โรคเอนซีดี กลุ่มโรคเอนซีดี กลุ่มโรคไม่ติดต่อ (NCDs: Noncommunicable diseases)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

กลุ่มโรค/โรคไม่ติดต่อ หรือ บางท่านเรียกว่า โรควิถีชีวิต หรือ โรคที่คุณสร้างเอง/Life style disease (Non communicable diseases ย่อว่า โรคเอนซีดี หรือ กลุ่มโรคเอนซีดี: NCD) คือ กลุ่มโรคต่างๆที่ไม่ได้มีสาเหตุเกิดจากการติดเชื้อโรค กล่าวคือ เป็นโรคที่ไม่ติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนได้ด้วยการคลุกคลี สัมผัส ไอ จาม น้ำ อาหาร อุจจาระ ปัสสาวะ เพศสัมพันธ์ แต่อาจถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ มักเป็นโรคเรื้อรังตลอดชีวิต ที่เริ่มแรกมักไม่มีอาการ แต่จะค่อยๆปรากฏอาการขึ้นเรื่อยๆ และเป็นโรคที่ค่อยๆรุนแรงขึ้นเรื่อย

โรคเอนซีดี เป็นกลุ่มโรคที่พบในทุกเพศทุกวัย แต่พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดย เฉพาะในผู้สูงอายุ เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง

โรคเอนซีดีกำลังกลายเป็นปัญหาสาธารณสุขของทุกประเทศทั่วโลก แซงหน้าโรคติดเชื้อ (ยกเว้นประเทศในอาฟริกา) เนื่องจากโรคติดเชื้อพบได้น้อยลงจากการสาธารณสุขที่ดีขึ้น คนเข้าถึงแหล่งการรักษาและมียาต่างๆ เช่น ยาปฏิชีวนะ ยาต้านไวรัส ที่มีประสิทธิภาพในการกำจัดเชื้อโรค

การดูแลรักษาโรคเอนซีดีจะมีค่าใช้จ่ายที่สูง เพราะเป็นโรคเรื้อรังที่มักเป็นตลอดชีวิต มีอาการที่มักมีผลต่อการดำเนินชีวิต การงาน และคุณภาพชีวิต เป็นโรคที่ไม่มีโอกาสรักษาได้หายขาด แต่จะรักษาควบคุมโรคได้เป็นอย่างดีด้วยการปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตร่วมกับการใช้ยาควบคุม

องค์การอนามัยโลกรายงานว่า ประชากรทั่วโลกในแต่ละปีจะเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคเอนซีดีประมาณ 71%ของการเสียชีวิตทั้งหมด โดยประมาณมากกว่า 85% จะเป็นการเสียชีวิตในคนมีรายได้ต่ำถึงปานกลาง เพราะเป็นกลุ่มคนที่มักมีการดูแลสุขภาพได้ไม่ดีและมีปัญหาเศรษฐกิจ

ส่วนในประเทศไทย เมื่อปีพ.ศ. 2015 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้แถลงใน’งานมหกรรมสุขภาพโรคไม่ติดต่อ NCD Forum 2015’ ว่าโรคนี้เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของคนไทยจากโรคทั้งหลายรวมกัน และมีแนวโน้มผู้ป่วยด้วยโรคนี้สูงขึ้นต่อเนื่องทุกๆปี

โรคเอนซีดีประกอบด้วยโรคอะไรบ้าง?

โรคเอนซีดี

โรคที่จัดอยู่ในกลุ่มโรคเอนซีดีมีหลากหลายโรค ที่พบได้บ่อย คือ

  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
  • โรคหัวใจ (เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ)
  • โรคอัมพาต โรคหลอดเลือดสมอง (เช่น โรคหลอดเลือดสมองชนิดขาดเลือดและชนิดเลือดออก)
  • โรคปอด ( เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหืด โรคหลอดลมพอง) โรคไต (เช่น โรคไตเรื้อรัง)
  • และโรคมะเร็ง
  • ทั้งนี้ มักไม่รวมโรคทางจิตเวช (เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล) อยู่ในโรคเอนซีดี

โรคเอนซีดีมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงจากอะไร?

สาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงสำคัญของโรคเอนซีดี สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ปัจจัยจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต, ปัจจัยจากโรคที่เกิดจากการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic dis ease) และปัจจัยอื่นๆ

ก. พฤติกรรมการใช้ชีวิต: ที่ส่งผลให้เกิดโรคเอนซีดีที่สำคัญคือ

  • การสูบบุหรี่ และการสูบบุหรี่มือสอง: เนื่องจากสารพิษในบุหรี่ เป็นสาเหตุปัจจัยเสี่ยงของโรคต่างๆในกลุ่มโรคเอนซีดี เช่น โรคถุงลมโป่งพอง โรคหลอดลมพอง โรคหืด โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง และโรคมะเร็งชนิดต่างๆ โดยเฉพาะ มะเร็งของอวัยวะในระบบศีรษะและลำคอ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม
  • การดื่มสุรา: เนื่องจากสุราเป็นสาเหตุสำคัญของ โรคตับแข็ง โรคมะเร็งตับ โรคมะเร็งระบบศีรษะและลำคอ อุบัติเหตุ และปัญหาในครอบครัวและการงานซึ่งจะส่งผลทางอ้อมถึงโรคเอนซีดี เพราะเป็นสาเหตุให้ขาดการดูแลเอาใจใส่ในสุขภาพ
  • อาหารและเครื่องดื่ม: เนื่องจากการกินอาหารที่ไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุให้เกิด โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคมะเร็ง ฯลฯ
  • การขาดการออกกำลังกาย: เนื่องจากการขาดการออกกำลังกาย เป็นปัจจัยเสี่ยงของหลายโรค ที่สำคัญ คือ โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคหัวใจ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคมะเร็ง

ข. โรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้พลังงานของร่างกาย (Metabolic disorders): เป็นกลุ่มโรคที่มักเกิดในวัยกลางคนขึ้นไป โดยร่างกายมีความผิดปกติในการสันดาปอาหารในกลุ่มให้พลังงาน (โปรตีน คาร์โบไฮเดรต และไขมัน) ส่งผลให้เกิดเป็นโรคต่างๆที่พบบ่อย คือ โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคความดันโลหิตสูง ทั้งนี้สาเหตุอาจเกิดจาก โรคของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับการสันดาปพลังงาน (เช่น ตับอ่อน ตับ หรือต่อมไร้ท่อต่างๆ), พฤติกรรมการใช้ชีวิตดังกล่าวในข้อ ก, มีความสัมพันธ์กับพันธุกรรม (เช่น โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ), และผู้สูงอายุ จากการเสื่อมของการทำงานของทุกอวัยวะที่เป็นไปตามธรรมชาติ

ค. ปัจจัยอื่นๆ: เช่น

  • พันธุกรรม: เช่น พบโรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดหัวใจ หรือโรคมะเร็ง ได้สูงขึ้นในคนที่มีประวัติคนในครอบครัวป่วยด้วยโรคเหล่านี้
  • อายุ: เพราะผู้สูงอายุจะมีปัญหาจากการเสื่อมการทำงานของอวัยวะต่างๆตามธรรมชาติ รวมไปถึงปัญหาด้านอาหาร การออกกำลังกาย และเศรษฐกิจ
  • เศรษฐกิจ: เพราะปัญหาทางเศรษฐกิจจะส่งผลถึง การขาดอาหารที่มีคุณภาพ ขาดการดูแลสุขภาพ และมีอุปสรรคในการเข้าถึงกิจกรรมต่างๆที่ช่วยส่งเสริมสุขภาพ

โรคเอนซีดีมีอาการอย่างไร?

เนื่องจากโรคเอนซีดีเป็นโรคที่มักไม่มีอาการเมื่อเริ่มเป็นโรค แต่จะค่อยปรากฏอาการเมื่อเป็นมากขึ้น หรือเมื่อมีผลข้างเคียงจากตัวโรค

ซึ่งเมื่อมีอาการ จะมีอาการได้แตกต่างกันไปขึ้น กับแต่ละโรค แนะนำอ่านเพิ่มเติมในแต่ละโรคที่พบบ่อย (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ โรคเอนซีดีประกอบ ด้วยโรคอะไร) ได้ในเว็บ haamor.com เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโรคหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคมะเร็งชนิดต่างๆ ฯลฯ

อนึ่ง โรคเอนซีดีมักเกิดพร้อมๆกันได้หลายโรค (เป็นกลุ่มโรค) เพราะแต่ละโรคมีสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผู้ป่วยจึงมีอาการได้หลากหลาย จึงมีผลกระทบต่อสุขภาพสูง เช่น

  • โรคเบาหวาน ร่วมกับโรคความดันโลหิตสูง ร่วมกับโรคไขมันในเลือดสูง ร่วมกับโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน และยังอาจเกิดร่วมกับโรคมะเร็ง และ/หรือโรคอื่นๆได้อีก เป็นต้น

เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?

ดังกล่าวแล้วว่า โรคเอนซีดีเมื่อเริ่มแรกมักไม่มีอาการ ดังนั้น

  • การตรวจสุขภาพทุกปี หรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ จะช่วยให้พบโรคกลุ่มนี้ได้เร็วขึ้น
  • หรือหลายโรคเอนซีดีที่แพทย์สามารถให้คำแนะนำในการป้องกันการเกิดโรคที่ผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงได้ เช่น การป้องกัน โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคถุงลมโป่งพอง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมรายละเอียดแต่ละโรคที่รวมถึง ”เมื่อ ไหร่ควรพบแพทย์” ได้ในเว็บ haamor.com)

แพทย์วินิจฉัยโรคเอนซีดีได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยโรคเอนซีดีได้จาก

  • ประวัติพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้ป่วย
  • อาชีพ
  • อายุ
  • ทั้งนี้รวมไปถึง
    • ประวัติทางการแพทย์ต่างๆของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น อาการ
    • การตรวจร่างกาย
    • และการตรวจสืบค้นต่างๆที่จะต่างกันไปในแต่ละโรค
    • แนะนำ อ่านเพิ่ม เติมแต่ละโรคเอนซีดีที่พบได้บ่อย (ดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อโรคเอนซีดีประกอบด้วยโรคอะไร’) ในเว็บ haamor.com เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคถุงลมโป่งพอง

รักษาโรคเอนซีดีอย่างไร?

การรักษาโรคเอนซีดีจะประกอบด้วย

  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตซึ่งจะคล้ายกันในทุกโรค (เช่น ด้านอาหารและเครื่องดื่ม หยุดบุหรี่ หยุดดื่มสุรา การออกกำลังกาย)
  • และการรักษาเฉพาะตัวโรคที่จะแตกต่างกันในแต่ละโรค แนะนำอ่านเพิ่มเติมแต่ละโรคเอนซีดีที่พบได้บ่อย (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ โรคเอนซีดีประกอบด้วยโรคอะไร) ในเว็บ haamor.com เช่น โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคถุงลมโป่งพอง

โรคเอนซีดีมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคคือ โรคเอนซีดีเป็นโรคเรื้อรัง อาการต่างๆจะค่อยๆเลวลงเรื่อย และเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตในที่สุดได้ แต่การรักษาและควบคุมโรคอย่างจริงจัง จะช่วยให้ควบคุมอาการและชะลอความรุนแรงของโรคได้ และยังช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นด้วย

โรคเอนซีดีมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคเอนซีดี คือ

  • ร่างกายทรุดโทรม อ่อนเพลีย
  • ง่วงซึม ไม่มีสมาธิ
  • เจ็บป่วยด้วยการติดเชื้อบ่อย
  • เจ็บป่วยบ่อยจากผลแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ของแต่ละโรคที่ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานด้อยลง คุณภาพชีวิตด้อยลง มักเป็นอุปสรรคในการเรียน การงาน และในการดำรงชีวิต

ดูแลตนเองอย่างไร?ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไหร่?

การดูแลตนเองเมื่อป่วยด้วยโรคเอนซีดี แนะนำอ่านเพิ่มเติมแต่ละโรคเอนซีดีที่พบบ่อย (ดังกล่าวแล้วในหัวข้อ โรคเอนซีดีประกอบด้วยโรคอะไร) ได้ในเว็บ haamor.com เช่น โรคเบา หวาน โรคไขมันในเลือดสูง โรคความดันโลหิตสูง โรคไตเรื้อรัง โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โรคถุงลมโป่งพอง แต่ในภาพรวมที่คล้ายกันในทุกโรค การดูแลตนเอง คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน โดยควบคุมปริมาณไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน จำกัดเนื้อแดง แป้ง หวาน ไขมัน เค็ม แต่เพิ่มผัก ผลไม้ (ชนิดรสไม่หวานจัด) ให้ได้มากๆในทุกมื้ออาหารและเมื่อเป็นอาหารว่าง
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • มีการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอ
  • รักษาควบคุมโรคต่างๆรวมถึงโรคประจำตัวต่างๆตามแพทย์/พยาบาลแนะนำ
  • กินยาต่างๆที่แพทย์แนะนำให้ครบถ้วน ถูกต้อง ไม่ขาดยา
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลตามนัดเสมอ
  • พบแพทย์/มาโรงพยาบาลก่อนแพทย์นัดเมื่อ
    • อาการต่างๆเลวลง
    • หรือมีอาการใหม่ๆเกิดขึ้น
    • มีผลข้างเคียงจากยาที่แพทย์สั่งจนกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ท้องเสียมากเรื้อรัง วิงเวียนศีรษะมาก
    • หรือเมื่อกังวลในอาการ

ป้องกันโรคเอนซีดีอย่างไร?

การป้องกันโรคเอนซีดีที่สำคัญ คือ

  • ควบคุมอาหารไม่ให้เกิดโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยควบคุมปริมาณอาหารให้พอดีกับพลังงานที่ใช้ในแต่ละวัน จำกัดอาหารเนื้อแดง แป้ง น้ำตาล เค็ม ไขมัน เพิ่มผัก ผลไม้(รสหวานน้อย) ให้ได้มากๆ
  • การออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ถ้าบริโภคอยู่ ควรต้องเลิก
  • เมื่อมีโรคประจำตัว ต้องรักษาควบคุมโรคให้ได้ดี
  • มีการตรวจสุขภาพประจำปีสม่ำเสมอหรือบ่อยตามแพทย์แนะนำ เริ่มได้ในทุกอายุตั้งแต่เด็กจนถึงผู้สูงอายุ

บรรณานุกรม

  1. Ezzati,M., and Riboli,E. (2013). Behavioral and dietary risk factors for noncommunicable diseases. NEJM. 369, 954-964.
  2. Hunter, D., and Reddy,K. (2013). Noncommunicable diseases. NEJM.369, 1336-1343.
  3. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/noncommunicable-diseases [2019,Feb23]
  4. https://en.wikipedia.org/wiki/Non-communicable_disease [2019,Feb23]
  5. https://www.riskcomthai.org/2017/detail.php?id=31981&m=media&gid=1-001-003 [2019,Feb23]