ไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน (Diphenoxylate and Atropine) หรือ โลโมติล (Lomotil)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

ยาไดฟินอกซิเลตผสมร่วมกับอะโทรพีน (Diphenoxylate and Atropine) หรือยาชื่อการ ค้าที่เป็นที่รู้จัก คือ ยาโลโมติล (Lomotil) ถูกนำมาใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียอันมีสาเหตุจากการผ่าตัดลำไส้เล็กหรือลำไส้ใหญ่ เพื่อเปิดช่องขับถ่ายทางหน้าท้อง (ทวารเทียม), ช่วยบรร เทาอาการจากโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง, ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการถ่ายอุจจาระบ่อยและมักมีเลือดปนออกมาด้วย และรวมถึงโรคลำไส้แปรปรวน

ยาไดฟินอกซิเลต จัดเป็นยาเสพติดประเภทที่ 3 (อ่านเพิ่มเติมในเรื่อง ประเภทยาเสพติด) ส่วนยาอะโทรพีนจัดเป็นประเภทยาอันตราย การผสมอะโทรพีนเข้าไปในสูตรตำรับยาเป็นการป้องกันและลดการเสพติดจากไดฟินอกซิเลตของผู้ป่วย แต่หากรับประทานเกินขนาดมาตรฐาน อะโทรพีนจะทำให้ผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้และอ่อนเพลีย

หลังรับประทานยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน ยาจะเริ่มออกฤทธิ์ภายในประมาณ 45 นาที - 1 ชั่วโมง และช่วงเวลาของการออกฤทธิ์จะมีระยะเวลายาวนานประมาณ 3 - 4 ชั่วโมง ยา นี้จะถูกเปลี่ยนโครงสร้างที่ตับ โดยร่างกายต้องใช้เวลาประมาณ 12 - 14 ชั่วโมง เพื่อกำจัดยานี้ออกจากร่างกาย 50% โดยผ่านไปกับอุจจาระ

เนื่องจากเป็นยาอันตราย การใช้ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน ต้องมีคำสั่ง/ใบสั่งจากแพทย์เท่านั้น เราไม่สามารถซื้อจากร้านขายยาได้ง่ายนัก ด้วยเป็นข้อห้ามและข้อกำหนดทางกฏหมาย

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) อย่างไร?

ไดฟินอกซิเลต

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีคุณสมบัติ เช่น

  • รักษาและบรรเทาอาการท้องเสียหลังผ่าตัดลำไส้ทำทวารเทียม (Colostomy & Ileos tomy) เช่น ในการผ่าตัดมะเร็งในลำไส้ใหญ่
  • บรรเทาอาการโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง (Ulcerrative Colitis)
  • บรรเทาอาการท้องเสียจากโรคลำไส้แปรปรวน (IBS)

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาไดฟินอกซิเลตมีกลไกการออกฤทธิ์โดย ตัวยาจะชะลอการบีบตัวของลำไส้ ทำให้ลำไส้มีเวลาในการดูดซับของเหลวเข้าสู่ร่างกายและเพิ่มเนื้อมวลของอุจจาระ จึงส่งผลบรรเทาอาการท้องเสียได้

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีรูปแบบการจัดจำหน่าย เช่น

  • ยาเม็ด ที่มีตัวยาไดฟินอกซิเลต 2.5 มิลลิกรัม ร่วมกับยาอะโทรพีน 25 ไมโครกรัม

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีขนาดรับประทาน เช่น

ก. ผู้ใหญ่: รับประทานในระยะแรก ครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 - 4 ครั้ง หลังจากนั้นแพทย์อาจลดขนาดรับประทานเป็น 2 เม็ดต่อวัน

ข. เด็กอายุ 2 - 12 ปี: รับประทานโดยคำนวณจากน้ำหนักตัวโดยใช้ปริมาณยา 0.3 - 0.4 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยแบ่งรับประทานเป็น 4 ครั้งต่อวัน

ค. *เด็กอายุต่ำกว่า 2ปี: ยานี้มีข้อห้ามในการใช้ในเด็กที่อายุต่ำกว่า 2 ปี

***** อนึ่ง

  • หลังใช้ยานี้ภายใน 48 ชั่วโมง แล้วอาการไม่ดีขึ้น ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
  • การได้รับยานี้เกินขนาด จะมีอาการง่วงนอนอย่างมาก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ มีไข้สูง หายใจติดขัด/หายใจลำบาก และอาจหมดสติ ซึ่งหากพบอาการข้างต้นให้รีบนำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลทันที
  • ยานี้สามารถรับประทานก่อนหรือหลังอาหารก็ได้ ขนาดและระยะเวลารับประทานที่เหมาะสม ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนกับยาอื่นๆ และ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยานี้เป็น 2 เท่า

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน มีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) ที่สามารถพบได้ เช่น

  • รู้สึกเคลิบเคลิ้ม
  • ง่วงนอนมาก
  • ปวดศีรษะ /ปวดหัว
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปากคอแห้ง
  • ซึมเศร้า
  • กระสับกระส่าย
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดท้อง
  • นอกจากนี้ยังอาจพบผลข้างเคียงจากยาอะโทรพีน เช่น
    • หัวใจเต้นเร็ว
    • ปัสสาวะขัด
    • อุณหภูมิของร่างกายสูงขึ้น

มีข้อควรระวังการใช้ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนอย่างไร?

ข้อควรระวังการใช้ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน เช่น

  • ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยาไดฟินอกซิเลตหรือแพ้ยาอะโทรพีน
  • ด้วยยานี้ถูกเปลี่ยนโครงสร้างทางเคมีโดยตับ จึงต้องระวังการใช้ยาในผู้ป่วยที่มีภาวะโรค

ตับ เช่น เป็นโรคตับแข็ง ดีซ่าน เป็นต้น

  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในกระเพาะ - ลำไส้ อันมีสาเหตุจากเชื้อ E. Coli (เช่น อาหารเป็นพิษ), Samonella (โรคไทฟอยด์), และ Shigella (โรคบิดชิเกลลา) เป็นต้น
  • หากมีอาการ ง่วง ซึม วิงเวียน หลังใช้ยานี้ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางกิจกรรม เช่น การขับรถหรือการควบคุมเครื่องจักรด้วยจะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย
  • ห้ามใช้ยานี้กับเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 ปี
  • ต้องระวังการใช้ยานี้กับเด็กที่มีภาวะ Down’s syndrome (กลุ่มอาการดาวน์) ด้วยเด็กกลุ่มนี้จะมีความเสี่ยงต่อการมี ภาวะไข้สูง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะน้อยลง ปากแห้ง และกระหายน้ำมากขึ้น
  • หากต้องใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ แพทย์ต้องประเมินผลดี - ผลเสีย/ผลข้างเคียงของยาอย่างระมัดระวัง ด้วยยังไม่มีข้อมูลด้านความปลอดภัยอย่างชัดเจนต่อการใช้ยานี้ในสตรีตั้งครรภ์ ส่วนในหญิงให้นมบุตรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยานี้เสมอ เพราะยังไม่มีข้อมูลแน่ชัดว่ายานี้จะปนออกมาในน้ำนมได้หรือไม่
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้น ฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนร่วมกับยาบางกลุ่มสามารถทำให้เกิดอาการง่วงนอน มากขึ้น ยากลุ่มดังกล่าว เช่น
    • กลุ่มยารักษาอาการแพ้ (ยาแก้แพ้) เช่นยา Diphenhydramine
    • กลุ่มยากันชักยาต้านชัก เช่นยา Carbamazepine, Phenobarbital
    • กลุ่มยานอนหลับ หรือยาคลายวิตกกังวล (ยาคลายเครียด) เช่นยา Alprazolam, Diazepam, และ Zolpidem
    • กลุ่มยาแก้ปวดที่มีฤทธิ์เสพติด เช่น Codeine
    • กลุ่มยาจิตเวช เช่นยา Amitriptyline, Chlorpromazine, Risperidone, Tazodone

ควรเก็บรักษายาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนอย่างไร?

ควรเก็บยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน เช่น

  • เก็บยาระหว่างอุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงสว่าง/ แสงแดด และความชื้น
  • ไม่เก็บยาในห้องน้ำ
  • และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาไดฟินอกซิเลตและอะโทรพีน มียาชื่อการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Ditropine (ไดโทรพีน) Asian Pharm
Lomotil (โลโมติล) Pfizer
Spasil (สปาซิล) Sriprasit Pharma

บรรณานุกรม

1. http://www.drugbank.ca/drugs/DB01081 [2020,April18]

2. http://en.wikipedia.org/wiki/Diphenoxylate [2020,April18]

3. http://www.medicinenet.com/diphenoxylate_and_atropine/article.htm [2020,April18]

4. http://mims.com/Captcha/DefaultCaptcha?returnUrl=http%3a%2f%2fmims.com%2fthailand%2fdrug%2finfo%2fdiphenoxylate%3fmtype%3dgeneric [2020,April18]

5. http://www.medicinenet.com/diphenoxylate_and_atropine/article.htm [2020,April18]