การดูแลช่องปากเมื่อได้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา (Chemotherapy or radiation therapy: Oral care)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

ทำไมได้เคมีบำบัดแล้วถึงเจ็บปากเจ็บคอ?

ยาเคมีบำบัด (Chemotherapy) มีคุณสมบัติก่อการบาดเจ็บและทำลายเซลล์ทุกชนิด แต่จะทำลายเซลล์มะเร็งมากกว่าเซลล์ปกติมาก และเซลล์ปกติยังมีคุณสมบัติที่จะซ่อมแซมฟื้นตัวจากยาเคมีบำบัดได้ดีกว่าเซลล์มะเร็งมาก ด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ จึงได้นำยาเคมีบำบัดมาใช้รักษาโรคมะเร็ง และเนื่องจากเซลล์เยื่อเมือกบุช่องปากและช่องคอ มีความไวต่อยาเคมีบำบัดมาก กว่าเซลล์อื่นๆของร่างกายเพราะเป็นเซลล์ที่มีการแบ่งตัวสูงกว่า ดังนั้นเมื่อได้ยาเคมีบำบัด ยาจะส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ อักเสบ (โดยไม่ติดเชื้อ) ของเซลล์เยื่อเมือกบุช่องปาก/ช่องคอ จึงก่อให้เกิดอาการเจ็บปากเจ็บคอได้ แต่จะเป็นอาการเพียงชั่วคราว ซึ่งมักเกิดประมาณ 24 ชั่วโมงภายหลังยาเคมีบำบัด และจะมีอาการอยู่ประมาณ 4-5 วัน โดยอาการจะดีขึ้นตามลำดับหลังได้ยาเคมีบำบัด 2-3 วันไปแล้ว

ความรุนแรงของอาการเจ็บปากเจ็บคอจะขึ้นกับหลายปัจจัย ที่สำคัญ เช่น

  • ชนิดและปริมาณยาเคมีบำบัด
  • มีการฉายรังสีรักษาบริเวณช่องปากและลำคอร่วมด้วย
  • ผู้ป่วยสูบ/เคยสูบบุหรี่ และ/หรือดื่ม/เคยสุรามาก่อน

ทำไมฉายรังสีรักษาแล้วถึงเจ็บปากเจ็บคอ?

การดูแลช่องปากเมื่อได้เคมีบำบัดหรือรังสีรักษา

 

รังสีรักษา (Radiotherapy หรือ Radiation therapy) ก่อให้เกิดอาการเจ็บปากเจ็บคอ เพราะรังสีจะก่อให้เกิดการบาดเจ็บต่อเซลล์ที่ได้รับรังสี โดยจะต่างจากยาเคมีบำบัดที่ยาเคมีบำบัดจะก่ออาการเจ็บปากเจ็บคอได้เสมอในทุกครั้งของการให้ยาเคมีบำบัดและในโรคมะเร็งทุกชนิดที่ได้รับยาเคมีบำบัด โดยอาการจะน้อย หรือมาก ขึ้นกับชนิด และปริมาณ (Dose) ของยาเคมีบำบัด แต่รังสีรักษา จะก่อให้เกิดอาการเจ็บปากเจ็บคอ เฉพาะเมื่อเป็นการฉายรังสีรักษาผ่านบริเวณช่องปากและ/หรือช่องคอเท่านั้น ดังนั้นอาการเจ็บปากเจ็บคอ จึงเกิดเฉพาะการฉายรังสีในโรคมะเร็งที่เกิดขึ้นเฉพาะในส่วน/ระบบ-ศีรษะ-ลำคอเท่านั้น (การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ) โรคมะเร็งอื่นๆ เช่น โรคมะเร็งปอด โรคมะเร็งเต้านม โรคมะเร็งปากมดลูก จะไม่มีอาการเจ็บปากเจ็บคอเมื่อได้รับการรักษาด้วยรังสีรักษา

อาการเจ็บปากเจ็บคอจากรังสีรักษา/การฉายรังสีรักษาจะมากหรือน้อยขึ้นกับหลายปัจจัยเช่นกัน ที่สำคัญ เช่น

  • ปริมาณรังสีที่ผู้ป่วยได้รับ
  • สุขภาพของช่องปาก (เช่น มีโรคเหงือก โรคฟันผุ)
  • การได้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย
  • อายุมาก
  • เป็นโรคเบาหวาน
  • สูบ/เคยสูบบุหรี่
  • ดื่ม/เคยดื่มสุรา

ทั่วไปถ้าผู้ป่วยไม่เคยสูบบุหรี่ และ/หรือดื่มสุรา และ/หรือไม่ได้ยาเคมีบำบัดร่วมด้วย อาการเจ็บปากเจ็บคอมักเริ่มเกิดในสัปดาห์ที่ 2-3 ของการฉายรังสี แต่ถ้าเคยสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และ/หรือการได้ยาเคมีบำบัดด้วย อาการเจ็บปากเจ็บคอจะเกิดได้ภายใน 2-3 วันของการฉายรังสีรักษา

อาการเจ็บปากเจ็บคอจากรังสีรักษาจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆเมื่อฉายรังสีต่อเนื่อง จากปริมาณรังสีสะสมที่สูงขึ้น แต่อาการจะค่อยๆดีขึ้นภายหลังหยุดฉายรังสีแล้วประมาณ 2 สัปดาห์ และจะกลับเป็นปกติ หรือใกล้เคียงปกติ ประมาณ 6-8 สัปดาห์หลังครบรังสีรักษาแล้ว (การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ)

ป้องกันไม่ให้เจ็บปากเจ็บคอได้ไหม?

การป้องกันอาการเจ็บปากเจ็บคอ จากยาเคมีบำบัดและจากรังสีรักษาเป็นเรื่องยาก เพราะเป็นสิ่งที่ต้องเกิด แต่อาจลดอาการรุนแรงลงได้ ทั่วไปโดย

  • อมน้ำแข็งในช่วงให้ยาเคมีบำบัด หรือในช่วงฉายรังสี แต่เป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ และได้ผลไม่ชัดเจน จึงไม่มีการนำมาใช้ในทางปฏิบัติ
  • เลิกบุหรี่ และสุรา
  • ดื่มน้ำสะอาดมากๆ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคจำกัดน้ำดื่ม
  • รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง
  • ดูแลการทำงานของไขกระดูกให้ปกติ ไม่มีภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง) เพื่อป้องกันการติดเชื้อของช่องปากช่องคอ ซึ่ง คือ การกินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกๆวัน โดยเพิ่มอาหารโปรตีนให้เพียงพอ

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อเจ็บปากเจ็บคอ?

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการเจ็บปากเจ็บคอ และการพบแพทย์ ทั้งในการได้รับยาเคมีบำบัดและ/หรือในรังสีรักษา (การดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ) ทั่วไปคือ

  • รักษาความสะอาดช่องปากเสมอ: โดย
  • แปรงฟันวันละ 2 ครั้ง ก่อนเข้านอน และเมื่อตื่นนอนเช้า
  • ปรับยาสีฟันเป็นยาสีฟันเด็กที่ไม่ก่อการระคายเยื่อเมือกช่องปาก
  • เปลี่ยนแปรงสีฟันเป็นแปรงเด็กชนิดขนแปรงอ่อนนุ่ม
  • บางครั้งอาจใช้เพียงผ้าสะอาดเช็ดช่องปาก ถ้าการแปรงฟันเพิ่มอาการเจ็บช่องปากมากขึ้น
  • บ้วนปากด้วยน้ำเกลือเจือจาง(ทำเองได้จากการผสมน้ำกับเกลือแกง), หรือน้ำสะอาด, หรือน้ำยาบ้วนปาก (เฉพาะเมื่อแพทย์แนะนำเท่านั้น) หลัง กินอาหาร ดื่มเครื่องดื่ม ทุกครั้ง
  • ปรับอาหารเป็นอาหารอ่อน อาหารเหลว (ประเภทอาหารทางการแพทย์)
  • กินอาหารให้เพียงพอ โดยเฉพาะอาหารประเภทที่ซ่อมแซมเซลล์ที่บาดเจ็บเสีย หาย ซึ่งคือ อาหารโปรตีน (เช่น นม ไข่ เนื้อสัตว์ ปลา ตับ นมถั่วเหลือง)
  • กินอาหารบ่อยๆ เพิ่มมื้ออาหาร แต่กินครั้งละเท่าที่พอกินได้
  • ดื่มน้ำสะอาดให้ได้มากๆ อย่างน้อยวันละ 1-2 ลิตรเมื่อไม่มีโรคต้องจำกัดน้ำดื่ม ทยอยดื่ม/จิบทั้งวัน ไม่ใช่ดื่มรวดเดียว
  • จิบน้ำบ่อยๆ อมน้ำแข็งก้อนเล็กๆ เพื่อรักษาความชุ่มชื้นในช่องปากเสมอ ยิ่งช่องปากแห้งจะยิ่งเจ็บปากเจ็บคอ
  • รักษาความสะอาดฟันปลอมถ้าใช้ฟันปลอม และอาจต้องพักการใช้ ถ้ามีแผลที่เหงือก หรือเพดานปาก

ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

ทั่วไปควรพบแพทย์/แจ้ง แพทย์ พยาบาล หรือมาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัด เมื่อ

  • อาการเจ็บปากเจ็บคอส่งผลถึงการ กิน การดื่ม ทั้งๆที่ดูแลตนเองแล้ว
  • กิน หรือ ดื่มได้น้อย
  • อ่อนเพลียมาก
  • มีกลิ่นปากมาก
  • มีเลือดออกจากแผลในปาก และ/หรือในคอ
  • ท้องเสีย
  • ท้องผูก
  • มีไข้
  • กังวลในอาการ

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. https://www.cancer.net/navigating-cancer-care/how-cancer-treated/chemotherapy/side-effects-chemotherapy [2023,April8]
  3. https://www.dana-farber.org/health-library/articles/mouth-care-for-cancer-patients/  [2023,April8]
  4. https://dental.ufl.edu/patient-care/patient-information/special-care-instructions-for-cancer-patients/oral-care-during-head-neck-radiotherapy/  [2023,April8]
  5. https://www.nidcr.nih.gov/health-info/cancer-treatments   [2023,April8]