คอมดลูกสั้น (Shortened cervix)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะคอมดลูกสั้นคืออะไร?

ความยาวปกติทั่วไปของคอมดลูก(Cervix)ในสตรีวัยเจริญพันธุ์ขณะที่ไม่มีการตั้งครรภ์จะยาวประมาณ 4 ซม.(เซนติเมตร) แต่เมื่อตั้งครรภ์คอมดลูกจะสั้นลง เนื่องจากมีการบางตัวลงของปากมดลูก และจะบางตัวเหมือนแผ่นกระดาษเมื่อเจ็บครรภ์คลอดและเมื่อพร้อมที่จะคลอดซึ่งเป็นภาวะปกติ ส่วนคำว่า “ภาวะคอมดลูกสั้น(Shortened cervix หรือ Short cervix หรือ Shortening of the cervical canal)” จะหมายถึงว่า มีการสั้นลงของความยาวของคอมดลูกก่อนที่ปากมดลูกจะบางตัวมากเกินไป เป็นภาวะที่เกิดก่อนที่จะทำให้เกิดการคลอดตามมา หากคอมดลูกสั้นมาก ก็มีโอกาสที่ปากมดลูกจะเปิดขยายมาก และหากอายุครรภ์ยังไม่ครบกำหนด จะทำให้เกิดการคลอดก่อนกำหนด ซึ่งเป็นภาวะที่สูติแพทย์ไม่ต้องการให้เกิดขึ้น ดังนั้นหากสามารถวินิจฉัยภาวะนี้ได้เร็วก่อนที่ปากมดลูกจะเปิดขยายมาก จะสามารถช่วยป้องกันการคลอดก่อนกำหนดได้

เกณฑ์ที่แพทย์ใช้วินิจฉัยว่ามีภาวะคอมดลูกสั้น คือ ความยาวของคอมดลูกจากรูเปิดภายในของปากมดลูก(Internal os/ Internal cervical os)ถึงรูเปิดภายนอกของปากมดลูก(External os/ External cervical os)จะประมาณน้อยกว่าหรือเท่ากับ 25 มม.(มิลลิเมตร) ที่อายุครรภ์ประมาณ 16-24 สัปดาห์ จะถือว่าผิดปกติ/คอมดลูกสั้น

ภาวะคอมดลูกสั้นมีผลกระทบต่อสุขภาพสตรีอย่างไร?

คอมดลูกสั้น

ผลกระทบ(ผลข้างเคียง)จากการที่มี คอมดลูกสั้น จะมีผลต่อสตรีตั้งครรภ์ เพราะการที่คอมดลูกสั้น จะทำให้ปากลูกบางตัวและเปิดขยายตามมา ทำให้เกิดการแท้งบุตรได้ง่าย หรือเกิดการคลอดก่อนกำหนดได้ แต่สำหรับสตรีที่ไม่ได้ตั้งครรภ์ การมีคอมดลูกสั้น มักไม่เป็นปัญหา

ใครมีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีภาวะคอมดลูกสั้น?

สตรีที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีภาวะคอมดลูกสั้น ได้แก่

1. เคยมีการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน

2. เคยผ่าตัดปากมดลูกมาก่อน

3. มีความผิดปกติที่ปากมดลูก(Uterine anomalies)จากสาเหตุต่างๆ เช่น มีติ่งเนื้อปากมดลูก

4. ตั้งครรภ์แฝด

ภาวะคอมดลูกสั้นทำให้มีอาการอย่างไร?

การมีภาวะคอมดลูกสั้นส่วนมากไม่มีอาการในสตรีที่ไม่ตั้งครรภ์ แต่สำหรับสตรีตั้งครรภ์ อาจไม่มีอาการ หรือมีอาการดังต่อไปนี้

1. ปวดหน่วงในท้องน้อย

2. มีอาการของการแท้งบุตร (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง”อาการฯ”ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การแท้งบุตร)

3. มีอาการของการคลอดก่อนกำหนด (อ่านเพิ่มเติมเรื่อง”อาการฯ”ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดก่อนกำหนด)

แพทย์วินิจฉัยภาวะคอมดลูกสั้นอย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะคอมดลูกสั้นได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: เช่น มีประวัติเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด หรือคลอดบุตรก่อนกำหนด แต่บางรายที่ไม่มีอาการ แพทย์อาจตรวจพบโดยบังเอิญมากกว่า เช่น จากการตรวจภายในวินิจฉัยโรคทั่วไปของสตรี

ข.การตรวจร่างกาย: การตรวจภายใน พบปากมดลูกสั้นผิดปกติในระยะเวลาที่ไม่ใช่เวลาเจ็บครรภ์คลอด

ค.การตรวจอัลตราซาวด์อุ้งเชิงกราน: โดยแพทย์จะทำการวัดระยะคอมดลูกตั้งแต่ รูปากมดลูกภายใน (Internal cervical os) ถึงรูปากมดลูกภายนอก (External cervical os) ด้วยเครื่องตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอด ซึ่งสามารถบอกความสั้นยาวของคอมดลูกได้แม่นยำกว่าการตรวจภายใน นอกจากนั้นการตรวจอัลตราซาวด์ยังทำให้สามารถมองเห็นลักษณะของถุงน้ำคร่ำที่ย้อยต่ำลงมาในปากมดลูกที่จะมีลักษณะคล้ายกรวย เรียกว่า Funneling ซึ่งจะบ่งบอกถึงว่า น่าจะมีโอกาสเกิดการคลอดก่อนกำหนดในไม่ช้า

อนึ่ง ช่วงระยะเวลาที่เหมาะสมในการตรวจวัดความยาวของคอมดลูกเพื่อทำนายการเกิดการคลอดก่อนกำหนด คืออายุครรภ์ที่ 16-24 สัปดาห์

ในสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป ค่ามัธยฐาน(Median/ค่ากึ่งกลางของข้อมูล)ของความยาวปกติของคอมดลูกที่อายุครรภ์ 22 สัปดาห์ คือ 35 มม. และ

การศึกษาส่วนใหญ่จะถือว่า “มีภาวะคอมดลูกสั้นเมื่อความยาวของปากมดลูก คือ น้อยกว่าหรือเท่ากับ(

การดูแลรักษาภาวะคอมดลูกสั้นทำอย่างไร?

การดูแลรักษาภาวะคอมดลูกสั้นในช่วงตั้งครรภ์ ได้แก่

1. นอนพักผ่อนมากๆ เป็นคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับสตรีที่มีภาวะคอมดลูกสั้น แม้ว่าจะไม่มีข้อมูลการศึกษาสนับสนุนอย่างชัดเจน

2. ผู้ป่วยบางราย แพทย์จะให้ยาป้องกันการหดรัดตัวของมดลูก เช่น ยาฮอร์โมนกลุ่ม โปรเจสเทอโรน

3. การเย็บปากมดลูก (Cervical cerclage) เพื่อช่วยให้ปากมดลูกกระชับ ลดโอกาสแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด

4. การใช้ห่วงพยุงปากมดลูก (Vagianal pessary) เพื่อช่วยให้ปากมดลูกกระชับ ลด โอกาสแท้งบุตร หรือคลอดก่อนกำหนด

5. ปัจจุบันมีการให้ฮอร์โมนโปรเจสเทอโรน เป็นการป้องกันภาวะเจ็บครรภ์ก่อนกำหนดในคนที่มีคอมดลูกสั้น(ไม่ใช่การรักษาภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด)สามารถให้ได้ในรูปแบบฉีดยา เช่นยา Hydroxyprogesterone caproate 250 มก.(มิลลิกรัม) ฉีดเข้ากล้ามเนื้อสัปดาห์ละ 1 ครั้ง หรือใช้เป็นยาเหน็บช่องคลอด (Vaginal micronized progesterone) 200 มก. เหน็บช่องคลอดตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 20 จนถึง 36 สัปดาห์ พบว่าสามารถช่วยลดภาวการคลอดก่อนกำหนดลงได้

สตรีตั้งครรภ์ที่มีคอมดลูกสั้น ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

โดยทั่วไป สตรีตั้งครรภ์จะไม่รู้ว่าตนเองมีคอมดลูกสั้น ยกเว้นตรวจพบโดยสูติแพทย์ ในกรณีที่แพทย์ตรวจพบคอมดลูกสั้น หากตรวจพบว่ายังไม่เข้าเกณฑ์การรักษา อาจมีการนัดตรวจติดตามเพื่อวัดความยาวของคอมดลูกอีกครั้ง ส่วนมากสตรีตั้งครรภ์ที่ปากมดลูกไม่สั้นมาก มักไม่มีอาการ แต่หากสตรีตั้งครรภ์นั้นมีอาการปวดหน่วงในท้องน้อยมากหรือรู้สึกคล้ายมดลูกจะหลุด มีน้ำ/ของเหลวไหลออกทางช่องคลอด มีการหดรัดตัวของมดลูกบ่อยๆผิดปกติ ก็ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

การตรวจคัดกรองภาวะมดลูกสั้นในสตรีตั้งครรภ์ทุกคนจำเป็นหรือไม่?

ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ว่า ในสตรีตั้งครรภ์เดี่ยว(ไม่ใช่ครรภ์แฝด)และในสตรีที่ไม่มีปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดการคลอดก่อนกำหนด จำเป็นต้องตรวจวัดความยาวของคอมดลูกทุกคนหรือไม่ ในบางสถาบันการแพทย์ แนะนำตรวจวัดความยาวปากมดลูกในช่วงอายุครรภ์18-24 สัปดาห์ด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ทางช่องคลอดทุกราย บางสถาบันฯจะตรวจอัลตราซาวด์ทางหน้าท้องก่อน แล้วหากพบว่า คอมดลูกสั้น จึงจะมีการตรวจยืนยันด้วยการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดอีกครั้ง แต่บางสถาบันฯ ไม่มีการแนะนำการตรวจ หากไม่มีปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวในหัวข้อ”ปัจจัยเสี่ยงฯ”

แต่สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการคลอดก่อนกำหนด มีความจำเป็นที่ควรตรวจวัดคอมดลูกที่อายุครรภ์18 – 24 สัปดาห์ หากมีภาวะคอมดลูกสั้น แพทย์ก็จะทำการดูแลตามที่กล่าวมาแล้วในหัวข้อ”การดูแลรักษาฯ”

ภาวะคอมดลูกสั้น สามารถตั้งครรภ์ครั้งต่อไปได้หรือไม่?

กรณี สตรีที่เคยได้รับการวินิจฉัยว่า มีคอมดลูกสั้น สามารถตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้ แต่ก็มีความเสี่ยงในการคลอดก่อนกำหนดมากขึ้นหากก่อนหน้านี้มีการคลอดก่อนกำหนดมาก่อน

ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีคอมดลูกสั้นจะเป็นอย่างไร?

สุขภาพของทารกที่เกิดในมารดาที่มีคอมดลูกสั้น ขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ของทารกเป็นหลัก โดยเหมือนทารกทั่วไปที่เกิดจากมารดาที่มีคอมดลูกไม่สั้น ซึ่งหากเป็นทารกที่อายุครรภ์อ่อนมากๆ ทารกจะมีอันตรายจากการที่อวัยวะต่างๆยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ มีความเสี่ยงเกี่ยวกับการขยายตัวของปอดไม่เต็มที่ มีโอกาสเกิดเลือดออกในสมอง/เลือดออกในกะโหลกศีรษะ การพัฒนาการผิดปกติ แต่ สำหรับทารกที่อายุครรภ์ครบกำหนด การเจริญเติบโตหรือพัฒนาการก็เหมือนทารกทั่วไป

มารดาที่มีคอมดลูกสั้นควรดูแลตนเองอย่างไรหลังคลอด?

หลังคลอด มารดาที่มีคอมดลูกสั้นสามารถดูแลตนเองเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป ขึ้นกับว่าเป็นการคลอดบุตรทางช่องคลอด หรือการผ่าตัดคลอดบุตร อ่านเพิ่มเติมเรื่อง”การดูแลตนเองฯ”ได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การคลอดบุตร และเรื่อง การผ่าท้องคลอดบุตร

สตรีที่มีคอมดลูกสั้น ควรตั้งครรภ์ครั้งต่อไปเมื่อไร?

ในสตรีที่มีคอมดลูกสั้น การคุมกำเนิดและการวางแผนตั้งครรภ์บุตรคนต่อไป/การวางแผนครอบครัวเหมือนสตรีหลังคลอดทั่วไป เพียงแต่จะมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะคอมดลูกสั้นขณะตั้งครรภ์อีกที่จะนำไปสู่การแท้งบุตรได้ง่าย หรือการคลอดก่อนกำหนดอีก ดังนั้นสตรีตั้งครรภ์ ต้องบอกแพทย์ผู้ดูแลว่า เคยมีปัญหาอย่างไรบ้างในการตั้งครรภ์ครั้งก่อนๆ เพื่อที่แพทย์จะได้ให้ยาช่วยขยายกล้ามเนื้อมดลูก/ยาป้องกันการหดรัดตัวของมดลูก หรือ ใส่ห่วงพยุงปากมดลูก หรือพิจารณาเย็บปากมดลูก เพื่อช่วยป้องกันการแท้งบุตร หรือการคลอดก่อนกำหนดอีก

บรรณานุกรม

  1. https://emedicine.medscape.com/article/402598-overview [2017,Nov11]
  2. https://www.uptodate.com [2017,Nov11]