แท้งสมบูรณ์ แท้งครบ (Complete abortion)
- โดย รองศาสตราจารย์ แพทย์หญิง ประนอม บุพศิริ
- 30 มกราคม 2564
- Tweet
สารบัญ
- แท้งสมบูรณ์คืออะไร?
- สาเหตุของการแท้งมีอะไรบ้าง?
- อาการของแท้งสมบูรณ์มีอย่างไรบ้าง?
- สตรีตั้งครรภ์รู้ได้อย่างไรว่าแท้งสมบูรณ์แล้ว?
- ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
- แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งสมบูรณ์ได้อย่างไร?
- รักษาภาวะแท้งสมบูรณ์อย่างไร?
- ดูแลตนเองหลังแท้งสมบูรณ์อย่างไร?
- หลังแท้งสมบูรณ์นานเท่าไหร่จึงจะตั้งครรภ์ได้อีก?
- มีวิธีการป้องกันการแท้งหรือไม่?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- การแท้งบุตร (Miscarriage)
- แท้งไม่สมบูรณ์ (Incomplete miscarriage)
- แท้งค้าง (Missed abortion)
- แท้งซ้ำ (Recurrent miscarriage)
- แท้งคุกคาม (Threatened abortion)
- แท้งติดเชื้อ (Septic abortion)
- ภาวะแท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (Inevitable abortion)
- การตั้งครรภ์ (Pregnancy)
- ประจำเดือน (Menstruation)
แท้งสมบูรณ์คืออะไร?
การแท้ง (Abortion หรือ Miscarriage) คือ การสิ้นสุดของการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกจะมีชีวิต รอดเมื่อคลอดออกมา
การแท้งมีหลายชนิด เช่น แท้งคุกคาม, แท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้, แท้งค้าง, แท้งเป็นอาจิณ/แท้งซ้ำ, แท้งไม่สมบูรณ์, และ แท้งที่สมบูรณ์ ซึ่งการที่ทารก รก และเยื่อหุ้มรก ถูกขับออกมาจากโพรงมดลูกทั้งหมด โดยที่ไม่มีเหลือเศษค้างในโพรงมดลูก ไม่ต้องให้การรักษาทางการแพทย์เพิ่มเติม เรียกว่าเป็น “แท้งสมบูรณ์ หรือ แท้งครบ (Complete abortion)”
สาเหตุของการแท้งมีอะไรบ้าง?
สาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้ง ได้แก่
1. ความผิดปกติของทารกด้านโครโมรโซม หรือทารกในครรภ์มีความพิการรุนแรงจนไม่สา มารถมีชีวิตต่อไปได้
2. การติดเชื้อในโพรงมดลูก
3. ความผิดปกติของมดลูกหรือของปากมดลูก เช่น
- ปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetent)
- มีผนังกั้นทำให้เกิดเป็นช่องผิดปกติในโพรงมดลูก (Septate uterus)
- มดลูกมีลักษณะเป็นรูปหัวใจ (Bicornuate uterus)
- มดลูกเติบโตเพียงครึ่งเดียว (Unicornuate uterus)
4. ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนกำหนด (ถุงน้ำคร่ำแตกก่อนเจ็บครรภ์คลอด) จึงกระตุ้นให้ร่างกายมีการหลั่งสาร Prostaglandins ออกมา ซึ่งเป็นสารที่กระตุ้นให้มดลูกบีบตัว จนเป็นสาเหตุการแท้งได้
5. โรคประจำตัวของมารดาซึ่งจะมีผลต่อทารก ทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกไม่ดีพอ เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน
อาการของแท้งสมบูรณ์มีอย่างไรบ้าง?
อาการเริ่มแรกของแท้งสมบูรณ์เหมือนการแท้งทั่วไป คือ
- จะมีเลือดออกทางช่องคลอดขณะที่ตั้งครรภ์ ซึ่งตามปกติไม่ควรจะมีเลือดออก
- มีอาการปวดหน่วงที่ท้องน้อย ต่อมาอาการปวดท้องน้อยจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีเลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น และจะมีเศษชิ้นเนื้อลักษณะคล้ายไส้ปลาหลุดออกมาหากอายุครรภ์ยังน้อย
- หากมีการแท้งในอายุครรภ์ที่มากขึ้น อาจมีการแตกของถุงน้ำก่อน คือมีของเหลว/น้ำคร่ำไหลออกมาจากช่องคลอด แล้วตามมาด้วยตัวทารกและรก หรือเศษเยื่อหุ้มรกหลุดออกมา
- หลังจาก ทารก รก ฯลฯ หลุดออกมาหมดแล้ว อาการปวดท้องน้อยจะลดลงอย่างมาก ปริมาณเลือดที่ออกจะลดลงและค่อยๆจางลงไปเรื่อยๆ จนไม่มีเลือดออก
สตรีตั้งครรภ์รู้ได้อย่างไรว่าแท้งสมบูรณ์แล้ว?
เมื่อมีการตั้งครรภ์จะรู้ได้ว่าเกิดการแท้งสมบูรณ์ โดยจะสังเกตเห็นว่า
- มีชิ้นส่วนคล้ายไส้ปลา หลุดออกมาพร้อมกับก้อนเลือด หรือเห็นตัวทารกและรกหลุดออกมา และ
- อาการปวดท้องน้อย (ที่เคยปวดอย่างมาก ก่อนที่จะมีชิ้นส่วนต่างๆหลุดออกมา) ลดลงอย่างมาก รวมทั้ง
- ปริมาณเลือดที่ออกมาก (จากช่องคลอด) ก็จะลดลง และค่อยๆจางลงไปเรื่อยๆจนหยุดเลือดออกในที่สุด
ควรไปพบแพทย์เมื่อไหร่?
หากตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอดต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที แต่ หากไปไม่ทัน มีเลือดออกมาก มีอาการปวดท้องและมีเศษชิ้นเนื้อหลุด หรือมีถุงการตั้งครรภ์ (ถุงหุ้มตัวทารก/Gestational sac) หลุดออกมาให้เห็นอย่างชัดเจน จากนั้นอาการปวดท้อง/ปวดท้อง น้อยที่เคยปวดอย่างมากก็หายปวด เลือดที่ออกมากๆก็ลดลง สิ่งเหล่านี้เป็นตัวช่วยบอกว่าน่าจะเป็นการแท้งโดยสมบูรณ์ ไม่มีเศษชิ้นส่วนค้างในโพรงมดลูก อย่างไรก็ตามควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดเพื่อยืนยันอีกครั้งว่าเป็นการแท้งที่สมบูรณ์หรือไม่ เพราะบางครั้งอาจมีเศษรกค้างอยู่ และเป็นเหตุให้เกิดการเสียเลือดมากก่อนจะแท้งโดยสมบูรณ์
แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งสมบูรณ์ได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งสมบูรณ์ได้จาก
ก. ประวัติอาการ: จากประวัติที่สตรีตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ มีอาการปวดท้องน้อย มีเศษชิ้นเนื้อหลุด หรือมีถุงการตั้งครรภ์หลุดออกมา แล้วอาการปวดท้อง น้อยดีขึ้น และปริมาณเลือดที่ออกทางช่องคลอดลดลง
ข. การตรวจร่างกาย: หากไม่มีการเสียเลือดมาก สัญญาณชีพมักปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีภาวะซีด ไม่มีอาการปวดท้องน้อย
ค. การตรวจภายใน: พบเลือดปริมาณไม่มากในช่องคลอด รูปากมดลูกปิด ไม่มีเลือดไหลออกจากปากมดลูกอย่างรุนแรง ขนาดของมดลูกมักจะเล็กกว่าอายุครรภ์ เพราะได้แท้งเด็กออกมาแล้ว กดที่หน้าท้องขณะตรวจภายใน ไม่มีการเจ็บที่ตัวมดลูกและที่ปีกมดลูก
ง. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: โดยทั่วไปหากสตรีตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออก มีชิ้น ส่วนของทารก รก หลุดออกมาแล้ว และตรวจร่างกายพร้อมตรวจภายในพบว่า เป็นการแท้งที่สม บูรณ์แล้ว มักไม่ต้องตรวจทางห้องปฏิบัติการต่อ ยกเว้นแพทย์ไม่แน่ใจว่าจะมีเศษชิ้นส่วนหลง เหลืออยู่ในโพรงมดลูกหรือไม่ แพทย์จะทำการตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดเพื่อยืนยันการวินิจฉัยอีกครั้ง ส่วนการตรวจปัสสาวะเพื่อดูว่ามีฮอร์โมนที่เกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือไม่ มักไม่จำเป็น เพราะระดับฮอร์โมนในเลือดอาจยังคงมีอยู่ จึงทำให้ตรวจปัสสาวะพบว่ายังตั้งครรภ์อยู่ได้
รักษาภาวะแท้งสมบูรณ์อย่างไร?
การรักษาภาวะแท้งสมบูรณ์คือ
- ในกรณีที่อายุครรภ์น้อย มีการแท้งเองจากที่บ้านและแท้งสมบูรณ์แล้ว การเสียเลือดไม่มาก แพทย์จะให้ยาบำรุงเลือดกลับไปรับประทานต่อที่บ้าน ไม่ต้องทำหัตถการใดๆ เพียงแต่แพทย์ต้องให้กำลังใจ แสดงความเห็นอกเห็นใจที่สูญเสียลูกในครรภ์ ให้ความหวังในการตั้งครรภ์ครั้งต่อไป
- ในกรณีที่อายุครรภ์มาก มักมีการเสียเลือดมาก แพทย์อาจจำเป็นต้องให้นอนโรงพยาบาล เพื่อให้เลือดให้น้ำเกลือและตามด้วยให้รับประทานยาเม็ดบำรุงเลือด
ดูแลตนเองหลังแท้งสมบูรณ์อย่างไร?
การดูแลตนเองหลังแท้งสมบูรณ์คือ การแท้งทำให้เกิดการสูญเสียเลือด ถ้าเสียเลือดมากทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย จึงต้องพักผ่อนให้เพียงพอ ต้องรับประทาน อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ ให้ครบถ้วนในทุกวัน เพื่อส่งเสริมให้ร่างกายกลับมาแข็งแรงเหมือนเดิม ควรต้องรับประทานยาบำรุง ธาตุเหล็ก/ยาบำรุงเลือดตามแพทย์สั่ง ต้องสังเกตอาการผิดปกติต่างๆหรือภาวะแทรกซ้อน เช่น มีไข้ น้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น เลือดออกทางช่องคลอดมากขึ้น ยังปวดท้องน้อยมาก
โดยทั่วไปหากไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ที่ก่ออาการผิดปกติต่างๆ) เลือดที่ออกทางช่องคลอด และปริมาณเลือดจะค่อยๆลดลง ไม่มีไข้ น้ำคาวปลาไม่มีกลิ่นผิดปกติ แต่ถ้ามีอาการผิตปกติหรือเมื่อกังวลในอาการ ก็ควรรีบกลับมาพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล
หลังแท้งสมบูรณ์นานเท่าไหร่จึงจะตั้งครรภ์ได้อีก?
ไม่มีการศึกษาที่บอกได้แน่นอนว่า หลังการแท้งนานเท่าใดจึงจะตั้งครรภ์ได้ กรณีแท้งสม บูรณ์แล้วมักไม่ต้องมีการขูดมดลูกตามมา เพราะฉะนั้นหากสุขภาพฟื้นตัวเร็ว สามารถวางแผนตั้ง ครรภ์ได้เลย แต่หากมีการเสียเลือดไปมาก อาจต้องบำรุงร่างกายและมีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว เช่น การใช่ถุงยางอนามัยชายสัก 2 - 3 เดือนก่อนที่จะปล่อยให้ตั้งครรภ์
มีวิธีการป้องกันการแท้งหรือไม่?
สตรีตั้งครรภ์ทั่วไปมีโอกาสแท้ง 10 - 15% หลักการป้องกันการแท้งทั่วๆไปที่รวมถึงแท้ง สมบูรณ์ได้แก่
1. ตั้งครรภ์ในช่วงอายุที่เหมาะสม คือ อายุ 20 - 34 ปี
2. รับประทานอาหารมีประโยชน์ 5หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
3. ฝากครรภ์แต่เนิ่นๆ
4. ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงควันบุหรี่ (สูบบุหรี่มือสอง)
5. หลีกเลี่ยงมลพิษต่างๆ
6. หากมีโรคประจำตัวควรรับการรักษาจนควบคุมโรคได้ดีก่อน หรือปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อวางแผนตั้งครรภ์
บรรณานุกรม
1. https://reference.medscape.com/article/266317-overview#showall [2021,Jan30]
2. https://www.aafp.org/afp/2005/1001/p1243.html [2021,Jan30]