ไข้ซิกา (Zika fever) โรคติดเชื้อซิกาไวรัส (Zika virus infection)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 16 กรกฎาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อไวรัสซิกา?คนติดโรคฯได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีอาการอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้อย่างไร?
- โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีผลข้างเคียงและมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- รักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างไร?
- ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างไร?
- ควรไปพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
- ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- เชื้อไวรัส โรคติดเชื้อไวรัส (Viral infection)
- ไข้เลือดออก (Dengue hemorrhagic fever)
- โรคไข้ปวดข้อยุงลาย หรือ โรคชิคุนกุนยา (Chikungunya)
- ศีรษะเล็ก (Microcephaly)
- การวางแผนครอบครัว (Family planning)
- การคุมกำเนิด (Contraception)
- ถุงยางอนามัยชาย (Male Condom)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคไข้ซิกา (Zika fever) คือ โรคเกิดจากร่างกายติดเชื้อไวรัสชื่อ 'ซิกาไวรัส (Zika virus ย่อว่า ZIKV)' ซึ่งเป็นเชื้อฯในสกุล (Genus) Flavivirus โดยมียุงลาย (Aedes mosquitoes) เป็นตัวนำโรค/พาหะโรค ซึ่งยุงลายนี้เป็นชนิดเดียวกับที่นำโรคไข้เลือดออก/โรคเด็งกี่ และโรคไข้ปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา)
อนึ่ง: ซื่ออื่นของไข้ซิกา เช่น โรคติดเชื้อไวรัสซิกา (Zika virus infection), โรคไวรัสซิกา (Zika virus disease), โรคซิกา (Zika disease)
ไวรัสซิกา มียุงลายที่เป็นยุงหากิน/กัด/ดูดเลือดในช่วงกลางวันเป็นพาหะโรค, มีลิงในป่าอัฟริกาและคนเป็นรังโรค ไวรัสนี้รายงานครั้งแรกในปี ค.ศ. 1947 (พ.ศ.2490) โดยพบเชื้อนี้ในลิงจากป่าในประเทศยูกันดา ทวีปอัฟริกา ซึ่งชื่อ “Zika” เป็นภาษาถิ่นยูกันดาแปลว่า “ป่า” และมีรายงานการติดเชื้อครั้งแรกในคน/ชาวไนจีเรียเมื่อค.ศ.1968 (พ.ศ. 2511)
ยุงลายกัดคนหรือกัดสัตว์รังโรคอื่น(เชื่อว่าเป็นลิงและหนูในทวีปอัฟริกา)ที่มีเชื้อไวรัสซิกา จากนั้นยุงลายจะติดเชื้อ และเมื่อยุงลายที่ติดเชื้อฯกัดคน คนก็จะติดเชื้อไวรัสนี้ เป็นการครบวงจรการติดเชื้อ วนซ้ำเกิดไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นวิธีติดเชื้อเช่นเดียวกับในโรคไข้เลือดออก และในโรคไข้ปวดข้อยุงลาย(โรคชิคุนกุนยา)
ทั้งนี้ ยุงลายมีแหล่งเพาะพันธ์ยุง/ลูกน้ำเช่นเดียวกับในไข้เลือดออกและโรค ชิคุนกุนยาเพราะเป็นยุงสายพันธ์เดียวกัน คือ แหล่งน้ำขังที่เป็นน้ำสะอาดในบ้าน, ในสถานที่รอบบ้าน, ในชุมชน, ในป่าฯลฯ (เช่น ในกระถาง, ในขวดน้ำ, ในอ่างน้ำ, ในภาชนะแตก, บนใบไม้ ฯลฯ)
ธรรมชาติของไวรัสซิกายังมีการศึกษาไม่มาก เนื่องจากการวินิจฉัยโรคฯเป็นไปค่อนข้างยากจากเป็นโรคไม่รุนแรง ส่วนใหญ่ผู้ป่วยไม่มีอาการ ถึงมีอาการก็ไม่รุนแรง มักหายได้เอง ผู้ป่วยจึงมักไม่มาพบแพทย์/มาโรงพยาบาล ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่ค่อยมีรายละเอียดข้อมูลของไวรัสชนิดนี้
ไวรัสซิกา พบได้ทั่วโลกที่พบยุงลาย โดยไวรัสซิกาเป็นไวรัส/เชื้อประจำถิ่นของทวีป อัฟริกา, ทวีปอเมริกาในส่วนอเมริกากลางและอเมริกาใต้, ทวีปเอเชีย เช่น อินเดีย, หมู่เกาะต่างๆในมหาสมุทรแปซิฟิก, และประเทศในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, กัมพูชา, ลาว, รวมถึงประเทศไทย
ไวรัสซิกา เคยก่อการระบาดมาแล้วในประเทศในหมู่เกาะแปซิฟิก และในปี ค.ศ 2016 (พ.ศ. 2559) ก็มีการระบาดในประเทศแถบลาตินอเมริกาจนองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การติดเชื้อไวรัสซิกานี้เป็นภัยฉุกเฉินด้านสาธารณสุขต่อทุกประเทศทั่วโลก (Global health emergen cy) ทั้งนี้เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคนี้แต่เนิ่นๆ
ประเทศไทยโดยกระทรวงสาธารณสุขรายงานเบื้องต้นในการพบเชื้อนี้ในไทยปีพ.ศ. 2506 จากการพบสารภูมิต้านทานโรคนี้ในเลือดผู้ป่วยในกรุงเทพฯ 1 ราย แต่ที่มีการยืนยันทางการแพทย์แน่ชัดว่าเป็นการติดเชื้อในไทยคือในปี พ.ศ. 2555 โดยตั้งแต่พ.ศ. 2555 - 2558 พบผู้ป่วยที่พิสูจน์ทางการแพทย์ว่าติดเชื้อนี้ปีละประมาณ 2 - 5 ราย อย่างไรก็ตามยังไม่เคยมีรายงานการตายจากโรคนี้ในไทย
ไวรัสซิกา ก่อโรคได้ในคนทุกอายุตั้งแต่ทารกในครรภ์ไปจนถึงผู้สูงอายุ พบในเพศหญิงและเพศชายใกล้เคียงกัน ดังกล่าวแล้วโรคติดเชื้อไวรัสซิกาวินิจฉัยได้ยาก มักไม่มีอาการ และถึงแม้มีอาการ อาการจะไม่รุนแรง ดังนั้นปัจจุบันจึงยังไม่ทราบสถิติเกิดโรคนี้ที่ชัดเจน
ไข้ซิกา/โรคติดเชื้อซิกาไวรัส, โรคไข้เลือดออก, และโรคปวดข้อยุงลาย (โรคชิคุนกุนยา), เป็นโรคที่เกิดจากยุงลายชนิดเดียวกัน ต่างกันแต่สายพันธุ์ย่อยของไวรัส, ดังนั้นธรรมชาติของยุงลาย, วิธีติดต่อของโรค, รวมถึงวิธีป้องกันโรค, เหมือนกันทุกประการ นอกจากนั้นอาการของโรคก็คล้ายกันมาก ต่างกันแต่โรคติดเชื้อไวรัสซิกาจะมีอาการน้อยกว่ามากและมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่าอีก 2 โรคดังกล่าว
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงของโรคติดเชื้อไวรัสซิกา?คนติดโรคได้อย่างไร?
ดังกล่าวแล้วใน 'บทนำฯ' สาเหตุของโรคไข้ซิกา/โรคติดเชื้อไวรัสซิกา คือ การติดเชื้อไวรัสซิกา (ZIKV) จากถูกยุงลายกัด ทั้งนี้โรคนี้ 'ไม่' ติดต่อจากคนสู่คนโดยตรงจากการสัมผัสคลุกคลี แต่จะเกิดจากคนถูกยุงลายที่มีเชื้อไวรัสนี้กัด
การติดเชื้อวิธีอื่นนอกจากถูกยุงฯกัด:
มีรายงานพบเชื้อไวรัสซิกาได้ใน น้ำอสุจิ และในเลือดและผลิตภัณฑ์จากเลือด ดังนั้น นอกจากการติดโรคจากยุงกัด คนจึงอาจติดเชื้อโรคนี้ได้จาก
- ทางเพศสัมพันธ์
- การคลอดบุตร
- น้ำนมมารดา
- การได้รับเลือด หรือ ส่วนประกอบของเลือด
ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคติดเชื้อไวรัสซิกา:
ทั่วไป ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคไข้ซิกา/โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เช่น
- ผู้ที่อาศัยในถิ่นที่มีไวรัสชนิดนี้เป็นเชื้อประจำถิ่น
- ผู้ที่อาศัยในเขตที่มียุงลายชุกชุม
- นักท่องเที่ยวหรือการเดินทางไปยังถิ่นที่อยู่อาศัยของเชื้อนี้/ของยุงลาย
- ไม่รู้จักป้องกันตนเองจากการถูกยุงลายกัด
โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีอาการอย่างไร?
ผู้ที่ได้รับเชื้อไวรัสซิกาจากถูกยุงลายที่มีเชื้อนี้กัด จะมีเพียงประมาณ 1/4 ถึง 1/5 เท่านั้นที่มีอาการ ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ
ผู้ที่มีอาการ มักแสดงอาการภายหลังถูกยุงลายฯกัด(ระยะฟักตัวของโรค)ประมาณ 2-12 วัน(ทั่วไป 2-7 วัน) โดยอาการจะคล้ายอาการ โรคไข้เลือดออก,โรคปวดข้อยุงลาย/โรค ชิคุนกุนยา แต่อาการรุนแรงน้อยกว่า ซึ่งอาการต่างๆของไข้ซิกา เช่น
- มีไข้เฉียบพลัน มักเป็นไข้ประมาณ 38-38.5 องศาเซลเซียส (Celsius) ซึ่งไข้เลือดออกและโรคปวดข้อยุงลายมักมีไข้สูงกว่า 38.5 องศาเซลเซียส
- ปวดหัวแต่ไม่มาก
- ปวดข้อ ซึ่งโรคปวดข้อยุงลายจะปวดข้อมากจนมีผลต่อการเคลื่อนไหว
- อ่อนเพลียไม่มาก ซึ่งไข้เลือดออกจะอ่อนเพลียมาก
- มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนังได้ทั่วร่างกาย
- เยื่อตาอักเสบ (อาการสำคัญคือ ตาแดง) ซึ่งเป็นอาการที่แตกต่างจากไข้เลือดออกและโรคปวดข้อยุงลายที่มักจะไม่มีอาการนี้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยมักมีอาการอยู่ประมาณ 3-7 วัน อาการก็จะค่อยๆดีขึ้น โดยมักหายได้ภายใน 7 วันนับจากการดูแลตนเองตามอาการ
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเมื่ออาการต่างๆดังกล่าวใน 'หัวข้อ อาการฯ' รุนแรง เช่น
- ไข้สูงและไข้ไม่ลงใน 2 - 3 วัน
- ปวดหัวมาก
- อ่อนเพลียมาก
- มีจุดเลือดออกตาม ลำตัว แขนขา
- เมื่อสงสัยเป็นไข้เลือดออกหรือเป็นไข้ปวดข้อยุงลาย(แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ไข้เลือดออก และเรื่อง ไข้ปวดข้อยุงลาย)
แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้อย่างไร?
โรคติดเชื้อไวรัสซิกา เป็นโรควินิจฉัยได้ยากเพราะอาการเหมือนโรคติดเชื้อทั่วไปโดยเฉพาะ ไข้เลือดออกหรือโรคปวดข้อยุงลายชนิดที่ไม่รุนแรง ผู้ป่วยจึงมักถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคเหล่านั้นโดยไม่มีการตรวจหาว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกาหรือไม่ นอกจากนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ติดเชื้อโดยไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ซึ่งเมื่อดูแลตนเองในเบื้องต้นที่บ้านอาการก็จะหายได้ปกติ จึงไม่มีการตรวจยืนยันทางการแพทย์ว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกา
อย่างไรก็ตาม แพทย์วินิจฉัยโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้จาก
- ซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ซึ่งที่สำคัญคือ ประวัติอาการ, ประวัติการเดินทาง, ถิ่นที่อยู่อาศัย, ประวัติมีคนเจ็บป่วยด้วยไวรัสซิกาในบ้าน/ในถิ่น/ในชุมชนนั้น
- การตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด ซีบีซี/CBC
- ตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานที่เรียกว่า Immunoglobulin ย่อว่า Ig ชนิด IgM และชนิด IgG ซึ่งจะได้ผลบวกในช่วง 3 - 4 วัน (บางคนอาจถึง 7 วัน)นับจากมีอาการ โดยหลังจากช่วงนี้ มักไม่สามารถตรวจพบได้
- ตรวจเลือดหาเชื้อไวรัสนี้ด้วยวิธีที่เรียกว่า 'RT- PCR (Reverse transcriptase polymerase cell reaction)' ซึ่งมีโอกาสพบได้สูงในช่วง 1-3 วันนับจากมีอาการ หรือ
- ตรวจเชื้อนี้ในน้ำลายและ/หรือในปัสสาวะภายในช่วง 3-5 วันนับจากมีอาการ
โรคติดเชื้อไวรัสซิกามีผลข้างเคียงและมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
ผลข้างเคียง และ การพยากรณ์โรคของโรคไข้ซิกา/โรคติดเชื้อไวรัสซิกา: ได้แก่
ก. ผลข้างเคียง: เช่น โดยทั่วไป ไวรัสซิกาไม่ก่อผลข้างเคียง เพราะดังกล่าวแล้วว่าเป็นโรคไม่รุนแรง ผู้ป่วยเกือบทุกคนหายได้เองจากการดูแลตนเองในเบื้องต้นโดยไม่ต้องพบแพทย์ และยังเชื่อว่าผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสนี้ อาจมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ในระยะยาว กล่าวคือ อาจไม่ติดเชื้อโรคนี้อีก
*****อย่างไรก็ตาม เชื้อไวรัสนี้ผ่านรกได้ ดังนั้นในหญิงตั้งครรภ์ เชื้อไวรัสนี้ อาจก่อให้เกิดการเจริญเติบโตที่ผิดปกติกับสมองของทารกในครรภ์ ส่งผลให้ทารกเกิดความพิการแต่กำเนิดได้ เช่น
- โรคศีรษะเล็ก กล่าวคือกะโหลกศีรษะและสมองเจริญเติบโตไม่เต็มที่ สมองมีพัฒนาการล่าช้า (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ศีรษะเล็ก)
- ภาวะมีหินปูน(Calcification)จับในเนื้อสมอง และ/หรือที่ เยื่อตา
- มีลูกตาเจริญเติบโตเล็กผิดปกติ (Microophthalmia) ซึ่งส่งผลต่อการมองเห็นภาพ
- ทารกมักมี
- การเจริญเติบโตช้า ด้อยกว่าเกณฑ์
- สติปัญญาด้อยกว่าเกณฑ์
- มีปัญหาในการกินอาหาร
- มีอาการชัก
- มีปัญหาการได้ยิน
ดังนั้นหลายประเทศ จึงห้ามสตรีตั้งครรภ์ หรือ สตรีที่วางแผนจะตั้งครรภ์ เดินทางไปยังประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น และในบางประเทศยังแนะนำให้สตรีที่เพิ่งเดินทางกลับจากประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น ในระยะเวลาประมาณ 1 ปีหลังกลับจากประเทศดังกล่าว ควรต้องปรึกษาแพทย์ก่อนการตั้งครรภ์
นอกจากนั้น:
***พบว่าผู้ป่วยโรคไข้ซิกาเป็นปัจจัยเกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเฉียบพลันที่เกิดจากภูมิคุ้มกันผิดปกติ ส่งผลให้เกิดการทำลายเซลล์เส้นประสาทส่วนปลายที่เรียกว่า ‘กลุ่มอาการกิลแลงบาร์เร หรือ โรคจีบีเอส’ (แนะนำอ่านรายละเอียดในเว็บ haamor.com เรื่อง’โรคจีบีเอส’) แต่ยังไม่มีรายงานสถิติเกิดที่ชัดเจน
ข. การพยากรณ์โรค:
ทั่วไป โรคติดเชื้อไวรัสซิกา:
- มีการพยากรณ์โรคที่ดี ไม่รุนแรง มักรักษาได้หายด้วยการรักษาตามอาการ และมีรายงานที่ต่ำในอัตราตายด้วยสาเหตุจากโรคนี้
- การศึกษาในระยะแรกในปี ค.ศ.2016 ที่โรคนี้ระบาดพบว่า ผู้ติดโรคนี้อาจมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ในระยะยาว อาจตลอดชีวิต แต่การศึกษาที่รายงานในปี2020พบว่าภูมิคุ้มกันฯโรคนี้อยู่ได้นานอย่างน้อย 22-28 เดือน
- ยกเว้นการติดโรคของทารกในครรภ์:
- พบเป็นสาเหตุให้ทารกถึงตายได้ตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอายุประมาณ3ปีที่พบสูงกว่าเด็กที่มารดาไม่ติดโรคนี้
- มารดมีโอกาสเกิดการแท้งบุตรสูง
- มารดามีโอกาสคลอดก่อนกำหนดสูง
- และการศึกษาในระยะแรกในปี ค.ศ.2016 ที่โรคนี้ระบาดพบว่า ผู้ติดโรคนี้อาจมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคนี้ได้ในระยะยาว อาจตลอดชีวิต แต่การศึกษาที่รายงานในปี2020พบว่าภูมิคุ้มกันฯโรคนี้อยู่ได้นานอย่างน้อย 22-28 เดือน
มีแนวทางรักษาโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียารักษาเฉพาะหรือวัคซีนในการรักษาและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา(อยู่ในขั้นตอนการศึกษา) ดังนั้นการรักษาคือการรักษาตามอาการ เช่น
- ยาลดไข้ Paracetamol ซึ่ง ไม่ควรใช้ยาลดไข้ Aspirin และยาในกลุ่มเอ็นเสด เช่น ยา Ibuprofen เพราะอาจก่อผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงอาจถึงตาย ที่เรียกผลข้างเคียงนี้ว่า การแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย (Reye syndrome)
- ยาแก้ปวด Paracetamol
- พักผ่อนให้เต็มที่
- ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 8 - 10 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่มเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
- รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลภายใน 2 - 3 วันหากหลังดูแลตนเองแล้วยังมีอาการไข้สูง และ/หรืออาการต่างๆดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ รุนแรงขึ้น เพราะอาจเป็นโรคที่จำเป็นต้องพบแพทย์ เช่น ไข้เลือดออก โรคปวดข้อยุงลาย หรือ ไข้หวัดใหญ่
ดูแลตนเองและป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาอย่างไร?
การดูแลตนเองเมื่อได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ว่าเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกาที่สำคัญคือ
- ปฏิบัติ ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำ
- กินยา/ใช้ยาต่างๆตามแพทย์แนะนำ ไม่หยุดยาเองโดยไม่ปรึกษาแพทย์ก่อน
- พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามแพทย์นัดเสมอ
อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปการดูแลตนเองเมื่อเป็นโรคติดเชื้อไวรัสซิกา คือ
- ใช้ยาลดไข้ Paracetamol ทั้งนี้ไม่ควรใช้ยาลดไข้ Aspirin และยาในกลุ่มเอ็นเสดเช่น ยา Ibuprofen เพราะอาจก่อผลข้างเคียงจากยาที่รุนแรงอาจถึงตายได้ ที่เรียกผลข้างเคียงนี้ว่า ‘การแพ้ยาแอสไพริน-กลุ่มอาการราย’ (Reye syndrome, แนะนำอ่านเพิ่มเติมจากเว็บhaamor.com เรื่อง กลุ่มอาการราย)
- ยาแก้ปวด Paracetamol
- พักผ่อนให้เต็มที่
- ดื่มน้ำสะอาดเพิ่มขึ้นอย่างน้อยวันละ 8-10 แก้วเมื่อไม่มีโรคที่ต้องจำกัดน้ำดื่มเพื่อป้อง กันภาวะขาดน้ำ
- ในเรื่องเกี่ยวกับการตั้งครรภ์เพื่อป้องกันทารกในครรภ์ติดโรคนี้ โดยทั่วๆไปในภาพรวม เช่น
- คุมกำเนิดช่วงติดโรคนี้ไปจนถึงประมาณ 1 ปีหลังติดโรคนี้ โดยในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตั้งครรภ์เสมอ
- คุมกำเนิดอย่างน้อย 2-3 เดือนหลังการท่องเที่ยว/เดินทางไปยังถิ่นของไวรัส ซิกาแล้วเป็นปกติทุกอย่าง, แต่คุมกำเนิดอย่างน้อยประมาณ 6 เดือน หลังกลับจากท่องเที่ยว/เดินทางไปยังถิ่นโรคนี้แล้วมีอาการคล้ายติดเชื้อไวรัสซิกา
- คุมกำเนิดเสมอช่วงโรคนี้ระบาด
- ปรึกษาแพทย์เมื่อวางแผนตั้งครรภ์เมื่อมีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อนี้
- ใช้ถุงยางอนามัยชาย (เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีประสิทธิภาพในโรคนี้)เสมอเมื่อมีเพศสัมพันธ์เพราะโรคนี้ติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์
- ถ้าตั้งครรภ์เมื่อติดเชื้อโรคนี้: ต้องรีบแจ้งให้สูตินรีแพทย์ทราบเพื่อการตรวจติดตามการเกิดโรคของทารกในครรภ์เพื่อการดูแลรักษาที่เหมาะสมแต่เนิ่นๆ
ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?
ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เมื่อ
- อาการไม่ดีขึ้นหรือแย่ลงหลังกินยาหรือหลังปฏิบัติตามแพทย์แนะนำ เช่น ไข้สูง ปวดหัวมาก มีเลือดออกตามอวัยวะต่างๆ
- มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมี เช่น ปัสสาวะเป็นเลือด อุจจาระเป็นเลือด/อุจจาระดำเหมือนยางมะตอย แขนขาอ่อนแรง ซึม หรือชัก
- กังวลในอาการ
ป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกาได้อย่างไร?
ปัจจุบันยังไม่มียาหรือวัคซีนที่สามารถป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสซิกา แต่มีการป้องกันคือ การป้องกันการถูกยุงลายกัดโดย
- กำจัดแหล่งน้ำขังในบ้าน, รอบบ้าน, ชุมชน เช่นเดียวกับในเรื่องการป้องกันไข้เลือดออก
- ป้องกันตนเองจากถูกยุงลายกัดโดยเฉพาะเมื่อต้องอยู่ในถิ่นที่อยู่ของยุงลาย คือ ใช้ยากันยุงหรือยาทากันยุง, นอนกางมุ้ง, สวมใส่เสื้อผ้าแขนยาวขายาว
- เมื่อตั้งครรภ์ ไม่เดินทางไปยังแหล่งที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่น
- เมื่อกลับจากประเทศที่มีโรคนี้เป็นโรคประจำถิ่นภายในประมาณ 1 ปี เมื่อประสงค์จะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zika_fever [2022,July16]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Zika_virus [2022,July16]
- https://emedicine.medscape.com/article/2500035-overview#showall [2022,July16]
- https://www.cdc.gov/zika/hc-providers/clinical-guidance/sexualtransmission.html [2022,July16]
- https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/31801867/ [2022,July16]
- https://www.cdc.gov/zika/prevention/sexual-transmission-prevention.html#NotPregnant [2022,July16]
- https://www.cdc.gov/zika/ [2022,July16]
- https://www.paho.org/en/topics/zika [2022,July16]
- https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/zika-virus [2022,July16]
- https://www.dms.go.th/backend//Content/Content_File/Old_Content/dmsweb/cpgcorner/CPGZika.pdf [2022,July16]
- https://www.google.com/search?q=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%3A+ditmi%3B%27lkTkiIl6-&rlz=1C1CHBF_thTH748TH806&oq=%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B9%84%E0%B8%82%E0%B9%89%E0%B8%8B%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%3A+ditmi%3B%27lkTkiIl6-&aqs=chrome..69i57.23396j0j4&sourceid=chrome&ie=UTF-8 [2022,July16]