ไรบาไวริน (Ribavirin)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

 

บทนำ: คือยาอะไร?

ไรบาไวริน (Ribavirin) คือ ยารักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี  ทั่วไปใช้ร่วมกับยาอินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-2บี (Interferon α-2b)

โรคไวรัสตับอักเสบซี เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งเหนี่ยวนำให้เกิดโรคตับแข็ง (Cirrhosis) หากการติดเชื้อไวรัสเกิดขึ้นเป็นเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษาอาจนำไปสู่ภาวะตับวาย,   มะเร็งตับ รวมไปถึงภาวะหลอดเลือดดำในกระเพาะอาหารโป่งพอง (Gastric varices)

โดยทั่วไป ไวรัสจะไม่สามารถแบ่งตัวได้ด้วยตัวเอง ต้องอาศัยเซลล์ของโฮสต์ (Host) กล่าว คือสัตว์หรือมนุษย์ในการแบ่งตัว ไวรัสตับอักเสบซีมีหลายจีโนไทป์ (Genotype; ชนิดหรือลักษณะ ของยีน/จีน/Geneที่แฝงอยู่ภายในรหัสพันธุกรรม ซึ่งจะมีลักษะแตกต่างกันออกไปส่งผลให้การแสดงออกของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันมีความแตกต่างกัน) แต่ละจีโนไทป์มีระยะเวลาการรักษาที่แตกต่างกันออกไป

ไรบาไวริน (Ribavirin) มีบทบาทสำคัญในการใช้รักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี โดยใช้ร่วมกับยาอินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-2บี (Interferon α-2b) ปัจจุบันจัดอยู่ในประเภทยาอันตรายตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี การใช้ยานี้ควรอยู่ในการดูแลของแพทย์เพื่อติดตามผลการรักษา และผลข้างเคียงของยา

ยาไรบาไวรินมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

 

ยาไรบาไวรินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้: เช่น

  • ยาเม็ดหรือแคปซูลรับประทาน: มีข้อบ่งใช้ในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซีเรื้อรัง (Chronic Hepatitis C) โดยใช้ร่วมกับยาอินเตอร์เฟอรอนแอลฟา-2บี (Interferon α-2b)
  • ยาพ่น: มีข้อบ่งใช้เพื่อรักษาโรคติดเชื้อทางเดินหายใจอาร์เอสวี/ โรคอาร์เอสวี (RSV: Respiratory Syncytial Virus) ซึ่งเป็นโรคติดเชื้อไวรัสในระบบทางเดินหายใจ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคอ่อนแอและติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนล่าง อาทิ ในผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน หรือ ผู้ป่วยที่มีโรคปอด  โรคหัวใจและหลอดเลือด 

นอกจากนี้ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาไรบาไวรินในข้อบ่งใช้ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน เช่น ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ชนิดเอ (Influenza A) และเชื้อไวรัสไช้หวัดใหญ่ชนิดบี (Influenza B)

ยาไรบาไวรินมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาไรบาไวรินยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด เชื่อว่ายาไรบาไวรินเข้าจับกับ อาร์เอ็นเอ (RNA; สารพันธุกรรมที่ใช้ในกระบวนการแบ่งเซลล์) เหนี่ยวนำให้เกิดการกลายพันธุ์ระหว่างการถ่ายทอดรหัสพันธุกรรมของเชื้อไวรัส นำไปสู่การยับยั้งการแบ่งตัวหรือการกำ เนิดใหม่ของไวรัสในที่สุด

ยาไรบาไวรินมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไรบาไวรินมีรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์: 

  • ชนิดแคปซูลรับประทาน ขนาดความแรง 200 มิลลิกรัมและ 400 มิลลิกรัมต่อแคปซูล
  • ชนิดเม็ดรับประทาน ขนาดความแรง 500 มิลลิกรัมและ 600 มิลลิกรัมต่อแคปซูล

ในบางประเทศอาทิ สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร และสหภาพยุโรป มีการจัดจำหน่ายยาไรบาไวรินในรูปแบบเภสัชภัณฑ์อื่นๆ  เช่น

  • ชนิดยาผงพร้อมผสมเพื่อใช้เป็นยาสูดพ่นจมูกแบบฝอยละออง (Powder for solution for nebulization) ขนาดความแรง 6 กรัม
  • ชนิดยาน้ำรับประทาน ขนาดความแรง 40 มิลลิกรัมต่อมิลลิลิตร

ยาไรบาไวรินมีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?

ยาไรบาไวริน เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้เฉพาะเจาะจงกับการติดเชื้อไวรัสบางชนิด ส่วนใหญ่ ใช้เฉพาะโดยแพทย์เฉพาะทาง, มีขนาดยาที่แนะนำจำเพาะ, จำแนกตามข้อบ่งใช้จำเพาะแต่ละชนิดย่อยของเชื้อก่อโรค, และยังขึ้นกับชนิดและรูปแบบของยาตามแต่ละบริษัทผู้ผลิต, อายุผู้ป่วย, การทำงานของ ไต, ตับ, ไขกระดูก,  การติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น,  โรคร่วมต่างๆที่จำเป็นต้องใช้ยาอื่นที่ซับซ้อนของผู้ป่วย, และการประสงค์ตั้งครรภ์ (อ่านเพิ่มเติมใน’หัวข้อ การแจ้งแพทย์/เภสัชกรฯ’), ดังนั้นการใช้ยานี้จึงควรต้องเป็นคำแนะนำจากแพทย์ผู้รักษาเท่านั้น จึงจะไม่กล่าวถึงในบทความนี้

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาไรบาไวรินควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิดรวมถึงการแพ้สารเคมีต่างๆ                                
  • แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากกำลังใช้ ยาไดดาโนซีน (Didanosine, ยาต้าน เอชไอวี)  ซึ่งแพทย์อาจไม่ใช้ยาไรบาไวรินร่วมกับยานี้                                                                                     
  • ประวัติโรคประจำตัว รวมถึงยาที่ใช้อยู่ทั้งยาที่ซื้อทานเองและยาที่แพทย์สั่งจ่าย รวมไปถึง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยเฉพาะหากกำลังใช้ยาเหล่านี้ร่วมกับการใช้ยาไรบาไวริน แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาเหล่านั้นหรือเฝ้าระวังผลข้างเคียงและพิษจากยาเหล่านั้นที่ใช้ร่วมกับยาไรบาไวรินอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ยาเหล่านั้น เช่น
    • ยากดภูมิคุ้มกัน และ ยาต้านมะเร็ง: เช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine), ยาไซโคลสปอริน (Cyclosporin), ยาซิโรลิมัส (Sirolimus), ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus)
    • ยารักษาภาวะวิตกกังวลหรือความเครียด รวมไปถึงภาวะซึมเศร้า และ ยาจิตเวชอื่นๆ
    • ยารักษาโรคเอดส์ เช่นยา  อะบาคาเวียร์ (Abacavir), ยาเอ็มไทรไซทาบีน (Emtricitabine), ยาลามิวูดีน (Lamivudine), ยาสตาวูดีน (Stavudine), ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) และซิโดวูดีน (Zidovudine)
  • ประวัติโรคไตหรือโรคตับทำงานบกพร่อง โรคตับอักเสบจากภูมิต้านตนเอง (Autoimmune hepatitis)
  • ประวัติการดื่มสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ประวัติการใช้ยาเสพติด, เคยหรือมีความคิดที่จะทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย, มีประวัติเกี่ยวกับโรคทางจิตประสาท เช่น โรคจิตเภท ภาวะวิตกกังวล โรคซึมเศร้า, มีประวัติเกี่ยวกับโรคมะเร็ง, โรคเอดส์, โรคเกาต์, โรคตับเอกเสบ, หรือโรคอื่นๆที่มีความเกี่ยวข้องกับตับ เคยได้รับการปลูกถ่ายตับหรืออวัยวะอื่นๆ, รวมไปถึงประวัติการติดโรคไวรัสตับอักเสบซี หากเคยเป็นและ/หรือเคยได้รับการรักษามาก่อน
  • การตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยชายที่คู่สมรสกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรวางแผนคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกัน (เช่น ถุงยางอนามัยชายร่วมกับยาเม็ดคุมกำเนิด แต่ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาเพื่อให้ได้วิธีที่เหมาะสมทั้งกับตนเองและกับคู่ของตนเอง) ในระหว่างการรักษาด้วยยานี้และหลัง จากหยุดใช้ยานี้ไปแล้วอย่างน้อยอีก 6 เดือน เนื่องจากยานี้อาจมีอันตรายต่อการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ ผู้ป่วยหญิงควรได้รับการตรวจการตั้งครรภ์ก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษาไปแล้วอีก 6 เดือน รวมถึงผู้ป่วยชายที่ต้องใช้ยานี้ คู่สมรสควรได้รับการตรวจการตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน หากระหว่างการใช้ยานี้ ผู้ป่วยหรือคู่สมรสเกิดการตั้งครรภ์ให้แจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไรบาไวริน ให้รับประทานยาทันทีที่นึกขึ้นได้ หากใกล้เวลากับมื้อถัดไปให้ข้ามไปทานมื้อถัดไป โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า

ยาไรบาไวรินมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไรบาไวรินมีผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง)  เช่น

ก. ยาไรบาไวรินชนิดพ่นจมูกแบบละอองฝอย: อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯ เช่น ภาวะความดันโลหิตต่ำ, หัวใจหยุดเต้น, โรคซีด, เหนื่อยล้า, นอนไม่หลับ, หายใจลำบาก/หอบเหนื่อย

ข. ยาไรบาไวรินชนิดรับประทาน: อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯบางประการ เช่น ไอ, ปวดมวนท้อง, ปากคอแห้ง, การรับรสเปลี่ยนไป, แน่นหน้าอก, แสบร้อนกลางอก, ผมร่วง, มีไข้,  ปวดหัว

*อนึ่ง:  

  • ยาไรบาไวรินชนิดรับประทาน อาจก่อให้เกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯที่รุนแรง เช่น อุจจาระมีเลือดปน/อุจจาระเป็นเลือด หรืออุจจาระมีสีดำเหนียว, ปัสสาวะมีสีเข้มเหมือนสีน้ำปลา, เกิดห้อเลือดตามผิวหนังและมีการขยายขนาดห้อเลือด, เกิดภาวะ สับสน วิตกกังวลมากเกินไป, ซึมเศร้า, มีความคิดทำร้ายตัวเองหรือพยายามฆ่าตัวตาย, การควบคุมอารมณ์เปลี่ยนไป, ผิวหรือตาเปลี่ยนเป็นสีเหลือง
  • *หากมีอาการดังกล่าว(ไม่จำเป็นต้องมีครบทุกอาการ) ให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

*****ข้อสำคัญ:

  • หากขณะเริ่มใช้ยานี้และพบว่ามีผื่นคันขึ้น แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก เปลือกตา/หนังตา ริมฝีปาก คาง ใบหน้า บวม อาจเกิดจากการแพ้ยาได้ ให้หยุดใช้ยานี้และรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • หากใช้ยานี้และเกิดอาการไม่พึงประสงค์ฯต่อเนื่องและรุนแรงมากขึ้น ให้รีบพบแพทย์/รีบไปโรงพยาบาลก่อนนัดหรือทันที/ฉุกเฉิน ขึ้นกับความรุนแรงของอาการ

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรบาไวรินอย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาไรบาไวริน เช่น

  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ไม่ใช้ยานี้กับ สตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร รวมไปถึงผู้ชายที่คู่สมรสมีแผนที่จะตั้งครรภ์หรือมีครรภ์ เนื่องจากยาไรบาไวรินสามารถผ่านไปยังน้ำอสุจิได้ ซึ่งอาจก่อให้เกิด อันตรายกับทารกหากมีการปฏิสนธิ
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีโรคเกี่ยวกับเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด เช่น โรค ธาลัสซีเมีย  ภาวะโลหิตจาง /โรคซีด
  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคตับอักเสบจากการแพ้ภูมิตัวเอง
  • ไม่ใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่กำลังได้รับยาไดดาโนซีน (Didanosine)
  • ไม่ใช้ยานี้เป็นยาขนานเดียวในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี
  • ยานี้อาจทำให้ผู้ใช้ยา ง่วงซึม วิงเวียน หรือสับสน จึงควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจักรเพราะจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ยานี้อาจทำให้เกิดอาการปากคอแห้ง ควรรักษาสุขภาพเหงือกและฟันอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงพบทันตแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพเหงือกและฟันอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือตาม ทันตแพทย์แนะนำ
  • หากผู้ใช้ยานี้มีความคิดที่จะทำร้ายหรือฆ่าตัวตายให้แจ้งให้แพทย์/โรงพยาบาลทราบทันที
  • ไม่หยุดใช้ยานี้เองแม้อาการจะดีขึ้น, หยุดใช้ยานี้ได้ต่อเมื่อแพทย์สั่งเท่านั้น
  • รับประทานยานี้อย่างสม่ำเสมอในเวลาเดียวกันของทุกๆวัน
  • ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ไม่ใช้ยาหมดอายุ
  • ไม่เก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไรบาไวริน) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวม ทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไรบาไวรินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไรบาไวรินไม่ควรใช้ร่วมกับยาบางขนานเพราะอาจส่งผลให้เกิดปฏิกิริยาระหว่างยา โดยอาจทำให้ระดับยาดังจะกล่าวต่อไปสูงขึ้น จึงอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงของยาหรือพิษของยาดังกล่าวสูงขึ้นตามไปด้วย เช่น

  • ยาต้านเอชไอวี: เช่นยา ไดดาโนซีน (Didanosine), อะบาคาเวียร์ (Abacavir), ยาเอ็มไทรไซทาบีน (Emtricitabine), ยาลามิวูดีน (Lamivudine), ยาสตาวูดีน (Stavudine), ยาทีโนโฟเวียร์ (Tenofovir) และซิโดวูดีน (Zidovudine)
  • ยากดภูมิคุ้มกัน: เช่น ยาอะซาไธโอพรีน (Azathioprine)

*นอกจากนี้ ยาไรบาไวรินอาจลดประสิทธิภาพของวัคซีนไข้หวัดใหญ่อีกด้วย ดังนั้นผู้ใช้ยานี้ต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาก่อนจะฉีดวัคซีนทุกชนิดด้วย

ควรเก็บรักษายาไรบาไวรินอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาไรบาไวริน: เช่น

  • เก็บยาในภาชนะบรรจุดั้งเดิมของบริษัทผู้ผลิต
  • เก็บยาในที่แห้งและแสงแดดส่องไม่ถึงโดยตรง
  • หลีกเลี่ยงการเก็บยาบริเวณที่มีความอับชื้น เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำหรือในห้องน้ำ
  • เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไรบาไวรินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไรบาไวริน มีการจัดจำหน่าย เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
รีบีทอล (Rebetol) บริษัท เอ็มเอสดี (ประเทศไทย) จำกัด
โคพีกุส (Copegus) บริษัท โรช ไทยแลนด์ จำกัด
ไรบาโซล (Ribazole) บริษัท นีโอฟาร์ม จำกัด

 

บรรณานุกรม

  1. American Pharmacists Association. Ribavirin. Drug Information Handbook with Trade names index. 23;2014:1828-1834.
  2. Ortega-Prieto, Ana M.; Sheldon, et al. Extinction of Hepatitis C Virus by Ribavirin in Hepatoma Cells Involves Lethal Mutagenesis. ONE 2013;8(8):71039.
  3. Crotty S, Cameron C, Andino R. Ribavirin's antiviral mechanism of action: lethal mutagenesis?. J. Mol. Med. 2012;80 (2): 86–95.
  4. Paeshuyse, J, Dallmeier, K, Neyts, J. Ribavirin for the treatment of chronic hepatitis C virus infection: a review of the proposed mechanisms of action. Current Opinion in Virology 1 2011;6:590–8.
  5. https://www.mims.com/Thailand/drug/info/Rebetol [2023,Jan28]
  6. https://www.accessdata.fda.gov/drugsatfda_docs/label/2010/021511s018lbl.pdf  [2023,Jan28]