แท้งค้าง (Missed abortion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

แท้งค้างหมายถึงอะไร?

แท้งค้าง (Missed abortion หรือ Missed miscarriage หรือ Silent miscarriage) เป็นการแท้งชนิดหนึ่ง โดยที่ทารกเสียชีวิตในครรภ์เป็นระ ยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่สามารถแท้งออกมาเองก่อนที่แพทย์จะตรวจพบและทำการยุติการตั้ง ครรภ์ ในอดีตเคยกำหนดระยะเวลาว่าทารกต้องเสียชีวิตนานเกิน 8 สัปดาห์ จึงจะเรียกว่าเป็นแท้งค้าง แต่ปัญหาก็คือ เป็นไปได้ยากที่จะรู้ว่าทารกเสียชีวิตจริงๆมานานเท่าไหร่แล้ว การแท้งเองที่เกิดขึ้นได้ทั่วไป พบได้ประมาณ 15 - 20% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด ส่วนภาวะแท้งค้างนี้ พบได้ประมาณ 1% การตั้งครรภ์ทั้งหมด

สาเหตุของแท้งค้างมีอะไรบ้าง?

แท้งค้าง

สาเหตุของแท้งค้าง ได้แก่

1. ทารกในครรภ์มีโครโมโซมผิดปกติ เป็นสาเหตุที่พบมากที่สุดที่ทำให้ทารกเสียชีวิต

2. มารดา ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และ/หรือ ใช้สารเสพติด/ยาเสพติด

3. การติดเชื้อของทารกในครรภ์เอง หรือติดเชื้อที่มารดาแล้วมีผลกระทบต่อทารกในครรภ์

4. มารดามีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน

5. การที่มารดาได้รับสารพิษจากสิ่งแวดล้อม

แท้งค้างมีอันตรายอย่างไร?

แท้งค้าง ก่ออันตรายหรือส่งผลข้างเคียง (ภาวะแทรกซ้อน) ได้ดังนี้

1. ผลกระทบด้านจิตใจของ สตรีตั้งครรภ์ สามี และรวมทั้งครอบครัว

2. ระบบการแข็งตัวของเลือดในมารดาผิดปกติ เลือดออกง่ายแต่หยุดยาก

3. มีการติดเชื้อในโพรงมดลูกของมารดา และสามารถกระจายติดเชื้อไปทั่วร่างกายได้

สังเกตตนเองอย่างไรว่ามีภาวะแท้งค้าง?

สามารถสังเกตตนเองได้ว่า อาจมีภาวะแท้งค้าง โดย

1. จากที่เคยมีอาการคลื่นไส้อาเจียน แล้วอาการเหล่านั้นหายไป

2. จากที่เคยมีอาการคัดตึงเต้านม แล้วอาการนั้นหายไป

3. ขนาดของท้องไม่โตขึ้นตามอายุครรภ์

4. ทารกไม่ดิ้นในอายุครรภ์ที่ควรดิ้น เช่น ท้องแรก สตรีตั้งครรภ์จะรู้สึกว่าลูกดิ้นในช่วงครรภ์อายุประมาณ 18 - 20 สัปดาห์ แต่โดยทั่วไป มักรู้สึกว่าลูกดิ้น ตั้งแต่อายุครรภ์ 13 - 16 สัปดาห์

5. มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com เรื่อง เลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด)

เมื่อมีแท้งค้าง จะสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้หรือไม่?

ในกรณีแท้งค้างนั้น ทารกได้เสียชีวิตแล้ว จึงไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ แพทย์ต้องช่วยยุติการตั้งครรภ์

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งค้างได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งค้าง ได้จาก

ก. ประวัติทางการแพทย์: แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการที่บ่งบอกว่าตั้งครรภ์ เช่น อาการคลื่นไส้ อาเจียน คัดตึงเต้านม หากเคยมีอาการเหล่านี้แล้วจู่ๆหายไปในระยะเวลาที่ยังควรมีอาการเหล่านี้อยู่ ก็จะทำให้น่าสงสัย หรือการที่มารดาเคยรู้สึกว่าทารกที่เคยดิ้นแล้วไม่ดิ้น ขนาดมดลูกไม่โตขึ้น มีจุดหรือจ้ำเลือดออกตามตัว และ/หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด

ข. การตรวจร่างกาย และ การตรวจภายใน: แพทย์ตรวจพบขนาดมดลูกเล็กกว่าอายุครรภ์ หรือขนาดมดลูกไม่โตสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ขาดประจำเดือน ไม่สามารถฟังได้ยินเสียงการเต้นของหัวใจทารกในระยะเวลาที่ควรจะฟังได้ ในกรณีที่เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างรุนแรงจากการแท้งค้างแล้วมีผลต่อระบบการแข็งตัวของเลือดทั่วร่างกาย อาจจะพบจุดเลือดออกตามตัวหรือแขนขามารดาได้

ค.การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: เช่น

1. การทดสอบการตั้งครรภ์โดยการตรวจปัสสาวะ ในกรณีที่ทารกเสียชีวิตไม่นาน อาจยังตรวจพบฮอร์โมนที่แสดงว่าตั้งครรภ์ได้ แต่หากเสียชีวิตไปนานเกิน 1 เดือน มักตรวจไม่พบฮอร์โมนนี้

2. การตรวจเลือด เพื่อหาระดับฮอร์โมน ß-hCG (Beta human chorionic gonadotropin) ที่แสดงถึงการตั้งครรภ์ หากทารกเสียชีวิต ระดับฮอร์โมนนี้จะลดต่ำลงเรื่อย แต่เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก สตรีตั้งครรภ์ต้องเจ็บตัว ต้องเสียเวลาในการรอผล แพทย์จึงใช้วิธีนี้ในบางกรณีเท่านั้น เช่น อายุครรภ์ที่น้อยมากที่ยังไม่สามารถตรวจพบทารกได้จากการตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์

3. การตรวจครรภ์ด้วยอัลตราซาวด์ เป็นวิธีการตรวจมาตรฐานที่ใช้วินิจฉัยการมีชีวิตอยู่ของทารกในครรภ์ ในอายุครรภ์ที่เล็กๆ การตรวจอัลตราซาวน์ผ่านทางช่องคลอดจะเห็นภาพได้ชัดกว่าการตรวจอัลตราซาวนด์ทางหน้าท้อง โดยแพทย์จะตรวจไม่พบการเต้นของหัวใจทา รกซึ่งควรตรวจพบได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 7 สัปดาห์ขึ้นไป

  • ในกรณีที่แพทย์ไม่มั่นใจว่าทารกเสียชีวิตจริงเนื่องจากอายุครรภ์ยังน้อย แพทย์มักจะนัดมาตรวจซ้ำในอีกประมาณ 2 สัปดาห์ข้างหน้าเพื่อยืนยันผล
  • ในกรณีที่ทารกเสียชีวิตในอายุครรภ์ที่มากแล้วและเสียชีวิตมาเป็นระยะเวลานาน สามารถตรวจพบความผิดปกติของโครงร่างของกระดูกทารกในครรภ์ได้

ดูแลตนเองอย่างไรเมื่อมีภาวะแท้งค้าง?

หากทารกในครรภ์เสียชีวิตไม่นาน และอายุครรภ์ไม่มาก ภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง)ต่อมารดาค่อยข้างน้อย การดูแลตนเองคือเมื่อทราบว่าหรือคิดว่าตั้งครรภ์ก็ควรรีบไปตรวจ/ไปพบสูตินรีแพทย์/ไปโรงพยาบาลเพื่อฝากครรภ์ ควรไปพบแพทย์ตามกำหนดนัด และหากมีอา การผิดปกติตามที่กล่าวมาแล้วต้องรีบไปพบแพทย์ก่อนกำหนด หากเคยรู้สึกว่าลูกดิ้นแล้วหยุดดิ้นไป ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเช่นกัน

ในบางกรณีที่มีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง ทำให้กระบวนการแข็งตัวของเลือดเสียไป (Con sumptive coagulopathy) ทำให้เลือดออกง่าย หยุดยาก อาจมีจุดหรือรอยจ้ำเลือดตามร่าง กาย มีเลือดออกตามไรฟัน ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

การดูแลรักษาของแพทย์มีอะไรบ้าง?

เมื่อแพทย์วินิจฉัยได้ว่ามีการแท้งค้างเกิดขึ้น การรักษาขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และแพทย์จะพิจารณาร่วมกับความต้องการของสตรีตั้งครรภ์และครอบครัว

วิธีการหรือแนวทางการรักษามีดังนี้

1. รอสังเกตอาการ ให้เกิดการแท้งออกมาเอง ซึ่งวิธีนี้อาจต้องเสียเวลานาน และเพิ่มความ เครียดให้สตรีตั้งครรภ์

2. ใช้ยากลุ่ม Misoprostol (ยาช่วยเร่งการคลอด, อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บท ความเรื่อง การใช้ยายุติการตั้งครรภ์) เหน็บช่องคลอด หรือรับประทาน หรืออมใต้ลิ้น เพื่อทำให้เกิดการแท้งตามมา

  • ข้อดีของวิธีนี้คือใช้ได้กับทุกอายุครรภ์ แต่ขนาดยาแตกต่างกันไป สตรีตั้งครรภ์ไม่เจ็บตัว
  • ข้อด้อยวิธีนี้คือ อาจต้องใช้เวลา 2 - 3 วันกว่าจะแท้ง ต้องนอนโรงพยาบาล หรือมีโอกาสแท้งไม่สมบูรณ์ ต้องมีการขูดมดลูกตามอีกครั้ง

3. การดูดทารกออกด้วยกระบอกสุญญากาศ (Manual vacuum aspiration) ใช้ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่มาก (น้อยกว่า 12 สัปดาห์)

  • ข้อดีของวิธีนี้ คือ สามารถทำได้ในเวลารวดเร็ว สามารถเอาสิ่งที่คั่งค้างในโพรงมดลูกออกได้สมบูรณ์ โอกาสมดลูกทะลุน้อยกว่าการใช้เครื่องมือเหล็กขูดมดลูก

4. การขูดมดลูกด้วยเครื่องมือขูดมดลูก ใช้ในกรณีที่อายุครรภ์ไม่มาก(น้อยกว่า12 สัปดาห์)

  • ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถทำได้ในเวลารวดเร็ว สามารถเอาสิ่งที่คั่งค้างในโพรงมดลูกออกได้สมบูรณ์
  • ข้อด้อยวิธีนี้คือ เจ็บตัว เสียเลือดมากกว่า หรือมีโอกาสมดลูกทะลุจากเครื่องมือได้

หากครรภ์นี้มีภาวะแท้งค้าง ครรภ์ครั้งหน้าจะเกิดซ้ำอีกหรือไม่?

ภาวะแทรกซ้อนทางสูติศาสตร์ (ทางการตั้งครรภ์) มักเป็นเหตุการณ์ที่มีโอกาสเกิดซ้ำได้อีกในครรภ์ต่อไป รวมถึงการแท้งบุตร (รวมถึงการแท้งค้างด้วย) ซึ่งหาก

  • ครรภ์แรกแท้ง ครรภ์ต่อ ไปมีโอกาสแท้งประมาณ 20%
  • หากแท้ง 2 ครั้ง โอกาสที่ครรภ์ครั้งที่ 3 จะแท้งเป็นประมาณ 28%
  • หากแท้ง 3 ครั้ง โอกาสที่ครรภ์ครั้งที่ 4 จะแท้งเป็นประมาณ 43%

หลังภาวะแท้งค้าง ต้องคุมกำเนิดหรือไม่?

เมื่อมีการแท้งค้างเกิดขึ้น จำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์ตามที่กล่าวมาแล้ว

กรณีเมื่อได้รับการรักษาโดยการขูดมดลูก หากยังไม่ต้องการตั้งครรภ์ สามารถคุมกำเนิดต่อไปได้เลย ไม่ว่าจะใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด ยาฉีดคุมกำเนิด หรือถุงยางอนามัยชาย แต่หากต้องการมีบุตร ยังไม่มีข้อมูลชัดเจนว่าควรคุมกำเนิดไปนานเท่าไร จึงจะเป็นเวลาที่ดีที่สุดที่จะตั้งครรภ์ครั้งใหม่ได้ ในทางปฏิบัตินิยมแนะนำให้มีการคุมกำเนิดไปก่อนประมาณ 1 - 3 เดือน เพื่อเตรียมความพร้อมของโพรงมดลูก สามารถใช้ถุงยางอนามัยชายหรือรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดเป็นระยะเวลาสั้นๆได้

ในกรณีที่แพทย์ใช้วิธีเหน็บยาให้เกิดการแท้งโดยไม่ได้ขูดมดลูก หากต้องการตั้งครรภ์ต่อ ก็สามารถทำได้เลย ไม่ได้เป็นข้อห้ามแต่อย่างใด แต่ถ้ายังไม่ต้องการมีบุตร ก็สามารถคุม กำเนิดด้วยวิธีต่างๆได้เลย

อนึ่ง การคุมกำเนิดมีได้หลากหลายวิธี ดังนั้นผู้ป่วยจึงควรปรึกษาสูตินรีแพทย์ที่ให้การดู แลรักษาเพื่อเป็นการวางแผนครอบครัว เพื่อการแนะนำวิธีคุมกำเนิดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยและครอบครัว

หลังการรักษาแท้งค้างแล้ว ควรดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองหลังแท้งค้างเหมือนการดูแลตนเองหลังการแท้งทั่วไป

  • กรณีที่ได้รับการขูดมดลูก หากไม่มีภาวะแทรกซ้อน เช่น การติดเชื้อในโพรงมดลูก จะมีเลือดออกทางช่องคลอดอีก 2 - 3 วัน จะไม่มีอาการปวดมดลูก มดลูกจะค่อยๆเข้าอู่ (หดตัวเล็กลงจนเป็นปกติเหมือนก่อนตั้งครรภ์)
  • ในกรณีที่มีเลือดออกมากจากการแท้ง แพทย์จะแนะนำให้รับประทานธาตุเหล็กเสริมอาหารเพื่อป้องกันภาวะโลหิตจาง
  • ผู้ป่วยควรงดมีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 2 สัปดาห์
  • ควรงดการทำงานหนัก และ
  • งดว่ายน้ำในสระน้ำหรือเล่นน้ำคลองอย่างน้อย 2 สัปดาห์จนกว่าจะไม่มีเลือดออกทางช่องคลอด เพราะอาจเกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้ง่าย
  • ในกรณีที่มีความผิดปกติ เช่น มีไข้ ปวดท้องน้อย มีเลือดออกทางช่องคลอดนานเกิน 7 วันหลังการรักษา และ/หรือน้ำคาวปลามีกลิ่นเหม็น ควรรีบกลับไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

มีวิธีการป้องกันภาวะแท้งค้างหรือไม่?

เนื่องจากเราไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจนว่า เมื่อทารกเสียชีวิตแล้วทำไมไม่แท้งออกมา จึงเป็นการยากที่จะหาวิธีป้องกันภาวะแท้งค้าง

อย่างไรก็ตาม การดูแลตนเองให้ดีระหว่างตั้งครรภ์ จะเป็นวิธีที่ช่วยให้ทารกในครรภ์แข็งแรงสมบูรณ์ ลดโอกาสที่ทารกจะเสียชีวิตในครรภ์ลงได้ เช่น

  • รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ห้าหมู่)
  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อต่างๆ
  • งดดื่มเหล้า (เครื่องดื่มแอลกอฮอล์)
  • ไม่สูบบุหรี่
  • ลดการเผชิญกับสารพิษหรือมลภาวะที่เลวร้าย
  • ฝากครรภ์กับสูตินรีแพทย์ และพบสูตินรีแพทย์/มาโรงพยาบาลตรงตามแพทย์นัด

บรรณานุกรม

  1. http://www.nlm.nih.gov/medlineplus/ency/article/001488.htm [2019,March16]
  2. https://www.uptodate.com/contents/spontaneous-abortion-management [2019,March16]
  3. https://www.healthline.com/health/pregnancy/missed-abortion#symptoms [2019,March16]