คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ (Cardioselective beta blockers)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 29 ตุลาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อย่างไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษา คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อย่างไร?
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคหัวใจ โรคหัวใจและหลอดเลือด (Heart disease หรือ Cardiovascular disease)
- ต้อหิน (Glaucoma)
- ไมเกรน (Migraine)
- ยาต้านรีโทรไวรัส (Antiretroviral Agent)
- ยาต้านเอชไอวี ยาสูตรฮาร์ท (HAART: Highly Active Antiretroviral Therapy)
- คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ (Cardioselective beta blockers)
บทนำ: คือยาอะไร?
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ (Cardioselective beta blockers) คือ กลุ่มยาที่นำมารักษาอาการของโรคหัวใจและหลอดเลือดต่างๆ(เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ, ภาวะหัวใจล้มเหลว, กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, หัวใจเต้นเร็ว, โรคความดันโลหิตสูง), ต้อหิน, ไมเกรนโดยมีรูปแบบยาแผนปัจุบันได้หลากหลายขึ้นกับยาแต่ละชนิดย่อย เช่น ยารับประทาน, ยาฉีด, ยาหยอดตา
อนึ่ง: ชื่ออื่นของยานี้ เช่น ซีเล็กทีฟ เบต้า1รีเซพเตอร์ บล็อกเกอร์ (Selective beta1 receptor blocker)
ตัวยาในกลุ่มนี้มีอยู่หลายรายการ และจำหน่ายภายใต้ชื่อการค้าอย่างมากมายหลายประเทศทั่วโลก, ตัวอย่างยากลุ่มนี้ที่พบเห็นการใช้กันในทางคลินิก เช่น
- Acebutolol: รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด (Angina), ภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน, หัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ, และบางกรณีนำมาใช้บำบัดอาการผู้ติดสุราเรื้อรังอีกด้วย, ผลิตภัณฑ์จะเป็นยารับประทาน และยาฉีด
- Betaxolol: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, รวมถึงบำบัดอาการของโรคต้อหิน โดยใช้ป้องกันความเสียหายของเส้นประสาทในบริเวณตา, ผลิตภัณฑ์เป็นยาชนิดรับประทาน และ ยาหยอดตา
- Bisoprolol: รักษาโรคความดันโลหิตสูง, อาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, บำบัด ภาวะหัวใจล้มเหลว, ผลิตภัณฑ์มีเฉพาะยาชนิดรับประทาน
- Celiprolol: ใช้ลดความดันโลหิตสูง เป็นยาชนิดรับประทาน
- Esmolol: ใช้บำบัดอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะโดยลดแรงบีบตัวของหัวใจ, และใช้เป็นยาป้องกันไม่ให้หัวใจผู้ป่วยเต้นเร็วในระหว่างการผ่าตัด, ผลิตภัณฑ์จะเป็นยาฉีดเท่านั้น
- Metoprolol: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด, ภาวะหัวใจล้มเหลว, หัวใจห้องล่างเต้นเร็วผิดปกติ, บางกรณีนำไปช่วยบำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน, ผลิตภัณฑ์มีทั้งยาชนิดรับประทาน และยาฉีด
- Nebivolol: ใช้รักษาโรคความดันโลหิตสูง, ประเทศในแถบยุโรปจะใช้รักษาภาวะหัวใจ ห้องล่างด้านซ้ายล้มเหลว (Left ventricular failure), ผลิตภัณฑ์มีเฉพาะยารับประทาน
ทั้งนี้ การเลือกใช้ยาดังกล่าวแต่ละรายการสำหรับผู้ป่วยแต่ละบุคคลจะมีความแตกต่างกันออกไป โดยแพทย์จะใช้องค์ประกอบต่างๆมาพิจารณา เช่น อายุ, เพศ, โรคประจำตัว, สตรีที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์, สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร, ยาอื่นๆที่ผู้ป่วยมีใช้อยู่ก่อน, ฯลฯ, นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของผลข้างเคียงจากยาเหล่านี้เข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย
ตัวยาหลายรายการข้างต้นมีใช้ในประเทศไทย และถูกจัดอยู่ในหมวดยาอันตราย การใช้ยากลุ่มนี้มักต้องรับประทานกันเป็นเวลานานต่อเนื่องเพื่อควบคุมอาการโรค เช่น ความดันโลหิตสูง โดยต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น, ห้ามมิให้ผู้ป่วยไปซื้อยามารับประทานเองโดยเด็ดขาด
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาโรคความดันโลหิตสูง (ยาลดความดัน)
- รักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
- รักษาอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด
- รักษาภาวะหัวใจล้มเหลว
- อื่นๆ: เช่น
- บำบัดอาการปวดศีรษะไมเกรน
- บำบัดอาการต้อหิน
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ตัวยาในกลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีกลไกการออกฤทธิ์ต่อต้านการกระตุ้นของระบบประสาทอัตโนมัติประเภทระบบประสาทซิมพาเทติก (Sympathetic) ซึ่งมีกระจายอยู่ในระบบการทำงานของอวัยวะต่างๆ เช่น หัวใจ ไต, นอกจากนี้ยังมีฤทธิ์ครอบคลุมไปถึงสมองส่วนก้านสมอง โดยยับยั้งสารสื่อประสาทต่างๆ, และลดฤทธิ์การทำงานของระบบประสาทซิมพาเทติก, จากกลไกที่ซับซ้อนดังกล่าว สามารถส่งผลต่อการรักษาอาการป่วยดังสรรพคุณ
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาชนิดรับประทาน ที่มีหลายขนาดความแรง
- ยาฉีด
- ยาหยอดตา
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีขนาดรับประทานอย่างไร?
เนื่องจากยาในกลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีหลากหลายรายการ, ความเหมาะสมของตัวยากับกลุ่มโรคมีความแตกต่างกันออกไป, อีกทั้งมีข้อห้ามใช้และผลข้างเคียงมากมาย, การใช้ยากลุ่มนี้ที่ปลอดภัย จึงขึ้นกับแพทย์ผู้ทำการรักษาที่จะสามารถบริหารยา/ใช้ยาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม (แนะนำอ่านเพิ่มเติมแต่ละตัวยาในเว็บ haamor.com เช่น ยา Acebutolol, Bisoprolol เป็นต้น)
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยา คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อก เกอร์ ตรงเวลา
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ต่อระบบต่างๆของร่างกาย: เช่น
- ผลต่อการทำงานของหัวใจ: เช่น เกิดภาวะหัวใจเต้นช้าผิดปกติ, การบีบตัวหรือการทำงานของกล้ามเนื้อหัวใจเปลี่ยนแปลงไป, ความดันโลหิตต่ำ, เจ็บหน้าอก, มีอาการบวมของมือ-เท้า, มีอาการโรคเรเนาด์ (Raynaud’s syndrome), เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวได้
- ผลต่อการทำงานของระบบประสาท: เช่น วิงเวียน ปวดหัว มีภาวะประสาทหลอน ฝันแปลกๆ ง่วงนอน ความรู้สึกสัมผัสเพี้ยน
- ผลต่อระบบการหายใจ: เช่น มีอาการไอ, หลอดลมเกร็งตัว/หายใจลำบาก, เยื่อจมูกอักเสบ, หลอดลมอักเสบ
- ผลต่อผิวหนัง: เช่น มีภาวะผื่นคัน เหงื่อมาก
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ท้องผูกหรือไม่ก็ท้องเสีย ท้องอืด คลื่นไส้อาเจียน อาหารไม่ย่อย
มีข้อควรระวังการใช้ คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยากลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์
- ห้ามปรับขนาดรับประทาน หรือหยุดการใช้ยาด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่มีสภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- *หลังการใช้ยานี้ ถ้าอาการป่วยไม่ดีขึ้น ต้องรีบมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว/ก่อนนัด เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ห้ามใช้ยานี้กับ ผู้ที่อยู่ในภาวะช็อกด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีโรคประจำตัวต่างๆ เช่น โรคหืด, ผู้ที่มีภาวะหัวใจเต้นช้า, ผู้ที่มีภาวะ/โรคความดันโลหิตต่ำ, ผู้ป่วยโรคเรเนาด์
- ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการรับประทานยาต่างๆ อาหาร การพัก ผ่อน การออกกำลังกาย, และต้องมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดทุกครั้ง
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยากลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- ห้ามรับประทานยากลุ่มคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ ด้วยจะส่งผลให้เกิดความดันโลหิตต่ำ มีอาการปวดหัว วิงเวียน และเป็นลม
- การใช้ยา Betaxolol ร่วมกับยาต้านไเอชไอวี /ยาต้านรีโทรไวรัส เช่นยา Atazanavir สามารถเพิ่มความเสี่ยงของภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ อาจมีอาการวิงเวียน เป็นลม ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- การใช้ยา Metoprolol ร่วมกับยา Reserpine และยาในกลุ่ม MAOIs จะทำให้ฤทธิ์ของยา Metoprolol เพิ่มมากขึ้น หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- การใช้ยา Nebivolol ร่วมกับยา Theophylline อาจทำให้ประสิทธิภาพของยา Nebivolol ลดลง แต่กลับเพิ่มอาการข้างเคียงจากยา Theophylline เพื่อป้องกันสภาวะดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
ควรเก็บรักษา คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ อย่างไร?
ควรเก็บยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์: เช่น
- เก็บยาตามเงื่อนไขที่ระบุในเอกสารกำกับยา/ฉลากยา
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
คาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคาร์ดิโอซีเล็กทีฟ เบต้า บล็อกเกอร์ มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
ACB (เอซีบี) | Pacific Pharm |
Apo-Acebutolol (อาโป-อะซีบูโทลอล) | Apotex |
Acebutolol Hydrochloride Capsule (อะซีบูโทลอล ไฮโดรคลอไรด์ แคปซูล) | Mylan Pharmaceuticals Inc |
Sectral (เซกทรัล) | Sanofi-Aventis |
Betoptic (เบท็อปติก) | Alcon |
Betoptic S (เบท็อปติก เอส) | Alcon |
Kerlone (เคอร์โลน) | Sanofi Aventis |
Bisloc (บิสล็อก) | Unison |
Concor (คอนคอร์) | Merck |
Hypercor (ไฮเพอร์คอร์) | Sriprasit Pharma |
Lodoz (โลดอซ) | Merk |
Novacor (โนวาคอร์) | Tri Medical |
Atenol (อะทีนอล) | T. O. Chemicals |
Atenolol Community Pharm (อะทีนอล คอมมูนิตี้ ฟาร์ม) | Community Pharm PCL |
Atenolol Kopran (อะทิโนลอล โคพราน) | Kopran |
Betaday-50 (เบต้าเดย์-50) | Vesco Pharma |
Enolol (อีโนลอล) | Charoon Bhesaj |
Esnolol (เอสโนลอล) | Emcure Pharma |
Eutensin (ยูเทนซิน) | Greater Pharma |
Oraday (ออราเดย์) | Biolab |
Prenolol (พรีโนลอล) | Berlin Pharm |
Tenocard (ทีโนคาร์ด) | IPCA |
Tenolol (ทีโนลอล) | Siam Bheasach |
Tenormin (ทีนอร์มิน) | AstraZeneca |
Tenrol (เทนรอล) | Unique |
Tetalin (ทีตาลิน) | Pharmasant Lab |
Tolol (โทลอล) | Suphong Bhaesaj |
Velorin (วีโลริน) | Remedica |
Celipres (เซลิเพรส) | Ranbaxy |
Cardeloc (คาร์ดิล็อก) | T.O. Chemicals |
Cardoxone R (คาร์ดอกโซน อาร์) | Remedica |
Meloc (เมล็อก) | T. Man Pharma |
Melol (เมลอล) | Central Poly Trading |
Metoblock (เมโทบล็อค) | Silom Medical |
Metoprolol 100 Stada (เมโทโพรลอล 100 สตาดา) | Stada |
Metoprolol 200 Stada Retard (เมโทโพรลอล 200 สตาดา รีทาร์ด) | Stada |
Metprolol (เมทโพรลอล) | Pharmaland |
Sefloc (เซฟล็อก) | Unison |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Beta_blocker [2022,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Acebutolol [2022,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Atenolol [2022,Oct29]
- https://www.mims.com/India/drug/info/celiprolol/ [2022,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Esmolol [2022,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Metoprolol [2022,Oct29]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Nebivolol [2022,Oct29]
- https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/high-blood-pressure/in-depth/beta-blockers/art-20044522 [2022,Oct29]
- https://www.drugs.com/mtm/nebivolol.html [2022,Oct29]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/metoprolol-index.html?filter=2#R [2022,Oct29]