โรคหลอดเลือด โรคเส้นเลือด (Blood vessel disease)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 21 เมษายน 2562
- Tweet
- บทนำ
- โรคหลอดเลือดมีสาเหตุจากอะไร? โรคอะไรพบได้บ่อย?
- อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด?
- โรคหลอดเลือดมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดได้อย่างไร?
- รักษาโรคหลอดเลือดอย่างไร?
- โรคหลอดเลือดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
- ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- มีการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดไหม?
- ป้องกันโรคหลอดเลือดได้อย่างไร?
- บรรณานุกรม
- โรคหัวใจ: โรคหลอดเลือดหัวใจ (Coronary artery disease)
- โรคอัมพาต โรคอัมพฤกษ์ โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคท่อเลือดแดงและหลอดเลือดแดงแข็ง (Atherosclerosis)
- โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม โรคหลอดเลือดสมองผิดปกติ (Cerebral AVM: Cerebral arteriovenous malformation)
- โรคหลอดเลือดสมองโป่งพอง (Cerebral aneurysm)
- หลอดเลือดขอด หลอดเลือดขาขอด หลอดเลือดดำขอด (Varicose vein)
- ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ (Venous thrombosis)
- ริดสีดวงทวาร (Hemorrhoids or piles)
- หลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis)
- โรคโพรงเลือดดำสมองอุดตัน (Cerebral venous sinus thrombosis)
บทนำ
โรคหลอดเลือด หรือ โรคเส้นเลือด (Blood vessel disease) ในที่นี้หมายถึง โรคหรือความผิดปกติต่างๆที่เกิดขึ้นกับหลอดเลือด/เส้นเลือด แล้วส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆขึ้น ทั้งนี้อาการที่ผิดปกติจากโรคหลอดเลือดมักเป็นอาการที่เกิดจากเนื้อเยื่อต่างๆ (ที่เลี้ยงโดยหลอดเลือดนั้นๆ) ขาดเลือดหล่อเลี้ยง และ/หรือเกิดจากการที่เลือด/โลหิตในหลอดเลือดมีการไหลเวียนไม่ดี ซึ่งโดยทั่วไป ได้แก่ อาการปวดที่ตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่ขาดเลือด หรืออาการบวมในตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่มีการไหลเวียนเลือดไม่ดี
หลอดเลือด(Blood vessel) เป็นเนื้อเยื่อในกลุ่มเนื้อเยื่อเกี่ยวพัน ที่มีลักษณะเป็นหลอด/เส้น/ท่อ ที่มีขนาดยาวและแตกแขนงหลากหลายมากมายไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆทั่วทั้งร่างกาย โดยมีจุดเริ่มต้นจากหัวใจ ทั้งนี้ ท่อเลือดแดง/เอออร์ตา (Aorta) ซึ่งเป็นหลอดเลือดแดงขนาดใหญ่ที่ สุด จะมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 - 4 เซนติเมตร (ขึ้นกับว่าเป็นท่อเลือดแดงส่วนไหนของร่างกาย) ส่วนหลอดเลือดที่มีขนาดเล็กที่สุดที่เรียกว่า หลอดเลือดฝอย (Capillary) จะมีขนาดเล็กจนมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่เห็นได้จากกล้องจุลทรรศน์
หลอดเลือด แบ่งง่ายๆได้เป็น 3 ประเภท คือ หลอดเลือดแดง (Artery), หลอดเลือดฝอย (Capillary), และ หลอดเลือดดำ (Vein)
ก. หลอดเลือดแดง (Artery) เป็นหลอดเลือดที่นำเลือดออกจากหัวใจ ซึ่งเกือบทุกหลอดเลือดแดงจะเป็นตัวนำเลือดแดง คือเลือดที่มีออกซิเจนสูงไปยังเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ ยก เว้นหลอดเลือดแดงปอดที่ออกจากหัวใจ โดยจะนำเลือด (ดำ) ออกจากหัวใจไปฟอกที่ปอด
ข. หลอดเลือดฝอย (Capillary) เป็นหลอดเลือดที่จะมีการแลกเปลี่ยนออกซิเจน สาร อาหาร เกลือแร่ น้ำ ยา หรือสารต่างๆรวมทั้งสารพิษ (ถ้ามี) ที่อยู่ในหลอดเลือดแดงกับเซลล์ของเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ และจะนำของเสียและเลือดที่มีออกซิเจนต่ำ มีคาร์บอนไดออกไซด์สูง กลับเข้าสู่หัวใจโดยผ่านทางหลอดเลือดดำ (Vein) ดังนั้นนอกจากมีหน้าที่แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆดังกล่าวแล้ว หลอดเลือดฝอยยังเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่าหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ
ค. หลอดเลือดดำ (Vein) เป็นหลอดเลือดที่ทำหน้าที่นำเลือดดำกลับสู่หัวใจ ยกเว้น หลอดเลือดดำปอด ที่จะนำเลือด (แดง) ที่ฟอกแล้วจากปอดกลับเข้าสู่หัวใจ
ทั้งนี้ โรคของหลอดเลือดมีได้หลากหลายโรค พบเกิดได้กับคนทุกอายุและทุกเพศ และบ่อยครั้งเกิดร่วมกับโรคอื่นๆ เช่น โรคปอด โรคหัวใจ โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ดังนั้นจึงไม่มีสถิติที่แน่นอนว่า ทั่วไปพบโรคของหลอดเลือดได้บ่อยมากน้อยอย่างไร แต่โรคหลอดเลือดบางโรคเป็นโรคที่พบได้บ่อยในผู้ใหญ่ในประเทศที่เจริญแล้วหรือที่กำลังพัฒนา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหลอดเลือดแดงแข็ง
ในบทนี้ จะกล่าวถึงเฉพาะใน ‘ภาพรวมของโรคหลอดเลือด’ เท่านั้น ไม่เจาะจงลงไปที่โรคใดโรคหนึ่งของหลอดเลือด
โรคหลอดเลือดมีสาเหตุจากอะไร? โรคอะไรพบได้บ่อย?
สาเหตุที่ทำให้เกิดโรคของหลอดเลือด มีหลากหลาย ได้แก่
- จากหลอดเลือดฉีกขาด: เช่น จากบาดแผลหรืออุบัติเหตุต่างๆ หรือในโรคมะเร็ง (ก้อนมะเร็งรุกรานเข้าไปในหลอดเลือด) ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดออก โดยความรุนแรงของปริมาณเลือดออกจะขึ้นกับขนาดของหลอดเลือดที่ฉีกขาด โดยยิ่งหลอดเลือดขนาดใหญ่ โอกาสเกิดเลือดออกมากยิ่งสูงขึ้น (เช่น ภาวะเลือดออกในกะโหลกศีรษะ ภาวะเลือดออกในเนื้อสมอง ภาวะเลือดออกในเยื่อหุ้มสมองชั้นกลาง)
- จากมีไขมันจับที่ผนังหลอดเลือดแดง: ก่อให้เกิดโรคหลอดเลือดแดงแข็งและจะตีบตันในที่สุด จึงส่งผลให้เนื้อเยื่อและอวัยวะต่างๆขาดเลือดหล่อเลี้ยง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น ทั้งนี้ ปัจจุบันโรคหลอดเลือดสาเหตุนี้เป็นโรคหลอดเลือดที่พบได้บ่อยที่สุด
- จากผนังหลอดเลือดดำหย่อนยานจนหมดประสิทธิภาพ: อาจจากสูงอายุหรือจากมีความดันในช่องท้อง หรือในขาสูงขึ้นผิดปกติ ส่งผลให้เกิดความผิดปกติของการไหลเวียนโล หิต เลือดดำกลับเข้าสู่หัวใจได้ช้าลง ก่อให้เกิดการคั่งของเลือดตามเนื้อเยื่อ/อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่อยู่ในส่วนต่ำสุดของร่างกาย คือ เท้าและขา จึงก่ออาการบวม หรือ ปวด ปวดเมื่อย ในตำแหน่งที่เกิดโรค เช่น โรคหลอดเลือดดำขาขอด เป็นต้น
- จากมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดดำ: ส่งผลให้เกิดความผิดปกติในการไหลเวียนโลหิต เกิดมีอาการผิดปกติต่างๆขึ้นกับตำแหน่งที่เกิดโรค (เช่น ขาบวม ปวด เมื่อเกิดที่หลอดเลือดดำขา หรือแน่นหน้าอก หายใจลำบาก เมื่อเกิดที่หลอดเลือดดำปอด เป็นต้น) เช่น ภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เป็นต้น
- หลอดเลือดโป่งพอง (Aneurysm): สาเหตุอาจจาก โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดแดงแข็ง โรคเบาหวาน และ/หรือพันธุกรรม (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง หลอดเลือดสมองโป่งพอง และเรื่อง หลอดเลือดโป่งพอง)
- โรคหลอดเลือดอักเสบ: มักเกิดกับหลอดเลือดขนาดเล็ก โดยเกิดมีการอักเสบขึ้นที่ผนังของหลอดเลือด จึงก่อให้หลอดเลือดตีบและอุดตันในที่สุดได้ ทั้งนี้อาจเป็นการอักเสบติดเชื้อที่ร่วมกับการอักเสบติดเชื้อของอวัยวะต่างๆ หรืออาจจากการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ เช่น ในโรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง หรือในโรคเบาหวาน เป็นต้น
- โรคทางพันธุกรรมบางชนิด: ซึ่งเป็นโรคพบได้น้อย เช่น โรคเอวีเอ็ม (AVM, Arterio venous malformation เช่น โรคหลอดเลือดสมองเอวีเอ็ม) ที่มีการเชื่อมต่อกันผิดปกติระหว่างหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ จนทำให้เกิดมีลักษณะเป็นก้อนเนื้อ มักเกิดในสมอง อาการผู้ป่วยจะคล้ายกับการมีเนื้องอกสมอง
- โรคเนื้องอกของผนังหลอดเลือด: ซึ่งเป็นโรคพบได้น้อย เช่น Haemangioma (เช่น โรคปานแดงในเด็กเล็ก) และ Hemangiopericytoma เป็นต้น
- โรคมะเร็งของผนังหลอดเลือด: เป็นโรคพบน้อย เช่น โรค Malignant hemagio pericytoma เป็นต้น
อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือด?
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด มักพบได้ ในโรคท่อเลือดแดงแข็ง, ในภาวะหลอดเลือดดำขอดที่เกิดที่หลอดเลือดดำขา, และในโรคท่อเลือดแดงโป่งพอง (Aortic aneurysm)
ก.ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดแดงแข็ง: คือ
- โรคเบาหวาน
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคไขมันในเลือดสูง
- ประวัติคนในครอบครอบครัวเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ
- สูบบุหรี่
- โรคอ้วน
ข.ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดดำของขาขอด: คือ
- อาชีพการงานที่ต้องยืนนาน ๆ เช่น พยาบาล ทหาร
- หรือในคนที่มีความดันในช่องท้องสูง เช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงที่มีบุตรหลายคน หรือในคนโรคอ้วน
ค.ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคท่อเลือดแดงโป่งพอง: คือ ผู้ชายอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เชื้อชาติผิวขาวที่ สูบบุหรี่ มีความดันโลหิตสูง มีไขมันในเลือดสูง และมีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้
โรคหลอดเลือดมีอาการอย่างไร?
ความผิดปกติหรืออาการจากโรคของหลอดเลือดจะเกิดได้จาก 3 กลไก คือ การฉีกขาดของหลอดเลือด, การตีบแคบและการอุดตันของหลอดเลือด, และการที่สารต่างๆในหลอดเลือดโดยเฉพาะสารน้ำ/ของเหลวจากหลอดเลือดซึมออกจากหลอดเลือดเข้าไปอยู่ในเนื้อเยื่อต่างๆ
ก. อาการจากการฉีกขาดของหลอดเลือด: คือ อาการเลือดออก
- ถ้าเลือดออกรุนแรงรวดเร็ว จะก่อภาวะซีดเฉียบพลันร่วมกับอาการช็อก
- แต่ถ้าเลือดออกครั้งละน้อยๆแต่เรื้อรัง ผู้ป่วยมักมีอาการซีดเรื้อรังเป็นหลัก
ข. อาการจากการตีบแคบและการอุดตันของหลอดเลือด: คือ อาการจากเนื้อเยื่อขาดเลือดหรือเนื้อเยื่อตาย ทั้งนี้ อาการจะแตกต่างได้หลากหลายขึ้นกับว่า เกิดกับหลอดเลือดอวัยวะใด เช่น ในโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือในโรคหลอดเลือดสมอง เป็นต้น
ค. อาการจากมีสารน้ำซึมออกจากหลอดเลือด: มักเกิดจากมีการอักเสบของอวัยวะนั้นๆและส่งผลถึงการอักเสบของหลอดเลือดด้วย ซึ่งมักก่อให้เกิดการบวมและการมีเลือดซึมออกในอวัยวะนั้นๆ ซึ่งอาการจะแตกต่างหลากหลายขึ้นกับอวัยวะที่เกิดการอักเสบ เช่น ในโรคปอดอักเสบ/โรคปอดบวม โรคเบาหวานขึ้นตา หรือในภาวะลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ เป็นต้น
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคหลอดเลือดได้จาก
- การซักถามประวัติทางการแพทย์ของผู้ป่วย ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการต่างๆ พฤติกรรมการใช้ชีวิต การสูบบุหรี่
- การตรวจสัญญาณชีพ (ชีพจร ความดันโลหิต อัตราการหายใจ และอุณหภูมิของร่างกาย)
- การตรวจร่างกาย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ (เช่น การตรวจเลือด ดูค่าน้ำตาล ค่าไขมันในเลือด เป็นต้น)
- การตรวจภาพและการทำงานของหลอดเลือดและอวัยวะที่เกิดความผิดปกติด้วย อัลตราซาวด์ การตรวจทางรังสีร่วมรักษา เอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอ
- การส่องกล้องตรวจอวัยวะต่างๆ
- และบางครั้งคือ การตัดชิ้นเนื้อจากเนื้อเยื่อหลอดเลือดที่ผิดปกติเพื่อการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคหลอดเลือดอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดคือ การรักษาสาเหตุและการรักษาประคับประคองตามอาการ ซึ่งจะแตกต่างกันในแต่ละโรคของหลอดเลือด เช่น โรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคท่อเลือดแดงแข็ง หรือ โรคหลอดเลือดดำขอด เป็นต้น (แนะนำอ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor. com ในบทความของแต่ละโรค)
โรคหลอดเลือดรุนแรงไหม? มีผลข้างเคียงไหม?
การพยากรณ์โรคหรือความรุนแรงของโรคหลอดเลือด ขึ้นกับว่าเป็นโรคของหลอดเลือดของอวัยวะใด เช่น
- ถ้าเป็นโรคของหลอดเลือดขา ความรุนแรงจะน้อย และมักไม่ทำให้เสียชีวิต
- แต่ถ้าโรคเกิดกับหลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดปอด และ/หรือหลอดเลือดไต ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ผลข้างเคียง:
ในส่วนผลข้างเคียงของโรคหลอดเลือด คือ
- การขาดเลือดและการตายของเซลล์/เนื้อเยื่อของอวัยวะนั้นๆ ที่ส่งผลให้อวัยวะนั้นๆสูญเสียการทำงาน เกิดเป็นโรคเฉียบพลันและโรคเรื้อรังต่างๆที่ส่งผลให้เสียคุณภาพชีวิต เช่น อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือเหนื่อยง่ายจนทำงานไม่ได้ เช่น ในโรค หัวใจ หรือ โรคไต และภาวะไตวาย เมื่อโรคเกิดกับหลอดเลือดไต เป็นต้น
ดูแลตนเองอย่างไร? ควรพบแพทย์เมื่อไร?
เมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆไม่ว่าจะเป็นอาการอะไรก็ตาม และอาการไม่ดีขึ้นภายหลังการดู แลตนเองประมาณ 2 - 3 วันควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาลเสมอ เพื่อแพทย์วินิจฉัยหาสาเหตุโดยเฉพาะเมื่อมีอายุเข้าสู่วัยกลางคนคือ ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไปและโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ และในผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่างๆดังกล่าวแล้วใน ‘หัวข้อปัจจัยเสี่ยงฯ’
เมื่อทราบว่าเป็นโรคของหลอดเลือด การดูแลตนเองจะแตกต่างกันในแต่ละชนิดของโรคที่เป็นสาเหตุและปัจจัยเสี่ยง แนะนำ อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในแต่ละโรคในบทความแยกต่างหากของแต่ละโรคในเว็บ haamor.com เช่น
- โรคหลอดเลือดดำขอด
- โรคหลอดเลือดสมอง
- โรคท่อเลือดแดงแข็ง
- โรคลิ่มเลือดในหลอดเลือดดำ
- โรคเบาหวาน
- โรคเบาหวานขึ้นตา
- โรคอ้วน
- โรคไขมันในเลือดสูง
- โรคความดันโลหิตสูง
- โรคออโตอิมมูน
- เนื้องอก
- และโรคมะเร็ง เป็นต้น
มีการตรวจคัดกรองโรคหลอดเลือดไหม?
การตรวจคัดกรองโรคของหลอดเลือด มักทำใน
- โรคท่อเลือดแดงแข็ง
- โรคหลอดเลือดหัวใจ
- โรคหลอดเลือดสมอง
- และโรคท่อเลือดแดงโป่งพอง
ทั้งนี้ ทั่วไปเป็นการตรวจคัดกรองในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวใน ‘หัวข้อ ปัจจัยเสี่ยงฯ’ เช่น
- พบแพทย์เป็นระยะๆตามที่แพทย์นัดหมาย
- ร่วมกับการตรวจร่างกาย
- การตรวจทางห้องปฏิบัติการ
- และอาจมีการตรวจภาพหลอดเลือดและอวัยวะต่างๆที่เกี่ยวข้อง เป็นระยะๆด้วยการตรวจทางรังสีวินิจฉัย/รังสีวิทยา ตามความผิดปกติที่แพทย์ตรวจพบและดุลพินิจของแพทย์
ป้องกันโรคหลอดเลือดได้อย่างไร?
ปัจจัยเสี่ยงของโรคหลอดเลือด บางปัจจัยเสี่ยงป้องกันไม่ได้ แต่บางปัจจัยเสี่ยงป้องกันได้ เช่น การป้องกัน โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน โรคไขมันในเลือดสูง และโรคอ้วน ซึ่งอ่านเพิ่มเติมในรายละเอียดแต่ละโรคได้ในเว็บ haamor.com แต่โดยสรุป วิธีป้องกันที่สำคัญ คือ
- กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวันในปริมาณที่พอเหมาะกับการใช้พลังงานของร่างกาย เพื่อป้องกันโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน โดยการจำกัดอาหาร ไขมัน แป้ง น้ำตาล เค็ม เนื้อแดง แต่เพิ่มผักและผลไม้ให้ได้มากๆในทุกมื้ออาหารและเป็นอาหารว่าง แต่ทั้งนี้ต้อง
- ร่วมกับการออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน
- ไม่สูบบุหรี่ เลิกบุหรี่
บรรณานุกรม
- Hager,A. et al. (2002). Diameters of the thoracic aorta throughout life as measured with helical computed tomography. J Thorac Cardiovasc Surg.123,1060-1066
- https://en.wikipedia.org/wiki/Blood_vessel [2019,March30]
- https://www.healthinfotranslations.org/pdfDocs/BloodVesselDisease.pdf [2019,March30]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Vascular_disease [2019,March30]