คลอโรควิน (Chloroquine)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 เมษายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- คลอโรควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- คลอโรควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- คลอโรควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- คลอโรควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- คลอโรควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้คลอโรควินอย่างไร?
- คลอโรควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาคลอโรควินอย่างไร?
- คลอโรควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไข้จับสั่น (Malaria)
- โรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
- โรคพุ่มพวง / โรคลูปัส (Lupus) / โรคเอสแอลอี (SLE)
- โรคภูมิต้านตนเอง โรคออโตอิมมูน (Autoimmune disease)
- โรคติดเชื้อปรสิต (Parasitic infection)
- สัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อสัตว์เซลล์เดียว โรคติดเชื้อโปรโทซัว (Protozoan infection)
บทนำ
ยาคลอโรควิน (Chloroquine) เป็นสารเคมีประเภท 4-Aminoquinoline (สารเคมีที่นำมาใช้ผลิตยาต้านโรคมาลาเรีย/ไข้จับสั่น) เป็นยาที่ใช้ทั้งป้องกันและบำบัดรักษาโรคมาลาเรีย ถูกค้นพบครั้งแรกในปี ค.ศ. 1934 (พ.ศ. 2477) แต่ยังไม่ได้นำมาใช้กับมนุษย์ด้วยเป็นสารที่มีพิษสูง จนกระทั่งสง ครามโลกครั้งที่ 2 ในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) สหรัฐอเมริกาได้พัฒนานำมาใช้รักษาและป้องกันมา ลาเรีย
สำหรับเชื้อมาลาเรียที่ตอบสนองกับยาคลอโรควินได้ดีคือ ชนิด Plasmodium vivax P.ovale และ P.malariae เชื้อบางตัวที่ดื้อต่อยาคลอโรควินเช่น P.failciparum ซึ่งจำเป็นต้องใช้ยา Meflo quine หรือ Atovaquone ในการรักษาแทนคลอโรควิน
นอกจากนี้ยาคลอโรควินยังมีประโยชน์ทางคลินิกสำหรับรักษาโรคอื่นๆอีกเช่น โรคฝีตับที่เกิดจากเชื้ออะมีบา/Amoeba (Amoebic liver abscess) โรคข้อรูมาตอยด์ และอาจใช้เป็นยาต้านไวรัสเอดส์อีกด้วย
เมื่อยาคลอโรควินเข้าสู่กระแสเลือดจะสามารถแพร่ซึมเข้าสู่อวัยวะต่างๆเช่น ไต ตับ ปอด ม้าม สามารถผ่านรกและเข้าในน้ำนมมารดาได้ อวัยวะตับจะคอยเปลี่ยนโครงสร้างของยานี้ ซึ่งร่างกายต้องใช้เวลา 1 - 2 ชั่วโมงในการกำจัดยา 50% ออกจากกระแสเลือด
คณะกรรมการอาหารและยาของไทยได้บรรจุยานี้ลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยระบุวัตถุประ สงค์ของการใช้ยานี้สำหรับป้องกันและรักษาโรคมาลาเรียและรักษาโรคข้อรูมาตอยด์
รูปแบบที่มีการใช้ยานี้ในปัจจุบันมีทั้งยาชนิดรับประทานและยาฉีด โดยขนาดของการใช้ยาจะขึ้นอยู่กับคำสั่งของแพทย์ผู้ที่ทำการรักษา
คลอโรควินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาคลอโรควินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เช่น
- รักษาการติดเชื้อมาลาเรียชนิดเฉียบพลัน (Acute malaria)
- สำหรับป้องกันโรคมาลาเรีย /ไข้จับสั่น (Prophylaxis of malaria)
- รักษาโรคลูปัส/โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus: Lupus หรือ SLE)
- รักษาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ/Hepatic amoebiasis (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ฝีตับ)
- รักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis)
คลอโรควินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาคลอโรควินคือ ตัวยาจะถูกดูดซึมเข้าเซลล์เม็ดเลือดแดง เมื่อเชื้อที่เป็นปรสิตเช่น เชื้อมาลาเรียรวมถึงเชื้ออะมิบาที่เข้าไปก่อโรคในตับ มาทำลายเม็ดเลือดแดง ตัวปรสิตเหล่านั้นจะได้รับพิษจากส่วนประกอบของเม็ดเลือดแดงที่มีตัวยานี้อยู่ จึงทำให้เซลล์ของปรสิตแตกออกจนไม่สามารถขยายพันธุ์ได้
นอกจากนี้ ยาคลอโรควินยังทำให้ค่าความเป็นกรดด่างในเซลล์ของอว้ยวะที่ยานี้แทรกซึมเข้าไปถึงมีค่าเพิ่มขึ้น จึงส่งผลรบกวนกระบวนการย่อยทำลายโปรตีนในระดับเซลล์ ทำให้ชะลอการสร้างสาร Antigenic protein ซึ่งเป็นสารตัวการสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดการทำลายเนื้อเยื่อ/อวัยวะ ต่างๆเช่น ข้อ ผิวหนัง หัวใจ ไต ด้วยกลไกแหล่านี้ยาคลอโรควินจึงถูกนำมาใช้ร่วมรักษาโรคลูปัส และโรคข้อรูมาตอยด์ได้เช่นกัน
คลอโรควินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาคลอโรควินมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น
- ยาเม็ดชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาเม็ดชนิดรับประทานที่ผสมกับยาวิตามินเช่น Ascorbic acid 50 มิลลิกรัม + Chloroquine phosphate 250 มิลลิกรัม + Thiamine HCl 10 มิลลิกรัม/เม็ด
- ยาแคปซูลชนิดรับประทาน ขนาด 250 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ยาน้ำชนิดรับประทาน ขนาดบรรจุ 60 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาดความแรง 322.6 มิลลิกรัม ขนาดบรรจุ 5 มิลลิลิตร
- ยาฉีด ขนาดความแรง 5% (5 มิลลิกรัม/ยา 100 มิลลิลิตร)
คลอโรควินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาคลอโรควินมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาการติดเชื้อมาลาเรียชนิดเฉียบพลัน (Acute malaria): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทานในวันแรก 600 มิลลิกรัม จากนั้นทุกๆ 6 - 8 ชั่วโมงรับประทานครั้งละ 300 มิลลิกรัม, ในวันต่อไปรับประทาน 300 มิลลิกรัม/วัน
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) : เริ่มรับประทานในวันแรก 10 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 600 มิลลิกรัม จากนั้นในวันต่อไปรับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมทุก 6 ชั่วโมง ครั้งเดียว โดยรับประทานขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม
ข. สำหรับป้องกันเชื้อมาลาเรีย (Prophylaxis of malaria): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 มิลลิกรัมสัปดาห์ละครั้ง ให้รับประทานยา 1 สัปดาห์ก่อนเข้าพื้นที่ที่มีไข้มาลาเรียระบาด และรับประทานต่อเนื่องทุกสัปดาห์เป็นเวลา 4 สัปดาห์
- เด็ก: รับประทาน 5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ระยะเวลารับประทานขึ้นกับคำแนะนำของแพทย์
ค. สำหรับรักษาโรคลูปัส-โรคเอสแอลอี (Systemic lupus erythematosus): เช่น
- ผู้ใหญ่: เริ่มรับประทาน 150 มิลลิกรัมวันละครั้ง ค่อยปรับลดปริมาณยาลงมาโดยแพทย์เมื่อผลการรักษาเริ่มดีขึ้น และขนาดสูงสุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
- เด็ก: รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน
ง. สำหรับรักษาการติดเชื้ออะมีบาที่ตับ/ฝีตับจากเชื้ออะมีบา (Hepatic amoebiasis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 600 มิลลิกรัม/วันเป็นเวลา 2 วัน จากนั้นรับประทานยา 30 มิลลิกรัม/วัน เป็นเวลา 2 - 3 สัปดาห์
- เด็ก: รับประทาน 6 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม/วัน ระยะเวลารับประทานขึ้นกับคำสั่งแพทย์
จ. สำหรับรักษาโรคข้อรูมาตอยด์ (Rheumatoid arthritis): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 150 มิลลิกรัม/วัน ขนาดรับประทานสูงสุดไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม และควรหยุดยาหากอาการไม่ดีขึ้นภายใน 6 เดือน
- เด็ก: รับประทาน 3 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม/วัน ระยะเวลารับประทานขึ้นกับคำสั่งแพทย์
*****หมายเหตุ:
- ควรรับประทานยาคลอโรควินพร้อมอาหาร
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาคลอโรควิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาคลอโรควินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรกและเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาคลอโรควินสามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
คลอโรควินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาคลอโรควินอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ผมร่วง
- ผิวหนังไวกับแสงแดด (ผิวหนังอักเสบหรือขึ้นผื่นเมื่อโดนแสงแดดโดยตรง)
- การได้ยินผิดปกติ
- เกิดภาวะลมชัก
- เกิดภาวะเม็ดเลือดขาวมากกว่าปกติ (ทราบได้จากการตรวจเลือด CBC)
- รู้สึกไม่สบายในระบบทางเดินอาหาร
- วิงเวียน
- ปวดหัว
- ผื่นคัน ลมพิษ
- มีภาวะโพแทสเซียมในเลือดต่ำ
- หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก
- อาจมีภาวะโคม่าตามมา
มีข้อควรระวังการใช้คลอโรควินอย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาคลอโรควิน เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้กับเชื้อมาลาเรียที่ดื้อต่อยานี้เช่น เชื้อ P.falciparum
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคไต
- ห้ามใช้ร่วมกับยาที่ก่อให้เกิดพิษกับตับเช่น ยาปฏิชีวนะบางชนิด
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางระบบประสาท โรคขาดเอนไซม์จีซิกพีดี ผู้ป่วยโรคลมชัก ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคตับ โรคไต
- ระวังการใช้ยากับสตรีมตั้งครรภ์ หรือสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร และในเด็ก
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาคลอโรควินด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
คลอโรควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาคลอโรควินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้ยาคลอโรควินร่วมกับยากระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติ เช่นยา Neostigmine, Physostigmine, Pyridostigmine จะเกิดการต้านฤทธิ์การรักษาซึ่งกันและกัน ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
- การใช้ยาคลอโรควินร่วมกับยา Ampicillin จะทำให้การดูดซึมยา Ampicillin ลดน้อยลงจนกระทบต่อการรักษา หากต้องใช้ยาร่วมกันแพทย์จะปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมเป็นกรณีไป
- การใช้ยาคลอโรควินร่วมกับยา Cimetidine จะทำให้ระดับยาคลอโรควินอยู่ในกระแสเลือดได้นานขึ้นจนอาจมีผลข้างเคียงติดตามมา ควรเลี่ยงไม่ใช้ยาทั้ง 2 ตัวร่วมกันหรือแพทย์ปรับขนาดรับประ ทานให้เหมาะสมเป็นรายบุคคลไป
ควรเก็บรักษาคลอโรควินอย่างไร?
ควรเก็บยาคลอโรควินทั้งชนิดรับประทานและยาฉีด เช่น
- เก็บยาในช่วงอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส(Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อนและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่ควรเก็บยาในห้องน้ำ
คลอโรควินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาคลอโรควิน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Chewoquine (ชิวโอควิน) | Chew Brothers |
Chewoquine SC (ชิวโอควิน เอสซี) | Chew Brothers |
Chewoquine-G (ชิวโอควิน-จี) | Chew Brothers |
Chewoquine-Y (ชิวโอควิน-วาย) | Chew Brothers |
Chloroquine Acdhon (คลอโรควิน แอคฮอน) | Acdhon |
Chloroquine Burapha (คลอโรควิน บูรพา) | Burapha |
Chloroquine GPO (คลอโรควิน จีพีโอ) | GPO |
Chloroquine Phosphate Asian Pharm (คลอโรควิน ฟอสเฟต เอเชียน ฟาร์ม) | Asian Pharm |
Diroquine (ไดโรควิน) | Atlantic Lab |
Genocin (เจโนซิน) | General Drugs House |
Malacin (มาลาซิน) | ANB |
Nitaquin (ไนตาควิน) | Utopian |
P-Roquine (พี-โรควิน) | P P Lab |
Sinmoquin (ซินโมควิน) | SSP Laboratories |
บรรณานุกรม
1 http://en.wikipedia.org/wiki/Chloroquine[2020,April 25]
2 http://www.mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fwww.mims.com%2fUSA%2fdrug%2finfo%2fchloroquine%2f%3ftype%3dfull%26mtype%3dgeneric#Dosage[2020,April 25]
3 http://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=CHLOROQUINE[2020,April 25]