แท้งซ้ำ (Recurrent miscarriage)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

ภาวะแท้งซ้ำคืออะไร?

ภาวะแท้งซ้ำ หรือบางคนเรียกว่า แท้งซ้ำซาก ในภาษาอังกฤษใช้ว่า Recurrent miscar riage หรือ Recurrent abortion หรือ Recurrent pregnancy loss หมายถึง การที่สตรีตั้งครรภ์ มีการแท้งบุตรเอง (ในอายุครรภ์ที่ยังไม่สามารถเลี้ยงเด็กให้รอดชีวิตได้) ติดต่อกันตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไป [ทั้งนี้ไม่นับรวมการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) หรือการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก(ครรภ์ไข่ปลาอุก)] อุบัติการณ์ของการแท้งซ้ำพบได้ 1 - 2% ของสตรีตั้งครรภ์

 

ภาวะแท้งซ้ำเป็นภาวะที่สร้างความเสียใจแก่สตรีตั้งครรภ์และครอบครัวอย่างมาก เป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อยากให้เกิด ในขณะเดียวกันแพทย์ผู้ดูแลก็มีความกดดันด้วย เนื่องจากบางครั้งไม่สามารถหาสาเหตุการแท้งซ้ำได้

 

ใครที่มีโอกาสเสี่ยงต่อการแท้งซ้ำ?

แท้งซ้ำ

สตรีตั้งครรภ์ทั่วไปมีโอกาสแท้งเอง 1 ครั้งประมาณ 15% และพบแท้งซ้ำประมาณ 1 -2% ของการตั้งครรภ์โดยรวม โดยปัจจัยเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการแท้งซ้ำได้แก่

1. สตรีตั้งครรภ์มีอายุมาก ทำให้ลูกมีโอกาสที่จะมีโครโมโซมผิดปกติสูงขึ้น

2. การมีประวัติแท้งในครรภ์ก่อนๆ จะมีโอกาสแท้งมากกว่าผู้ที่ไม่เคยแท้ง

3. คู่สมรสมีโครโมโซมที่ผิดปกติ ทำให้ลูกมีโอกาสที่จะมีโครโมโซมผิดปกติมากขึ้น

4. สตรีตั้งครรภ์มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไท รอยด์ฮอร์โมน) ที่ทำให้การพัฒนาการทารกผิดปกติ

5. ภาวะ Antiphospholipid antibody syndrome คือ ภาวะที่มีเส้นเลือดอุดตันจากลิ่มเลือด(Vascular thrombosis) จึงส่งผลให้มีเลือดไปเลี้ยงทารกไม่สมบูรณ์พอ

6. มีการติดเชื้อในโพรงมดลูก ทำให้ทารกเสียชีวิตหรือมีความพิการแต่กำเนิด ที่ทำให้เกิดการ แท้งตามมา

7. มีความผิดปกติของรูปร่างของมดลูกและ/หรือของโพรงมดลูก เช่น จากการมีเนื้องอกมด ลูก (Uterine fibroid) หรือมีความผิดปกติตั้งแต่กำเนิดของมดลูก เช่น มีผนัง/มีพังผืดในโพรงมดลูก (Septate uterus), มดลูกมีสองโพรงมดลูก (Bicornuate uterus) จึงทำให้การฝังตัวของตัวอ่อนผิดปกติก่อให้เกิดการแท้งตามมา

8. ปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetent) ทำให้ไม่สามารถพยุงถุงการตั้งครรภ์ไว้ได้ จึงทำให้เกิดการแท้ง

 

อาการที่บ่งบอกว่าจะมีการแท้งซ้ำคืออะไร?

อาการของการเกิดแท้งซ้ำเช่นเดียวกับอาการจากการแท้งทั่วไป ได้แก่

1. ปวดหน่วงท้องน้อย

2. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด

3. ถุงน้ำคร่ำแตก

 

อนึ่ง: ทารกที่มีความผิดปกติทางโครโมโซม มักเกิดการแท้งขึ้นในช่วงไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ (3 เดือนแรก) ส่วนสาเหตุที่เกิดจากความผิดปกติของมดลูก มักทำให้เกิดการแท้งใน ช่วงไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ (อายุครรภ์ 4 - 5 เดือน)

 

สตรีตั้งครรภ์ควรดูแลตนเองอย่างไรไม่ให้เกิดการแท้งซ้ำ?

สตรีที่ตั้งครรภ์ทุกคนมีโอกาสแท้งเอง 1 ครั้งประมาณ 15% ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งเมื่อมีการแท้ง เมื่อตั้งครรภ์ครั้งต่อไป มีโอกาสเกิดการแท้งเพิ่มเป็น 30% ดังนั้นสตรีที่เคยมีการแท้ง ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล เพื่อที่จะประเมินความเสี่ยงต่างๆที่จะทำให้เกิดการแท้งซ้ำได้อีก สตรีตั้งครรภ์ไม่ควรชะล่าใจที่จะรอให้เกิดการแท้งซ้ำแล้วซ้ำเล่าอีกหลายครั้งจึงไปพบแพทย์ เพราะสาเหตุบางอย่างสามารถแก้ไขได้ทันท่วง ที (เช่น การติดเชื้อในโพรงมดลูก) ทำให้สามารถตั้งครรภ์ที่ 2 หรือ 3 สำเร็จได้

 

แพทย์รักษาภาวะแท้งซ้ำอย่างไร?

การรักษาภาวะแท้งซ้ำขึ้นกับสาเหตุที่ทำให้เกิดการแท้งซ้ำ ได้แก่

1. รักษา ควบคุม โรคประจำตัว เพื่อให้ภาวะการเจริญพันธุ์กลับมาเป็นปกติ เช่น โรคเบาหวาน ภาวะไทรอยด์ฮอร์โมนต่ำ (ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน)

2. ในกรณีที่มีโรค Antiphospholipid antibody syndrome ต้องมีการให้ยากลุ่มสเตียรอยด์ แอสไพริน เฮพาริน (Heparin)

3. กรณีที่มีความผิดปกติที่โพรงมดลูกจากการมีเนื้องอกหรือมีพังผืด ต้องมีการผ่าตัดออก

4. หากมีการปิดไม่สนิทของปากมดลูก โดยทั่วไปจะมีการเย็บผูกปากมดลูก (Cervical cerclage) ตอนอายุครรภ์ประมาณ 16 สัปดาห์ และจะตัดสายผูกนี้ตอนอายุครรภ์ครบกำ หนดคลอด

5. หากเกิดจากความผิดปกติของโครโมโซม การรักษาอาจต้องใช้เทคโนโลยีช่วยเจริญพันธุ์ เช่น ใช้น้ำเชื้ออสุจิบริจาคหรือไข่บริจาคมาผสม หรือทำเด็กหลอดแก้ว

6. ในกรณีที่มีระดับฮอร์โมนเพศหญิงผิดปกติ เช่น Luteal phase defect ต้องมีการเสริมฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin)

 

มีวิธีสืบค้นหาสาเหตุแท้งซ้ำอย่างไร?

โดยทั่วไป หากสตรีที่มีประวัติการแท้งซ้ำมาพบแพทย์ แพทย์มักจะเริ่มสืบค้นหาสาเหตุ เมื่อแท้งไป 2 ครั้ง มักจะไม่รอให้แท้งถึง 3 ครั้ง สิ่งที่ต้องตรวจเพิ่มเติม/สืบค้น นอกจากการสอบถามประวัติทางการแพทย์ การตรวจร่างกาย และการตรวจภายในเรียบร้อยแล้ว คือ

1. ตรวจเลือดดูโครโมโซมทั้งคู่ สามี ภรรยา

2. ตรวจเลือดเพื่อ ดูระดับฮอร์โมนต่างๆ เช่น ไทรอยด์ฮอร์โมน ฮอร์โมนเพศ เช่น โปรแลค ติน (Prolactin) ตรวจหาโรคเบาหวาน ตรวจระดับแอนติบอดี/Antibody (สารภูมิต้านทาน ) เพื่อดูโรคต่างๆที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันต้านทานโรคของร่างกาย ที่อาจเป็นสาเหตุแท้งซ้ำได้ เช่น โรค Antiphospholipid antibody syndrome

3. ตรวจคลื่นเสียงความถี่สูง (อัลตราซาวด์) บริเวณอุ้งเชิงกราน เพื่อประเมินความผิดปกติของมดลูกและรังไข่

4. ตรวจประเมินสภาพภายในโพรงมดลูกโดยการส่องกล้องเข้าไปในโพรงมดลูก (Hystero scopy) และ/หรือ โดยการฉีดสารทึบแสง/การฉีดสีเข้าไปในโพรงมดลูก (Hysterosalpin gogram)

 

มีวิธีป้องกันการแท้งซ้ำหรือไม่?

วิธีป้องกันแท้งซ้ำได้แก่

1. งดดื่มเหล้า สูบบุหรี่ ตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์และระหว่างตั้งครรภ์

2. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษต่างๆ

3. รีบไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ คือ เมื่อสงสัยว่าตนเองตั้งครรภ์ (ขาดประจำเดือนหลังมีเพศ สัมพันธ์)

4. หลีกเลี่ยงการทำงานหนัก

5. พักผ่อนให้เพียงพอ

6. กินอาหารมีประโยชน์ 5 หมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน

7. ออกกำลังกายสม่ำเสมอตามควรกับสุขภาพทุกวัน

8. ควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ตั้งแต่มีเพศสัมพันธ์เพื่อการวางแผนครอบครัว และเพื่อการเตรียม ร่างกายเมื่อประสงค์จะมีบุตร

 

หากแท้งซ้ำแล้วจะมีโอกาสตั้งครรภ์หรือไม่?

หากมีการแท้งซ้ำ ยังมีโอกาสที่จะตั้งครรภ์สำเร็จจากการตั้งครรภ์ได้ หากแพทย์หาสาเหตุ การแท้งซ้ำพบและรักษาที่สาเหตุ ซึ่งโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จประมาณ 60 - 65% และเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ที่สำเร็จจะไม่มีความผิดปกติ จะไม่แตกต่างจากเด็กที่เกิดจากการตั้งครรภ์ทั่วไป

 

บรรณานุกรม

  1. Ford HB, Schust DJ. Recurrent pregnancy loss: etiology, cause and therapy. Rev Obstet Gynecol 2009;2:76-83.
  2. https://emedicine.medscape.com/article/260495-overview#aw2aab6b8 [2019,May18]
  3. https://www.uptodate.com/contents/definition-and-etiology-of-recurrent-pregnancy-loss [2019,May18]