โซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir)
- โดย ภก.ศิวัสว์ ผุลลาภิวัฒน์
- 7 กรกฎาคม 2558
- Tweet
- บทนำ
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาโซฟอสบูเวียร์อย่างไร?
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาโซฟอสบูเวียร์อย่างไร?
- ยาโซฟอสบูเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ไวรัสตับอักเสบ (Viral hepatitis)
- โรคไวรัสตับอักเสบ ซี (Viral hepatitis C)
- โรคตับ (Liver disease)
- อินเตอร์เฟอรอน (Interferon)
- ตับอักเสบ โรคพิษต่อตับ (Toxic hepatitis หรือ Hepatotoxicity)
- อาหารกับโรคตับอักเสบ (Diet for Hepatitis)
- ตับแข็ง (Liver cirrhosis)
- มะเร็งตับ (Liver cancer)
บทนำ
ยาโซฟอสบูเวียร์ (Sofosbuvir) เป็นยาใหม่ที่ใช้เป็นยาเสริมในการรักษาผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี (Hepatitis C) ซึ่งมีความครอบคลุมในการรักษาไวรัสชนิดนี้ในหลายจีโนไทป์ (Genotype; ชนิดหรือลักษณะของยีน/จีน/Geneที่แฝงอยู่ภายในรหัสพันธุกรรมของไวรัส ซึ่งจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไปส่งผลให้การแสดงออกของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกันมีความแตกต่างกัน)
ยาโซฟอสบูเวียร์เป็นยาที่วางตลาดครั้งแรกในปี พ.ศ. 2556 ในสหรัฐอเมริกา และในเดือนเมษายน พ.ศ. 2558 องค์การอนามัยโลกได้บรรจุยาโซฟอสบูเวียร์เป็นหนึ่งในรายการยาสำคัญขององค์การอนามัยโลกอีกด้วย
ยาโซฟอสบูเวียร์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?
ยาโซฟอสบูเวียร์มีข้อบ่งใช้/สรรพคุณในการรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบ ซี (Hepatitis C virus) ในผู้ป่วยอายุตั้งแต่ 18 ปี ขึ้นไป โดยใช้เป็นยาเสริมร่วมกับยาไรบาวิริน (Ribavirin/ยาต้านไวรัส) และ/หรือยาเพกอินเตอร์เฟอรอนแอลฟา (Peginterferon alfa) ที่มักไม่ใช้เป็นยาขนานเดี่ยวในการรักษา นอกจากนี้ยังใช้ในผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีและเป็นมะเร็งตับ ซึ่งกำลังรอการปลูกถ่ายตับและเพื่อลดอัตราการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซีซ้ำหลังการปลูกถ่ายตับอีกด้วย
ยาโซฟอสบูเวียร์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
ยาโซฟอสบูเวียร์เป็นนิวคลีโอไทด์ (Nucleotide; หน่วยย่อยของดีเอ็นเอ/DNA และอาร์เอ็นเอ/RNA) ในรูปโปรดรัก [Prodrug; ยาที่ไม่แสดงในรูปออกฤทธิ์จนกว่าจะมีการเมทาบอไลต์/ Metabolize/เผาผลาญ) โดยร่างกายเพื่อเปลี่ยนรูปเป็นยาออกฤทธิ์ (Active form)] ซึ่งจะผ่านกระบวนการเมทาบอลิซึม (Metabolism/ขบวนการเผาผลาญ) ภายในเซลล์เปลี่ยนเป็นรูปออกฤทธิ์และจะรวมเข้ากับอาร์เอ็นเอ (RNA; นิวคลีโอไทด์ที่ใช้ในกระบวนการแบ่งเซลล์) ของไวรัสตับอักเสบ ซีในช่วงการแบ่งตัว และทำให้การถอดรหัสพันธุกรรมสิ้นสุดลง ส่งผลให้เกิดการยับยั้งการแบ่งตัวของไวรัสฯ
ยาโซฟอสบูเวียร์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโซฟอสบูเวียร์ยังไม่มีการขึ้นทะเบียนยาในประเทศไทย ปัจจุบันยาโซฟอสบูเวียร์มีรูป แบบทางเภสัชภัณฑ์เป็นยาเม็ดเคลือบชนิดรับประทาน ขนาดความแรง 400 มิลลิกรัมต่อเม็ด
ยาโซฟอสบูเวียร์มีขนาดรับประทานหรือวิธีใช้ยาอย่างไร?
ยาโซฟอสบูเวียร์มีขนาดใช้ยาทั่วไปสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปคือ 400 มิลลิ กรัมต่อวัน/หรือวันละ 1 เม็ด รับประทานพร้อมหรือหลังอาหาร
การรับประทานยานี้ควรรับประทานทั้งเม็ด ไม่ควรหักแบ่งหรือบดเม็ดยานี้
ผู้ป่วยควรรับประทานยานี้อย่างสม่ำเสมอในช่วงเวลาเดียวกันของแต่ละวัน ไม่หยุดยานี้ด้วยตนเองแม้ว่าจะมีอาการดีขึ้นก็ตาม
หากผู้ป่วยมีการอาเจียนหลังรับประทานยานี้ไปแล้วไม่เกิน 2 ชั่วโมง ควรรับประทานยาซ้ำอีกครั้ง หากการอาเจียนเกิดขึ้นหลังรับประทานยาไปแล้วมากกว่า 2 ชั่วโมงไม่ต้องทานยานี้ซ้ำอีก
ยาโซฟอสบูเวียร์เป็นยาเสริมในการรักษาไวรัสตับอักเสบ ซีร่วมกับยาอื่นๆ มีระยะเวลาในการรักษาเบื้องต้นดังต่อไปนี้
ชนิดการติดเชื้อ | ยาที่ใช้ในการรักษา | ระยะเวลาการักษา |
---|---|---|
ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอัก เสบซี จีโนไทป์ 1, 4, 5 หรือ 6 | โซฟอสบูเวียร์ + ไรบาวิริน + เพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา โซฟอสบูเวียร์ + ไรบาวิริน (ในผู้ป่วยที่ไม่ สามารถใช้หรือทนต่อยาเพกอินเตอร์เฟอ รอน แอลฟา) |
MSD |
ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอัก เสบ ซี จีโนไทป์ 2 | โซฟอสบูเวียร์ + ไรบาวิริน | MSD |
ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอัก เสบ ซี จีโนไทป์ 3 | โซฟอสบูเวียร์ + ไรบาวิริน + เพกอินเตอร์เฟอรอน แอลฟา โซฟอสบูเวียร์ + ไรบาวิริน |
MSD |
ผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสตับอัก เสบ ซีที่กำลังรอการปลูกถ่ายตับ | โซฟอสบูเวียร์ + ไรบาวิริน | MSD |
*****หมายเหตุ:
- ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซฟอสบูเวียร์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัช กรดังนี้
- ประวัติการแพ้ยาต่างๆ แพ้ยานี้ สารเคมี หรืออาหาร
- ประวัติการใช้ยาหรือยาที่ใช้อยู่ ทั้งยาที่สั่งจ่ายโดยแพทย์ ยาที่ซื้อรับประทานเอง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และสมุนไพร แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากกำลังใช้
- ยาอะมิโอดาโรน (Amiodarone) ยารักษาโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
- และกลุ่มยาต้านชัก/ยากันชักเช่น ยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine) ยาออกซ์คาร์บาซีพีน (Oxcabazepine) ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital) และยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
- ยาปฏิชีวนะเช่น ยาไรฟาบูทิน (Rifabutin) ยาไรแฟมพิซิน (Rifampicin) ยาไรฟาเพนทีน (Rifapentine)
- และยาต้านไวรัส ทิพรานาเวียร์ (Tipranavir)
- แจ้งให้แพทย์และเภสัชกรทราบหากผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่กำลังใช้อยู่มีส่วนผสมของเซนต์จอห์นเวิร์ต (St. John’s wort)
- ประวัติการปลูกถ่ายตับ ประวัติโรคซึมเศร้า หรือโรคทางจิตเวช โรคเอดส์ โรคไต หรือโรคตับ โรคอื่นๆที่นอกเหนือจากโรคไวรัสตับอักเสบ ซี
- แจ้งแพทย์หรือเภสัชกร ในผู้ป่วยหญิงหากกำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือมีความเสี่ยงที่จะตั้งครรภ์ ในผู้ป่วยชายที่คู่สมรสกำลังตั้งครรภ์หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรวาง แผนคุมกำเนิดอย่างน้อย 2 วิธีร่วมกันในระหว่างการรักษาด้วยยานี้และหลังจากหยุดใช้ยานี้ไปแล้วอย่างน้อยอีก 6 เดือน (เช่น ฝ่ายหญิงกินยาเม็ดคุมกำเนิดร่วมกับฝ่ายชายใช้ถุงยางอนามัยชาย อย่างไรก็ตามควรต้องปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมของผู้ป่วย) เนื่อง จากยานี้อาจมีอันตรายต่อการพัฒนาของตัวอ่อนในครรภ์ ผู้ป่วยหญิงควรได้รับการตรวจการตั้ง ครรภ์ก่อนการรักษา ระหว่างการรักษา และหลังการรักษาไปแล้วอีก 6 เดือน รวมถึงผู้ป่วยชายที่ต้องใช้ยานี้ คู่สมรสควรได้รับการตรวจการตั้งครรภ์เช่นเดียวกัน หากระหว่างการใช้ยานี้ผู้ป่วย หรือคู่สมรสเกิดการตั้งครรภ์ให้แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบโดยทันที
- แจ้งให้แพทย์หรือเภสัชกรทราบหากคุณกำลังอยู่ในช่วงการให้นมบุตร
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโซฟอสบูเวียร์และนึกขึ้นได้ภายในช่วง 18 ชั่วโมง ให้รับประทานยานี้ทันทีที่นึกขึ้นได้ หากแต่นึกขึ้นได้ในระยะเวลามากกว่า 18 ชั่วโมงของเวลาที่รับประทานยาโดยปกติ ให้ข้ามยามื้อนั้นไป และให้รอรับประทานยาในมื้อถัดไปโดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาโซฟอสบูเวียร์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโซฟอสบูเวียร์อาจก่อให้เกิดผลไม่พึงประสงค์ (ผลข้างเคียง/อาการไม่พึงประสงค์) บางประการเช่น อาการเหนื่อยล้า ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ วิงเวียน มึนงง อาการนอนไม่หลับ ผื่นคัน ท้องเสีย เบื่ออาหาร หากอาการเหล่านี้ไม่ดีขึ้นหรือแสดงอาการรุนแรงขึ้น ให้แจ้งให้แพทย์ผู้รักษาทราบ
หากผู้ป่วยรับประทานยาโซฟอสบูเวียร์แล้วเกิดอาการแพ้ยาเช่น หายใจลำบาก ผื่นคันทั้งร่างกาย ริมฝีปาก/เปลือกตา/คาง บวม หรือผลข้างเคียงที่รุนแรงเช่น ตัวซีด หัวใจเต้นเร็วหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ไม่มีแรง มีอารมณ์หรือความสามารถในการควบคุมอารมณ์เปลี่ยนแปลงไป เกิดภาวะซึมเศร้า มีความคิดทำร้ายตัวเอง รวมไปถึงอาการไข้ เหงือกบวม มีแผลในปาก มีอา การคล้ายโรคหวัดหรือไข้หวัดใหญ่ ให้แจ้งให้แพทย์ทราบ/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซฟอสบูเวียร์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้ยาโซฟอสบูเวียร์ดังนี้เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ป่วยที่แพ้ยานี้หรือส่วนประกอบของยานี้
- ไม่ควรใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ รวมถึงผู้ป่วยชายที่คู่สมรสหรือคู่ขาตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์ ควรใช้การคุมกำเนิดร่วมกันอย่างน้อย 2 วิธีในระหว่างการใช้ยานี้และหลังจากหยุดการรักษาไปแล้วอีก 6 เดือน ควรปรึกษาแพทย์ผู้รักษาถึงรูปแบบการคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยระหว่างการใช้ยานี้
- ผู้ป่วยต้องรับประทานยานี้อย่างเคร่งคัด ไม่หยุดยานี้เองโดยไม่ได้รับคำสั่งจากแพทย์
- หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวเป็นโรคลมชัก โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคซึมเศร้า ให้แจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการรักษา
- ไม่แนะนำให้ใช้ยานี้กับสตรีให้นมบุตร
- ไม่แนะนำให้ใช้ยาโซฟอสบูเวียร์เป็นยาเดี่ยวในการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบ ซี
- ไม่แนะนำให้มีการปรับขนาดใช้ยาของยานี้ และไม่ต้องปรับขนาดยานี้ในผู้ป่วยโรคตับหรือโรคไต
- ไม่แบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ไม่เก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง:
ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาโซฟอสบูเวียร์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิดและสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาโซฟอสบูเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโซฟอสบูเวียร์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นเช่น ไม่ควรใช้ยาโซฟอสบูเวียร์ร่วมกับ
- ยาและสมุนไพรบางชนิดเช่น ยาคาร์บามาซีพีน (Carbamazepine), ยาออกซ์คาร์บาซีพีน (Oxcabazepine), ยาฟีโนบาร์บิทัล (Phenobarbital), และยาฟีไนทอยด์ (Phenytoin)
- ยาปฏิชีวนะเช่น ยาไรฟาบูทิน/Rifabutin, ยาไรแฟมพิซิน/Rifampicin, ยาไรฟาเพนทีน/Rifapentine)
- และยาต้านไวรัส ทิพรานาเวียร์ (Tipranavir)
- สมุนไพร เซนต์จอห์นเวิท (St. John’s wort)
เนื่องจากการใช้ร่วมกันทำให้ระดับยาโซฟอสบูเวียร์ในกระแสเลือดลดลงจึงส่งผลต่อการรักษา
ควรเก็บรักษายาโซฟอสบูเวียร์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโซฟอสบูเวียร์ดังนี้
- เก็บยาโซฟอสบูเวียร์ในบรรจุภัณฑ์เดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้สนิท
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- เก็บยาในอุณหภูมิห้อง ให้พ้นจากความร้อนหรือการส่องจากแสงแดดโดยตรง รวมถึงเก็บยาให้พ้นจากที่อับชื้นหรือบริเวณใกล้เคียงเช่น ในห้องน้ำ
ยาโซฟอสบูเวียร์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโซฟอสบูเวียร์มีชื่อการค้าคือ โซวาลดิ (Sovaldi®) โดยบริษัท จิเลดไซแอนเซส (Gilead Scienses)
บรรณานุกรม
1. SPC: Sovaldi 400 mg film coated tablets. eMC. March 13, 2015. http://www.medicines.org.uk/emc/medicine/28539
2. Package Leaflet: Sovaldi 400 mg film-coated tablets. Gilead Sciences International Ltd., United Kingdom. January 2015.
3. FDA Drug Safety Communication: FDA warns of serious slowing of the heart rate when antiarrhythmic drug amiodarone is used with hepatitis C treatments containing sofosbuvir (Harvoni) or Sovaldi in combination with another Direct Acting Antiviral drug. FDA. http://www.fda.gov/Drugs/DrugSafety/ucm439484.htm. [2015,June6]
4. Solvaldi® http://www.sovaldi.com/ [2015,June6]
5. Hepatitis C http://www.hepatitisc.uw.edu/page/treatment/drugs/sofosbuvir-drug [2015,June6]
6. 19th WHO Model List of Essential Medicines (2015). http://www.who.int/medicines/publications/essentialmedicines/EML2015_8-May-15.pdf [2015,June6]