กระหายน้ำมาก (Polydipsis)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 10 สิงหาคม 2561
- Tweet
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ภาวะขาดน้ำ (Dehydration)
- ไข้ อาการไข้ ตัวร้อน (Fever)
- ภาวะช็อก อาการช็อก (Shock)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- โรคลมแดด โรคจากความร้อน (Heatstroke/Heat illness)
กระหายน้ำ ความหมายจากพจนานุกรรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง รู้สึกคอแห้งด้วยอยากดื่มน้ำ
กระหายน้ำ หรือ หิวน้ำ อยากน้ำ(Thirst) ศัพท์ทางแพทย์คือ Dipsia มาจากภาษากรีก แปลว่า Thirst ทางการแพทย์หมายถึง อาการที่ร่างกายส่งสัญญาณว่าต้องการน้ำเพิ่มเติม จากร่างกาย/เลือดมีปริมาณน้ำลดลง หรือมีปริมาณเกลือแร่ในร่างกาย/ในเลือดข้นกว่าปกติ ภาวะเช่นนี้จะส่งผลกระตุ้นศูนย์กระหายน้ำ(Thirst center)ที่อยู่ในสมองส่วนไฮโปธาลามัส ส่งผลให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำ/อยากน้ำเพื่อการเพิ่มปริมาณน้ำให้กับร่างกาย
กระหายน้ำมาก(Polydipsia หรือ Excessive thirst) คือความรู้สึกกระหายน้ำมากผิดปกติ อาการนี้จะเกิดต่อเนื่องตลอดเวลา มักเป็นอาการเรื้อรัง โดยอาการมักไม่หายไปถึงแม้จะดื่มน้ำมากขึ้น และมักมีอาการกระหายน้ำร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น อ่อนเพลีย วิงเวียน กล้ามเนื้อเป็นตะคริว ตาพร่า เป็นลม บางคนอาจมีอาการชัก
ทั้งนี้ สาเหตุพบบ่อยของภาวะ/อาการกระหายน้ำมาก คือ
- ดื่มน้ำน้อย เช่น ผู้สูงอายุ คนที่ไม่ชอบดื่มน้ำ มีแผลในช่องปากทำให้เจ็บปากไม่ยากกินอาหาร/ดื่มน้ำ โรคทางจิตเวชที่ผู้ป่วยไม่ยอมดื่มน้ำ การผ่าตัดที่มีการงดอาหารและน้ำดื่ม
- กินอาหารรสเค็มจัดเป็นประจำ เช่น ขนมขบเคี้ยวต่างๆ ผลไม้ดอง
- ดื่มเครื่องดื่มมีกาเฟอีนปริมาณมากต่อเนื่อง เพราะจะทำให้มีปัสสาวะบ่อยมากขึ้นรวมถึงปริมาณปัสสาวะแต่ละครั้งก็เพิ่มขึ้น เช่น ชา กาแฟ
- เป็นอาการของโรคต่างๆ ที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวาน, โรคเบาจืด, โรคไต(ระยะโรคที่มีปัสสาวะมาก)ที่จะมีปัสสาวะปริมาณมากขึ้น บ่อยขึ้น ร่างกายจึงเสียน้ำมากขึ้น
- โรคที่ทำให้ต่อมน้ำลายทำงานได้ลดลง หรือเยื่อเมือกต่างๆสร้างสารคัดหลั่งน้อยลง (เช่น สร้างน้ำลายลดลง) เช่น โรคออโตอิมมูน หรือมีการผ่าตัดต่อมน้ำลายจากเนื้องอก/มะเร็งต่อมน้ำลาย หรือเป็นผลข้างเคียงจากการฉายรังสีรักษาในโรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ
- ภาวะปากแห้ง: อาจจาก ผลข้างเคียงของยาบางชนิด(เช่น ยาลดความดันโลหิต), โรคของช่องปากเอง, ภาวะขาดน้ำ, ผลข้างเคียงจากยาสีฟันบางชนิด, โรคของต่อมน้ำลาย(เช่น ต่อมน้ำลายอักเสบ)
- โรค/ภาวะที่ร่างกายมีเหงื่อออกมาก เช่น อาการไข้ การออกกำลังกาย ลมแดด
- โรค/ภาวะที่ร่างกายเสียน้ำมาก เช่น ท้องเสีย อาเจียน ตกเลือด
- ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ขับน้ำออกจากร่างกายมาก: เช่น ยาขับปัสสาวะ
- ร่างกายสูญเสียน้ำจากมีแผลเปิดขนาดใหญ่ เช่น แผลน้ำร้อนลวก/ไฟไหม์ ขนาดใหญ่
ทั้งนี้ เมื่อมีอาการกระหายน้ำมากผิดปกติ และมีอาการต่อเนื่อง อาการไม่หายไปถึงแม้จะดื่มน้ำเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะถ้าเกิดร่วมกับอาการผิดปกติอื่นๆ ควรรีบพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุเพื่อได้รับการรักษาที่เหมาะสม
อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมรายละเอียดของโรค/ภาวะต่างๆที่เป็นสาเหตุให้เกิด อาการกระหายน้ำได้จากเว็บ haamor.com เช่น โรคเบาหวาน โรคเบาจืด ยาลดความดันโลหิต ยาขับปัสสาวะ โรคออโตอิมมูน เป็นต้น
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Polydipsia [2018,July21]
- https://www.diabetes.co.uk/symptoms/polydipsia.html [2018,July21]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Thirst [2018,July21]