แท้งคุกคาม (Threatened abortion)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

การแท้งบุตร หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า Miscarriage หรือ Abortion หมายถึง การสิ้นสุดการตั้งครรภ์ก่อนที่ทารกที่คลอดออกมาจะมีชีวิตรอด (ตามเกณฑ์ของประเทศไทย อายุครรภ์ น้อยกว่า 28 สัปดาห์ สำหรับต่างประเทศใช้อายุครรภ์ < 20 สัปดาห์) ทั้งนี้เป็นการแท้งบุตรที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ไม่ใช่เกิดจากการไปทำแท้ง

การแท้งบุตร มีหลายประเภท ได้แก่ แท้งคุกคาม แท้งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แท้งไม่สมบูรณ์ แท้งสมบูรณ์ แท้งค้าง แต่ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะ เรื่องแท้งคุกคาม (Threatened abortion หรือ Threatened miscarriage)

แท้งคุกคามหมายถึงอะไร?

แท้งคุกคาม

แท้งคุกคาม หมายถึง มีการตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออกทางช่องคลอดให้สังเกตได้ ซึ่งเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดการสิ้นสุดการตั้งครรภ์ หรือนำไปสู่การแท้งบุตรได้

อุบัติการณ์ของแท้งคุกคามพบได้ประมาณ 20 - 30% ของการแท้งบุตร (มีรายงานพบการแท้งบุตรในช่วงอายุครรภ์ประมาณ 5 - 20 สัปดาห์ได้ประมาณ 11 - 22% ของการตั้งครรภ์ทั้งหมด โดยโอกาสแท้งจะลดลงเรื่อยๆเมื่ออายุครรภ์สูงขึ้น) และครึ่งหนึ่งจะเกิดแท้งบุตรไปจริงๆ ที่เหลือประมาณ 50% สามารถจะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้

สาเหตุของแท้งคุกคามมีอะไรบ้าง?

สาเหตุของแท้งคุกคาม ได้แก่

1. อายุ มารดาที่อายุมาก มีโอกาสเกิดภาวะแท้งคุกคามมากกว่าสตรีตั้งครรภ์ที่อายุน้อย

2. การได้รับอุบัติเหตุขณะตั้งครรภ์ที่บริเวณท้องน้อย ทำให้การฝังตัวของทารกที่ผนังมดลูกไม่ดีพอ แต่ก็ไม่รุนแรงถึงกับทำให้หลุดออกมาเป็นการแท้ง

3. การติดเชื้อในช่องคลอด

4. การขาดฮอร์โมนเพศที่ช่วยประคับประครองการตั้งครรภ์ ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่หนาพอสำหรับการฝังตัวของตัวอ่อนในโพรงมดลูก จึงทำให้เกิดการแท้งคุกคามได้

5. ความผิดปกติของทารกในครรภ์ โดยทารกมีความพิการแต่กำเนิดหรือมีโครโมโซมผิด ปกติ

6. ความผิดรูปร่าง หรือผิดปกติของมดลูก โพรงมดลูก ปากมดลูก เช่นกรณีมีเนื้องอกมดลูก จึงทำให้การฝังตัวของรกไม่ปกติ

7. โรคประจำตัวของมารดา เช่น โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคเอสแอลอี

8. การสูบบุหรี่ ทั้งการเป็นผู้สูบโดยตรงและเป็นผู้สูบบุหรี่มือสอง (สามีหรือคนใกล้ชิดเป็นผู้สูบ)

9. ไม่ทราบสาเหตุ

อาการของแท้งคุกคามมีอะไรบ้าง?

แท้งคุกคามมีอาการดังนี้

1. ตกขาวมีสีน้ำตาลจากมีเลือดปน

2. มีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด (ซึ่งปกติไม่ควรจะออก)

3. ปวดท้องน้อย ลักษณะ ปวด บีบๆ บิดๆ

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

ในสตรีที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ส่วนมากจะมีความรู้สึกปวดหน่วงๆในท้องน้อยได้ เกิดเนื่องจากเลือดมาเลี้ยงบริเวณอุ้งเชิงกรานมาก ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ที่สำคัญคือ จะไม่มีเลือดออกจากช่องคลอดตลอดการตั้งครรภ์

ดังนั้นหากมีอาการปวดท้อง/ปวดท้องน้อยมากผิดปกติ ปวดบีบๆ บิดๆ เป็นพักๆ หรือมีเลือดออกทางช่องคลอด ควรต้องรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล

เมื่อมีแท้งคุกคามจะสามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ไหม?

แท้งคุกคาม เป็นภาวะที่สตรีผู้นั้นสามารถตั้งครรภ์ต่อได้ 50/50 หมายความว่า มีโอกาสตั้งครรภ์ต่อได้ (50%) พอๆกับโอกาสที่จะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อได้ (50%) ซึ่งขึ้นกับหลายปัจจัย เช่น

  • หากทารกมีความผิดปกติมาก ธรรมชาติมักจะช่วยทำให้เกิดการแท้งบุตรตามมาในระยะเวลาที่ไม่นานหลังจากมีเลือดออก ส่วนมากมักไม่เกิน 7 วัน
  • แต่ถ้าสาเหตุของเลือดที่ออก เป็นจากสิ่งแวดแล้อม เช่น มีระดับฮอร์โมนเพศที่ผิดปกติแต่ไม่มาก และทารกไม่มีความผิดปกติ มักจะตั้งครรภ์ต่อไปได้

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งคุกคามได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยภาวะแท้งคุกคามได้จาก

ก. ประวัติอาการ: โดยจะมีเลือดออกทางช่องคลอดในขณะที่ตั้งครรภ์อ่อนๆ ในปริมาณที่ไม่มาก ในสตรีบางรายอาจเป็นแค่ตกขาวปนเลือด หรือมีตกขาวเป็นสีน้ำตาล ซึ่งตามปกติในสตรีตั้งครรภ์ไม่ควรมี และมักมีอาการปวดหน่วงๆ/ปวดบีบที่ท้องน้อยร่วมด้วย

ข. การตรวจร่างกาย:

  • แพทย์จะทำการตรวจร่างกายทั่วไป ตรวจเปลือกตาว่ามีซีดหรือไม่ ประเมินว่าเสียเลือดมากน้อยเพียงใด
  • ต่อจากนั้น แพทย์จะตรวจภายในเพื่อประเมินว่า
    • เป็นแท้งชนิดใด สามารถจะดำเนินการตั้งครรภ์ต่อไปได้หรือไม่
    • สภาพของปากมดลูกเปิดหรือปิด
    • ขนาดมดลูกโตสัมพันธ์กับอายุครรภ์หรือไม่
  • ซึ่งการแท้งคุกคามเมื่อตรวจภายใน จะพบว่ามีเลือดเล็กน้อยในช่องคลอด ปากมดลูกปิด และขนาดมดลูกโตสัมพันธ์กับอายุครรภ์

ค. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ: โดย

1. การตรวจปัสสาวะ: ในภาวะแท้งคุกคาม การตรวจปัสสาวะจะยังพบว่ามีฮอร์โมนแสดงถึงมีการตั้งครรภ์อยู่ หรือแม้แต่หากทารกเสียชีวิตไม่นาน การตรวจปัสสาวะก็ยังให้ผลบวกอยู่ จึงไม่นิยมใช้วิธีนี้ในการตรวจเพื่อวินิจฉัยภาวะแท้งคุกคาม

2. ตรวจระดับฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ (beta-hCG: beta human chorionic gonadotropin)ในเลือด: เป็นการตรวจดูว่ามีฮอร์โมนเกี่ยวกับการตั้งครรภ์หรือไม่ เป็นวิธีที่แม่น ยำและอาจจำเป็นต้องตรวจในกรณีที่อายุครรภ์ยังต่ำมาก ยังมองไม่เห็นตัวทารกได้จากอัลตราซาวด์ท้องน้อย หรือไม่สามารถแยกการตั้งครรภ์นอกมดลูก (ท้องนอกมดลูก) ออกไปได้ การเพิ่มของระดับ beta-hCG มากกว่า 66% จากตรวจห่างกัน 48 ชั่วโมง ถือว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติ หากการเพิ่มของระดับ beta-hCG ไม่ถึง 66% แสดงว่าเป็นการตั้งครรภ์ผิดปกติ คือ แท้ง หรือเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูก

3. ตรวจอัลตราซาวด์ท้องน้อย: มีความสำคัญและจำเป็นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ การตรวจอัลตราซาวด์จะบอกได้ว่า ทารกมีชีวิตหรือไม่, เป็นการตั้งครรภ์ปกติ, ตั้งท้องลม, ตั้งครรภ์นอกมดลูก, หรือเป็นการตั้งครรภ์ไข่ปลาอุก ซึ่งทำให้มีเลือดออกขณะตั้งครรภ์ได้

  • หากตรวจอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอด จะทำให้เห็นภาพได้ชัดเจนกว่าการตรวจผ่านหน้าท้อง ซึ่งโดยทั่วไป สามารถเห็นถุงการตั้งครรภ์ในโพรงมดลูกได้ตั้งแต่อายุครรภ์ประมาณ 5 สัปดาห์ เมื่ออายุครรภ์ประมาณ 6 สัปดาห์จะเริ่มเห็นตัวทารก หรือเห็นถุงไข่ (Yolk sac) และหากทารกมีขนาดมาก กว่า 7 มิลลิเมตร ควรที่จะสามารถเห็นการเต้นของหัวใจทารกได้
  • อย่างไรก็ตาม หากแพทย์ไม่แน่ใจ ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์จำประวัติประจำเดือนไม่ได้ จะทำให้การคำนวณอายุครรภ์ผิดไปได้ อายุครรภ์อาจยังอ่อนมากจนการตรวจอัลตราซาวด์มองไม่เห็นตัวทารก เพราะฉะนั้นอย่าเพิ่งรีบตัดสินใจยุติการตั้งครรภ์ แพทย์สามารถนัดไปอีก 2 สัปดาห์แล้วมาตรวจอัลตราซาวด์ใหม่ จะเพิ่มความมั่นใจ ช่วยการตัดสินใจมากยิ่งขึ้น

สตรีตั้งครรภ์ทราบได้อย่างไรว่าแท้งแน่นอน?

สตรีตั้งครรภ์ ไม่สามารถทราบได้ว่า จะแท้งแน่นอนหรือสามารถตั้งครรภ์ต่อได้ตามปกติ

  • โดยทั่วไปครรภ์ที่สามารถดำเนินต่อไปได้ ลักษณะของเลือดที่ออกจะเล็กๆน้อยๆ หรือกะปริด กะปรอย แล้วหยุดไปเอง
  • แต่ในกรณีที่เลือดออกมาก มีเศษชิ้นเนื้อหลุดออกมาด้วย มักจะลงเอยด้วยการแท้ง

*ดังนั้นหากตั้งครรภ์แล้วมีเลือดออก ควรรีบไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาล หรือพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด เพื่อวางแผนการรักษาร่วมกับแพทย์

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองเมื่อมีแท้งคุกคาม ได้แก่

1. ตั้งสติ อย่าตระหนก อย่ากังวลใจมาก

2. พักผ่อนให้มากๆ

3. งดทำงานหนัก

4. ควรงดมีเพศสัมพันธ์ระหว่างมีเลือดออกทางช่องคลอด ตกขาว และอย่างน้อย 2 สัปดาห์หลังเลือดหยุด

5. รับประทานแต่อาหารที่มีประโยชน์ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่)

6. งดดื่มเหล้า งดสูบบุหรี่

7. หากเลือดออกมาก ปวดท้องมาก ควรไปพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด

แพทย์ดูแลรักษาแท้งคุกคามอย่างไร?

หลักการดูแลรักษาการแท้งคุกคาม จะเป็นการรักษาแบบประคับประคองตามอาการ (Supportive treatment)เป็นหลัก การรักษาด้วยยาและการผ่าตัด มีการใช้บ้างเมื่อจำเป็น

1. การรักษาแบบประคับประคอง : ประกอบด้วย

  • แนะนำให้นอนพักผ่อนมากๆ หากจำเป็นอาจให้นอนพักในโรงพยาบาล
  • แพทย์จะประเมินอาการจากการเสียเลือดก่อนเป็นอันดับแรก หากมีการเสียเลือดมาก แพทย์จะพิจารณาให้เลือด หรือสารน้ำทดแทน (ให้น้ำเกลือ)
  • หากปวดท้องมาก พิจารณาให้ยาแก้ปวดชนิดอ่อน เช่น ยาพาราเซตามอล (Paracetamol)

2. ยา:

  • ยังไม่มีคำแนะนำที่ชัดเจนในการให้ยาฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) ป้องกันการแท้งคุกคาม หลักฐานหรือข้อมูลวิจัยมีทั้งพบว่ามีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ในการนำมาใช้ในภาวะแท้งคุกคามในครรภ์แรก เนื่องจากสตรีทุกคนที่ตั้งครรภ์ มีโอการแท้งเองประมาณ 10 - 15% (รวมทุกระยะของอายุครรภ์) และสาเหตุส่วนใหญ่ที่ทำให้เกิดการแท้งในไตรมาสแรกคือ ทารกมีโครโมโซมผิดปกติ ซึ่งเป็นการคัดเลือกทางธรรมชาติ
  • ในกรณีที่มีระดับฮอร์โมนผิดปกติ (Luteal phase defect) ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แข็งแรง มีการลอกตัวของรก สตรีตั้งครรภ์มักมีประวัติแท้งซ้ำซากในอายุครรภ์ไล่เลี่ยกัน หากมีแท้งคุกคามในครั้งที่ 2 หรือ 3 ในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ แพทย์จะพิจารณาฉีดฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน หรือให้รับประทานยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสติน หรือเหน็บยาฮอร์โมนกลุ่มโปรเจสตินในช่องคลอด จนอายุครรภ์ประ มาณ 12 สัปดาห์
  • ในกรณีที่สตรีตั้งครรภ์มีปัญหาหมู่เลือด Rh negative (สตรีไทยส่วนมากเป็นหมู่เลือด Rh positive) และสามีมีหมู่เลือด Rh positive จะได้รับการฉีดยา anti-D immunoglobulin เพื่อป้องกันการทำลายเม็ดเลือดของลูกในครรภ์ต่อไป

3. การผ่าตัด:

  • ในกรณีเกิดภาวะแท้งคุกคามในไตรมาสที่ 2 ของการตั้งครรภ์ สาเหตุมักเกิดจากความผิดปกติทางกายวิภาคของมดลูก และของปากมดลูก หากมีปากมดลูกปิดไม่สนิท (Cervical incompetent) แพทย์จะทำการเย็บปากมดลูก (Cervical cerclage ) รัดไว้ จนอายุครรภ์ครบกำหนดคลอด จึงจะตัดสายที่รัดปากมดลูกออก

ควรฉีดยากันแท้งหรือไม่?

ในสตรีตั้งครรภ์ รายที่มีการแท้งเองติดต่อกันหลายครั้งในช่วงไตรมาสแรกของการตั้ง ครรภ์ และพิสูจน์ได้แน่ชัดว่า เกิดจากการขาดฮอร์โมนเพศ ก็สมควรได้รับการฉีดฮอร์โมนเพศกันแท้ง

แต่หากเพิ่งจะมีอาการแท้งคุกคามครั้งแรก สาเหตุส่วนใหญ่มักไม่ได้เกิดจากการขาดฮอร์โมน ดังนั้น การฉีดฮอร์โมนเพศอาจไม่มีประโยชน์และไม่จำเป็น

หากตั้งครรภ์ต่อไปได้ ทารกจะผิดปกติหรือไม่?

การแท้งคุกคาม มีโอกาสที่จะแท้ง 50% หรือตั้งครรภ์ต่อได้ 50% กรณีเกิดภาวะแท้งคุกคามและเลือดหยุดไหล สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ โอกาสทารกในครรภ์จะมีความพิการไม่ ได้สูงขึ้นกว่าสตรีตั้งครรภ์ปกติ

หากครรภ์นี้แท้งคุกคาม ครรภ์หน้าจะเกิดซ้ำไหม?

กรณีเกิดแท้งคุกคามในครรภ์แรก ครรภ์ต่อไปจะมีโอกาสเกิดขึ้นซ้ำได้หากสาเหตุยังคงเดิม ไม่ได้รับการแก้ไข เช่น ระดับฮอร์โมนเพศที่จะมีผลทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกไม่แข็งแรงพอ หรือมีภาวะปากมดลูกปิดไม่สนิท หรือมีโรคประจำตัว แต่หากมีการแก้ไขสาเหตุแล้ว การตั้ง ครรภ์ครั้งต่อไปก็ไม่น่าจะมีปัญหา

หากมีแท้งคุกคาม ควรตั้งครรภ์ครั้งหน้าเมื่อไร?

หากการตั้งครรภ์แรก มีภาวะแท้งคุกคามแต่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้จนกระทั่งครบกำ หนดคลอด การวางแผนตั้งครรภ์ครั้งต่อไปจะเหมือนสตรีหลังคลอดทารกปกติ (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ระยะหลังคลอด) โดยส่วนมาก แพทย์แนะนำให้เว้นช่วงการตั้งครรภ์ ประมาณ 2 ปี

แต่หากมีแท้งคุกคามและไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ การตั้งครรภ์นั้นก็สิ้นสุดลง ระบบฮอร์โมนเพศในร่างกายจะกลับมาเป็นปกติได้เร็วกว่าสตรีที่คลอดทารกครบกำหนด จึงสามารถตั้งครรภ์ต่อได้เลยหากต้องการ โดยเฉพาะหากไม่ได้ทำหัตถการขูดมดลูก แต่อย่างไรก็ตาม นิยมให้คำแนะนำให้คุมกำเนิด (อ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การวางแผนครอบครัว) หรือเว้นระยะมีบุตร 3 เดือน เพื่อให้โพรงมดลูกกลับมาเป็นปกติก่อน

ป้องกันแท้งคุกคามได้อย่างไร?

วิธีป้องกันภาวะแท้งคุกคาม แบ่งเป็น

1. สาเหตุที่ป้องกันได้:

  • งดการดื่มเหล้า สูบบุหรี่ สารเสพติด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่างๆที่ไม่จำเป็น
  • รับประทานอาหารให้ครบทุกหมู่ (อาหารมีประโยชน์ 5 หมู่) ในทุกๆวัน
  • รักษา ควบคุมโรคประจำตัวที่เป็นอยู่ให้ได้ดี
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • หลีกเลี่ยงการใช้หรือสัมผัสสารเคมีต่างๆ
  • แก้ไข ผ่าตัด ในกรณีที่มีความผิดปกติของโพรงมดลูก

2. สาเหตุที่ป้องกันไม่ได้

  • โครโมโซมทารกในครรภ์ผิดปกติ
  • การเกิดโรคประจำตัวของผู้ป่วยเอง

บรรณานุกรม

  1. http://www.bmj.com/content/329/7458/152 [2019,March30]
  2. https://www.mdguidelines.com/Login?ReturnUrl=/mda/threatened-abortion [2019,March30]
  3. https://www.uptodate.com/contents/spontaneous-abortion-management [2019,March30]