ่งยาก ซับซ้อน มีหลายขั้นตอน ต้องใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญ และเทคโนโลยีสูง วิธีตรวจฯส่วนใหญ่เป็นวิธีที่มีอันตราย และมีค่าใช้จ่ายสูง
วิธีวินิจฉัยมะเร็งปอดในปัจจุบันต้องใช้หลายๆวิธีร่วมกัน เช่น การตรวจภาพปอดด้วย เอกซเรย์ปอด, ซีทีสแกน, เอมอาร์ไอ และ/หรือ เพทสแกน, ร่วมกับตรวจหาเซลล์มะเร็งจากเสมหะ, จากน้ำในโพรงเยื่อหุ้มปอด, จากดูด/เจาะก้อนเนื้อในปอดผ่านทางเข็มเจาะผ่านผนังหน้าอกเพื่อนำเซลล์มาตรวจทางเซลล์วิทยา, ส่องกล้องในปอดเพื่อนำเซลล์จากก้อนเนื้อ สารคัดหลั่ง ในปอดตรวจหาเซลล์มะเร็งทั้งทางเซลล์วิทยา และ/หรือ ทางพยาธิวิทยา
แต่ปัจจุบัน ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด จึงมีวิธีวินิจฉัยโรคปอดบาง โรคได้จากการตรวจลมหายใจออกของผู้ป่วย(Exhaled Breath Test, การตรวจจับสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยออกจากการเจริญของเซลล์ซึ่งสารนี้จะปนอยู่ในลมหายใจออก /Volatile organic compounds /VOCs) ซึ่งการตรวจสารฯจากลมหายใจออกนี้เป็นวิธีที่ง่าย และมีผลข้างเคียงน้อย เพราะไม่ต้องตัดชิ้นเนื้อ ไม่ส่องกล้อง ไม่ต้องใช้ยาชา ไม่มีการฉีดยา เป็นการตรวจด้วยเครื่องมือ เช่น ที่เรียกว่า’ High-pressure photon ionization time-of-flight mass spectrometry (HPPI-TOFMS)’
คณะแพทย์โรคปอดจากประเทศจีน นำโดย นพ. Shushi Meng, จาก Department of Thoracic Surgery, Peking University People’s Hospital, Beijing, ประเทศจีน จึงต้องการศึกษา ถึงความเป็นไปได้ที่จะใช้วิธีตรวจลมหายใจออกเพื่อตรวจวินิจฉัยหามะเร็งปอด และได้รายงานการศึกษานี้ในวารสารการแพทย์ JAMA Network Open ฉบับเผยแพร่ทางอินเทอร์เนทเมื่อ 30 มีนาคม 2021
โดยเป็นการศึกษาระหว่างกลุ่มผู้ป่วยชาวจีน 139 รายที่เป็นมะเร็งปอด เปรียบเทียบกับประชากรจีนปกติ 289 ราย, ผู้เข้าศึกษาทั้งหมดมีอายุเฉลี่ย 57.0 ปี เป็นเพศหญิง 53.27%
ผลการศึกษาพบว่า การวินิจฉัยมะเร็งปอดจากลมหายใจมี
- ความไวในการตรวจวินิจฉัย(Sensitivity), ความจำเพาะ(Specificity), และความแม่นยำ(Accuracy) สูงกว่า 90%
คณะแพทย์ผู้ศึกษาสรุปว่า: การตรวจลมหายใจออกเพื่อหาสารประกอบอินทรีย์ที่ระเหยเป็นไอออกจากเซลล์มะเร็งปอดด้วยเทคนิค/เครื่อง HPPI-TOFMS เป็นวิธีที่น่าจะมีประสิทธิภาพในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด สมควรที่จะได้รับการพัฒนาและศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ทราบถึงประสิทธิผลที่แน่ชัดในการตรวจวินิจฉัยมะเร็งปอด โดยเฉพาะเพื่อการตรวจคัดกรองมะเร็งปอดตั้งแต่ในระยะเริ่มเป็นที่ยังไม่มีอาการ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆที่จะช่วยลดอัตราตายจากมะเร็งปอดลงได้อย่างมีประสิทธิผลเช่นกัน
บรรณานุกรม
- Imsamran, W. et al. (2018). Cancer in Thailand vol ix, 2013-2015, National Cancer Institute, Ministry of Public Health. Thailand
- Shushi Meng, et al. JAMA Network Open. 2021;4(3):e213486. https://jamanetwork.com/journals/jamanetworkopen/fullarticle/2777891 [2021,Nov23]