โซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

ยาโซเดียมไนไตรท์ (Sodium nitrite) คือ ยาที่เป็นสารประกอบประเภทอนินทรีย์ที่ นำไปใช้ประโยชน์เป็นยาแผนปัจจุบันโดยใช้เป็น‘ยาแก้พิษของสารไซยาไนด์’, รวมถึงใช้เป็นส่วนประกอบในอุตสาหกรรมสี, เป็นส่วนผสมในยาฆ่าแมลง, สารฯนี้มีลักษณะเป็นผงผลึกสีขาวออกเหลืองเล็กน้อย ละลายน้ำได้ดี

สำหรับด้านเภสัชภัณฑ์/การแพทย์ โซเดียมไนไตรท์ถูกนำมาเป็นยาแก้พิษของสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning) โดยใช้ร่วมกับยา Sodium thiosulfate (ยาแก้พิษสารไซยาไนด์เช่นกัน) ซึ่งรูปแบบของยาแผนปัจจุบันของโซเดียมไนไตรท์จะเป็นลักษณะของยาฉีดที่มีใช้เฉพาะตามสถานพยาบาลเท่านั้น

องค์การอนามัยโลกได้ระบุให้ยาโซเดียมไนไตรท์ เป็นยาจำเป็นขั้นพื้นฐานของระดับชุมชน การใช้ยานี้ได้อย่างถูกต้องปลอดภัยและเกิดประโยชน์สูงสุดจะต้องเป็นไปตามคำสั่งจากแพทย์เท่านั้น

***อนึ่ง: โซเดียมไนไตรท์ เคยถูกนำไปผสมกับเนื้อสัตว์เพื่อให้ดูสีแดงสดน่ารับประทาน อีกทั้งทำให้อายุการเก็บรักษาของเนื้อสัตว์ยาวนานขึ้น แต่กลับส่งผลเสียอย่างร้ายแรงต่อผู้บริโภคด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างทางเคมีของเนื้อสัตว์ ทำให้ผู้บริโภคต่อเนื่องอาจเกิดเนื้องอกสมอง/มะเร็งสมอง, และอาจเป็นสาเหตุของการเกิดโรคมะเร็งต่างๆติดตามมา, ปัจจุบันมีกฎหมายห้ามมิให้นำโซเดียมไนไตรท์มาผสมกับเนื้อสัตว์โดยเด็ดขาด

โซเดียมไนไตรท์มีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?

โซเดียมไนไตรท์

ยาโซเดียมไนไตรท์มีสรรพคุณรักษา/ข้อบ่งใช้:

  • ใช้รักษาและบำบัดอาการผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ (Cyanide poisoning)

โซเดียมไนไตรท์มีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?

กลไกการออกฤทธิ์ของยาโซเดียมไนไตรท์คือ ตัวยาจะออกฤทธิ์โดยรวมตัวกับสารฮีโมโกลบิน (Hemoglobin)ของเม็ดเลือดแดงจนกลายเป็นสาร ซึ่งจะไปรวมตัวกับสารไซยาไนด์(Cyanide) และทำให้สารไซยาไนด์กลายเป็นสารที่ ไม่มีพิษที่มีชื่อเรียกว่า Cyanmethemoglobin

โซเดียมไนไตรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?

ยาโซเดียมไนไตรท์มีรูปแบบการจัดจำหน่าย:

  • ยาฉีดที่เป็นสารละลาย 30 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร โดยมีขนาดบรรจุ 10 มิลลิลิตร/ขวด

โซเดียมไนไตรท์มีขนาดการบริหารยาอย่างไร?

ยาโซเดียมไนไตรท์มีขนาดการบริหารยา/การใช้ยาสำหรับรักษาอาการผู้ที่ได้รับพิษจากสารไซยาไนด์ดังนี้ เช่น

  • ผู้ใหญ่: ให้ยาโซเดียมไนไตรท์ในรูปสารละลายทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาขนาด 300 มิลลิกรัมภายในช่วงเวลา 5 - 20 นาที, จากนั้นให้ยา Sodium thiosulfate 12.5 กรัมในรูปของสาร ละลาย 25% จำนวน 50 มิลลิลิตรโดยให้ทางหลอดเลือดดำเป็นเวลา 10 นาที, ซึ่งแพทย์อาจให้ยาโซเดียมไนไตรท์และ Sodium thiosulfate ซ้ำอีกหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้ว 30 นาที โดยลดปริมาณยาทั้ง 2 ตัวเหลือเพียงครึ่งเดียว ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา
  • เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): ให้ยาโซเดียมไนไตรท์ในรูปสารละลายทางหลอดเลือดดำ ใช้ยาขนาด 4 - 10 มิล ลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ขนาดสูงสุดไม่เกิน 300 มิลลิกรัม, จากนั้นติดตามด้วยการให้ยา Sodium thiosulfate ใช้ยาขนาด 400 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม โดยให้ในรูปสารละลาย ขนาดสูงสุดไม่เกิน 12.5 กรัม ซึ่งแพทย์อาจให้ยาซ้ำหลังจากการให้ยาครั้งแรกไปแล้ว 30 นาที โดยลดปริมาณยาลงครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์ผู้รักษา

*****หมายเหตุ: ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาโซเดียมไนไตรท์ ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก /หอบเหนื่อย
  • มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยา หรืออาหารเสริมอะไรอยู่ เพราะยาโซเดียมไนไตรท์ อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆและ/หรือกับอาหารเสริมที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
  • หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/ มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารก จนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้

โซเดียมไนไตรท์มีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?

ยาโซเดียมไนไตรท์สามารถก่อให้เกิดผล/ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) เช่น

  • ความดันโลหิตต่ำ
  • หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • อาจพบลมพิษตามผิวหนัง
  • คลื่นไส้-อาเจียน
  • ปวดในกระเพาะอาหาร-ลำไส้
  • ปวดหัว
  • วิงเวียน
  • ตาพร่า
  • วิตกกังวล
  • สับสน
  • ชัก
  • ในบางรายจะพบ ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด (Methemoglobinemia: Hemoglobinในเม็ดเลือดแดงทำงานผิดปกติ) เกิดภาวะโคม่า, หายใจไม่ออก/หายใจลำบาก เป็นต้น

*อนึ่ง: ภาวะที่ผู้ป่วยได้รับยาโซเดียมไนไตรท์เกินขนาด จะพบอาการความดันโลหิตต่ำและเกิดภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด การช่วยเหลือผู้ป่วยที่ได้รับโซเดียมไนไตรท์เกินขนาดคือแพทย์ต้องให้ออกซิเจนสนับสนุนกับผู้ป่วยอย่างเพียงพอ รวมถึงการให้ยา Methylene blue (ยาใช้รักษาภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือด) ทางหลอดเลือดดำร่วมกับการควบคุมสัญญาณชีพต่างๆของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด

มีข้อควรระวังการใช้โซเดียมไนไตรท์อย่างไร?

มีข้อควรระวังการใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ เช่น

  • ห้ามใช้กับผู้แพ้ยานี้
  • ห้ามใช้ยานี้กับสตรีตั้งครรภ์ การจะใช้ยากับผู้ป่วยกลุ่มนี้ต้องได้รับความเห็นชอบจากแพทย์เท่านั้น
  • ระวังการใช้ยานี้ในสตรีที่อยู่ในภาวะให้นมบุตร หรือ ถ้ามารดามีความจำเป็นต้องใช้ยานี้ ให้เลี่ยงการเลี้ยงบุตรจากนมมารดาไปเป็นนมผงดัดแปลงแทน
  • ระหว่างการให้ยาโซเดียมไนไตรท์ ผู้ป่วยจะต้องได้รับออกซิเจนอย่างเพียงพอ และมีการเฝ้าระวังสัญญาณชีพของผู้ป่วยตลอดเวลาของการรักษา
  • ระวังการเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำระหว่างใช้ยานี้
  • ระวังการใช้ยานี้กับผู้ป่วยโรคซีด/ โลหิตจาง, ผู้ป่วยภาวะขาดเอนไซม์จีซิกพีดี
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาโซเดียมไนไตรท์ด้วย) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกครั้งควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

โซเดียมไนไตรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?

ยาโซเดียมไนไตรท์มีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

  • การใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ ร่วมกับยา Acetaminophen, Dapsone, Lidocaine, Phenobarbital, Sulfamethoxazole อาจทำให้มี ภาวะเมทฮีโมโกลบินในเลือดเกิดขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังจากใช้ยาร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ความสามารถในการขนส่งออกซิเจนของเลือดเพื่อไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลงไป โดยอาจสังเกตพบอาการ เขียวคล้ำ คลื่นไส้ ปวดหัว วิงเวียน อ่อนเพลีย หายใจลำบาก จนอาจเป็นอันตรายกับผู้ป่วยจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน
  • การใช้ยาโซเดียมไนไตรท์ ร่วมกับยาบางตัว เช่นยา Acebutolol, Amlodipine, Nifedipine, Hydralazine, Hydrochlorothiazide อาจเป็นเหตุให้เกิดความดันโลหิตต่ำและนำไปสู่ภาวะช็อกจนถึงภาวะโคม่า และตายในที่สุดได้ จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาดังกล่าวร่วมกัน

ควรเก็บรักษาโซเดียมไนไตรท์อย่างไร

ควรเก็บยาโซเดียมไนไตรท์:

  • ในช่วงอุณหภูมิระหว่าง 15 - 30 องศาเซลเซียส (Celsius)
  • ห้ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
  • เก็บยาในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด ความร้อน และ ความชื้น
  • ไม่เก็บยาที่หมดอายุ

โซเดียมไนไตรท์มีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาโซเดียมไนไตรท์ มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
Cyanide Antidote Kit (ไซยาไนด์ แอนตี้โดท คิท) Akorn
Nithiodote (ไนทิโอโดท) CANGENE bioPharma, Inc.

บรรณานุกรม

  1. https://en.wikipedia.org/wiki/Sodium_nitrite#Medicine [2021,May8]
  2. https://www.mims.com/philippines/drug/info/sodium%20thiosulfate?mtype=generic [2021,May8]
  3. https://www.drugs.com/cdi/sodium-nitrite.html [2021,May8]
  4. https://www.drugs.com/pregnancy/sodium-nitrite.html [2021,May8]
  5. https://www.drugs.com/sfx/sodium-nitrite-side-effects.html [2021,May8]
  6. https://www.drugs.com/pro/sodium-nitrite-injection.html [2021,May8]
  7. https://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-nitrite-index.html?filter=3&generic_only= [2021,May8]
  8. https://www.drugs.com/drug-interactions/sodium-nitrite-index.html?filter=2 [2021,May8]
  9. http://www.purezing.com/living/toxins/living_toxins_dangerousingredients.html [2021,May8]
  10. https://www.drugs.com/pro/nithiodote.html [2021,May8]