โอปิออยด์ (Opioid)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 25 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โอปิออยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โอปิออยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โอปิออยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โอปิออยด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โอปิออยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์อย่างไร?
- โอปิออยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโอปิออยด์อย่างไร?
- โอปิออยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ยาเสพติด(Narcotic drug)
- ยาแก้ปวด(Analgesics and Paracetamol)
- ยาแก้ท้องเสีย(Antidiarrhea drugs)
- ยาแก้ไอ(Tips cough)
- มอร์ฟีน (Morphine)
- โคเดอีน(Codeine)
- ยาเฟนทานิล(Fentanyl)
- กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome)
- ปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
บทนำ: คือยาอะไร?
ยาโอปิออยด์ (Opioid) คือ กลุ่มของสารเคมีที่มีโครงสร้างและคุณสมบัติคล้ายคลึงกับมอร์ฟีน(Morphine) การออกฤทธิ์ของสารโอปิออยด์จะมีอิทธิพลต่อสมอง, ระบบประสาทส่วนปลายของร่างกาย, และระบบทางเดินอาหาร (เช่น กระเพาะอาหาร ลำไส้) ประวัติศาสตร์การแพทย์ได้ระบุให้สารกลุ่มโอปิออยด์เป็นยาแก้ปวดทำให้ร่างกายสามารถทนต่ออาการปวดได้ดีมากขึ้น
ผลข้างเคียงโดยรวมๆของยานี้จะทำให้เกิดอาการสงบประสาท/ประสาทผ่อนคลาย, กดการหายใจ (หายใจตื้นและเบา), ท้องผูก, รวมถึงรู้สึกเคลิบเคลิ้ม
นอกจากนี้ ยาโอปิออยด์ ยังนำมาใช้รักษาอาการไอที่อาการค่อนข้างรุนแรงหรือมีเหตุจากโรคร้าย เช่น มะเร็งปอดได้อีกด้วย
การใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ มีข้อพึงระวังสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การติดยา ซึ่งจะเกิดเมื่อมีการใช้ยาครั้งละมากๆ และ/หรือใช้ยาต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ
สามารถแบ่งกลุ่มยาโอปิออยด์ออกเป็นหมวดย่อยได้ดังนี้
1 สารโอปิออยด์ที่สร้างขึ้นเองในร่างกายมนุษย์ (Endogenous opioids) ประกอบด้วย สารดังนี้เช่น Endorphins, Enkephalins, Dynorphins, Endomorphins
2 โอปิออยด์ที่เป็นสารจากฝิ่นคือกลุ่มสารแอลคาลอยด์ (Opium alkaloids) เช่น Codeine, Morphine, Thebaine, Oripavine
3 สารประกอบสังเคราะห์เอสเทอร์ของมอร์ฟีน (Esters of morphine) เช่น Diacetyl morphine (Heroin), Nicomorphine, Dipropanoylmorphine, Diacetyldihydromorphine, Acetylpropionylmorphine, Desomorphine, Methyldesorphine, Dibenzoylmorphine
4 สารประกอบสังเคราะห์อีเทอร์ของมอร์ฟีน (Ethers of morphine) เช่น Dihydrocodeine, Ethylmorphine, Heterocodeine
5 สารโอปิออยด์กึ่งสังเคราะห์ที่เป็นอนุพันธุ์แอลคาลอยด์ (Semi-synthetic alkaloid derivatives) เช่น Buprenorphine, Etorphine, Hydrocodone, Hydromorphone, Oxyco done, Oxymorphone
6 สารโอปิออยด์สังเคราะห์ (Synthetic opioids) ซึ่งแบ่งแยกย่อยตามโครงสร้างเคมี ได้อีกดังนี้เช่น
- Anilidopiperidines เช่น Fentanyl, Alphamethylfentanyl, Alfentanil, Sufentanil, Remifentanil, Carfentanyl, Ohmefentanyl
- Phenylpiperidines เช่น Pethidine, Ketobemidone, Allylprodine, Prodine, 1-methyl-4-phenyl-4-propionoxypiperidine (MPPP), 1-(2-phenylethyl)-4-phenyl-4-acetoxypiperidine: PEPAP
- Diphenylpropylamine derivatives เช่น Propoxyphene, Dextropropoxyphene, Dextromoramide, Bezitramide, Piritramide, Methadone, Dipipanone, Levomethadyl acetate, Difenoxin, Diphenoxylate, Loperamide
- Benzomorphan derivatives เช่น Dezocine, Pentazocine, Phenazocine 6.5 Oripavine derivatives เช่น Buprenorphine, Dihydroetorphine, Etorphine
- Morphinan derivatives เช่น Butorphanol, Nalbuphine, Levorphanol, Levome thorphan
ทั้งนี้ มีหลายรายการของสารโอปิออยด์ที่ถูกจัดให้เป็นสาร/ยาเสพติดให้โทษ เช่น Codeiene, Heroin, Morphine, Hydrocodone, Oxymorphone, Fentanyl, MPPP และอื่นๆอีก ดังนั้นเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยต่อการใช้ยาโอปิออยด์แต่ละชนิด จึงต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์เท่านั้น โดยพิจารณาเรื่องการบรรเทาอาการเจ็บปวดให้ทุเลาพ้นความทรมาน ประกอบกับเรื่องที่ต้องระวังเรื่องการติดยาระหว่างทำการรักษาเป็นสำคัญ
โอปิออยด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
ยาโอปิออยด์มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้บรรเทาอาการปวดต่างๆ เช่น
- อาการปวดชนิดเฉียบพลันหลังผ่าตัด
- อาการปวดที่เกิดจากบาดแผลตามร่างกาย (กรณีบาดแผลเกิดที่ศีรษะจะต้องระวังการใช้ยากลุ่มนี้)
- อาการปวดจากโรคมะเร็งโดยเฉพาะมะเร็งระยะสุดท้าย
- อาการปวดจากโรคอื่นเช่น โรคข้อรูมาตอยด์
- ใช้ร่วมกับการใช้ยาชา/ยาสลบเพื่อระงับอาการปวดระหว่างผ่าตัด
- บรรเทาอาการไอ เช่น การไอแห้งๆ
- รักษาและบรรเทาอาการท้องเสีย
- ใช้บำบัดอาการของผู้ป่วยที่ติดยาเสพติด (De-addiction)
โอปิออยด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
สารโอปิออยด์ มีกลไกการออกฤทธิ์โดยตัวยาจะเข้าจับกับตัวรับ(Receptor) ที่มีชื่อว่า Opioid receptors ซึ่งมีอยู่ทั่วไปในเซลล์สมองตลอดไปจนถึงไขสันหลังรวมถึงตามผนังกล้ามเนื้อเรียบของระบบทางเดินอาหาร จากนั้นจะเกิดการปรับสมดุลทางเคมีของสารสื่อประสาท มีทั้งยับยั้งการหลั่งและเร่งการปลดปล่อยของสารสื่อประสาทบางตัวออกมาทำงาน ด้วยกลไกที่ซับซ้อนเหล่านี้จึงก่อให้เกิดฤทธิ์ของการรักษาตามสรรพคุณ
โอปิออยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
ยาโอปิออยด์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:
- ยารับประทาน: ยาเม็ด ยาแคปซูล ยาน้ำ
- ยาฉีด
- ยาเหน็บทวาร
- พลาสเตอร์ปิดผิวหนัง
โอปิออยด์มีขนาดรับประทาน/การบริหารยาอย่างไร?
ด้วยเป็นกลุ่มยาเสพติดเสียเป็นส่วนมาก ขนาดและระยะเวลาของการใช้ยาจะต้องเป็นไปตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด และทางสถานพยาบาล แพทย์/พยาบาล ต้องทำบันทึกการใช้ยากับผู้ป่วยไว้เป็นหลักฐานเพื่อนำส่งรายงานการใช้ยากลุ่มนี้ต่อกระทรวงสาธารณสุข
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโอปิออยด์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และ เภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาโอปิออยด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโอปิออยด์ สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับ การรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โอปิออยด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
ยาโอปิออยด์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- มีอาการชัก
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ปากคอแห้ง
- ท้องผูก
- ปัสสาวะไม่ออก/ปัสสาวะขัด
- ปวดหัว
- วิงเวียน
- ง่วงนอน
- ชีพจรเต้นผิดปกติ
- ตัวเย็น
- อาจมีผื่นคันหรือลมพิษขึ้นตามผิวหนัง
- หัวใจเต้นเร็ว หรือ หัวใจเต้นช้า ช้าผิดปกติ
- ตาพร่า
- มีอาการเหงื่อออกมาก
- อาจรู้สึกหงุดหงิดหรือเคลิบเคลิ้ม
- สามารถติดยาได้
*อนึ่ง: กรณีที่ผู้ป่วยได้รับยาโอปิออยด์ปริมาณมาก หรือใช้ยากลุ่มนี้เป็นเวลานาน อาจก่อให้เกิดอาการ ท้องเสีย คลื่นไส้-อาเจียน ปวดกล้ามเนื้อ วิตกกังวล และเกิดอาการระคายเคืองตามร่างกายตามมา หากพบอาการดังกล่าวต้องรีบด่วนแจ้งแพทย์/มาโรงพยาบาลเพื่อแพทย์พิจารณาปรับแนวทางการรักษา
มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โอปิออยด์ เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยาในกลุ่มนี้
- ห้ามใช้ยากลุ่มนี้ร่วมกับเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- ห้ามใช้ยานี้ขณะที่ผู้ป่วยมีการหายใจผิดปกติ เช่น ขณะเป็นหอบหืดเฉียบพลัน หรือหอบขนาดรุนแรง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยขณะที่มีความดันในกะโหลกศีรษะสูง
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยพิษสุราแบบเฉียบพลัน รวมถึงผู้ป่วยด้วยโรคตับ
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยที่สลบไร้การตอบสนองหรือขณะไม่รู้สึกตัว
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยปอดบวมน้ำ (Pulmonary edema)
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้สูงอายุ เด็กที่อายุต่ำกว่า 3 เดือน สตรีตั้งครรภ์ และสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยด้วยโรคไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน) ผู้ป่วยโรคไต ผู้ที่ได้รับบาดเจ็บบริเวณศีรษะ ผู้ป่วยความดันโลหิตต่ำ ผู้ป่วยต่อมลูกหมากโต ผู้ที่มีการอักเสบของระบบทางเดินอาหาร (เช่น ลำไส้อักเสบ) ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ผู้ป่วยด้วยโรคระบบทางเดินน้ำดี (เช่น นิ่วในถุงน้ำดี, ถุงน้ำดีอักเสบ)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโอปิออยด์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ(อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โอปิออยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาโอปิออยด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- ห้ามใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ ร่วมกับ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบด้วยจะก่อให้เกิดปัญหากับระบบหายใจกับผู้ป่วย อีกทั้งยังยับยั้งฤทธิ์ระงับอาการปวดของยากลุ่มโอปิออยด์ ทำให้การรักษาไม่ได้ผล
- ควรหลีกเลี่ยงการใช้ยากลุ่มโอปิออยด์ ร่วมกับ ยากลุ่ม MAOIs ด้วยเสี่ยงกับภาวะความดันโลหิตสูง หรือ ความดันโลหิตต่ำ ขั้นวิกฤติที่ส่งผลต่อการทำงานของระบบหายใจ หากไม่มีความจำเป็นใดๆควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
- หลีกเลี่ยงการใช้ยามอร์ฟีน ร่วมกับ ยาในกลุ่ม TCAs ด้วยอาจเพิ่มความเสี่ยงของการเกิด กลุ่มอาการเซโรโทนิน (Serotonin syndrome) การจะใช้ยาร่วมกันต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
- ห้ามใช้ยาเมทาโดน (Methadone) ร่วมกับยาที่เพิ่มการบีบตัวของกระเพาะอาหารและลำไส้ เช่นยา Cisapride ด้วยการใช้ร่วมกันสามารถกระตุ้นให้หัวใจทำงานผิดปกติจนถึงขั้นเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ยาได้
ควรเก็บรักษาโอปิออยด์อย่างไร?
ควรเก็บรักษายาโอปิออยด์ เช่น
ก. การเก็บรักษาในสถานพยาบาล:
- ควรเก็บยากลุ่มนี้ในช่วงอุณหภูมิ 20 - 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- เก็บในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/ แสงแดด ความร้อน และความชื้น
- ยาที่หมดอายุต้องทำรายงานขออนุมัติการทำลายจากกระทรวงสาธารณสุขทุกครั้ง
ข. การเก็บรักษาในที่พัก/บ้าน:
- เก็บยาในอุณหภูมิห้องที่เย็น
- ไม่เก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
- เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
โอปิออยด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาโอปิออยด์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Durogesic Patch (ดูโรเจซิก แพท) | Janssen-Cilag |
Fentanyl GPO (เฟนทานิล จีพีโอ) | Hexal AG |
Fentanyl Hexal (เฟนทานิล เฮ็กซอล) | Hexal AG |
Fentanyl Janssen-Cilag (เฟนทานิล แจนเซน ซีแล็ก) | Janssen-Cilag |
Fentanyl Sandoz (เฟนทานิล แซนดอซ) | Hexal AG |
Fentanyl Tabletl (เฟนทานิล แทบเล็ท) | Watson Laboratories Inc |
Buccal (บัคคอล) | Watson Laboratories Inc |
OxyContin Tablet (เฟนทานิล แทบเล็ท) | Purdue Pharma LP |
Diara (ไดอะรา) | Burapha |
Diarent (ดิเอเรนท์) | Chew Brothers |
Diarine (ไดอะรีน) | Burapha |
Diarodil (ไดแอโรดิล) | Greater Pharma |
Dicotil (ไดโคติล) | Picco Pharma |
Entermid (เอ็นเทอร์มิด) | Nakornpatana |
Imodium (อิโมเดียม) | Janssen-Cilag |
Imonox (อิโมน็อก) | Medicine Products |
Impelium (อิมพีเลียม) | T.O. Chemicals |
K.B. Peramide (เค.บี. เพอราไมด์) | K.B. Pharma |
Leon (ลีออน) | T P Drug |
Lomide (โลไมด์) | Siam Bheasach |
Lomy (โลมาย) | Masa Lab |
Lopela (โลเพอลา) | Pharmasant Lab |
Loperamide GPO (โลเพอราไมด์ จีพีโอ) | GPO |
Lopercin (โลเพอร์ซิน) | Polipharm |
Loperdium (โลเพอร์เดียม) | General Drugs House |
Methadone GPO (เมทาโดน จีพีโอ) | GPO |
Camphorated Opium Tincture GPO(แคมโฟเรทเตท โอเปียม ทิงเจอร์ จีพีโอ) | GPO |
Kapanol (คาพานอล) | GlaxoSmithKline |
Morphine Sulfate Inj Blue (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น บลู) | M & H Manufacturing |
Morphine Sulfate Inj Purple (มอร์ฟีน ซัลเฟท อินเจคชั่น เพอเพิล) | M & H Manufacturing |
MST Continus (เอ็มเอสที คอนทินัส) | Bard |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Opioid#Classification [2021,June19]
- https://www.news-medical.net/health/Opioid-Uses.aspx [2021,June19]
- https://www.frca.co.uk/article.aspx?articleid=100933 [2021,June19]
- https://www.webmd.com/pain-management/guide/narcotic-pain-medications#2 [2021,June19]
- https://healthengine.com.au/info/opioids-for-analgesia#C2 [2021,June19]
- https://www.drugs.com/dosage/fentanyl.html#Usual_Adult_Dose_for_Pain [2021,June19]
- https://www.bhpalmbeach.com/program/focus/mixing-alcohol-and-drugs/ [2021,June19]
- https://www.bluelight.org/xf/threads/opiates-and-maois-contradicted.373376/ [2021,June19]