คอตีบ (Diphtheria)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 5 พฤศจิกายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร?พบบ่อยไหม?
- เชื้อคอตีบก่อโรคและติดต่อได้อย่างไร?
- โรคคอตีบมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคคอตีบได้อย่างไร?
- รักษาโรคคอตีบได้อย่างไร?
- โรคคอตีบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
- ดูแลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคคอตีบอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- เด็ก: โรคเด็ก (Childhood: Childhood diseases)
- โรคติดเชื้อทางเดินหายใจ โรคติดเชื้อระบบหายใจ (Respiratory tract infection)
- แบคทีเรีย: โรคจากแบคทีเรีย (Bacterial infection)
- ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics)
- หัวใจอักเสบ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis)
- ภาวะหายใจล้มเหลว (Respiratory failure)
- ไตวาย ไตล้มเหลว (Renal failure)
- วัคซีนคอตีบ (Diphtheria vaccine)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
คอตีบ (Diphtheria) คือ โรคเกิดจากทางเดินหายใจติดเชื้อแบคทีเรียชนิด Chorynebacterium (C.) diphtheria, เป็นโรคติดต่อจากคนสู่คนที่แพร่ระบาดได้เร็ว/ง่าย/รุนแรงด้วยการสัมผัสสารคัดหลั่งจาก ทางเดินหายใจ, ตา, จมูก, ลำคอ, ผิวหนังผู้ป่วย (การคลุกคลี ใกล้ชิด ไอ จาม น้ำลาย เสมหะ), อาการหลักคือ มีไข้ เจ็บคอ/คออักเสบมาก หอบเหนื่อย
ปัจจุบัน พบน้อยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคนี้ (วัคซีนคอตีบ) ตั้งแต่เป็นทารกอายุ 2 เดือนอย่างทั่วถึง, แต่ยังเป็นโรคพบบ่อยในประเทศในเขตร้อนที่ยังไม่พัฒนาหรือกำลังพัฒนารวมทั้งประเทศไทย เพราะการขาดแคลนวัคซีน หรือเด็กไม่ได้รับวัคซีนเพราะคลอดเองที่บ้าน, อย่างไรก็ตามถึงแม้เป็นโรคของเขตร้อนแต่ก็พบได้ทั่วโลก
โรคคอตีบ พบใกล้เคียงทั้งเพศหญิงและเพศชาย พบทั่วโลก ไม่ขึ้นกับเชื้อชาติ พบทุกอายุ แต่มักพบในเด็กเล็ก(มักไม่พบในเด็กอายุต่ำกว่า 6 เดือนเนื่องจากช่วงอายุนี้ยังได้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคจากแม่ ซึ่งจะหมดไปเมื่อเด็กมีอายุได้ประมาณ 6 เดือน), ปัจจุบันจากการสาธารณสุขที่ดีขึ้นทั่วโลก ส่งผลให้พบโรคนี้น้อยลงกว่าในอดีตมากเพราะเด็กได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบเกือบทุกคน, จึงมักพบได้ประปรายหรือมีการระบาดกลุ่มเล็กๆในเด็ก/ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนนี้
ปัจจุบันในประเทศที่ยังไม่พัฒนา มักพบโรคเกิดในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) โดยเฉพาะ 'เด็กเล็ก' แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว มักพบในวัยรุ่น หรือในผู้ใหญ่จากคนกลุ่มนี้ขาดการฉีดวัคซีนคอตีบกระตุ้นซึ่งต้องฉีดทุกๆ 10 ปี
ทั้งนี้ ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคคอตีบ คือ
- คนที่ไม่เคยฉีดวัคซีนป้องกันโรคคอตีบ ทั้งเด็ก และผู้ใหญ่
- วัยรุ่น หรือ ผู้ใหญ่ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนคอตีบกระตุ้น
- การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แออัดและขาดสุขอนามัย
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ
เชื้อคอตีบก่อโรคและติดต่อได้อย่างไร?
แหล่งรังโรคของเชื้อโรคคอตีบ คือ ‘มนุษย์’ โดยเชื้ออาศัยอยู่ในโพรงจมูก, โพรงหลังจมูก, ในลำคอ, และอาจพบที่ผิวหนังได้, นอกจากนั้นอาจพบเชื้อโรคคอตีบได้ในดินและในบางแหล่งน้ำธรรมชาติ
คอตีบ เป็นโรคติดต่อได้ง่ายและระบาดได้รวดเร็ว โดยติดต่อจากการใกล้ชิดคลุกคลีกับผู้ป่วย รวมทั้งการสัมผัส น้ำมูก น้ำลาย ละอองหายใจ และจากการไอ จาม, นอกจากนั้นยังอาจพบติดต่อผ่านทางเชื้อที่ปนในอาหาร เช่น ในนม แต่พบโอกาสติดต่อด้วยวิธีนี้ได้น้อย
เมื่อได้รับเชื้อ เชื้อจะอยู่ในบริเวณส่วนตื้นๆของเนื้อเยื่อเมือกบุทางเดินหายใจ เช่น โพรงจมูก ต่อมทอนซิล ในลำคอ และในกล่องเสียง, หลังจากนั้นเชื้อจะสร้างสารพิษ/สารชีวพิษซึ่งเป็นโปรตีนมีพิษต่อร่างกายชนิดหนึ่งเรียกว่า ‘Diphtheria toxin’ ซึ่งสารพิษนี้จะก่อให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ ส่งผลเกิดการตายของเซลล์เนื้อเยื่อเมือกในทางเดินหายใจ, เซลล์เม็ดเลือดขาว, และเม็ดเลือดแดง, รวมทั้งการตายสะสมของตัวแบคทีเรียเอง จึงก่อให้เกิดเป็น’แผ่นเยื่อหนาสีเทา-น้ำตาล’ปกคลุมหนาในทางเดินหายใจ จนก่อให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจ, ผู้ป่วยจึงมีอาการหายใจไม่ออก คล้ายมีอะไรบีบรัดในทางเดินหายใจ (เป็นที่มาของชื่อ “โรคคอตีบ”) ซึ่งแผ่นเยื่อนี้พบเกิดได้ตั้งแต่ในโพรงจมูกลงไปจนถึงในลำคอ โดยพบบ่อยที่สุดในบริเวณต่อมทอนซิลและคอหอย
นอกจากนั้น ตัวสารพิษ ยังอาจแพร่เข้าสู่กระแสเลือดจนอาจก่ออาการอักเสบกับอวัยวะและเนื้อเยื่อต่างๆได้ ที่พบบ่อยคือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบและ/หรือเส้นประสาทอักเสบโดยเฉพาะเส้นประสาทบริเวณลำคอที่ทำให้เกิดอาการกลืนลำบาก ซึ่งอาจเกิดได้หลังเริ่มมีอาการประมาณ 2 - 10 สัปดาห์
โรคคอตีบมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคคอตีบมักเกิดหลังได้รับเชื้อประมาณ 2 - 5 วัน (ระยะฟักตัวของโรค) แต่อาจนานได้ถึง 10 วัน, และผู้ป่วยมักมีอาการอยู่ได้นานถึง 4 - 6 สัปดาห์ หรืออาจนานกว่านี้ ขึ้นกับความรุนแรงของโรค
อาการพบบ่อยของโรคคอตีบ: เช่น
- มีไข้ มักไม่เกิน 39 องศาเซลเซียส (Celsius), อาจรู้สึกหนาวสั่น
- อ่อนเพลีย, เจ็บคอ/ คออักเสบมาก
- กิน/ดื่มแล้วเจ็บคอมากจึงกิน/ดื่มได้น้อย
- หายใจลำบาก หายใจไม่ออก หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
- คออาจบวม และไอมีเสียงดังเหมือนสุนัขเห่า
- มีแผ่นเยื่อในจมูก ต่อมทอนซิล ลำคอ และกล่องเสียง ก่ออาการค่อยๆมีเสียงแหบลงเรื่อยๆ และ อาจมีน้ำมูกเป็นเลือด
- อาจมีต่อมน้ำเหลืองบวมบริเวณลำคอ ซึ่งบวมโตได้ทั้งสองข้างลำคอ
- หลังจากมีอาการทางเดินหายใจแล้ว อาจพบมีแผลบริเวณผิวหนังพบได้ทั่วตัว แต่พบบ่อยบริเวณแขนและขา แผลมีลักษณะเหมือนแผลทั่วไป แต่เมื่อตรวจเชื้อจะพบว่า เกิดจากเชื้อโรคคอตีบ
แพทย์วินิจฉัยโรคคอตีบได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคคอตีบได้จาก
- ประวัติอาการผู้ป่วย ประวัติสัมผัสโรค ประวัติการฉีดวัคซีนคอตีบ ถิ่นที่พักอาศัย
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจย้อมเชื้อจากการป้ายสารคัดหลั่งจากโพรงหลังจมูกหรือจากลำคอ
- อาจมีการสืบค้นอื่นๆเพิ่มเติม ขึ้นกับอาการผู้ป่วยและดุลพินิจของแพทย์ เช่น
- ตรวจเลือดซีบีซี (CBC) ดูการติดเชื้อ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจอีเคจี
- ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์
รักษาโรคคอตีบได้อย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคคอตีบ มักเป็นการรักษาผู้ป่วยในโรงพยาบาลเสมอเพราะเป็นโรคที่มีอาการรุนแรง, ซึ่งการรักษา ได้แก่
- การให้ยาต้านสารพิษของเชื้อคอตีบ (Diphtheria antitoxin) โดยเฉพาะในผู้ป่วยอาการรุนแรง
- การให้ยาปฏิชีวนะ เช่น ยา Metronidazole, Erythromycin, กลุ่ม Penicillin
- การฉีดวัคซีนคอตีบเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันต้านทานต่อโรค
- การรักษาประคับประคองตามอาการ/ การรักษาตามอาการ เช่น
- การให้น้ำเกลือและ/หรือสารอาหารทางหลอดเลือดดำ
- การให้ออกซิเจน
- การใช้เครื่องช่วยหายใจ ซึ่งบางครั้งอาจต้องเจาะคอถ้าทางเดินหายใจแคบเกินกว่าจะหายใจเองได้
โรคคอตีบรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?
ผลข้างเคียงจากโรคคอตีบเกิดจากสารพิษ/สารชีวพิษแพร่กระจายเข้าสู่กระแสเลือด และก่อให้เกิดโรคต่างๆดังได้กล่าวแล้ว, ซึ่งที่อาจพบได้ เช่น
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- เส้นประสาทอักเสบที่ส่งผลให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง ซึ่งถ้าเกิดกับประสาทกล้ามเนื้อหายใจจะส่งผลให้หายใจเองไม่ได้เกิดภาวะหายใจล้มเหลว ที่ทำให้ถึงตายได้
- ไตวายเฉียบพลัน ที่อาจเป็นสาเหตุถึงตายได้เช่นกัน
ความรุนแรง/การพยากรณ์โรค: โรคคอตีบจัดเป็นโรครุนแรงเป็นสาเหตุให้ถึงตายได้ อัตราตายทั่วไปประมาณ5%-10%, แต่ทั้งนี้ขึ้นกับหลายปัจจัย
- ความรุนแรงของโรคตั้งแต่แรกมีอาการที่ต่างกันในแต่ละคน
- การได้รับยาต้านสารพิษและยาปฏิชีวนะอย่างรวดเร็วภายใน 1 - 2 วันหลังมีอาการ ช่วยลดอัตราตายลงเหลือประมาณ 1%
- แต่ถ้ามาพบแพทย์ล่าช้า หรือ เมื่อผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 5 ปี หรืออายุสูงตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หรือเกิดผลข้างเคียงแล้ว, อัตราตายเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 20%
ดูแลอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองหรือการดูแลผู้ป่วย คือ
- การรีบพบแพทย์เมื่อมีอาการดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ'
นอกจากนั้น ดังกล่าวแล้วว่า คอตีบเป็นโรคติดต่อได้ง่ายรวดเร็วและรุนแรง *ดังนั้นผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยรวมทั้งผู้ดูแลผู้ป่วยควรพบแพทย์เสมอเพื่อขอรับคำแนะนำ อาจต้องตรวจเชื้อจากโพรงหลังจมูก และอาจจำเป็นต้องได้รับการฉีดวัคซีนคอตีบ หรือฉีดกระตุ้น (ในคนเคยได้วัคซีนคอตีบมาก่อนแล้ว) รวมทั้งการได้รับยาปฏิชีวนะเมื่อตรวจพบเชื้อทั้งๆที่ยังไม่มีอาการทั้งนี้ขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
ป้องกันโรคคอตีบอย่างไร?
การป้องกันโรคคอตีบที่มีประสิทธิภาพที่สุด คือ
- การฉีดวัคซีนคอตีบซึ่งเริ่มฉีดเมื่ออายุ 2 เดือนโดย อยู่ในรูปแบบของวัคซีนรวม โรค คอตีบ, โรคบาดทะยัก, และโรคไอกรน (DTP vaccine/ดีพีทีวัคซีน: Diphtheria, Tetanus และ Pertussis), ทั่วไป ฉีดทั้งหมด 5 เข็มเป็นระยะๆจากอายุ 2 เดือนจนถึงอายุ 6 ปีตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของกระทรวงสาธารณสุขของเรา ซึ่งแพทย์/พยาบาลที่ดูแลมารดาเรื่องการคลอดจะเป็นผู้ให้คำแนะนำที่รวมถึงวันนัดการได้รับวัคซีนเข็มต่างๆของเด็ก
- นอกจากนั้นคือ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยง ซึ่งที่สำคัญ คือ
- รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆซึ่งรวมทั้งเชื้อโรคคอตีบและลดการติดโรคที่ก่อให้เกิด ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ติดเชื้อเอชไอวี หรือ โรคเอดส์
- รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
- ร่วมมือกันในชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อมให้มีสุขอนามัยที่ดี
บรรณานุกรม
- กำหนดการให้วัคซีนตามแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ของกระทรวงสาธารณสุข ปี https://www.chularat3.com/knowledge_detail.php?lang=th&id=615 [2022,Nov5]
- ศ.พญ.ประยงค์ และ รศ. พญ. วนพร อนันตเสรี. (2550). กุมารเวชศาสตร์ทั่วไป. คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
- Braunwald, E., Fauci, A., Kasper, L., Hauser, S., Longo, D., and Jameson, J. (2001). Harrison’s principles of internal medicine (15th). New York: McGraw-Hill.
- https://emedicine.medscape.com/article/782051-overview#showall [2022,Nov5]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Diphtheria [2022,Nov5]
- https://emedicine.medscape.com/article/963334-overview#showall [2022,Nov5]