การฝังแก้วตาเทียม (Intraocular lens implantation)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คืออะไร?

การฝังแก้วตาเทียม/เลนส์ (Lens) เทียม (Intraocular lens implantation) คือ การผ่าตัดฝังวัสดุที่เรียกว่า แก้วตาเทียม/เลนส์เทียม (Intraocular lens ย่อว่าไอโอแอล/IOL) เข้าไปภายในลูกตา ที่ทำกันในปัจจุบันด้วยความประสงค์ 2 ประการ คือ

ก. เพื่อแทนที่แก้วตาธรรมชาติ:  ในกรณีที่แก้วตาธรรมชาติที่มีอยู่เป็นโรคต้อกระจก เกิดแก้วตาขุ่นมัว บดบังการมองเห็น จำเป็นต้องเอาออกจากดวงตาของผู้ป่วย  เมื่อเอาแก้วตาธรรมชาติออกไปแล้ว  ตาคนๆนั้นก็จะขาดแก้วตา (เลนส์/Lens) ซึ่งทำหน้าที่รวมแสงทำให้เกิดภาพที่จอตาเกิดการมองเห็นวัตถุ  ในสมัยก่อน หลังผ่าตัดเอาแก้วตาออก  ผู้ป่วยจะต้องหาเลนส์มาชดเชยโดยใช้เป็นแว่นตาหรือ คอนแทคเลนส์/เลนส์สัมผัส (Contact lens) ซึ่งยุ่งยากสำหรับผู้ป่วย  เมื่อมีการประดิษฐ์คิดค้นแก้วตาเทียมโดยเลียนแบบธรรมชาติฝังไว้แทนที่เลนส์ธรรมชาติ จึงเพิ่มความสะดวกสบาย ผู้ป่วยไม่ต้องถอดเข้าถอดออกดังที่ต้องใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ดังในสมัยก่อน

ข. เพื่อเป็นเลนส์เสริมแก้ไขสายตาที่ผิดปกติ: โดยการเสริมเข้าไปในขณะที่แก้วตาธรรมชาติยังอยู่ปกติ  เฉกเช่นใช้แว่นสายตาหรือคอนแทคเลนส์ แต่ทำเลนส์นั้นฝังเข้าไปในตาแทน

แก้วตาเทียมทำจากอะไร? มีรูปร่างอย่างไร? อยู่ในตาได้อย่างไร?

การฝังแก้วตาเทียม

 

เริ่มจาก Harold  Ridley  จักษุแพทย์ชาวอังกฤษ  ได้ตรวจพบโดยบังเอิญในตานักบินผู้หนึ่งที่ได้รับอุบัติเหตุ  ทำให้มีชิ้นส่วนพลาสติคชิ้นหนึ่งในเครื่องบินพลัดเข้าไปอยู่ภายในตา  กล่าวคือมีอุบัติเหตุทำให้ตามีแผลทะลุ เป็นเหตุให้มีเศษพลาสติคพลัดเข้าไปฝังอยู่ภายในตา  แม้ว่าเหตุการณ์จะผ่านไปหลายวัน แต่ตรวจพบว่าภายในตาปกติไม่มีการอักเสบหรือเกิดอาการต่อต้านเศษพลาสติคนั้นแต่อย่างใด  คุณหมอ Ridley  นัดผู้ป่วยมาตรวจเป็นระยะๆ ก็ไม่มีอาการผิดปกติแต่อย่างใด  ทำให้เกิดความคิดขึ้นว่าสารตัวนี้อยู่ในตาเราได้อย่างปลอดภัย จึงได้พยายามทำพลาสติคนี้ขึ้น  ที่จริงคือสาร Polymethylmetacylate  (PMMA/ พีเอ็มเอ็มเอ)  ที่ใช้ฝนทำคอนแทคเลนส์นี่เอง นำมาฝนให้มี รูปร่างคล้ายเลนส์ธรรมชาติ และฝังเข้าไปแทนที่เลนส์ (แก้วตา) ที่เป็นต้อกระจกที่ถูกผ่าตัดเอาออกไป ในระยะแรกๆ ด้วยเทคนิคการผ่าตัด  รูปร่างเลนส์ที่ผลิตขึ้นและปัจจัยอื่นๆ ทำให้ยัง ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจ  จากนั้นก็มีการปรับปรุงทั้ง วัสดุที่ใช้  รูปร่าง ขนาด ตลอดจนเลือกบริเวณที่วางเลนส์  วิธีผ่าตัดด้วยกล้องจุลทรรศน์ ใช้สารต่างๆช่วยปกป้องส่วนต่างๆภายในดวงตา จึงทำให้การผ่าตัดได้ผลดี ปลอดภัยยิ่งขึ้น จนเป็นวิธีปฏิบัติในผู้ป่วยต้อกระจกส่วนมากในทุกวันนี้

ก. วัสดุที่ใช้ทำแก้วตาเทียม เริ่มแรกเป็น PMMA ซึ่งแข็ง พับไม่ได้ เรียกกันว่าเลนส์แข็ง  ระยะหลังต้องการให้แผลผ่าตัดเล็กที่สุดในขณะที่ยังต้องการขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของเลนส์เทียมเป็น 5 –5 มิลลิเมตร/มม. (ตามขนาดของรูม่านตาเวลาขยายในภาวะแสงธรรมชาติ)  จึงต้องใช้วัสดุที่นิ่ม พับให้เล็กลงได้  หากพับครึ่งก็จะเหลือขนาดแผลเพียง 2 – 3 มม. ได้แก่สารจำพวก ซิโคน (Silicone)  และอะครัยลิค (Acrylic)         

ข. รูปแบบตลอดจนส่วนประกอบอื่นของแก้วตาเทียม ตัวแก้วตาเทียมประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก คือ ตรงกลางเรียกว่า Optic  part  เป็นส่วนที่ทำหน้าที่รวมแสง ต้องมีการฝนให้มีกำลังเลนส์มีค่าต่างๆ  ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน  เช่น  ผู้ป่วยที่มีสายตาปกติต้องฝนให้มีกำลังขนาด +20 ไดออปเตอร์ (Diopter) ผู้ป่วยที่เดิมมีสายตาสั้น -2.0 ไดออปเตอร์  อาจต้องฝังเลนส์ขนาด +18 ไดออปเตอร์ เป็นต้น  (คล้ายๆกับเลนส์แว่นสายตาที่มีการฝนให้มีกำลังแก้ไขสายตาผิดปกติต่างๆกัน)  และOptic  part นี้ จะมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5 –5 มม. อีกส่วนของแก้วตาเทียมเรียกว่า Haptic  part  เป็นส่วนที่ช่วยยึดกับบริเวณอื่นของดวงตาอันจะทำให้แก้วตาเทียมอยู่กับที่ไม่สั่นไหวเวลากลอกตาไปมา

ค. ชนิดของแก้วตาเทียม แต่เดิมส่วนของ Optic part มีกำลังสายตาเดียวเรียกว่า Monofocus หรือ Unifocus จึงทำให้ผู้ป่วยเห็นชัดเฉพาะในระยะห่างระยะเดียว  ปัจจุบันจึงมีแก้วตาเทียมชนิด Multifocus มีคุณสมบัติเหมือนเลนส์ที่ทำแว่นตาที่เป็น  Multifocus  หรือที่อาจเรียกกันว่า Progressive lens  โดยผู้ป่วยบางคนอาจเหมาะกับแก้วตาเทียมชนิด Monofocus  บางคนอาจเหมาะกับ Multifocus  ข้อเสียของ Multifocus  แม้จะเห็นได้ทั้งไกลและใกล้  แต่ภาพไม่คมเท่า  Monofocus  อีกทั้งมีการเปรียบเทียบระหว่างภาพ (Contrast  sensitivity) ลดลง ทำให้เวลามีแสงสลัวจะมองเห็นภาพไม่ชัดร่วม กับมีแสงสะท้อนเมื่อมองดวงไฟ (Halo) มากกว่า Monofocus

นอกจากนี้  ปัจจุบันยังมีแก้วตาเทียมชนิดที่แก้ไขสายตาเอียง เรียกว่า Toric  lens  กล่าวคือแก้วตาเทียมเดิมสามารถแก้ไขสายตาสั้น  สายตายาวที่มีอยู่ร่วมกันไปด้วยได้  แต่แก้ไขสายตาเอียงไม่ได้  การแก้ไขสายตาเอียงจะต้องมีการตรวจวัดสายตาที่แม่นยำ  ต้องทราบค่าและมุมเอียงที่ถูกต้องถึงจะเลือกแก้วตาเทียมที่เหมาะสมได้

โดยสรุป: แก้วตาเทียมที่ฝังในผู้ป่วยที่ผ่าตัดเอาต้อกระจกออก  อาจจะเป็นชนิด Monofocus หรือ Multifocus หรือ Toric แต่ละชนิดมีความเหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคลซึ่งควรจะได้รับการอธิบายจากหมอตาในรายละเอียดนั้นๆ

ง. การฝังแก้วตาเทียมในเด็ก: แม้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (FDA, Food and Drugs Administration) ยังไม่ยอมรับ แต่ก็อนุโลมให้ใช้ภายใต้การดูแลตามประสบการและความชำนาญของจักษุแพทย์  เนื่องจากการคำนวณกำลังของแก้วตาเทียมในเด็กไม่แน่นอน เพราะสายตาเด็กยังเปลี่ยนแปลงได้หลังผ่าตัดไปอีกหลายปี  ปัจจุบันมีงานวิจัยสนับสนุนการฝังเลนส์ในเด็กมากขึ้น  เพื่อป้องกันภาวะตาขี้เกียจ

ข้อบ่งชี้ในการฝังแก้วตาเทียมทดแทนเลนส์ธรรมชาติที่ผ่าตัดออกมีอะไรบ้าง?

ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ที่จะต้องเอาแก้วตาธรรมชาติออก (ได้แก่ ผู้ป่วยที่มีข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดต้อกระจกทั้งหมด ซึ่งได้กล่าวแล้วในบทความเรื่องการรักษาต้อกระจก) แล้วคาดว่าสายตาหลังเอาแก้วตา (เลนส์/Lens) ออก ต้องผิดปกติจากขาดแก้วตาที่ทำหน้าที่รวมแสง  เป็นผู้ป่วยที่เหมาะสมที่จะฝังแก้วตาเทียมเพื่อแก้ไขสายตาผิดปกติหลังเอาแก้วตาธรรมชาติออกที่ดีที่สุดในขณะนี้ (วิธีอื่นได้แก่ การใช้แว่นตา การใช้คอนแทคเลนส์)  นอกจากผู้ป่วยบางรายที่มีข้อห้าม หรือมีข้อเสีย เช่น

  • ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานรุนแรง จนเกิดภาวะเบาหวานทำลายจอตาไปมาก (โรคเบาหวานขึ้นตา) จำเป็นต้องรับการรักษาภาวะจอตาเสื่อมจากเบาหวานด้วยแสงเลเซอร์หรือผ่าตัดจอตาต่อไป การฝังแก้วตาเทียมอาจทำให้การรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตายุ่งยากขึ้น อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับความรุนแรงของภาวะจอตาเสื่อมนี้ หรือการได้รับการรักษาไปก่อนหน้านี้แล้ว อาจอนุโลมให้ฝังได้
  • ผู้ป่วยที่มีภาวะต้อหินอยู่เดิม และต้อหินทำลายประสาทตาไปมากแล้ว อีกทั้งการควบคุมต้อหินยังทำได้ไม่ดีนัก  การไม่ฝังแก้วตาเทียมจะทำให้การควบคุมต้อหินได้ดีกว่า  แต่ถ้าต้อหินยังไม่รุนแรงและควบคุมได้ดีหรือได้ง่าย  ก็อนุโลมให้ฝังได้
  • ผู้ป่วยที่เคยมี หรือมี หรือคาดว่าน่าจะมี จอตาหลุดลอก การฝังแก้วตาเทียมอาจไม่ได้ทำให้สายตาดีขึ้น หรืออาจทำให้การตรวจ และการผ่าตัดจอตามีความยุ่งยากมากขึ้น
  • แม้ว่าแก้วตาเทียมจะทำจากสารซึ่งร่างกายเรายอมรับ ไม่มีโทษ แต่หลังผ่าตัด เนื่องจากเป็นสิ่งแปลกปลอม จึงมักมีปฏิกิริยาต่อต้านบ้าง ถ้าผู้ป่วยที่มีโรคม่านตาอักเสบเรื้อรัง อาจทำให้ร่างกายเกิดปฏิกิริยาต่อต้านแก้วตาเทียมรุนแรง  อาจทำให้โรคม่านตาอักเสบกำเริบขึ้นได้
  • ผู้ป่วยที่มีกระจกตาผิดปกติ อ่อนแอ มีแผลเป็นเก่าๆ การฝังแก้วตาเทียม อาจทำลายเซลล์ของกระจกตาเพิ่มขึ้น ทำให้กระจกตาเสีย หรือเสื่อมเร็วขึ้น
  • ผู้ป่วยที่คาดว่ามีโรคประสาทตาเสื่อม (Optic  atrophy) และโรคจอตาที่คาดว่าการมองเห็นไม่กลับคืนแล้ว การฝังแก้วตาเทียมจึงไม่เกิดประโยชน์ ไม่ทำให้สายตากลับคืนมา

ข้อบ่งชี้ในกรณีใช้เป็นเลนส์เสริมแก้ไขสายตาผิดปกติมีอะไรบ้าง?

ข้อบ่งชี้ในกรณีใช้เป็นเลนส์ (แก้วตา) เสริม แก้ไขสายตาผิดปกติ เช่น

  • ใช้รักษาในกรณีที่มีสายตาสั้นมากๆ ที่ไม่สามารถใช้แว่นตาหรือคอนแทคเลนส์ อีกทั้งการแก้ไขสายตาสั้นด้วยวิธีอื่น เช่น เลสิก (Lasik) ทำไม่ได้  วิธีนี้แก้ไขสายตาสั้นมากๆได้
  • ใช้ได้แม้ผู้ป่วยจะมีกระจกตาบาง หรือมีพยาธิสภาพบางอย่าง เช่น โรค กระจกตารูปกรวย (Keratoconus) ซึ่งไม่สามารถผ่าตัดแก้ไขสายตาด้วยวิธีอื่นได้  จึงเป็นทางเลือกอีกทางของผู้ที่มีสายตาสั้นมากที่ไม่อาจรับการแก้ไขโดยการผ่าตัดกระจกตา
  • ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถผ่าเอาเลนส์เสริมออกได้ ถ้าผลการฝังไม่เป็นที่พอใจ ผิดกับวิธีแก้ไขสายตาสั้นวิธีอื่น ซึ่งมักแก้ไขไม่ได้ หรือการแก้ไขยุ่งยากกว่ามาก
  • ผู้ป่วยต้องยอมรับว่า การฝังเลนส์เสริม  เป็นการผ่าตัดภายในดวงตา จึงมีความเสี่ยงของการผ่าตัดมากกว่าวิธีอื่น  อาจก่อให้เกิดการติดเชื้อภายในดวงตา  อีกทั้งการฝังเลนส์ชนิดนี้อาจทำร้ายแก้วตาธรรมชาติ  ทำให้เกิดต้อกระจกในเวลาต่อมาได้

วิธีการฝังแก้วตาเทียมทำอย่างไร?

วิธีการฝังแก้ตาเทียมโดย ผ่าเปิดแผลบริเวณตาขาวต่อกับตาดำ ขนาดแผลประมาณ 3 – 6 มม. (ตามขนาดของแก้วตาเทียม)  ในผู้ป่วยที่ฝังหลังผ่าตัดต้อกระจกก็ใช้แผลเดิมที่ผ่าตัดต้อกระจกสอดแก้วตาเทียมไปวางที่เดิม (ที่อยู่ของต้อกระจกที่เอาออกไปแล้ว)  ในกรณีใช้เป็นเลนส์เสริม อาจสอดเข้าไปหน้าต่อแก้วตาธรรมชาติ หรือหน้าต่อม่านตา (แล้วแต่ชนิดของเลนส์เสริม)  ขยับให้แก้วตาเทียมเข้าที่และอยู่กับที่  ถ้าแผลผ่า กว้างอาจต้องเย็บแผล 1 เข็ม ถ้าแผลขนาด 3 มม. ไม่ต้องเย็บแผล  ระหว่างสอดแก้วตาเทียมต้องระมัดระวังอย่ากระทบกระเทือนกระจกตา หรือแก้วตา (เลนส์/ Lens) โดยใช้สารบางชนิดเป็นตัวช่วย (Viscoelastic agent) ซึ่งต้องดูดสารนี้ออกเมื่อเสร็จสิ้นการผ่าตัด

มีการตรวจและการเตรียมก่อนการฝังแก้วตาเทียมอย่างไร?

การตรวจและการเตรียมก่อนการฝังแก้วตาเทียม เช่น

  • ต้องตรวจดวงตา เพื่อหาข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดฝังแก้วตาเทียมดังกล่าวแล้วข้างต้น
  • ตรวจวัดความดันในดวงตา (หากผิดปกติต้องงดการผ่าตัดและรักษาเรื่องความดันในดวงตาก่อน)  ตรวจกระจกตาว่า มีความผิดปกติที่อาจทำให้มีภาวะแทรกซ้อน ขณะ และหลังผ่าตัดหรือไม่   และตรวจจอตา เพื่อพยากรณ์ถึงผลผ่าตัดว่าจะดีหรือไม่
  • ตรวจดวงตา หนังตา และบริเวณใกล้เคียงดวงตาว่า มีการอักเสบที่อาจทำให้เชื้อโรคกระจายเข้าดวงตาหรือไม่ เช่น ถ้ามีกุ้งยิงอยู่ ก็จำเป็นต้องเลื่อนการผ่าตัด  รักษากุ้งยิงให้หายดีก่อน
  • อธิบายให้ผู้ป่วยทราบถึงขั้นตอนการผ่าตัด จะได้ให้ความร่วมมือ เนื่องจากการผ่าตัดเจ็บเล็กน้อย ใช้เพียงยาชาหยอดในการผ่าตัดได้  ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยยังกลอกตา หัน หรือขยับตัวได้ โดยจำเป็นต้องตามองนิ่งๆในบางโอกาส  อีกทั้งต้องคลุมหน้าปิดปากจมูกด้วยผ้าสะอาดปลอดเชื้อ  เพื่อป้องกันการติดเชื้อซึ่งผู้สูงอายุบางคนรู้สึกอึดอัดและทำไม่ได้  บางครั้งหมอจะแนะนำให้หัดนอนคลุมโปงดูสัก 2 – 3 วันก่อน เพื่อแน่ใจว่าผู้ป่วยทำได้
  • ตรวจวัดหาค่าของแก้วตาเทียม เลือกชนิดที่เหมาะสมเตรียมไว้ให้พร้อม
  • ประเมินสภาพร่างกายและจิตใจผู้ป่วยให้พร้อมที่จะทำผ่าตัด ควบคุมโรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง  โรคหืด และโรคหัวใจ ที่มีอยู่ ให้อยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงปกติที่สุด  งดการใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดชั่วคราว (บางคนอาจไม่ต้องเข้มงวดในข้อนี้  เพราะการผ่าตัดฝังแก้วตาเทียมอาจไม่เสียเลือดเลย)
  • ก่อนการผ่าตัด  อาจต้องใช้ยาหยอดขยายรูม่านตา ยาหยอดตาปฏิชีวนะฆ่าเชื้อโรค (เพื่อป้องกันการติดเชื้อ) และใช้น้ำยาล้างทำความสะอาดก่อนลงมือผ่าตัด

ระงับความเจ็บปวดระหว่างการฝังแก้วตาเทียมอย่างไร?

การระงับความเจ็บปวดขณะฝังแก้วตาเทียมอาจทำได้หลายวิธี ที่นิยมในปัจจุบัน เช่น

  • ใช้ยาชาชนิดหยอด: โดยหยอดก่อนการผ่าตัดประมาณ ½ ชม. ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่ให้ความร่วมมือดี และในผู้ป่วยส่วนใหญ่
  • ใช้ยาชาชนิดหยอดร่วมกับฉีดยาชาบริเวณเบ้าตา: เพื่อเพิ่มความชาและทำให้กล้ามเนื้อกลอกตาเป็นอัมพาต  เป็นผลทำให้ผู้ป่วยกลอกตาไปมาไม่ได้  ง่ายสำหรับการผ่าตัดยิ่งขึ้น
  • อาจให้ ยาแก้ปวด  และ/หรือยากล่อมประสาท/ยาคลายเครียด ซึ่งอาจมีฤทธิ์ทำให้ผู้ป่วยคลายเครียดในผู้ป่วยบางคน

ดูแลตนเองหลังผ่าตัดอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองภายหลังการฝังแก้วตาเทียมและการพบแพทย์ เช่น

  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาลอย่างถูกต้อง เคร่งครัด และใช้ยาต่างๆให้ครบถ้วน ถูกต้อง
  • เมื่อมีแผลในดวงตา จึงเป็นช่องทางให้เชื้อโรคเข้าสู่ดวงตาได้ จึงต้องรักษาความสะอาดบริเวณรอบๆตา และใบหน้าด้วยการใช้ผ้าสะอาดเช็ดหน้า
  • ไม่ควรล้างหน้าในระยะแรกๆ (ภายใน 1 – 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าแพทย์อนุญาต) เพราะน้ำสกปรกอาจเข้าตา ควรใช้เพียงการเช็ดหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาด บิดให้แห้ง ระมัดระวังไม่ให้ใกล้/โดนดวงตา รวมทั้งห้ามว่ายน้ำในเวลา 2 สัปดาห์ หรือจนกว่าแพทย์อนุญาต
  • ห้ามขยี้ตา ด้วยเหตุที่มีแผล การขยี้ตา อาจทำให้แผลฉีกกว้างขึ้น หากไม่แน่ใจว่าอาจจะขยี้ตาเวลานอนหลับ ให้ปิดที่ครอบตาก่อนนอนเสมอประมาณ 1-2 สัปดาห์หรือจนกว่าแพทย์อนุญาต เช่นกัน
  • สามารถทำงานเบาๆ เช่น อ่านหนังสือ ใช้คอมพิวเตอร์ ดูทีวีได้ หลีกเลี่ยงการทำงาน ยกของหนัก หรือการเล่น ที่อาจจะได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกบริเวณดวงตาได้
  • ใช้ยาหยอดตารักษาแผล ป้องกันการติดเชื้อที่แพทย์สั่ง จนกว่าแพทย์บอกให้งด และควรต้องล้างมือให้สะอาดก่อนใช้ยาหยอดตาเสมอ
  • หากมี ไข้หวัด/โรคหวัด ไอ จามรุนแรง ควรต้องพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อให้ยาระงับอาการ บางคนอาจไออย่างแรง ทำให้แผลแยกได้
  • ยาประจำตัว ทุกชนิดรับประทานได้เหมือนเดิม
  • มาตรวจดูแผล/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัด จนกว่าแพทย์จะพบว่าแผลติดดี และปลอดภัยแล้ว (ใช้เวลาประมาณ 3 – 4 สัปดาห์)
  • การพบแพทย์  โดยหากมีอาการผิดปกติ 3 อย่างนี้ ได้แก่ ปวดตา  ตามัว ตาแดง อย่างใดอย่างหนึ่งรีบไปพบหมอ/ไปโรงพยาบาลทันที ไม่ต้องรอจนถึงวันนัด

มีภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการฝังแก้วตาเทียมอย่างไร?

ภาวะแทรกซ้อนหรือผลข้างเคียงจากการฝังแก้วตาเทียมที่อาจพบได้ เช่น

  • เช่นเดียวกับการผ่าตัดทั่วไป เมื่อมีการผ่าตัดเกิดแผลเข้าภายในดวงตาเพื่อฝังแก้วตาเทียม  อาจมีผลแทรกซ้อนจากการผ่าตัดทั่วๆไป ได้แก่ เลือดออก ติดเชื้อ แผลแยก ซึ่ง 3 สิ่งนี้ คงต้องอยู่ที่การควบคุมเครื่องมือ ตลอดจนวิธีการผ่าตัดที่มีประสบการณ์ รวมทั้งการดูแลรักษาแผลที่ดีของผู้ป่วยร่วมด้วย
  • อาจเกิดอักเสบภายในดวงตาเรื้อรัง เนื่องจากแก้วตาเทียมเป็นสิ่งแปลกปลอม ปัจจุบันภาวะนี้แทบจะไม่พบแล้ว เพราะกระบวนการผลิตแก้วตาเทียมทำได้ดีมากขึ้น ถ้าเป็นแก้วตารุ่นแรกเริ่ม ผู้ป่วยบางรายอาจมีการอักเสบเรื้อรังได้
  • แก้วตาเทียมเคลื่อนที่ อาจเกิดหลังผ่าตัดไม่นาน เนื่องจากแก้วตาวางอยู่ในที่ไม่เหมาะสม หรือเนื้อเยื่อส่วนที่ยึดเลนส์ถูกทำลายไป ไม่มีที่รองรับแก้วตาเทียมที่แข็งแรง  ตลอดจนแม้หลังผ่าตัดไปนานๆ ได้รับอุบัติเหตุถูกกระแทกบริเวณดวงตาทำให้แก้วตาเคลื่อนที่ได้  ถ้าเคลื่อนจากเดิมมาก จะทำให้ตามัว ต้องผ่าตัดเข้าไปขยับตำแหน่งแก้วตาเทียมใหม่
  • การคำนวณกำลังแก้วตาเทียมคลาดเคลื่อน ด้วยวิธีการตรวจวัดหาค่ากำลังแก้วตาเทียมที่เหมาะสมอาจจะไม่ได้แม่นยำทุกราย  หากมีการคลาดเคลื่อนเล็กน้อยกลายเป็นสายตาสั้น หรือสายตายาว เล็กน้อย แก้ได้โดยการใช้แว่นสายตาช่วย หากคลาดเคลื่อนมาก ต้องเปลี่ยนแก้วตาเทียมใหม่ (ทำผ่าตัดใหม่)
  • แก้วตาเทียมอาจไปกระทบกระทั่ง กระจกตาหรือม่านตา ทำให้กระจกตาฝ้ามัวหรือม่านตาอักเสบได้  โดยเฉพาะแก้วตาเทียมชนิดเลนส์เสริมอาจไปกระทบแก้วตา (เลนส์/Lens) ธรรมชาติ ทำให้เป็นต้อกระจกตามมาได้

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Intraocular_lens [2023,April8]