โพแทสเซียม ไอโอไดด์ (Potassium iodide)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 18 มิถุนายน 2564
- Tweet
- บทนำ: คือยาอะไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้โพแทสเซียม ไอโอไดด์อย่างไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษาโพแทสเซียม ไอโอไดด์อย่างไร?
- โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- ต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis)
- มะเร็งต่อมไทรอยด์ (Thyroid Cancer)
- ไทรอยด์: โรคของต่อมไทรอยด์ (Thyroid: thyroid diseases)
- ภาวะขาดไอโอดีน (Iodine deficiency)
- ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์ (Thyroid hormone)
- ยาลดความดัน ยาลดความดันเลือดสูง ยาลดความดันโลหิตสูง (Antihypertensive drug)
- โพแทสเซียมในเลือดสูง (Hyperkalemia)
- ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperthyroidism)
บทนำ: คือยาอะไร?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์ (Potassium iodide) คือ ยาที่เป็นเกลือมีลักษณะสีขาว ละลายน้ำได้ดี ในด้านสาธารณสุขและการแพทย์ เกลือชนิดนี้ถูกนำมาอัดเม็ดและใช้รักษาภาวะไอโอดีนในร่างกายต่ำ (ภาวะขาดไอโอดีน) นอกจากนี้ มนุษย์ยังใช้เกลือโพแทสเซียม ไอโอไดด์สำหรับป้อง กันมิให้ร่างกายโดยเฉพาะต่อมไทรอยด์ ดูดกลืนกำมันตรังสีที่ปนเปื้อนอยู่ในสิ่งแวดล้อมและแฝงตัวมากับรังสีไอโอดีน (Radioiodine) เช่น กรณีจากอุบัติเหตุรังสีรั่วไหลจากโรงไฟฟ้าปรมาณูในญี่ปุ่นและในรัสเซีย เกลือชนิดนี้ยังมีสรรพคุณรักษาภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนสุง (โรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ/ ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน) โดยนำไปใช้กับคนไข้ก่อนได้รับการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
โพแทสเซียม ไอโอไดด์ได้ถูกบรรจุลงในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยจัดอยู่ในหมวดยาวิตามินและเกลือแร่
สำหรับหญิงตั้งครรภ์ การใช้ยาโพแทสเซียม ไอโอไดด์ในขนาดที่ปลอดภัยและเหมาะสมยังต้องอยู่ภายใต้ดุลยพินิจของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง: โพแทสเซียม ไอโอไดด์ (Potassium iodide) ย่อว่า KI/ เคไอ โดย ‘K’ มาจากคำว่า Kalium ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลว่า ธาตุโพแทสเซียม และมนุษย์ได้นำไปผสมกับอาหารที่ใช้เลี้ยงสัตว์ในเชิงเสริมสร้างเกลือแร่, ส่วน ‘I’ คือ ไอโอดีน/ไอโอไดด์
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์ มีสรรพคุณรักษาโรค/ข้อบ่งใช้: เช่น
- รักษาต่อมไทรอยด์เป็นพิษ /ภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน
- ป้องกันและลดความเสี่ยงจากการได้รับรังสีไอโอไดด์ (Radio iodide) โดยเฉพาะกับต่อมไทรอยด์ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญต่อการเกิดมะเร็งต่อมไทรอยด์
- ช่วยลดและบรรเทาอาการไอ (โพแทสเซียม ไอโอไดด์ ช่วยบรรเทาอาการไอและช่วยละลายเสมหะ)
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีกลไกการออกฤทธิ์ โดยโพแทสเซียม ไอโอไดด์ที่อยู่ในรูปสาร ประกอบจะเข้าทำปฏิกิริยาในต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์หยุดการสังเคราะห์ฮอร์โมนจากต่อมไทรอยด์
หากใช้ในกรณีป้องกันการปนเปื้อนของรังสี เกลือโพแทสเซียม ไอโอไดด์จะทำให้ต่อมไทรอยด์หยุดการดูดซับรังสีไอโอไดด์ โดยต้องรับประทานก่อนเข้าไปในพื้นที่ที่มีการปนเปื้อนของรังสีหรือรับประทานทันทีหลังจากได้รับรังสีของไอโอดีนที่ปนเปื้อน จึงจะลดความเสี่ยงจากกำมันตรังสีดังกล่าว
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายในรูปแบบ: เช่น
- รูปแบบสารละลาย ชนิดรับประทานขนาด 50 มิลลิกรัมไอโอไดด์/หยด เช่น Lugol’s solution (Lugol iodine หรือ Lugols)
- รูปแบบยาเม็ด ชนิดรับประทานขนาด 130 มิลลิกรัม/เม็ด
- นอกจากนี้ ในตลาดยายังมีการนำโพแทสเซียม ไอโอไดด์ไปผสมร่วมกับวิตามินและเกลือแร่ชนิดอื่นอีกด้วย เพื่อเพิ่มปริมาณ เกลือไอโอดีนสำหรับผู้บริโภค
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีขนาดรับประทานอย่างไร?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีขนาดรับประทาน เช่น
ก. สำหรับรักษาอาการไอ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 - 650 มิลลิกรัม วันละ 3 - 4 ครั้ง
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): รับประทาน 60 - 250 มิลลิกรัม วันละ 4 - 6ครั้ง
ข. สำหรับรักษาไทรอยด์เป็นพิษ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทานในรูปสารละลาย 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 10 - 14 วันก่อนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
- เด็ก: รับประทานยาน้ำขนาด 250 มิลลิกรัม วันละ 3 ครั้ง เป็นเวลา 10 - 14 วันก่อนการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
ค. สำหรับป้องกันการปนเปื้อนหรือลดความเสี่ยงจากรังสี: เช่น
- ผู้ใหญ่: หญิงตั้งครรภ์และหญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตรที่สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่า กับ 5 เซนติเกรย์ (Centigray: หน่วยวัดปริมาณรังสี) รับประทาน 130 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 18 - 40 ปี: สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 10 เซนติเกรย์ รับประทาน 130 มิลลิกรัม/วัน
- ผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 40 ปี: สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 500 เซนติเกรย์ รับประ ทาน 130 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุต่ำกว่าหรือเท่ากับ 1 เดือน: สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์ รับ ประทาน 16 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุมากกว่า 1 เดือน - 3 ปี: สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์ รับประ ทาน 32 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุมากกว่า 3 - 18 ปี และมีน้ำหนักน้อยกว่า 70 กิโลกรัม: สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์ รับประทาน 65 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุมากกว่า 13 ปี และมีน้ำหนักมากกว่า 70 กิโลกรัม: ที่สัมผัสรังสีขนาดมากกว่าหรือเท่ากับ 5 เซนติเกรย์ รับประทาน 130 มิลลิกรัม/วัน
อนึ่ง: ควรรับประทานยานี้พร้อมอาหารหรือก่อนอาหาร เพื่อลดการระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโพแทสเซียม ไอโอไดด์ ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก/ หอบเหนื่อย
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาหรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโพแทสเซียม ไอโอไดด์อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประ เภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาโพแทสเซียม ไอโอไดด์สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
เกลือ/ยาโพแทสเซียม ไอโอไดด์สามารถก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) เช่น
- ระคายเคืองกระเพาะอาหาร
- ปวดตามข้อ
- มีอาการบวมที่แขน - ขา - ใบหน้า - ปาก
- ต่อมน้ำเหลืองบวม โต
- ในกรณีที่ใช้เกลือโพแทสเซียม ไอโอไดด์ เป็นเวลานานๆ อาจพบ
- อาการริมฝีปากไหม้
- รู้สึกสับสน
- ปวดหัว
- ชีพจร/หัวใจเต้นผิดจังหวะ
- ปวดที่แขนขา
- อาจมีแขนขาอ่อนแรง
- เป็นแผลตามผิวหนัง เป็นต้น
มีข้อควรระวังการใช้โพแทสเซียม ไอโอไดด์อย่างไร?
มีข้อควรระวังการใช้โพแทสเซียม ไอโอไดด์ เช่น
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ที่แพ้ยา โพแทสเซียม ไอโอไดด์
- ห้ามใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
- ระวังการใช้ยานี้กับ
- หญิงตั้งครรภ์
- หญิงที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร
- ผู้ป่วยที่มีภาวะโพแทสเซียมในร่างกายสูง (อาการเช่น อ่อนเพลีย หัวใจเต้นผิดปกติ
- ผู้ป่วยด้วยโรคไต
- ผู้ป่วยวัณโรค
- ผู้ป่วยคอพอก
- และผู้ป่วยโรคภูมิต้านตนเองของต่อมไทรอยด์ (Autoimimune thyroid disesse)
- ไม่ใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมโพแทสเซียม ไอโอไดด์ด้วย) ยาแผนโบราณทุกชนิด อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น
- การใช้โพแทสเซียม ไอโอไดด์ร่วมกับยาต้านไทรอยด์ฮอร์โมนชนิดอื่น อาจนำมาซึ่ง ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน
- การใช้โพแทสเซียม ไอโอไดด์ร่วมกับยาลดความดัน เช่นยา Captopril, Ramipril, Valsartan สามารถทำให้ระดับเกลือโพแทสเซียมในเลือดสูง แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานให้เหมาะสมและปลอดภัยต่อคนไข้
- การใช้โพแทสเซียม ไอโอไดด์ร่วมกับยาต้านเชื้อแบคทีเรีย เช่นยา Trimethoprim สามารถก่อให้เกิดภาวะโพแทสเซียมในเลือดสูง จนนำไปสู่ภาวะไตวาย กล้ามเนื้ออ่อนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจหยุดเต้น และอาจเสียชีวิตได้ แพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานของโพแทสเซียม ไอโอไดด์เพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วย อีกทั้งผู้ป่วยควรดื่มน้ำอย่างเพียงพอ หากต้องใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน
ควรเก็บรักษาโพแทสเซียม ไอโอไดด์อย่างไร
ควรเก็บยาโพแทสเซียม ไอโอไดด์ เช่น
- เก็บยาฯที่อุณหภูมิ 15 - 30 องศาเซลเซียส (Ceisius)
- เก็บยาให้พ้นแสง/แสงแดดและความชื้น
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- และไม่เก็บยาในห้องน้ำ
โพแทสเซียม ไอโอไดด์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
โพแทสเซียม ไอโอไดด์ มียาชื่อการค้าอื่นและบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
iOSAT (ไอโอแซท) | ANBEX |
ThyroSafe (ไทโรเซฟ) | Recipharm AB |
Thyroshield (ไทโรชีล) | Fleming & Company |
บรรณานุกรม
- https://en.wikipedia.org/wiki/Potassium_iodide#Nutrition [2021,June12]
- https://www.mims.com/malaysia/drug/info/potassium%20iodide/patientmedicine/potassium%20iodide%20-%20oral [2021,June12]
- https://www.mims.com/Thailand/drug/search/?q=potassium%20iodide [2021,June12]
- https://www.drugs.com/mtm/potassium-iodide.html [2021,June12]
- https://www.drugs.com/sfx/potassium-iodide-side-effects.html [2021,June12]
- http://www.anbex.com/ [2021,June12]
- https://dailymed.nlm.nih.gov/dailymed/drugInfo.cfm?setid=a79acae4-af7a-4054-9440-c6433ac9acb1 [2021,June12]