กินแหลกแบบแอบๆ (ตอนที่ 2)

ผู้ป่วยโรคกินไม่หยุดควรไปปรึกษาแพทย์ให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพราะอาการอาจรุนแรง เกิดเป็นช่วงสั้นหรือเกิดซ้ำหรืออาจเกิดเป็นปีถ้าไม่รักษา ทั้งนี้ผู้ป่วยโรคนี้อาจจะเป็นผู้ที่ชำนาญในการซ่อนพฤติกรรมดังกล่าว จนทำให้ผู้อื่นไม่รู้ถึงปัญหา

สำหรับสาเหตุของการเกิดโรคกินไม่หยุดยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่อาจเกี่ยวข้องกับปัจจัยทางพันธุกรรม การอดอาหารเป็นระยะเวลานาน และปัจจัยทางด้านจิตวิทยา โดยโรคนี้มักเกิดในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย และมักเริ่มเป็นในช่วงวัยรุ่นปลายๆ หรืออายุ 20 ต้นๆ ทั้งนี้ปัจจัยที่สามารถเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคกินไม่หยุด ได้แก่

  • มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
  • มีประวัติเคยอดอาหาร (dieting) ซึ่งอาจไปกระตุ้นให้เกิดการกินไม่หยุด โดยเฉพาะกรณีที่มีอาการซึมเศร้าหดหู่
  • มีความผิดปกติเกี่ยวกับจิตใจและอารมณ์ จนกระตุ้นให้มีพฤติกรรมที่กินไม่หยุด เช่น มีความเครียด มีอาการผิดปกติทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง รวมถึงอันตรายต่างๆ(Post-traumatic stress disorder = PTSD) รูปร่างไม่ดี หรือมีอาหารที่ชอบกินมาก

โรคกินไม่หยุดอาจก่อให้เกิดอาการแทรกซ้อนได้หลายอย่าง เช่น

  • คุณภาพชีวิตที่แย่
  • มีปัญหาเรื่องหน้าที่การงาน ชีวิตส่วนตัว หรือสภาพทางสังคม
  • ภาวะโดดเดี่ยวทางสังคม (social Isolation) 
  • เป็นโรคอ้วน (obesity)
  • มีปัญหาสุขภาพอันเนื่องมาจากโรคอ้วน เช่น ปัญหาโรคข้อ โรคหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่ 2 โรคกรดไหลย้อน โรคที่เกี่ยวกับการหายใจระหว่างนอน

ส่วนอาการผิดปกติทางจิต (psychiatric disorder) ที่มักเกี่ยวข้องกับโรคกินไม่หยุด ได้แก่

  • โรคซึมเศร้า (depression)
  • โรคไบโพลาร์ (bipolar disorder)
  • โรควิตกกังวล (anxiety)
  • โรคที่เกิดจการใช้สารเสพติด (substance use disorders)

ในส่วนของการวินิจฉัยโรคนี้ แพทย์อาจใช้การประเมินทางจิตวิทยา เช่น พูดคุยเกี่ยวกับนิสัยการกิน และอาจตามด้วยการทดสอบสุขภาพ เช่น ดูค่าคลอเรสเตอรอล ความดันโลหิต ดูปัญหาโรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคกรดไหลย้อน ด้วยการ

  • ตรวจร่างกาย (physical exam)
  • ตรวจเลือดและปัสสาวะ
  • ทดสอบการนอนที่ศูนย์นิทราเวช (sleep disorder center)

            แหล่งข้อมูล

  1. Binge-eating disorder. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/binge-eating-disorder/symptoms-causes/syc-20353627 [2019, December 10].
  2. Binge Eating Disorder: Symptoms, Causes, and Asking for Help. https://www.healthline.com/nutrition/binge-eating-disorder [2019, December 10].