ควินิน (Quinine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 17 กันยายน 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ควินินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ควินินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ควินินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ควินินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ควินินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ควินินอย่างไร?
- ควินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาควินินอย่างไร?
- ควินินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
- คลอโรควิน (Chloroquine)
- ภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี (G6PD deficiency)
- ยาต้านการแข็งตัวของเลือด: ยากันเลือดแข็งตัว (Anticoagulants)
- ภาวะเกล็ดเลือดต่ำ (Thrombocytopenia)
บทนำ: คือยาอะไร?
ควินิน (Quinine) คือ ยาต้านมาลาเรีย/โรคไข้จับสั่น ที่เป็นสารประเภทอัลคาลอยด์ (Alkaloid, สารประกอบชนิดหนึ่งในพืช มีหน้าที่ช่วยการเจริญเติบโตและเป็นสารป้องกันแมลงของพืช)ที่สกัดได้จากเปลือกของต้นซิงโคนา (Cinchona tree), มีฤทธิ์ต่อต้านเชื้อมาลาเรีย/ไข้จับสั่น และมีพิษต่อร่างกายมากกว่ายา Chloroquine, โดยมีรูปแบบเป็นยารับประทาน และยาฉีด
ยาควินิน รูปแบบรับประทาน สามารถดูดซึมได้อย่างรวดเร็วจากระบบทางเดินอาหาร ปริมาณตัวยาจะเพิ่มในกระแสเลือดได้สูงสุดโดยใช้เวลาไม่เกิน 1-3 ชั่วโมง,ตัวยาส่วนมากจะจับกับพลาสมาโปรตีนและสามารถซึมผ่านรกได้เป็นอย่างดี, แต่จะซึมผ่านเข้าหลอดเลือดของสมองได้เพียงเล็กน้อย, ตับจะคอยเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของยาควินินอย่างต่อเนื่อง, ก่อนที่จะถูกร่างกายกำจัดทิ้งไปกับปัสสาวะโดยใช้เวลาถึงประมาณ 10 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ
ตัวยาควินิน เคยนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีการดื้อยา Chloroquine หรือดื้อยา Mefloquine ที่ใช้รักษาโรคมาลาเรียที่มีต้นเหตุจากเชื้อชนิด P.falciparum (Plasmodium falciparum), และค้นพบจนได้ข้อสรุปทางคลินิกว่า ยาควินินในรูปแบบของยาฉีดจะถูกนำมาใช้เมื่อผู้ป่วยมีอาการติดเชื้อมาลาเรียในระยะรุนแรงจนไม่สามารถรับประทานยาทุกชนิดรวมถึงยาต้านมาลาเรียได้เอง เพราะอยู่ในภาวะโคม่า หรือกำลังมีอาการชัก หรืออยู่ในภาวะอาเจียนอย่างหนัก, สำหรับการติดเชื้อมาลาเรียประเภทที่อาการไม่รุนแรงนัก และผู้ป่วยรับประทานได้ แพทย์ก็สามารถใช้ยาควินินชนิดรับประทานกับผู้ป่วยได้
บ่อยครั้งที่แพทย์จะใช้ยาควินินร่วมกับยาอื่น เช่น ยา Pyrimethamine , Sulfadoxine, หรือ Tetracycline, ร่วมในการรักษามาลาเรีย
ยาควินิน เป็นยาที่ใช้ได้ทั้งกับผู้ใหญ่และเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) แต่ก็มีข้อควรทราบของผลข้างเคียงบางประการที่อาจเกิดขึ้นและต้องเฝ้าระวัง กล่าวคือ ควินินอาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะเลือดออกง่ายที่สังเกตได้จากมีเลือดออกตามซอกเหงือกของผู้ป่วยขณะใช้ยานี้ นอกจากนี้ควินินยังสามารถทำอันตรายต่อไตได้อีกด้วย
ก่อนการได้รับยาควินิน ผู้ป่วยมักจะได้รับคำถามจากแพทย์หลายคำถามอย่างเช่น
- มีประวัติแพ้ยาควินิน หรือแพ้ยาตัวใดอยู่บ้างหรือไม่
- รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด หรือเป็นผู้ที่มีภาวะเลือดออกง่ายอยู่ก่อน หรือไม่
- อยู่ในภาวะตั้งครรภ์ หรือภาวะให้นมบุตรหรือไม่
- มีโรคประจำตัวใดบ้าง เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต โรคกล้ามเนื้อ โรคซึมเศร้า หรือมีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ระดับโพแทสเซียมในเลือดต่ำ เป็นโรคลมชัก หรือป่วยด้วยโรค/ภาวะขาดเอนไซม์จีซิดพีดี หรือไม่
โดยหลังจากแพทย์สั่งจ่ายควินินให้กับผู้ป่วย การรับประทานยานี้จะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์/เภสัชกรจากสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด เช่น
- ควรรับประทานยาควินินพร้อมอาหารเพื่อลดอาการไม่สบายท้อง
- ห้ามรับประทานยาควินินพร้อมกับยาลดกรดที่มีเกลืออลูมิเนียม (Aluminium, เช่น Aluminium hydroxide), หรือเกลือแมกนีเซียม (เช่น Maalox), เป็นองค์ประกอบ แต่อาจรับประทานยาควินินประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนรับประทานยาลดกรด, หรือรับประทานยาควินินหลังรับประทานยาลดกรดประมาณ 2 ชั่วโมงอย่างต่ำ
- ห้ามปรับขนาดรับประทานยานี้ด้วยตนเอง, ควรรับประทานยานี้ตรงเวลา, ถูกขนาด, ครบกำหนดตามแพทย์สั่ง, และเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ผู้รักษาอย่างเคร่งครัด
- ยาควินินอาจทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการ วิงเวียน ง่วงนอน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานพาหนะใดๆ หรือการทำงานกับเครื่องจักร เพราะอาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
- ยาควินินจะทำให้เกล็ดเลือดในร่างกายต่ำ ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเกิดแผลเลือดออกง่าย
- ผู้ป่วยสูงอายุที่ใช้ยานี้ อาจเกิดผลข้างเคียงได้มากกว่าผู้ป่วยกลุ่มอื่น
- *กรณีใช้ยานี้ไปแล้ว 1-2 วัน อาการไม่ดีขึ้นหรือกลับแย่ลง เช่น กลับมามีไข้ใหม่ หากพบอาการแบบนี้ *ให้รีบนำตัวผู้ป่วยมาพบแพทย์/มาโรงพยาบาลโดยเร็ว หรือฉุกเฉินขึ้นกับอาการ ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด
- *กรณีที่ได้รับยานี้เกินขนาด ควรต้องรีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน, ซึ่งสังเกตได้จากอาการที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย อาทิ ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ การได้ยินเสียงแย่ลง บางคนอาจทำให้เกิดหูหนวกแบบถาวร การมองเห็นผิดปกติ และมีภาวะตาบอดกลางคืน เกิดความดันโลหิตต่ำ มีอาการเจ็บหน้าอกคล้ายกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ มีภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน และ ท้องเสีย
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาควินินเป็นยาป้องกันมาลาเรีย
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก ได้ระบุให้ยาควินินเป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของสถานพยาบาลที่ควรมีสำรองเพื่อให้บริการกับผู้ป่วย, สำหรับประเทศไทยโดยคณะกรรมการอาหารและยา ได้กำหนดให้ยาควินิน อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ควินินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาควินินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น
- บำบัดรักษาโรคมาลาเรีย/ ไข้จับสั่นที่มีอาการไม่รุนแรง
ควินินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาควินิน คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์รบกวนการสังเคราะห์กรดนิวคลีอิก (Nucleic acid, สารเกี่ยวข้องกับสารพันธุกรรมของเชื้อลาลาเรีย) พร้อมกับรบกวนการทำงานของระบบการดำรงชีวิตของเชื้อมาลาเรียที่เรียกว่า Lysosomal function, ส่งผลให้เชื้อมาลาเรียหยุดการเจริญเติบโตจนไม่สามารถแพร่พันธ์ และตายลงในที่สุด
ควินินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาควินินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย: เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 260 และ 300 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 200, 324, และ 325 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาฉีด ขนาด 600 มิลลิกรัม/2 มิลลิลิตร
ควินินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ขนาดการใช้ยาควินินชนิดฉีด อยู่ในดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษาเป็นกรณีไป ในบทความนี้ ขอยกตัวอย่างขนาดยาควินินเฉพาะชนิดรับประทาน โดยมีขนาดรับประทาน เช่น
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไป: รับประทานครั้งละ 648 มิลลิกรัม, ทุกๆ 8 ชั่วโมง, เป็นเวลา 7 วัน, กรณีที่มีการติดเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยา Chloroquine แพทย์อาจพิจารณาให้ยาอื่นร่วมในการรักษา เช่นยา Doxycycline, Tetracycline , Clindamycin, และ Primaquine ร่วมด้วย
- เด็กและผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีลงมา: รับประทานยา 8.3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม, วันละ 3 ครั้ง, เป็นเวลา 3-7 วัน โดยขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์,
แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาอื่นร่วมในการรักษา เช่นยา Primaquine, Clindamycin, Tetracycline และ Doxycycline
*อนึ่ง: แพทย์จะไม่ใช้ยา Tetracycline และ Doxycycline ร่วมกบยาควินินรักษามาลาเรียกับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 8 ปีลงไป
*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาควินิน ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาควินินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ภาวะตั้งครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนม หรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาควินิน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มขนาดรับประทานเป็น 2 เท่า
อย่างไรก็ตาม เพื่อประสิทธิผลของการรักษา ควรรับประทานยาควินินตรงเวลา
ควินินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาควินินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง): เช่น
- ผลต่อระบบเลือด: เช่น เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ, เม็ดเลือดขาวต่ำ, จุดเลือดออกที่ผิวหนัง/Purpura, ลิ่มเลือดในหลอดเลือด/Thrombotic, และ กลุ่มอาการเลือดออกเหตุ จากเกล็ดเลือดต่ำที่ก่อให้เกิดไตวาย/Thrombocytopenic purpura-hemolytic uremic syndrome
- ต่อผิวหนัง: เช่น เกิดผื่นคัน ผิวหนังบวมแดง
- ผลต่อระบบทางเดินอาหาร: เช่น ปวดท้อง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย และรู้สึกไม่สาบายในช่องท้อง
- ผลต่อการทำงานของไต: เช่น เกิดภาวะไตวาย
- ผลต่อระบบหายใจ: เช่น มีอาการ หอบหืด หายใจเสียงหวีด ไอ อาจไอแห้งๆ
- ผลต่อระบบการมองเห็น: เช่น ตาพร่า หรือถึงขั้นมองไม่เห็น การแยกสีสรรผิดปกติ
- ผลต่อระบบประสาท: เช่น มีภาวะหูดับ กระสับกระส่าย รู้สึกสับสน วิงเวียน หนังตากระตุก
- ผลต่อระบบการเผาผลาญพลังงานของร่างกาย: เช่น เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ การขาดสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
มีข้อควรระวังการใช้ควินินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาควินิน: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาควินิน
- ห้ามใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์ สตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร เด็ก และผู้สูงอายุ โดยไม่มีคำสั่งจากแพทย์
- ห้ามปรับขนาดรับประทานหรือหยุดการใช้ยานี้ด้วยตนเอง
- ห้ามใช้ยาที่สภาพเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม
- ระวังการเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำขณะใช้ยาควินิน
- ระวังการเกิดอาการ Cinchonism ซึ่งจะแสดงอาการ เช่น เหงื่อออกมาก ได้ยินเสียงในหู/หูอื้อ สูญเสียการได้ยิน/หูดับ ตาพร่า รู้สึกสับสน ปวดหัว ปวดท้อง เกิดผื่นคัน, *หากพบอาการเหล่านี้ ต้องหยุดใช้ยานี้ แล้วรีบนำตัวผู้ป่วยพบแพทย์โดยเร็ว หรือฉุกเฉินขึ้นกับความรุนแรงของอาการ โดยไม่ต้องรอถึงวันนัด
- *หลังใช้ยานี้แล้วอาการไม่ดีขึ้นภายใน 1 – 2 วัน ต้องรีบนำผู้ป่วยกลับมาโรงพยาบาล เพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
- ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง :ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ “ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาควินินด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้ง ควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เอง
ควินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาควินินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาควินิน ร่วมกับยา Ritonavir ด้วยการใช้ร่วมกัน อาจทำให้ระดับยาควินินในเลือดเพิ่มสูงจนก่อให้เกิดอาการข้างเคียงต่างๆ ตามมา หากจำเป็นต้องใช้ยาร่วมกัน แพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
- หลีกเลี่ยงการใช้ยาควินิน ร่วมกับยา Quinidine ด้วยจะทำให้เกิดภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะตามมา และก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้ป่วยอย่างรุนแรง
- ห้ามใช้ยาควินิน ร่วมกับยา Rifampin ด้วยจะทำให้ระดับยาควินินในเลือดลดต่ำลง และส่งผลให้ประสิทธิภาพของการรักษามาลาเรียด้อยลงไป
ควรเก็บรักษาควินินอย่างไร?
ควรเก็บยาควินิน: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิ 20-25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ควินินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาควินิน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Alquinn (อัลควิน) | The Forty –Two |
Genin (เจนอิน) | General Drugs House |
Quinine Acdhon (ควินิน แอคดอน) | Acdhon |
Quinine Dihydrochloride ANB (ควินิน ไดไฮโดรคลอไรด์ เอเอ็นบี) | ANB |
Quinine GPO (ควินิน จีพีโอ) | GPO |
Quinine Sulfate Chew Brothers (ควินิน ซัลเฟต จิวบราเดอร์ส) | Chew Brothers |
Quinine-P (ควินิน-พี) | P P Lab |
Quinine-S (ควินิน-เอส) | Utopian |
บรรณานุกรม
- https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3121651/ [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/mtm/quinine.html [2022,Sept17]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Quinine [2022,Sept17]
- http://ndi.fda.moph.go.th/drug_detail/index/?ndrug=2&rctype=1A&rcno=2802660&lpvncd=&lcntpcd=&lcnno=&licensee_no= [2022,Sept17]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Quinine%20GPO/ [2022,Sept17]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/quinine-index.html?filter=3&generic_only= [2022,Sept17]