โรคเลือดเอ็มดีเอส (MDS: Myelodysplatic syndrome)
- โดย ศาสตราจารย์เกียรติคุณ แพทย์หญิง พวงทอง ไกรพิบูลย์
- 31 ธันวาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
- อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเลือดเอ็มดีเอส?
- โรคเลือดเอ็มดีเอสมีกี่ชนิด?
- โรคเลือดเอ็มดีเอสมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเลือดเอ็มดีเอสอย่างไร?
- โรคเอ็มดีเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคเลือด (Blood Diseases)
- โลหิตจาง เลือดจาง ซีด (Anemia)
- มะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล หรือ เอเอ็นแอลแอล (Acute Myelogenous Leukemia : AML หรือ Acute Non-Lymphoblastic Leukemia : ANLL)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction)
- การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือด การปลูกถ่ายไขกระดูกในโรคมะเร็ง (Peripheral blood stem cell and bone marrow transplantation in cancer)
- รีคอมบิแนน ฮิวแมน อิริโพยอิติน (Recombinant Human Erythropoietin)
บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?
โรคเลือดเอ็มดีเอส หรือ โรคเอ็มดีเอส หรือ กลุ่มอาการเอ็มดีเอส (Myelodysplatic syndrome ย่อว่า เอ็มดีเอส/MDS) คือ โรคเลือดชนิดหนึ่ง ที่มีความผิดปกติในการทำงานของตัวอ่อนเม็ดเลือดชนิดต่างๆในไขกระดูกที่ไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นเม็ดเลือดตัวแก่ที่สมบูรณ์ที่ร่างกายนำมาใช้งานได้ และจัดเป็นโรคมะเร็งชนิดหนึ่งของระบบโรคเลือด, เป็นโรคพบทุกเพศ เพศชายพบบ่อยกว่าเพศหญิงเล็กน้อย, พบทุกอายุ แต่พบน้อยในวัยต่ำกว่า 50 ปี และพบน้อยมากๆในเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก) ทั่วไปพบในผู้สูงอายุวัยช่วง 60-75ปี, สถิติจากสหรัฐอเมริกาพบโรคนี้ได้ประมาณ 10,000-20,000 ราย/ปี โดยผู้อายุมากกว่า 70 ปีพบประมาณ 15 รายต่อประชากร 1 แสนคน
โรคนี้แบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิดได้แก่
- Refractory cytopenia with unilineage dysplasia ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีเม็ดเลือดทุกชนิดในเลือดต่ำ
- Refractory anemia with ringed sideroblasts ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีภาวะซีด และมีเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงแต่เป็นชนิดตัวอ่อนที่มีเหล็กมากที่เรียกว่า Sideroblast
- Refractory cytopenia with multilineage dysplasia ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีเม็ดเลือด 2-3 ชนิดในเลือดต่ำ โดยพบเซลล์ตัวอ่อนเซลล์เม็ดเลือดในเลือดได้ประมาณ 1%
- Refractory anemia with excess blasts ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีภาวะซีดและมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในเลือดต่ำ ร่วมกับมีเซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดในเลือดจำนวนมาก
- Myelodysplastic syndrome, unclassified ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้ว
- Myelodysplastic syndrome associated with isolated del (5q) chromosome abnormality ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดที่มีเม็ดเลือดแดงในเลือดต่ำและมีความผิดปกติของโครโมโซมที่เกี่ยวข้องกับการสร้างเม็ดเลือดที่เรียกว่า del(5q) chromosome ผิดปกติ
อะไรเป็นสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเลือดเอ็มดีเอส?
สาเหตุเกิดโรคเลือดเอ็มดีเอส/โรคเอ็มดีเอสยังไม่ทราบแน่ชัด แต่ปัจจัยเสี่ยงที่อาจทำให้เกิดโรคนี้ เช่น
- การได้รับยาเคมีบำบัด
- การได้รับรังสีรักษา
- การได้รับสารเคมีต่างๆเรื้อรัง เช่น ยาบางชนิด (เช่นยา รีคอมบิแนนฮิวแมน อิริโทรโพยอิติน/ Recombinant Human Erythropoietin; ย่อว่า rEPO), ควันบุหรี่, สารเบนซีน, ยาฆ่าแมลง, โลหะหนัก(เช่น ตะกั่ว ปรอท)
- พันธุกรรม:
- โรคนี้ไม่ใช่โรคถ่ายทอดทางพันธุกรรม
- แต่พบว่ามีความผิดปกติทางจีน/ยีนเฉพาะบุคคลนั้นๆบางชนิดที่อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงให้เกิดโรคนี้ได้
- นอกจากนั้นยังพบว่า โรคชนิดที่มีสาเหตุทางพันธุกรรมบางโรคอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคนี้ เช่น โรคเกล็ดเลือดต่ำ, โรคโลหิตจางจากไขกระดูกฝ่อ,
- บ่อยครั้งแพทย์หาสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยงไม่พบ
โรคเลือดเอ็มดีเอสมีกี่ชนิด?
โรคเลือดเอ็มดีเอส/โรคเอ็มดีเอส แบ่งเป็นชนิดย่อยได้หลายชนิด เช่น
- Refractory cytopenia with unilineage dysplasia ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีเม็ดเลือดทุกชนิดในเลือดต่ำ
- Refractory anemia with ringed sideroblasts ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีภาวะ/โรคซีดที่มีเม็ดเลือดแดงในเลือดสูงแต่เป็นชนิดตัวอ่อนที่มีเหล็กมากที่เรียกว่า Sideroblast
- Refractory cytopenia with multilineage dysplasia ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีเม็ดเลือด 2-3 ชนิดในเลือดต่ำ โดยพบเซลล์ตัวอ่อนเซลล์เม็ดเลือดในเลือดได้ประมาณ 1%
- Refractory anemia with excess blasts ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีโรคซีดและมีเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดในเลือดต่ำ ร่วมกับมีเซลล์ตัวอ่อนเม็ดเลือดในเลือดจำนวนมาก
- Myelodysplastic syndrome, unclassified ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มที่ได้กล่าวมาแล้ว
- Myelodysplastic syndrome associated with isolated del(5q) chromosome abnormality ได้แก่ เอ็มดีเอสชนิดมีเม็ดเลือดแดงในเลือดต่ำและมีความผิดปกติของโครโมโซมที่เกี่ยวกับการสร้างเม็ดเลือดที่เรียกว่า del(5q) chromosome ผิดปกติ
โรคเลือดเอ็มดีเอสมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเอ็มดีเอส ที่พบบ่อย เช่น
- อ่อนเพลีย
- ซีด
- มีผื่นเลือดออกเหมือนในไข้เลือดออก มีจ้ำห้อเลือดขึ้นตามตัว และมีเลือดออกง่าย
- ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย
แพทย์วินิจฉัยโรคเลือดเอ็มดีเอสอย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเอ็มดีเอส ได้จาก
- ประวัติอาการ อายุผู้ป่วย ประวัติมีปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
- การตรวจร่างกายทั่วไป
- ตรวจเลือดดูค่าต่างๆด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด/ซีบีซี/CBC
- การตรวจไขกระดูกด้วยการตรวจทางเซลล์วิทยา และ/หรือ ด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา
รักษาโรคเลือดเอ็มดีเอสอย่างไร?
แพทย์รักษาโรคเอ็มดีเอสได้โดย
- การให้ยากระตุ้นเม็ดเลือดแดงตัวอ่อนให้เจริญเป็นเม็ดเลือดแดงตัวแก่ หรือ
- ให้ยากระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง เช่นยา Recombinant Human Erythropoietin; ย่อว่า rEPO)
- ให้ยากดภูมิคุ้มกัน, และ/หรือ
- การปลูกถ่ายสะเต็มเซลล์เม็ดเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูก และร่วมกับ
- การรักษาตามอาการ เช่น การให้เลือดกรณีผู้ป่วยซีดมาก
โรคเอ็มดีเอสมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?
การพยากรณ์โรค คือ โรคเอ็มดีเอสนี้ จัดเป็นโรครุนแรง
- ทำให้ผู้ป่วยมีภาวะซีดเรื้อรังตลอดชีวิต
- ติดเชื้อต่างๆได้ง่าย และ
- ประมาณ 30%ของผู้ป่วยโรคเอ็มดีเอสจะกลายเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวเอเอ็มแอล
ทั้งนี้อัตรารอดชีวิตของผู้ป่วยจะแตกต่างกันในแต่ละผู้ป่วย แพทย์ผู้ให้การรักษาเท่านั้นที่จะให้การพยากรณ์โรคได้เหมาะสมเป็นรายๆไป โดยจะขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของโรค, ความรุนแรงของอาการ, การเสียหายในการทำงานของไขกระดูก, การมีพันธุกรรมผิดปกติในการสร้างเม็ดเลือดของไขกระดูก , การตอบสนองต่อยาที่ใช้รักษา,ฯลฯ, ซึ่งทั่วไปผู้ป่วยอาจมีชีวิตรอดได้นานเป็นเดือน หลายๆปี เช่น 5 เดือน หรืออาจถึง5 ปี หรืออาจมีโอกาสหายจากโรคได้ในรายที่ตอบสนองดีมากต่อการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์จากเลือดและไขกระดูก
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Myelodysplastic_syndrome [2022,Dec31]
- https://www.mds-foundation.org/what-is-mds/ [2022,Dec31]
- https://www.aamds.org/questions/how-long-do-i-have-live [2022,Dec31]
- http://www.healthline.com/health/mds-prognosis#life-expectancy2 [2022,Dec31]