โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน (Obesity and overweight)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

นิยาม: โรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน ดัชนีมวลกาย และอัตราส่วนระหว่างเอวกับสะโพก

นิยามต่างๆในเรื่องโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน: ได้แก่

ก. น้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน (Overweight and obesity): โดยองค์การอนามัยโลก ให้นิยามว่า น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน หมายถึง ภาวะที่ร่างกายมีการสะสมไขมันในส่วนต่างๆของร่างกายเกินปกติ จนเป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุให้เกิดโรคต่างๆที่ส่งผลถึงสุขภาพ จนอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ โดยในผู้ใหญ่

  • เมื่อมีค่าดัชนีมวลกาย/ดรรชนีมวลกาย (Body mass index หรือ เรียกย่อว่า BMI/บีเอ็มไอ) ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป เรียกว่า น้ำหนักตัวเกิน
  • แต่ถ้ามีค่าดรรชนีมวลกาย ตั้งแต่ 30 ขึ้นไป เรียกว่า เป็นโรคอ้วน

น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน มีสาเหตุ วิธีวินิจฉัย การดูแลรักษา และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆเช่นเดียวกันทุกประการ แตกต่างกันที่ความรุนแรงของปัญหาทางสุขภาพ ในคนน้ำหนักตัวเกินจะรุนแรงน้อยกว่าในคนเป็นโรคอ้วน ดังนั้นในทางการแพทย์ ทั้งน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนจึงมักกล่าวถึงควบคู่กันไปเสมอ

ข. ดัชนีมวลกาย/ดรรชนีมวลกาย/บีเอ็มไอ/BMI: คือ ค่าซึ่งเป็นความสัมพันธ์ระหว่างน้ำหนักตัวกับส่วนสูง ซึ่งนิยมใช้เป็นตัววินิจฉัยว่า ใครน้ำหนักเกิน หรือใครเป็นโรคอ้วน โดยหน่วยของน้ำหนักคิดเป็นกิโลกรัม และหน่วยของความสูงคิดเป็นเมตร โดยค่าดัชนีมวลกายของแต่ละคน จะมีค่าเท่ากับ น้ำหนักของคนๆนั้น หารด้วยความสูงยกกำลังสอง ดังนั้นหน่วยของดัชนีมวลกายจึงเป็น กิโลกรัม/เมตร2 แต่โดยทั่ว ไปไม่นิยมใส่หน่วยของดัชนีมวลกาย

ซึ่งค่าดัชนีมวลกายของคนปกติ และคนผอมตามนิยามขององค์การอนามัยโลกคือ 18.5-24.9 และ ต่ำกว่า 18.5 ตามลำดับ

อย่างไรก็ตาม บางการศึกษา แนะนำว่า นิยามโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินในคนเอเชีย ควรแตกต่างจากที่องค์การอนามัยโลกกำหนด เพราะคนเอเชียมีรูปร่างเล็กกว่าคนอเมริกัน ยุโรป และอัฟริกัน โดย

  • กำหนดให้คนผอม และคนปกติของชาวเอเชีย มีค่าดรรชนีมวลกาย น้อยกว่า 18.5 และ 18.5-22.9 ตามลำดับ
  • ส่วนน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วนของชาวเอเชีย มีค่าดรรชนีมวลกาย ตั้งแต่ 23 ขึ้นไป และ ตั้งแต่ 25 ขึ้นไป ตามลำดับ

องค์การอนามัยโลก และกลุ่มแพทย์ชาวเอเชีย ยังแบ่งโรคอ้วนออกเป็น 3 ระดับ เพื่อบอกความรุนแรงของภาวะ หรือ ของโรค ว่า ปานกลาง รุนแรง และรุนแรงมาก โดยระดับความรุนแรงมาก คือ ค่าดรรชนีมวลกายตั้งแต่ 40 ขึ้นไป (องค์การอนามัยโลก) หรือ ตั้งแต่ 30 ขึ้นไปในคนเอเชีย

อนึ่ง ค่าดรรชนีมวลกาย/ดัชนีมวลกายในผู้ใหญ่และในเด็กต่างกัน เพราะเด็กอยู่ในวัยเจริญเติบโต และมีความแตกต่างกันในการเจริญเติบโตระหว่างเด็กหญิงและเด็กชาย ดังนั้นในการคำนวณค่าบี เอ็มไอ/ดัชนีมวลกายเด็ก จึงต้องใช้อายุและเพศของเด็กเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เรียกว่า ค่า ‘BMI-for-Age percentile’ ซึ่งบทความนี้จะไม่กล่าวถึง เรื่องของน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในเด็ก (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง เด็กอ้วน เด็กน้ำหนักตัวเกิน) แต่จะครอบคลุมเรื่องน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนเฉพาะในผู้ใหญ่เท่านั้น

ค. อัตราส่วนระหว่างเอวกับสะโพก (Waist-hip ratio หรือ เรียกย่อว่า WHR/ดับเบิลยูเอชอาร์): และทั่วไปเรียกค่านี้ได้อีกชื่อว่า Abdominal obesity โดยเพื่อให้ง่ายขึ้นในเรื่องการจะวินิจฉัยโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน บางการศึกษาแนะนำให้วินิจฉัยว่า การมีไขมันเกินจนเป็นปัญหาต่อสุขภาพ ให้วัดรอบเอวและหารด้วยรอบสะโพก ‘ในผู้ชายค่ามากกว่า 0.9 และในผู้หญิงค่ามากกว่า 0.85 แสดงว่า มีปัญหาจากร่างกายสะสมไขมันเกินแล้ว’ ทั้งนี้

  • การวัดรอบเอวให้วัดในตำแหน่งกึ่งกลางระหว่าง ซี่โครงซี่สุดท้ายที่คลำได้และสันกระดูกปีกสะโพก (Iliac crest) ส่วนรอบสะโพกให้วัดในตำแหน่งระดับที่โคนขาทั้งสองข้างชนกัน
  • หรือรอบเอววัดจากรอยคอดระหว่างช่วงอกต่อกับช่วงท้อง ส่วนรอบสะโพกวัดจากส่วนที่กว้างที่สุดของสะโพกหรือของก้น

รู้ได้อย่างไรว่า น้ำหนักตัวเกิน หรือ เป็นโรคอ้วน?

โรคอ้วน

รู้ได้ว่ามีน้ำหนักตัวเกิน หรือ เป็นโรคอ้วน โดย

ก. แพทย์วินิจฉัยว่า มีน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ได้จาก

  • การหาค่าดัชนีมวลกายด้วยวิธีคำนวณดังกล่าวแล้วใน ‘บทนำฯ’

ข. ส่วนตัวเราเองสังเกตได้ง่ายๆว่าอ้วนขึ้นจาก

  • การที่เสื้อผ้าเดิมๆใส่คับขึ้น
  • หรือ น้ำหนักขึ้นเสมอจากการชั่งน้ำหนัก
  • หรือ รู้สึกอึดอัด และเหนื่อยง่ายกว่าเดิม

ทำไมโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินถึงเป็นปัญหาทางการแพทย์?

น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนในปัจจุบัน จัดเป็นปัญหาทางสาธารณสุข เพราะประชากรทั่วโลก รวมทั้งในคนไทย มีปัญหาน้ำหนักตัวเกินและเป็นโรคอ้วนเพิ่มขึ้นทุกปีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทั้งน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เป็นทั้งปัจจัยเสี่ยงและสาเหตุสำคัญของโรคเรื้อรังต่างๆที่ไม่ได้เป็นโรคติดเชื้อ (ที่เรียกว่า โรคเอนซีดี/ NCD) ที่เป็นปัญหาต่อสุขภาพ และเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงมาก แต่อัตราเสียชีวิตจากโรคเอนซีดีก็ยังคงสูงต่อเนื่อง

โรคต่างๆที่มีน้ำหนักตัวเกิน และโรคอ้วน เป็นปัจจัยเสี่ยง หรือ เป็นสาเหตุ คือ

  • โรคหลอดเลือดหัวใจ
  • โรคหลอดเลือดสมอง (โรคอัมพาต)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคความดันโลหิตสูง
  • โรคไขมันในเลือดสูง
  • โรคนิ่วในถุงน้ำดี เพราะการมีไขมันในเลือดสูง ส่งผลให้น้ำดีจากตับมีไขมันสูงตามไปด้วย ซึ่งไขมันจะตกตะกอนเกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ง่าย
  • มีปัญหาในการหายใจ มักเป็นโรคนอนหลับแล้วหยุดหายใจ (Sleep apnea)
  • เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งหลายโรค เช่น
    • มะเร็งเต้านม
    • มะเร็งเยื่อบุมดลูก
    • มะเร็งลำไส้ใหญ่
    • มะเร็งหลอดอาหาร
    • และมะเร็งกระเพาะอาหาร
  • มีปัญหาทางด้านสังคม ทั้งกับตัวผู้ป่วยเองและครอบครัว
  • และมักเป็นโรคซึมเศร้า

โรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินมีสาเหตุจากอะไร?

สาเหตุของน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน ได้แก่

ก. สาเหตุที่พบบ่อย: เช่น

  • กินอาหารเกินความต้องการของร่างกาย ทั้ง
    • ประเภทอาหาร ได้แก่ แป้ง ไขมัน และอาหารใยอาหารต่ำ
    • และปริมาณอาหาร
  • ร่วมกับ ขาดการออกกำลังกายที่เหมาะสม
  • และขาดการเคลื่อนไหวร่างกาย จาก
    • สภาพการทำงาน/ลักษณะงานที่ทำ เช่น งานด้านคอมพิวแตอร์ฯ
    • จากการมีเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ลิฟต์
    • รวมทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เคลื่อนไหว เช่น ติดทีวี ติดเกมส์ หรือ ติดคอมพิวเตอร์

ข. ที่พบเป็นสาเหตุได้บ้างเป็นส่วนน้อย เช่น

  • จากความผิดปกติทางพันธุกรรมที่ทำให้ร่างกายสะสมไขมันได้สูง
  • เป็นโรคเกี่ยวกับฮอร์โมน เช่น
    • โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
    • หรือโรคต่อมไทรอยด์ทำงานพร่อง/ต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮฮร์โมน)
  • การกินยาบางชนิดซึ่งมีผลข้างเคียงกระตุ้นให้อยากอาหาร เช่น
    • ยากันชัก บางชนิด
    • หรือ ยารักษาทางจิตเวช บางชนิด
  • การผ่อนคลายความเครียดด้วยการกิน
  • คนท้องซึ่งกินมากในช่วงตั้งครรภ์ และเมื่อคลอดแล้วไม่สามารถลดน้ำหนักได้
  • ในผู้สูงอายุเพราะเคลื่อนไหวได้ช้า และมีโรคประจำตัวซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว การออกกำลังกาย
  • และมีบางการศึกษาพบว่า อาจเกิดจากการอดนอนเสมอ (นอนวันละ 5 ชั่ว โมงหรือน้อยกว่า) ทั้งนี้เพราะในขณะนอนหลับ ร่างกายจะสร้างฮอร์โมนเพื่อลดการอยากอาหาร (ฮอร์โมนเลปติน/Leptin) และฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการใช้พลังงานของร่างกาย (ฮอร์โมนอินซูลิน /insulin)

ปัจจัยเสี่ยงของคนไทยต่อการมีโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินมีอะไรบ้าง?

จากการศึกษาของ Jitnarin, N. และคณะ ซึ่งรายงานผลการศึกษาในปี ค.ศ. 2009 พบ ว่าปัจจัยเสี่ยงของผู้ใหญ่ไทยต่อการมีน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน

ก. สำหรับผู้ชาย คือ

  • สูงอายุ
  • อยู่อาศัยในเมือง
  • มีฐานทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี
  • และไม่สูบบุหรี่

ข. ส่วนในผู้หญิงไทย คือ

  • สูงอายุ
  • มีการศึกษา
  • โสด
  • ทำงานด้านวิชาชีพ หรือ กึ่งวิชาชีพ

แพทย์รักษาโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินได้อย่างไร?

แนวทางการรักษาน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วนของแพทย์ ขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • สาเหตุ
  • อายุ
  • สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย
  • โรคร่วมต่างๆ
  • น้ำหนักตัวผู้ป่วย และ
  • ขีดความสามารถของผู้ป่วยและครอบครัวในการดูแลผู้ป่วย

ทั้งนี้ การรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกินมักใช้หลายๆวิธีการร่วมกัน โดยมักเริ่มจากการตั้งเป้าหมาย และประเมินผลการรักษาตามเป้าหมาย เพื่อปรับเปลี่ยนวิธีรักษา เช่น ให้ลดน้ำหนักได้ 10% ใน 6 เดือน และต่อจากนั้นดูว่าผู้ป่วยสามารถลดน้ำหนักลงได้อีกไหม และ/หรือ สามารถคงน้ำหนักอยู่เช่นนั้นได้ไหม? เป็นต้น

ซึ่งวิธีการรักษาโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน มีตั้งแต่

  • การควบคุมปริมาณและประเภทอาหาร
  • การออกกำลังกาย
  • การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต
  • การใช้ยาลดการอยากอาหาร/ยาลดความอ้วน
  • จนถึงการผ่าตัดกระเพาะอาหาร (Bariatric surgery) ซึ่งในการแนะนำการผ่าตัด จะขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ และปัจจัยต่างๆดังกล่าวแล้วในตอนต้นของหัวข้อนี้เช่นกัน

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อน้ำหนักตัวเกินหรือ เป็นโรคอ้วน? ควรพบแพทย์เมื่อไร?

การดูแลตนเองเมื่อปล่อยให้อ้วนแล้ว มักเป็นการยากที่จะควบคุมน้ำหนักได้ ดังนั้นจึงต้องเริ่มควบคุมน้ำหนักตั้งแต่เมื่อเริ่มมีน้ำหนักเกิน เช่น รู้สึกเสื้อผ้าคับ หรือ เมื่อชั่งน้ำหนักแล้วน้ำหนักขึ้นต่อเนื่องทุกอาทิตย์ ซึ่งการดูแลตนเองที่สำคัญ คือ

  • ต้องตระหนักถึงความสำคัญของโทษของโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกิน
  • และมีอุตสาหะในการควบคุมน้ำหนัก เช่น
    • กินอาหารแต่ละมื้อให้น้อยลง ค่อยๆทยอยลดน้ำหนักตัว เพราะถ้าลดฮวบฮาบ จะทนหิวไม่ได้
    • ไม่กินจุบจิบ
    • และเมื่อมีกิจกรรมต่างๆ เช่น ท่องเที่ยว ประชุม ก็ยังควรต้องจำกัดอาหารเสมอ
    • จำกัดอาหาร แป้ง หวาน และไขมัน เพิ่ม ผักและผลไม้
    • ปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เคลื่อนไหว/เคลื่อนไหวน้อย เช่น ลดการดูทีวี โดยทำงานบ้านทดแทน
    • พยายามหาทางให้ร่างกายใช้พลังงาน เช่น ลงรถเมล์ก่อนถึงป้ายที่ทำงาน 1 ป้าย หรือ ใช้ลิฟต์เฉพาะเมื่อจำเป็น
    • พยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที
    • ชั่งน้ำหนักทุกสัปดาห์
  • การควบคุมน้ำหนักต้องได้รับความร่วมมือจากทุกคนในครอบครัว โดย เฉพาะในเรื่องอาหาร เช่น ไม่ซื้อขนมเข้าบ้าน
  • ไม่ซื้อยาลดความอ้วนกินเอง โดยไม่ปรึกษาแพทย์ เพราะยาฯมีผลข้างเคียงหลายอย่างที่อาจส่งผลต่อสุขภาพ และอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ เช่น
    • เบื่ออาหารมากจนกินได้น้อยจนขาดอาหาร
    • การรับรสชาติผิดปกติ
    • ท้องผูก
    • ปากแห้ง
    • เหงื่อออกมาก
    • นอนไม่หลับ
    • คลื่นไส้อาเจียน
    • ความดันโลหิตสูง
    • ใจสั่น
    • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
    • ปวดศีรษะ
    • กังวล
    • หงุดหงิดง่าย
    • และสับสน
  • ควรพบแพทย์เมื่อดูแลตนเองแล้วน้ำหนักยังขึ้นต่อเนื่อง หรือเมื่อกังวลในเรื่องน้ำหนัก

ป้องกันโรคอ้วน และ น้ำหนักตัวเกินได้อย่างไร?

วิธีป้องกันน้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วใน ‘หัวข้อ การดูแลตนเองฯ’

บรรณานุกรม

  1. Jitnarin, N. et al. (2009). Risk factors for overweight and obesity among Thai adults: results of the National Thai Food Consumption Survey. Nutrients. 2, 60-74.
  2. Kantachuvessiri, A. (2005). Obesity in Thailand. J Med Assoc Thai. 88, 554-562.
  3. https://www.who.int/en/news-room/fact-sheets/detail/obesity-and-overweight [2019,Jan26]
  4. http://en.wikipedia.org/wiki/Obesity [2019,Jan26]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/Waist%E2%80%93hip_ratio [2019,Jan26]
  6. http://www.euro.who.int/en/health-topics/disease-prevention/nutrition/a-healthy-lifestyle/body-mass-index-bmi [2019,Jan26]