แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 13 สิงหาคม 2565
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ: คือยาอะไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
- มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?
- ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีชื่ออื่นอีกไหม?ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- ยารักษาโรค (Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคกระดูกพรุน โรคกระดูกบาง (Osteoporosis and Osteopenia)
- ยาลดกรด (Antacids)
- อาหารไม่ย่อย ธาตุพิการ (Indigestion)
- ยาช่วยย่อย (Digestive drug)
- แผลเปบติค (Peptic ulcer) / แผลในกระเพาะอาหาร (Gastric ulcer)
- ต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน (Hyperparathyroidism)
บทนำ: คือยาอะไร?
แคลเซียมคาร์บอเนต (Calcium Carbonate) คือ ยาที่ทางเภสัชกรรม/นักวิทยาศาสตร์ได้นำมาผลิตเป็นหลายสูตรตำรับยา เช่น ยากลุ่มบำรุงและเสริมสร้างกระดูก, ยาลดกรด, ยาช่วยย่อย, ยาแก้ท้องอืด, ยาแก้ท้องเสีย, แต่ที่พบมากที่สุดในตลาดยาบ้านเรา จะเป็นรูปแบบของยาบำรุงและเสริมสร้างกระดูก
ธรรมชาติของแคลเซียมคาร์บอเนต ไม่ละลายน้ำ บางสูตรตำรับจึงแนะนำให้เคี้ยวยาก่อนกลืน หรือผลิตเป็นผงบรรจุแคปซูลจึงสะดวกกับผู้ที่ไม่ชอบเคี้ยวยาหรือผลิตอยู่ในรูปของยาเม็ดฟู่ที่ต้องละลายน้ำแล้วค่อยดื่ม
หลังรับประทานยาแคลเซียมคาร์บอเนต ยาส่วนหนึ่งจะถูกดูดซึมเข้าร่างกายและขับออกทางปัสสาวะ ยาบางส่วนที่ไม่ถูกดูดซึมจะขับออกมากับอุจจาระ อย่างไรก็ตามยังต้องเฝ้าระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนต ด้วยมีผลข้างเคียงและข้อห้ามใช้หลายประการ การใช้ยานี้จึงควรต้องอยู่ภายใต้คำสั่งแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง: ทั่วไป แคลเซียมคาร์บอเนต คือ สารประกอบที่มนุษย์นำมาใช้ประโยชน์หลายด้าน อาทิ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมผลิตน้ำมัน ขบวนการผลิตผ้าอ้อมสำเร็จรูป ในบางประเทศใช้แคลเซียมคาร์บอเนตปรับความเป็นกลางของแม่น้ำอันมีสาเหตุจากฝนกรด
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีสรรพคุณ (คุณสมบัติ) รักษาโรคอะไร?
สรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ของยาแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น
- ใช้เป็นยาลดกรด, บรรเทาอาการกรดไหลย้อน, และอาหารไม่ย่อย
- ใช้เป็นยาบำรุงกระดูก (ป้องกันโรคกระดูกพรุน), เสริมสร้างระดับแคลเซียมในกระแสเลือด
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีกลไกการออกฤทธิ์อย่างไร?
กลไกการออกฤทธิ์ของยาแคลเซียมคาร์บอเนต คือ หลังรับประทาน ตัวยาจะไปทำปฏิกิริยากับกรดในกระเพาะอาหาร จนมีฤทธิ์เป็นกลาง และเกิดเป็นสารประกอบแคลเซียมคลอไรด์ (Calcium chloride) ซึ่งละลายน้ำได้ดี จึงถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด เกลือแคลเซียมคาร์บอเนตเอง ยังก่อให้เกิดการกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดออกมาได้เช่นเดียวกัน ผู้บริโภคจึงมักได้รับคำแนะนำว่าควรรับประทานยาพร้อมอาหาร หรือ หลังอาหาร
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีรูปแบบการจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบการจัดจำหน่ายของยาแคลเซียมคาร์บอเนต เช่น
ก. ยาบำรุงกระดูก: เช่น
- ชนิดยาเดี่ยว: เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 600, 625, 83,5 1000, 1250, 1500 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาแคปซูล ขนาดความแรง 350, 625, 835 มิลลิกรัม/แคปซูล
- ชนิดยาผสมซึ่งมักมีวิตามิน-ดี ร่วมด้วย: เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 625,1050, 1500 มิลลิกรัม/เม็ด
ข. ยาลดกรด: เช่น
- ชนิดยาเดี่ยว: เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ชนิดเคี้ยวขนาดความแรง 1000 มิลลิกรัม/เม็ด
- ชนิดยาผสม: เช่น
- รูปแบบยาเม็ด ขนาดความแรง 80, 5, 200, 500 มิลลิกรัม/เม็ด
- รูปแบบยาน้ำ ขนาดความแรง 325 มิลลิกรัม/10 มิลลิลิตร
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีขนาดรับประทาน เช่น
ก. รักษากรณีกระดูกพรุน: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 2500 –7500มิลลิกรัม/วันหลังอาหาร, โดยแบ่งรับประทาน 2– 4 ครั้ง/วัน
ข. รักษาภาวะแคลเซียมในเลือดต่ำ: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 900 – 2500 มิลลิกรัม/วัน หลังอาหาร, โดยแบ่งรับประทาน 2–4 ครั้ง/วัน
ค. รักษาภาวะอาการปวด จุกแน่นลิ้นปี่ ด้วยสาเหตุอาหารไม่ย่อย (Dyspepsia): เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 300 – 7980มิลลิกรัม/วัน หลังอาหาร,โดยแบ่งรับประทาน 2 – 4ครั้ง/วัน, ขนาดรับประทานสูงสุดของอาการอาหารไม่ย่อยอยู่ในช่วง 5500 –7980 มิลลิกรัม/วัน ไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกิน 2 สัปดาห์ เว้นแต่จะมีคำสั่งจากแพทย์
ง. รักษาแผลในกระเพาะอาหาร-ลำไส้: เช่น
- ผู้ใหญ่: รับประทาน 1250 –3750มิลลิกรัม/วัน, หลังอาหาร, โดยแบ่งรับประทาน 2– 4 ครั้ง/วัน, ทั้งนี้ การใช้ยาสำหรับรักษาแผลในกระเพาะอาหารและลำไส้ หากใช้ยาติดต่อกันนานเกินไป อาจกระตุ้นกระเพาะอาหารให้หลั่งกรดออกมามากหรือที่เรียกว่า Acid rebound, จึงต้องใช้ยานี้ตามคำแนะนำของแพทย์เท่านั้น
อนึ่ง:
- จะเห็นว่าขนาดการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนต มีขอบข่ายที่กว้าง, เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละคนซึ่งมีอาการและความรุนแรงของโรคที่แตกต่างกัน, ดังนั้นการใช้ยาต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น
- เด็ก (นิยามคำว่าเด็ก): การใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตในเด็ก ต้องอยู่ในการแนะนำของแพทย์เท่านั้น
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษาแพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยา ควรแจ้งแพทย์/พยาบาล และเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดที่รวมถึงยาแคลเซียมคาร์บอเนต ผู้ป่วยควรแจ้งแพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้ว คลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือ แน่นหายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใช้ยาอะไรอยู่ เพราะยาแคลเซียมคาร์บอเนต อาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อน
- หากเป็นสุภาพสตรี ควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือ กำลังให้นมบุตร
- เพราะยาหลายประเภทสามารถผ่านทางน้ำนมหรือรก และเข้าสู่ทารกจนก่อให้เกิดผลข้างเคียงได้
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาแคลเซียมคาร์บอเนต สามารถรับประทานเมื่อนึกขึ้นได้ ถ้าเวลาใกล้เคียงกับการรับประทานยาในมื้อถัดไป ไม่จำเป็นต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่า
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีผลไม่พึงประสงค์อย่างไร?
สามารถพบผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/อาการข้างเคียง) หลังการรับประทานแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น
- ท้องผูก
- ผื่นคัน
- แน่นอึดอัดท้อง
- หายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก
- อาจพบอาการบวมที่ ริมฝีปาก ใบหน้า และลิ้น
- รู้สึกสับสน
- อารมณ์หงุดหงิด
- ปัสสาวะมาก
- เบื่ออาหาร
- คลื่นไส้อาเจียน
- อ่อนเพลีย
มีข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?
ข้อควรระวังการใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น
- ห้ามใช้กับผู้ที่แพ้ยานี้
- ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ที่มีภาวะเกลือฟอสเฟต/ฟอสฟอรัส(Phosphate)ในกระแสเลือดต่ำ, อาการ เช่น สับสน กล้ามเนื้ออ่อนแรง
- ห้ามใช้ยานี้ กับผู้ป่วยโรคไต หรือมีการทำงานของไตผิดปกติ
- ระวังการใช้ยานี้ กับผู้ป่วยในกลุ่มต่อไปนี้ เช่น
- ผู้ป่วยที่มีภาวะร่างกายสูญเสียน้ำ/ภาวะขาดน้ำ
- ผู้ป่วยที่มีภาวะต่อมพาราไทรอยด์ทำงานเกิน
- ผู้ป่วยที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร
- ผู้ป่วยที่มีภาวะ ลำไส้อุดตัน
- ระวังการใช้ยานี้กับ ผู้ที่เป็นนิ่วในไต หรือผู้ที่มีภาวะท้องผูกเป็นประจำ
- ระวังการใช้ยานี้ ในผู้ป่วยที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูง (อาการ เช่น สับสน คลื่นไส้อาเจียน)
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
- ห้ามเก็บยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ "ยา" ที่รวมถึง ยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาแคลเซียมคาร์บอเนตด้วย) ยาแผนโบราญ สมุนไพรต่างๆ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิด ควรต้องปฏิบัติตาม ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นอย่างไร?
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น: เช่น
- หากต้องใช้ยาแคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับวิตามินที่มีธาตุเหล็กเป็นองค์ประกอบ ควรเว้นระยะเวลาการรับประทานยาห่างกัน 2 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ ด้วยแคลเซียมคาร์บอเนตจะลดประสิทธิภาพในการรักษาของยาวิตามินดังกล่าว
- การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาปฏิชีวนะบางตัว จะทำให้ประสิทธิภาพในการต่อต้านแบคทีเรียของยาปฏิชีวนะนั้นลดต่ำลง หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกันควรหลีกเลี่ยงและเว้นระยะเวลาให้ห่างกัน 2 – 3 ชั่วโมง ยาปฏิชีวนะดังกล่าว เช่นยา Doxycycline และ Tetracycline
- การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด อาจส่งผลให้กลไกการทำงานของยาป้องกันโรคหัวใจด้อยประสิทธิภาพลงไป หากมีความจำเป็นต้องรับประทานร่วมกัน แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดการรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มนี้ ยาป้องกัน โรคหัวใจดังกล่าว เช่นยา Aspirin
- การใช้แคลเซียมคาร์บอเนตร่วมกับยาลดความดัน จะทำให้ประสิทธิภาพในการลดความดันโลหิตด้อยลงไป แพทย์จะพิจารณาปรับขนาดรับประทานของยาทั้ง 2 กลุ่มเมื่อจำเป็นที่ต้องใช้ร่วมกับยาลดความดัน เช่น ยา Atenolol, Felodipine, Timolol เป็นต้น
ควรเก็บรักษายาแคลเซียมคาร์บอเนตอย่างไร?
สามารถเก็บยาแคลเซียมคาร์บอเนต: เช่น
- เก็บยาที่อุณหภูมิห้อง
- เก็บยาบรรจุในภาชนะที่ปิดมิดชิด พ้นแสง/แสงแดด และความชื้น
- และเก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
ยาแคลเซียมคาร์บอเนตมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาแคลเซียมคาร์บอเนต มีชื่อยาการค้า และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Antidiarrhoeals for Children Srichand (แอนไทไดอะเรียส์ ฟอร์ ชิลเดร้น ศรีจันทร์) | Srichand |
BayCal (เบแคล) | Bayer HealthCare Consumer Care |
Bismocane (บีสโมแคน) | Chinta |
Bo-Ne-Ca (โบ-เน-กา) | ST Pharma |
Ca-C 1000 Sandoz (ซีเอ-ซี 1000) | Novartis |
Calcanate (แคลเคเนท) | ST Pharma |
Calcanate with D (แคลเคเนท วิท ดี) | ST Pharma |
Calcap (แคลแคป) | Osoth Interlab |
Calcar (แคลคาร์) | Unison |
Calcinol-1000 (แคลซีนอล-1000) | Raptakos |
Calcinol-RB (แคลซีนอล-อาร์บี) | Raptakos |
Calcium 334 (แคลเซียม 334) | T. Man Pharma |
Calcium Central Poly (แคลเซียม เซ็นทรัล โพลี) | Pharmasant Lab |
Calcium Effervescent Slovakofarma (แคลเซียม เอฟเฟอร์เวสเซนท์ สโลวาโกฟาร์มา) | Unison |
Calcium Medicine Products (แคลเซียม เมดิซิน โพรดักซ์) | Medicine Products |
Calcium T.O. (แคลเซียม ที.โอ.) | T.O. Chemicals |
Calcium-Sandoz Bonacal (แคลเซียม-แซนดอส โบนาแคล) | Novartis |
Calcium-Sandoz Forte (แคลเซียม-แซนดอส ฟอร์ด) | Novartis |
Calcium-Sandoz Forte + D (แคลเซียม-แซนดอส ฟอร์ด + ดี) | Novartis |
Calhof (แคลฮอฟ) | Pharmahof |
Calmate 600 (แคลเมท 600) | Kenyaku |
Calmax (แคลแม็ก) | Great Eastern |
Cal-Os (แคล-ออส) | Siam Bheasach |
Cal-Os Chew (แคล-ออส ชิว) | Siam Bheasach |
Cal-Os Plus D (แคล-ออส พลัส ดี) | Siam Bheasach |
Calsum (แคลซัม) | Sriprasit Pharma |
Caltab (แคลแทบ) | Millimed |
Caltab Plus (แคลแทบ พลัส) | Millimed |
Caltab W/ Vitamin D (แคลแทบ ดับเบิ้ลยู/วิตามิน ดี) | Millimed |
Calthicon (แคลทิคอน) | Pharmasant Lab |
Caltrex (แคลเทร็ก) | The United Drug (1996) |
Cal-ups (แคล-อัพส์) | T. Man Pharma |
Cal-ups Join (แคล-อัพส์ จอยน์) | T. Man Pharma |
Cal-ups Choco (แคล-อัพส์ ช็อกโก) | T. Man Pharma |
Cal-ups-D (แคล-อัพส์-ดี) | T. Man Pharma |
Cal-ups-D-Soy (แคล-อัพส์-ดี-ซอย) | T. Man Pharma |
Carbocal (คาร์โบแคล) | Unison |
Carbocal-D 1000 (คาร์โบแคล-ดี 1000) | Unison |
Gaviscon Dual Action (กาวิสคอน ดูออล แอคชั่น) | Reckitt Benckiser |
GPO Cal (จีพีโอ แคล) | GPO |
Kal-Cee Orange/Grape (แคล-ซี ออเร้น/เกรป) | B L Hua |
KAL-fort (แคล-ฟอร์ด) | B L Hua |
Magesto-F (มาเจสโต้-เอฟ) | Takeda |
Malugel (มาลูเจล) | Charoen Bhaesaj Lab |
Mesto-Of (เมสโต-ออฟ) | Pond’s Chemical |
Nataral (แนทารอล) | Kenyaku |
OB Cal (โอบี แคล) | P P Lab |
Oskept (ออสเคพท์) | Charoon Bhesaj |
Patar Kal (พาต้าร์ แคล) | Patar Lab |
Pharcal (พาร์แคล) | Community Pharm PCL |
Phocium (โพเซี่ยม) | Pharmasant Lab |
Prima-Cal (พรีมา-แคล) | NuPharma & HealthCare |
T-Bon (ที-บอน) | T.O. Chemicals |
Topper-M (ท็อปเปอร์-เอ็ม) | Chinta |
V-Calcium 1000 (วี-แคลเซียม 1000) | V S Pharma |
Vinatal (วีนาทอล) | British Dispensary (L.P.) |
Vitana-EZ (วีทานา-อีซี) | Kenyaku |
Ziga Cal Ultra 1000 (ซิก้า แคล อัลตร้า 1000) | Berich |
บรรณานุกรม
- https://www.mims.com/thailand/drug/search?q=calcium%20carbonate&page [2022,Aug13]
- https://en.wikipedia.org/wiki/Calcium_carbonate [2022,Aug13]
- https://www.mims.com/thailand/drug/info/calcium%20carbonate?mtype=generic [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/dosage/calcium-carbonate.html#Usual_Adult_Dose_for_Osteoporosis [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/sfx/calcium-carbonate-side-effects.html [2022,Aug13]
- https://www.drugs.com/drug-interactions/ascorbic-acid-carbonyl-iron-with-calcium-carbonate-3397-0-464-0.html [2022,Aug13]