โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 22 มกราคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ไขมันมีกระบวนการเมตาบอลิซึมอย่างไร?
- อะไรเป็นสาเหตุของโรคไขมันในเลือดสูง?
- โรคไขมันในเลือดสูงมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูงได้อย่างไร?
- โรคไขมันในเลือดสูงมีผลข้างเคียงอย่างไร?
- รักษาโรคไขมันในเลือดสูงอย่างไร?
- ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีไขมันในเลือดสูง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- ป้องกันโรคไขมันในเลือดสูงได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- เบาหวาน (Diabetes mellitus)
- ความดันโลหิตสูง (Hypertension)
- โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- รู้ทันโรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- การออกกำลังกาย: แนวทางการออกกำลังกายเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี (Exercise concepts for healthy lifestyle)
- โรคต่อมไร้ท่อ โรคระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine disease)
บทนำ
โรคไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia) คือ โรคที่มีระดับไขมันในเลือดสูงกว่าค่าที่ถูกกำ หนดขึ้น ซึ่งค่าปกตินี้ได้มาโดยการเก็บข้อมูลทางสถิติของระดับไขมันในเลือดของคนทั่วไป โดยพบว่าเมื่อมีค่าเกินระดับหนึ่งแล้วบุคคลนั้นๆก็จะเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจและตามมาคือโรคหัวใจขาดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตาย) การที่บุคคลใดควรจะมีระดับไขมันเท่าใด และจะเลือกการรักษาแบบไหนขึ้นอยู่กับว่ามีความเสี่ยงอื่นๆร่วมด้วยอีกกี่ความเสี่ยง ดังนั้นการกำหนดระดับไขมันในแต่ละคนจึงอาจไม่เท่ากัน
โดยรวมโรคนี้พบในคนเชื้อชาติตะวันตกมากกว่าคนเชื้อชาติเอเชีย และพบในคนที่อาศัยในเขตเมืองมากกว่าในเขตชนบท สำหรับในประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติไม่ได้เก็บรวบ รวมข้อมูลผู้ป่วยที่มีโรคไขมันในเลือดสูง แต่อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่โรคนี้จะพบมากขึ้นเรื่อย ๆสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงการดำเนินชีวิตและการบริโภคเป็นสำคัญ
ไขมันมีกระบวนการเมตาบอลิซึมอย่างไร?
กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism, กระบวนการทางเคมีเพื่อนำสารต่างๆไปใช้เพื่อ ให้เกิดพลังงานใช้ในการเจริญเติบโตของเซลล์) ของไขมันเริ่มจากเมื่อเรารับประทานอาหารที่มีไขมันซึ่งมีทั้งไขมันคอเลสเตอรอล (Cholesterol) และไขมันไตรกลีเซอไรด์ (Triglyceride) ก็จะถูกลำไส้เล็กดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด และจะไปจับตัวกับโปรตีนที่ชื่อ Apolipoprotein (ชื่อย่อคือ Apo ซึ่งมีอยู่หลายชนิด แต่ละชนิดมีหน้าที่ต่างกันไป) ร่วมกับองค์ประกอบอื่นๆอีกกลาย เป็นกลุ่มไขมันที่ชื่อว่า Chylomicron ซึ่งเป็นกลุ่มไขมันที่มีอนุภาคขนาดใหญ่ มีไตรกลีเซอไรด์อยู่มาก (คือมีไตรกลีเซอไรด์ 80 - 95% มีคอเลสเทอรอล 2 - 7%) Chylomicron นี้จะเดิน ทางไปทั่วร่างกาย และปลดปล่อยไตรกลีเซอไรด์ไปให้เซลล์ไขมันและเซลล์กล้ามเนื้อใช้ทำ งานโดยอาศัยเอนไซม์ (Enzyme, สารเคมีที่มีหน้าที่เร่งปฏิกิริยาเคมีต่างๆ) ที่ชื่อว่า Lipopro tein lipase (ผู้ที่มีเอนไซม์ชนิดนี้ทำงานผิดปกติจึงมีระดับไตรกลีเซอไรด์สูง) หลังจากนั้น กลุ่มไขมัน Chylomicron ก็จะมีขนาดที่เล็กลงและเดินทางเข้าสู่ตับต่อไป
ตับจะผลิตกลุ่มไขมันที่ชื่อ VLDL เข้าสู่กระแสเลือด (มีไตรกลีเซอไรด์ประมาณ 55 - 80 %) และเดินทางไปทั่วร่างกาย ปลดปล่อยไตรกลีเซอไรด์ไปให้เซลล์ไขมันและเซลล์กล้ามเนื้อใช้งาน และกลายเป็นกลุ่มไขมันที่มีขนาดเล็กลงชื่อ แอลดีแอล (LDL, Low-density lipopro tein) ซึ่งจะมีคอเลสเตอรอลเป็นองค์ประกอบหลัก LDL นี้โดยส่วนใหญ่ก็จะกลับเข้าสู่ตับโดยอา ศัยตัวรับ (Receptor) กลับสู่ตับที่ชื่อ LDL receptor (ผู้ที่มีความผิดปกติของ LDL receptor จึงวัดระดับกลุ่มไขมัน LDL หรือคอเลสเทอรอลในเลือดได้สูงนั่นเอง) LDL ที่เหลือจะถูกอวัยวะอื่น ๆนำไปใช้งานเช่น รังไข่นำไปใช้ผลิตฮอร์โมน
อะไรเป็นสาเหตุของโรคไขมันในเลือดสูง?
โรคไขมันในเลือดสูงมีสาเหตุได้จาก
- สาเหตุจากกระบวนการเมตาบอลิซึมของไขมันที่ผิดปกติเอง: แบ่งออกตามชนิดของไข มันในเลือดดังนี้
- สาเหตุที่ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ แต่ระดับไตรกลีเซอไรด์ปกติ
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวรับไขมันชนิด LDL (LDL recep tor) ซึ่งเรียกภาวะนี้ว่า Familial cholesterolemia (FM) โดยหากความผิดปกติของพันธุกรรมเกิดบนโครโมโซม (Chromosome) ทั้ง 2 แท่ง (ที่คู่กัน) ที่เรียกว่า Homozygous จะพบโรคนี้ได้ประมาณ 1 คนใน 1 ล้านคน แต่ถ้าความผิดปกติเกิดบนโครโมโซมเพียงแท่งเดียว (Hetero zygous) จะพบโรคนี้ได้ประมาณ 1 คนใน 500 คน
- เกิดจากปัจจัยสิ่งแวดล้อมภายนอกร่วมกับมีพันธุกรรมบางอย่างที่เสี่ยงต่อการมีไขมันในเลือดสูงเรียกภาวะนี้ว่า Polygenic hypercholesterolemia สาเหตุนี้เป็นสาเหตุที่พบบ่อยที่สุด พันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับสาเหตุนี้อาจมีหลายตัวบนหลายโครโมโซม ซึ่งปัจจุบันยังไม่ทราบชนิดพันธุกรรมที่ชัดเจน ซึ่งปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมได้แก่ การกินอาหารที่มีไขมันเป็นสัดส่วนมากเกิน ไป, การกินอาหารที่ประกอบด้วยไขมันอิ่มตัวสูง (มักเป็นไขมันจากสัตว์), มีไขมันชนิดคอเลส เทอรอลสูง (มักเป็นไขมันจากสัตว์), กินอาหารที่มีใยอาหาร (ผัก ผลไม้) น้อย, การมีน้ำหนักตัวเกิน, ดื่มแอลกอฮอล์, ไม่ออกกำลังกาย, การใช้เครื่องอำนวยความสะดวกมากเกินไป ซึ่งทั้ง หมดเป็นวิถีชีวิตส่วนใหญ่ของคนในเมือง
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนที่ประกอบกับไขมันชื่อ Apo B-100 เรียกภาวะนี้ว่า Familial defective apo B-100 (FDB) พบเป็นสาเหตุได้น้อยมาก ยก เว้นในคนเชื้อชาติเยอรมันที่พบได้สูงถึง 1 คนใน 1,000 คน
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับตัวรับไขมันชนิด LDL (LDL recep tor) เฉพาะที่อยู่บนตับเรียกว่า Autosomal recessive hypercholesterolemia (ARH) พบเป็นสาเหตุได้น้อยมาก ยกเว้นในคนเชื้อชาติอิตาลีที่พบได้บ่อย
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับการดูดซึมไขมันที่ลำไส้เล็กส่วนต้น เรียกภาวะนี้ว่า Sitosterolemia พบภาวะนี้ได้น้อยมากเช่นกัน
- สาเหตุที่ทำให้มีทั้งระดับไตรกลีเซอไรด์และระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับเอนไซม์ที่สลายกลุ่มไขมัน Chylomi cron และ VLDL ซึ่งได้แก่ Lipoprotein lipase และ Apo-C-II เรียกภาวะนี้ว่า กลุ่มอาการ Familial chylomicronemia syndrome พบได้ประมาณ 1 คนใน 1 ล้านคน ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ขึ้นสูงมากกว่า 1,000 mg/dl (มิลิกรัม/เดซิลิตร) ส่วนระดับคอเลสเตอรอลสูงปานกลาง
- เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกี่ยวข้องกับโปรตีนที่ประกอบกับไขมันชื่อ Apo-E เรียกภาวะนี้ว่า Familial dysbetalipoproteinemia (FDBL) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอลขึ้นสูง
- ไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนแต่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมเรียกภาวะนี้ว่า Familial hypertriglyceridemia (FHTG) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อย โดยพบได้ประมาณ 1 คนใน 500 คน ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 250 - 1,000 mg/dl ส่วนระดับคอเลสเทอ รอลขึ้นสูงเล็กน้อยไม่เกิน 250 mg/dl
- ไม่ทราบสาเหตุการเกิดที่ชัดเจนแต่มีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมเรียกภาวะนี้ว่า Familial combined hyperlipidemia (FCHL) เป็นสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุด โดยพบได้ประ มาณ 1 คนใน 200 คน ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 200 - 800 mg/dl มีระดับคลอเลสเตอรอลอยู่ในช่วง 200 - 400 mg/dl การแยกสาเหตุจากภาวะ Familial hypertriglyce ridemia ข้างต้นต้องอาศัยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่จำเพาะลงไป
*อนึ่ง สาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมยังมีอีกหลายภาวะ นอกเหนือจากที่ได้กล่าวไปแล้ว แต่พบได้น้อยมากมาก จึงไม่ขอกล่าวถึง รวมทั้งยังมีโรคไขมันต่ำที่เกิดจากความผิดปกติของพันธุกรรมอีกหลายโรคด้วย
- สาเหตุที่ทำให้มีระดับคอเลสเตอรอลสูงกว่าปกติ แต่ระดับไตรกลีเซอไรด์ปกติ
- สาเหตุจากการเป็นโรคอื่นๆแล้วทำให้ระบบเมตาบอลิซึมของไขมันผิดปกติ:ได้แก่
ก.โรคเบาหวาน: ผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานชนิด 1 (ชนิดที่เป็นตั้งแต่อายุน้อยๆ) จะไม่เป็นโรคไขมันสูงถ้าคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ดี แต่ในผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานชนิด 2 (ชนิดที่ดื้อต่ออินซูลิน) จะมีระดับไขมันสูงแม้จะคุมน้ำตาลได้ดีก็ตาม เนื่องจากผู้ ป่วยเบาหวานชนิด 2 นี้จะมีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน (ฮอร์โมนควบคุมน้ำตาลในร่างกาย) และมีระดับอินซูลินขึ้นสูง ซึ่งอินซูลินจะทำให้เอนไซม์ย่อยสลายไขมันที่ชื่อ Lipoprotein lipase ทำงานลดลง จึงทำให้ไขมันกลุ่ม Chylomicron และ VLDL เพิ่มขึ้น และอินซูลินยังทำให้เนื้อเยื่อต่างๆปลดปล่อยไขมันออกมามากขึ้น ทำให้เซลล์ตับผลิตไขมันและปลดปล่อยกลุ่มไขมัน VLDL มากขึ้น ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ขึ้นสูงปานกลาง ซึ่งถ้ามีระดับขึ้นสูงมากหรือมีระดับคอเลสเทอรอล ขึ้นสูงด้วยแสดงว่าอาจมีความผิดปกติของพันธุกรรมอื่นๆข้างต้นร่วมอยู่ด้วย
ข. โรคอ้วน: โรคอ้วนจะทำให้เซลล์ไขมันมีปริมาณมากขึ้นและปลดปล่อยกรดไขมันออกมามากเช่นกัน กรดไขมันเหล่านี้ก็จะถูกส่งไปที่ตับ เซลล์ตับก็จะผลิต VLDL ออกมามากขึ้น นอกจากนี้ผู้ป่วยโรคอ้วนจะเกิดภาวะดื้อต่ออินซูลินและมีระดับอินซูลินขึ้นสูง ซึ่งทำให้มีผลคล้ายกับผู้ป่วยโรคเบาหวาน ซึ่งการลดน้ำหนักจะช่วยลดระดับไขมันดังกล่าวได้
ค. ภาวะฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ต่ำ/ ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: จะมีระดับไขมัน LDL ในเลือดขึ้นสูง ในทางตรงกันข้าม ผู้ ป่วยที่มีภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (ระดับไทรอยด์ฮอร์โมนสูง) จะมีระดับไขมัน LDL ต่ำ
ง. โรคตับ: ตับอักเสบไม่ว่าจะเกิดจากยา แอลกอฮอล์ หรือการติดเชื้อ จะทำให้ตับผลิตไขมันและปลดปล่อยกลุ่มไขมัน VLDL มากขึ้น ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ขึ้นสูงเล็ก น้อยถึงปานกลาง แต่ถ้าเกิดตับอักเสบรุนแรงหรือมีตับวายจะทำให้ระดับไตรกลีเซอไรด์และคอ เลสเทอรอลลดลง เพราะเซลล์ตับผลิตไขมันไม่ได้ ผู้ป่วยที่มีภาวะตา ตัว เหลือง (โรคดีซ่าน) จากน้ำดีคั่งจะมีระดับคอเลสเทอรอลสูง เนื่องจากปกติคอเลสเทอรอลจะหลั่งลงสู่น้ำดีในรูปของกรดน้ำดี เมื่อเกิดการคั่งของน้ำดี คอเลสเทอรอลจึงถูกดูดกลับเข้าสู่กระแสเลือด
จ. โรคไต: ผู้ป่วยโรคไตชนิดที่เรียกว่า โรคไตรั่ว (Nephrotic syndrome) จะมีทั้งระดับไตรกลีเซอไรด์และคอเลสเตอรอล ในเลือดขึ้นสูง หรืออาจมีเพียงชนิดใดชนิดหนึ่งขึ้นสูงก็ได้ ส่วนผู้ป่วยที่เป็นไตวายจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์ขึ้นสูงเล็กน้อย
ฉ. โรคที่มีฮอร์โมนชื่อ Glucocorticoid สูง เรียกว่าโรคคุชชิง ( Cushing’s disease) หรือ กลุ่มอาการคุชชิง (Cushing syndrome) ซึ่งฮอร์โมนนี้ทำให้ VLDL ถูกผลิตมากขึ้น ผู้ป่วยจึงมีระดับไตรกลีเซอไรด์ขึ้นสูง
โรคไขมันในเลือดสูงมีอาการอย่างไร?
อาการจากโรคไขมันในเลือดสูงได้แก่
- ผู้ป่วยภาวะ Familial cholesterolemia (FM) ที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกิดบนโคร โมโซมทั้ง 2 แท่ง (Homozygous FM) จะมีระดับคอเลสเทอรอลสูงมากกว่า 500 mg/dl ขึ้นไปตั้งแต่แรกเกิด และตรวจพบก้อนไขมันที่เกิดจากคอเลสเตอรอลสะสมขนาดเล็กๆสีเหลืองอยู่ตามผิวหนังและเส้นเอ็น (เรียกว่า Xanthoma) โดยมักพบที่เส้นเอ็นที่ข้อเท้า เส้นเอ็นข้อนิ้วมือ ตามข้อศอก ข้อเข่า และบริเวณก้น บริเวณเปลือกตาก็อาจมีไขมันไปสะสมเช่นกัน ซึ่งจะเห็นเป็นแผ่นสีเหลืองๆเรียกว่า Xanthelasma และเกิดหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว (Atherosclero sis) ตั้งแต่วัยเด็ก ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจและเกิดอาการของหัวใจขาดเลือด ผู้ป่วยที่ไม่ได้กินยารักษาส่วนใหญ่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 20 ปี
ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกิดบนโครโมโซมเพียงแท่งเดียว (Heterozy gous FM) จะมีระดับคอเลสเทอรอลประมาณ 200 - 400 mg/dl ตั้งแต่แรกเกิด แต่จะตรวจพบก้อนไขมันและมีอาการของหัวใจขาดเลือด (โรคหลอดเลือดหัวใจ) เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ไปแล้ว โดยประมาณ 50% ของผู้ป่วย Heterozygous FM จะมีโรคหัวใจขาดเลือดก่อนอายุ 60 ปี พ่อหรือแม่ของผู้ป่วยและประมาณครึ่งหนึ่งของพี่น้องของผู้ป่วยที่เป็น Heterozygous FM จะเป็นโรคนี้ด้วยเช่นกัน
- ผู้ป่วยที่เป็น Familial defective apoB-100 (FDB) จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วย Heterozy gous FM
- ผู้ป่วยที่มีภาะ Autosomal recessive hypercholesterolemia (ARH) จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วย Homozygous FM หรือ Heterozygous FM
- ผู้ป่วยที่เป็น Sitosterolemia จะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วย FM ร่วมกับมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกเป็นครั้งคราว (มีภาวะซีดและม้ามโตร่วมด้วย)
- ผู้ป่วยที่เป็น Polygenic hypercholesterolemia จะมีระดับคอเลสเตอรอลสูงเล็กน้อยถึงปานกลาง แต่ไม่สูงเท่าผู้ป่วยกลุ่มข้างต้น และจะไม่พบก้อนไขมันขนาดเล็กๆ การซักประวัติคนในครอบครัวจะช่วยแยกโรคจากผู้ป่วยที่เป็น FM และ FDB ได้ ดังที่กล่าวตามข้างต้น ประมาณครึ่ง หนึ่งของคนในครอบครัวของผู้ป่วย FM และ FDB จะเป็นโรคนี้ด้วย แต่สำหรับผู้ป่วยกลุ่มนี้จะมีจำนวนคนในครอบครัวที่มีระดับไขมันสูงด้วยน้อยกว่า 10%
- ผู้ป่วยที่เป็น Familial chylomicronemia syndrome จะวัดระดับไตรกลีเซอไรด์ได้มากกว่า 1,000 mg/dl ตั้งแต่วัยเด็ก ระดับคอเลสเทอรอลสูงปานกลาง น้ำเลือด (Serum) ของผู้ป่วยเหล่านี้จะมีสีออกขาวขุ่น และถ้าตั้งทิ้งไว้ที่อุณหภูมิ 4 องศาเซลเซียสประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงจะเห็นชั้นที่แยกตัวเป็นครีมไขมันสีขาวชัดเจน การที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์ที่สูงมากเช่นนี้จะทำให้มีตับอักเสบเกิดขึ้นได้บ่อยๆ ผู้ป่วยจะมีอาการปวดท้องเป็นๆหายๆจากตับอักเสบตั้งแต่วัยเด็ก ไม่พบก้อนไขมันชนิดที่เรียกว่า Xanthoma แต่จะพบตุ่มนูนเล็กๆของไขมัน สีขาวๆเหลืองๆ ซึ่งเรียกว่า Eruptive xanthoma แทน ซึ่งจะพบบริเวณแผ่นหลัง บริเวณก้น แขน และขา ตุ่มนูนชนิดนี้อาจมีอาการคันได้ นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีตับ ม้าม โต ซึ่งเกิดจากการที่กลุ่มไขมันชนิด Chylomicron เข้าไปสะสมอยู่ที่ตับและม้าม ผู้ป่วยโรคนี้ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อย
- ผู้ป่วยที่เป็น Familial dysbetalipoproteinemia (FDBL) จะปรากฏก้อนไขมัน Xanthoma เมื่อเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ เส้นลายมือจะมีสีออกเหลืองส้มเนื่องจากมีไขมันไปสะสม ผู้ป่วยจะมีระดับคอเลสเทอรอลสูง แต่ถ้าวัดระดับของกลุ่มไขมัน LDL จะต่ำกว่าปกติ ระดับกลุ่มไขมัน HDL จะปกติ ผู้ป่วยโรคนี้จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจขาดเลือดตั้งแต่อายุยังน้อย
- ผู้ป่วยที่เป็น Familial hypertriglyceridemia (FHTL) ผู้ป่วยจะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ใน ช่วง 250 - 1,000 mg/dl ระดับคอเลสเทอรอลขึ้นสูงไม่เกิน 250 mg/dl ระดับกลุ่มไขมัน HDL ต่ำกว่าปกติเล็กน้อย และระดับกลุ่มไขมัน LDL ที่ค่อนข้างปกติ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักจะไม่มีก้อนไขมัน Eruptive xanthoma และ Xanthoma ปรากฏให้เห็น ผู้ป่วยโรคนี้ไม่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจขาดเลือด
- ผู้ป่วยที่เป็น Familial combined hyperlidemia (FCHL) จะมีระดับไตรกลีเซอไรด์อยู่ในช่วง 200 - 800 mg/dl ระดับคอเลสเทอรอลอยู่ในช่วง 200 - 400 mg/dl ระดับกลุ่มไขมัน HDL ต่ำกว่าปกติ และระดับกลุ่มไขมัน LDL หรือ VLDL สูงกว่าปกติ ผู้ป่วยจะไม่มีก้อนไขมัน Eruptive xanthoma และ xanthoma ปรากฏให้เห็น ประมาณ 20% ของผู้ป่วยโรคนี้จะเป็นโรคหัวใจขาดเลือดที่อายุน้อยกว่า 60 ปี
แพทย์วินิจฉัยโรคไขมันในเลือดสูงได้อย่างไร?
ตามแนวทางของผู้เชี่ยวชาญของกลุ่ม Adult Treatment Panel (ATP) และ National Cholesterol Education Program (NCEP) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ได้แนะนำให้ผู้ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปควรเจาะเลือดตรวจหาระดับไขมันในเลือดคือ คอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ ไขมัน LDL และไขมัน HDL โดยเจาะเมื่องดอาหารเป็นเวลาอย่างน้อย 12 ชั่วโมง
หลังจากได้ค่าไขมันชนิดต่างๆแล้วพบว่ามีความผิดปกติ อันดับแรกจะต้องหาสาเหตุว่าเกิดจากมีโรคอื่นๆที่ทำให้ระดับไขมันผิดปกติอยู่หรือไม่เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์ฮอร์ โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) เป็นต้น
เมื่อไม่พบสาเหตุของโรคอื่นๆที่ทำให้ระดับไขมันผิดปกติดังกล่าวแล้ว จะต้องแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามชนิดของไขมันที่วัดได้ผิดปกติ และพยายามหาสาเหตุตามที่กล่าวไว้ข้างต้น โดยอาศัยการตรวจร่างกาย เช่น การดูก้อนไขมัน การซักประวัติของโรคไขมันสูงในครอบครัว ซึ่งอาจต้องนำพ่อ แม่ พี่ น้องมาเจาะเลือดตรวจร่วมด้วย และการตรวจทางห้องปฏิบัติการเฉพาะกรณีเพิ่มเติม ทั้งนี้เนื่องจากสาเหตุของแต่ละโรคที่ทำให้มีระดับไขมันในเลือดสูงนั้นจะทำให้ผู้ป่วยมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดไม่เหมือนกัน รวมทั้งการเลือกรูปแบบการรักษาและชนิดของยาที่จะตอบสนองก็ต่างกัน
โรคไขมันในเลือดสูงมีผลข้างเคียงอย่างไร?
ภาวะที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูงถือเป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัว ใจ ซึ่งนำไปสู่โรคหัวใจขาดเลือด และอัมพฤกษ์/อัมพาตจากโรคหลอดเลือดสมอง จากการที่ไขมันไปทำให้หลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัวซึ่งเรียกว่า Atherosclerosis (โรคหลอดเลือดแดงแข็ง) ความเสี่ยงเหล่านั้นได้แก่
- ผู้ชายที่อายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป ผู้หญิงที่อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป
- มีประวัติพ่อหรือพี่น้องผู้ชายเป็นโรคหัวใจขาดเลือด (กล้ามเนื้อหัวใจตาย) ที่อายุน้อยกว่า 55 ปี หรือมีแม่หรือญาติผู้หญิงเป็นโรคหัวใจขาดเลือดที่อายุน้อยกว่า 65 ปี
- เป็นโรคความดันโลหิตสูง มีความดันโลหิต ≥ 140/90 มิลลิเมตร-ปรอท
- สูบบุหรี่
- มีไขมัน HDL ต่ำกว่า 40 mg/dl แต่ถ้า HDL ≥ 60 mg/dl ให้ลบความเสี่ยงข้างต้น (ถ้ามี) ออก 1 ข้อ เพราะกลุ่มไขมัน HDL ถือว่าเป็นกลุ่มไขมันที่ดีที่ช่วยยับยั้งการเกิดหลอดเลือดแดงใหญ่แข็งตัว
ดังนั้นการที่จะบอกว่าบุคคลใดมีระดับไขมันในเลือดสูงที่จะต้องรักษา ก็ต้องดูว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงใดบ้าง ถ้าไม่มีความเสี่ยงเลยหรือมีความเสี่ยงเพียง 1 ข้อ ค่าระดับกลุ่มไขมัน LDL ที่มากกว่า 160 mg/dl ถือว่ามีไขมันในเลือดสูง แต่ถ้ามีปัจจัยเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไปค่าระดับกลุ่มไขมัน LDL ที่มากกว่า 130 mg/dl จะถือว่ามีไขมันในเลือดสูง แต่ถ้าเป็นโรคเบาหวานหรือเคยเกิดโรคหัวใจขาดเลือดมาแล้ว ค่าระดับกลุ่มไขมัน LDL ที่มากกว่า 100 mg/dl ก็ถือว่าสูงแล้ว
สำหรับค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ไม่ได้มีความสัมพันธ์ชัดเจนต่อความเสี่ยงในการเกิดโรค หัวใจขาดเลือด
รักษาโรคไขมันในเลือดสูงอย่างไร?
การรักษาโรคไขมันในเลือดสูงขึ้นอยู่กับว่าบุคคลนั้นมีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจขาดเลือดกี่ความเสี่ยง
- ถ้าไม่มีความเสี่ยงเลยหรือมีความเสี่ยงเพียง 1 ข้อ ค่า LDL ≥ 160 mg/dl ให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยาลดไขมันในเลือด 3 เดือน แล้วตรวจซ้ำ ถ้ายัง ≥160 ให้ใช้ยารักษาควบคู่ไปด้วย แต่ถ้าค่า LDL ≥ 190 ก็ให้เริ่มใช้ยาไปเลยควบคู่กับการรักษาโดยไม่ใช้ยา
- ถ้ามีความเสี่ยงตั้งแต่ 2 ข้อขึ้นไป ค่า LDL ≥130 ให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยาลดไขมันในเลือด 3 เดือน แล้วตรวจซ้ำ ถ้ายัง ≥ 130 ให้ใช้การรักษาโดยใช้ยาควบคู่กับการรักษาโดยไม่ใช้ยา
- ถ้าเป็นโรคเบาหวานหรือเคยเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดมาแล้ว ค่า LDL ≥100 ให้ใช้การรักษาโดยไม่ใช้ยา ถ้า LDL ≥ 130 ให้ใช้ยาควบคู่กับการรักษาโดยไม่ใช้ยา
- สำหรับค่าไขมันไตรกลีเซอไรด์ ถ้า ≥ 150 mg/dl ร่วมกับมีไขมัน HDL < 40 ก็ให้รักษาโดยการใช้ยา
วิธีการรักษาโรคไขมันในเลือดสูง:
- การรักษาโดยไม่ใช้ยาโดย
- การควบคุมอาหาร ผู้ป่วยที่มีระดับกลุ่มไขมัน LDL สูงจะต้องลดอาหารที่มีคอเลสเตอรอลให้น้อยกว่า 300 mg ต่อวัน อาหารที่มีคอเลสเทอรอลสูงเช่น ไข่แดง เครื่องในสัตว์ต่างๆ เนื้อสัตว์ติดมัน กุ้ง หอย ปลาหมึก ไข่ปลา เป็นต้น และต้องลดอาหารประเภทไขมันให้น้อยกว่า 30% ของปริมาณแคลอรีที่ร่างกายได้รับต่อวัน (โดยเฉลี่ยคือ 1,500 - 2,000 กิโลแคลอรี/วัน) โดยต้องเป็นอาหารที่กรดไขมันอิ่มตัว (มักเป็นไขมันจากสัตว์) ไม่เกิน 10% อาหารที่มีกรดไขมันอิ่ม ตัวสูงพบมากในอาหารผัด ทอด ที่ใช้น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม เนย หรืออาหารที่ใช้กะทิ เป็นต้น
- ผู้ป่วยที่มีระดับไตรกลีเซอไรด์สูงต้องลดอาหารประเภทแป้งขัดสีเช่น ขนมปังชนิดต่างๆ รวม ถึงปาท่องโก๋ โดนัท เส้นก๋วยเตี๋ยว เส้นสปาเกตตี มักกะโรนี บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เป็นต้น และอา หารที่มีน้ำตาลสูง สำหรับผู้ป่วยโรค Familial chylomicronemia syndrome จะต้องลดอาหารประเภทไขมันให้เหลือน้อยที่สุดคือน้อยกว่า 15 กรัมต่อวัน และใช้การกินวิตามินเสริมเพื่อป้องการการขาดวิตามิน
- การออกกำลังกาย จะช่วยลดระดับไขมันชนิดต่างๆได้และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL แต่ที่สำ คัญคือการออกกำลังกายช่วยลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ/โรคหัวใจขาดเลือดได้ แม้มีปัจจัยเสี่ยงอย่างอื่นร่วมอยู่ด้วยก็ตาม
- การลดน้ำหนัก ผู้ป่วยที่มีน้ำหนักตัวเกินต้องลดน้ำหนัก ซึ่งจะช่วยให้ระดับไตรกลีเซอไรด์ลด ลงและช่วยเพิ่มระดับกลุ่มไขมัน HDL ได้
- การใช้ยารักษา: ซึ่งมียาอยู่หลายกลุ่ม เช่น
- ยากลุ่ม HMG-CoA reductase inhibitor ซึ่งจะไปลดการผลิตไขมันจากตับ ทำให้ลดระดับคอเลสเทอรอล ไตรกลีเซอไรด์ และกลุ่มไขมัน LDL ลงได้ ที่รู้จักกันดีชื่อ Simvastatin
- ยากลุ่มช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลจากลำไส้ (Cholesterol absorption inhibitor และ bile acid sequestrants)
- ยาที่เป็นวิตามิน บีรวม ชื่อ Niacin ซึ่งจะช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ ไขมัน LDL และช่วยเพิ่มระดับไขมัน HDL ได้
- ยากลุ่ม Fibrates เป็นยากลุ่มที่มีประสิทธิภาพสูงในการลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ แต่อาจเพิ่มระดับกลุ่มไขมัน LDL ได้
- น้ำมันปลาสามารถช่วยลดระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ได้
อนึ่ง ไม่ควรซื้อยาลดไขมันกินเอง ควรกินยาตามแพทย์แนะนำเท่านั้น เพราะการใช้ยาจะได้ผลสูงสุดต้องขึ้นกับขนาดของยาด้วย นอกจากนั้น ยังอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาที่ไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้นอีกด้วย
ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีไขมันในเลือดสูง? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
การดูแลตนเองการพบแพทย์เมื่อมีไขมันในเลือดสูงได้แก่
- จำกัดอาหารไขมันให้น้อยที่สุดหรือดังกล่าวแล้ว หลีกเลี่ยงอาหารทอดและใช้น้ำ มันพืชแทนน้ำมันจากสัตว์
- จำกัดอาหารแป้งและน้ำตาลเพื่อลดโอกาสเกิดโรคเบาหวาน
- กินอาหารจืดเพื่อลดโอกาสเกิดโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งมักพบเกิดร่วมกับโรคไข มันในเลือดสูง
- เลิกบุหรี่ ไม่สูบบุหรี่ เพราะสารพิษในควันบุหรี่เพิ่มการจับตัวของไขมันในหลอดเลือด เพิ่มโอกาสเกิดหลอดเลือดแข็ง
- ควบคุมน้ำหนักไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพ
- กินยาลดไขมันตามแพทย์แนะนำอย่าขาดยา
- พบแพทย์ตามนัดเสมอ
ป้องกันโรคไขมันในเลือดสูงได้อย่างไร?
การป้องกันโรคไขมันในเลือดสูงมีวิธีการเช่นเดียวกับในการดูแลตนเองเมื่อมีไขมันในเลือดสูง นอกจากนั้นคือ ในการตรวจสุขภาพประจำปีควรตรวจเลือดเพื่อดูปริมาณไขมันในเลือดด้วย เพื่อการรักษาควบคุมโรคแต่เนิ่นๆ ป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดแข็ง ซึ่งจะนำไปสู่โรคที่รุนแรง ซึ่งที่ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตและเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้คือ โรคหลอดเลือดหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง ทั้งนี้เริ่มได้ตั้งแต่อายุ 18 - 20 ปี ต่อจากนั้นความถี่ของการตรวจขึ้นกับแพทย์แนะนำ
บรรณานุกรม
1. Disorders of lipoprotein metabolism, in Harrison’s Principles of Internal Medicine, 17th edition, Braunwald , Fauci, Kasper, Hauser, Longo, Jameson (eds). McGrawHill, 2008 (electronic book)
2. 2. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC4019214/[2020, Jan18]