เยื่อตาอักเสบ (Conjunctivitis)

สารบัญ บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เยื่อตา หรือเยื่อบุตา (Conjunctiva) เป็นเยื่อเมือก (Mucous membrane) บางๆ บุเปลือกตา/หนังด้านในที่เรียก Palpebral conjunctiva และส่วนที่บุตาขาว (Sclera) เรียกว่า Bulban conjuctiva โดยรอยต่อระหว่างเยื่อตาส่วน Palpebral และส่วน Bulbar conjuctiva มาจรดกัน จะเป็นส่วนของร่องตา เรียกว่า Fornix

ทั้งนี้ ใต้เยื่อตาของคนเรา มีเซลล์/เนื้อเยื่อที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรค คือ เนื้อเยื่อในระ บบน้ำเหลือง และเซลล์เม็ดเลือดขาว ชนิด Lymphocyte

แต่ถึงแม้จะมีเซลล์/เนื้อเยื่อที่ให้ภูมิคุ้มกันต้านทานโรคก็ตาม เยื่อบุตายังมีโอกาสเกิดการอักเสบ/เยื่อตาอักเสบ/เยื่อบุตาอักเสบ(Conjunctivitis)ได้จากหลายสาเหตุ อาจเป็นกับตาข้างเดียวหรือ 2 ตาพร้อมกัน หรือจากตาข้างหนึ่งลามไปอีกข้างในเวลาต่อมาก็ได้

เยื่อบุตาอักเสบมีสาเหตุจากอะไร?

เยื่อตาอักเสบ

สาเหตุพบบ่อยของเยื่อตาอักเสบ ได้แก่

1. เยื่อตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ที่พบบ่อยและมีระบาดเป็นครั้งคราวเกิดจาก เชื้อไวรัส Adenovirus หรือ Picornavirus ชาวบ้านมักเรียกว่า โรคตาแดง มักจะมีระบาดในโรงเรียน ในค่ายทหาร โรงงานที่มีคนอยู่ด้วยกันหมู่มาก

2. เยื่อตาอักเสบจากเชื้อแบคทีเรีย เกิดได้จากแบคทีเรียหลายตัว มีอาการรุนแรงต่าง กัน ตั้งแต่เล็กน้อย ปานกลาง และรุนแรง ตัวที่รุนแรงเกิดจากเชื้อหนองใน (Gonoccous) ซึ่งอาจทำให้ตาบอดได้ เพราะมักจะลุกลามเข้ากระจกตา ทำให้กระจกตาทะลุได้ เชื้อที่เป็นเรื้อรังและเป็นเหตุให้ตาบอดของชาวโลก ได้แก่ ริดสีดวงตาที่เกิดจากเชื้อ Clamydia

3. อักเสบจากภูมิแพ้ เกิดจากสารก่อภูมิแพ้ (antigen) ได้แก่ ฝุ่นละออง เกสรดอกไม้ เชื้อรา ขนสัตว์ อาหารทะเล ความรุนแรงมีตั้งแต่น้อยไปมาก เช่น ตามฤดูกาล (seasonal) หรือที่รุนแรง นอกจากมีการอักเสบที่เยื่อบุตา มักลามเข้ากระจกตาด้วย ได้แก่ Vernal conjunctivi tis และ Atopic conjunctivitis ที่มักพบเป็นกรรมพันธุ์ เป็นเรื้อรัง เริ่มตั้งแต่เด็กอายุ 3 – 20 ปี

4. อื่นๆ เช่น จากตาได้รับสารเคมี การใส่คอนแทคเลนส์ หรือขยี้ตา

เยื่อตาอักเสบมีอาการอย่างไร?

อาการของเยื่อตาอักเสบ ได้แก่

1. ตาแดง จะเห็นชัดบริเวณที่เยื่อตาคลุมตาขาวอยู่ ทำให้เห็นชัดว่าตาขาวแดง อาจจะแดงมากในรายติดเชื้อแบคทีเรีย แดงเรื่อๆในรายอักเสบจากภูมิแพ้

2. มีขี้ตา ด้วยเหตุที่เยื่อตาปกติสร้างน้ำตาชนิดเป็นเมือก (Mucous) หากมีเซลล์อักเสบปะปนออกมา จะทำให้น้ำตาออกมาเป็นขี้ตา ลักษณะของขี้ตาอาจบ่งถึงต้นเหตุของการอักเสบ เช่น เป็นน้ำใสๆ หรือน้ำตาอย่างเดียว มักจะติดเชื้อไวรัส ถ้าเป็นเส้นเมือกๆ อาจเป็นจากภูมิแพ้ ถ้าแฉะคล้ายหนองข้น มักจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรีย เป็นต้น

3. เจ็บตา เคืองตา คล้ายมีผงอยู่ในตา มักจะไม่ค่อยมีอาการปวดมากนัก

4. น้ำตาไหล

5. บางรายอาจมีอาการในระบบทางเดินหายใจร่วมด้วย เช่น เจ็บคอ เป็นโรคหวัด บ่งว่าน่าจะเกิดจากเชื้อไวรัส

6. ที่สำคัญ คือ การมองเห็นยังปกติดี หรืออาจพร่ามัวบ้าง เพราะมีน้ำตาและขี้ตามาบัง เช็ดออกแล้วสายตาจะปกติ

ทั้งนี้สิ่งที่เราจะมองเห็นได้ หรืออาการแสดงจากมีเยื่อตาอักเสบ คือ

1. ลักษณะตาแดง จะแดงมากทางด้านร่องตา และค่อยๆจาง เมื่อมาถึงรอยต่อระ หว่างตาขาวกับตาดำ (Limbus) เรียกกันว่า Conjunctival injection ต่างจากตาแดงจากเนื้อ เยื่อในลูกตาที่เรียกว่า Ciliary injection ซึ่งจะแดงมากบริเวณ Limbus แล้วค่อยๆจางไปทางร่องตา ซึ่งเป็นอาการตาแดงที่พบในโรคตาที่รุนแรงกว่า เยื่อบุตาอักเสบ เช่น กระจกตาอักเสบ ต้อหินเฉียบพลัน ม่านตาอักเสบ ทั้งนี้เพราะการแดงจากเยื่อบุตาอักเสบ เป็นการขยายของหลอดเลือดที่มาเลี้ยงเยื่อบุตา ซึ่งอยู่ผิวๆ และมาจากด้านร่องตาสู่ limbus เชื้อที่ก่อโรคเยื่อบุตาบางชนิดอาจก่อให้เกิด จุดเลือดออก (Petichael haemorrhage) ในตาขาว (เห็นเป็นจุดแดงๆ กระจายในตาขาว) หรือบางรายมีเลือดออกเป็นปื้นในตาขาว (เลือดออกใต้เยื่อตา/Subconjunc tival haemorrhage) ก็ได้ ยิ่งทำให้รู้สึกตาแดงเข้มมากขึ้น

2. เยื่อตาบวม หนาขึ้นกว่าปกติ บางรายอาจพบมีน้ำซึมออกจากหลอดเลือดที่โป่งพอง ส่งผลให้เกิดตาบวม (Chemosis)

3. อาจพบเป็นตุ่ม/ปุ่มที่เรียกว่า ตุ่ม Papilla มักพบที่เยื่อบุตาใต้หนังตา เป็นการตอบ สนองของเยื่อบุตาต่อการอักเสบที่ไม่เจาะจงว่ามีสาเหตุจากอะไร เป็นตุ่มขนาดเล็ก เล็กกว่า 1 มม. พบได้ในเยื่อบุตาอักเสบหลายชนิด บางครั้งตุ่มนี้อาจรวมกันจนมีขนาดใหญ่ขึ้นมากได้ ดังที่พบในภาวะที่เรียกว่า GPC (Giant papillary conjunctivitis) ตุ่ม Papilla จะมีจุดแดงตรงกลางตุ่ม

4. อาจพบตุ่ม/ปุ่มอีกชนิดที่เรียก ตุ่ม Follicle ขนาดใหญ่กว่า ตุ่ม Papilla พบเจาะจงในโรคบางชนิด เช่น การติดเชื้อไวรัส การแพ้ยา ริดสีดวงตา เป็นต้น ตัวตุ่ม Follicle จะไม่มีตุ่มแดงตรงกลาง แต่จะแดงบริเวณขอบรอบตุ่ม (ใช้แยกจากตุ่ม Papilla)

5. อาจจะพบเป็นแผลอักเสบที่เรียกว่า Membrane มีทั้งชนิด True membrane ซึ่งถ้าพยายามลอกออกจะมีเลือดออก บ่งถึงมีการอักเสบรุนแรง หรือชนิด Pseudo membrane ที่เป็นแผ่นคล้ายกัน แต่ถ้าพยายามลอกออก จะไม่มีเลือดออก บ่งถึงการอักเสบที่ไม่รุนแรง

6. ถ้ามีเยื่อตาอักเสบซ้ำๆหลายครั้ง อาจเกิดแผลเป็นที่เยื่อบุตา หรือบางราย เยื่อบุตาไปติดกับเยื่อบริเวณอื่น เช่น กับหนังตา ที่เรียก Symblepharon

7. บางรายอาจพบเป็นตุ่มการอักเสบขนาดใหญ่ ที่เรียก Granuloma

8. อาจคลำพบต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหู ซึ่งเยื่อบุตาอักเสบบางชนิด เช่น การติดเชื้อไว รัส มักจะพบต่อมน้ำเหลืองหน้ารูหูมีขนาดใหญ่ขึ้นได้

9. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ โดยการย้อมสี/การตรวจเชื้อ หรือ การเพาะเชื้อจากการขูดเยื่อบุตาไปตรวจ ไม่ค่อยจำเป็น นอกจากในรายที่เป็นเรื้อรัง ที่อาจเกิดจากเชื้อโรคที่แปลกออกไป ไม่ค่อยพบ โดยทั่วไปเยื่อบุตาอักเสบส่วนใหญ่เป็นภาวะที่รักษาหายได้ง่าย ไม่ค่อยมีผลข้างเคียงร้ายแรงอะไรมาก

เมื่อไรควรพบแพทย์

เมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อาการ ควรพบแพทย์เมื่อ

1. แม้ว่าเยื่อตาอักเสบเป็นโรคไม่รุนแรง แต่อาการอาจคล้ายกับโรคที่รุนแรงที่เริ่มด้วยอาการคล้ายกับเยื่อบุตาอักเสบได้ ดังนั้นจึงควรพบแพทย์เสมอเมื่อมีอาการดังกล่าวในหัวข้อ อา การ เพื่อตรวจยืนยันว่าเป็นเพียงเยื่อบุตาอักเสบที่ไม่รุนแรง

2. รายที่มีตาแดงร่วมกับขี้ตามาก เป็นคล้ายหนอง เพื่อรับการตรวจว่าเป็นเชื้อที่รุน แรงหรือไม่

3. หากมีอาการตามัวร่วมด้วย ซึ่งแสดงว่า การอักเสบลามเข้ากระจกตาแล้ว ควรรับการรักษาอย่างเคร่งครัด

4. หากตาแดงไม่ดีขึ้น หรือไม่หายใน 3 – 5 วัน

5. ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว

6. ผู้มีปัจจัยเสี่ยงที่เอื้อต่อการอักเสบของเยื่อบุตาเรื้อรัง ควรจะแก้ไขปัจจัยเสี่ยงที่แก้ ไขได้ เช่น ภาวะปิดตาไม่สนิท (Lag ophthalmos) เปลือกตา/หนังตาแบะออก มีขนตาแยงตา (Trichiasm) ตาโปนจากโรคทางกาย (เช่น ในโรคต่อมไทรอยด์เป็นพิษ) เป็นต้น

7. ผู้ใช้คอนแทคเลนส์ ต้องไปพบจักษุแพทย์ทุกราย หากมีอาการตาแดง เพราะอาจ จะไม่เป็นเพียงเยื่อบุตาอักเสบ แต่มีการอักเสบของกระจกตาที่ร้ายแรงกว่า และต้องงดใส่คอนแทคเลนส์ทันทีที่ตาแดง

แพทย์วินิจฉัยเยื่อตาอักเสบได้อย่างไร?

โดยทั่วไปโรคเยื่อตาอักเสบนี้ อาศัยวินิจฉัยจาก ประวัติอาการ ได้แก่ เจ็บตา ตาแดง ตรวจตาแล้วพบอาการแสดงที่กล่าวข้างต้นในหัวข้อ อาการ ซึ่งแพทย์จะให้การวินิจฉัยได้ไม่ยาก ขั้นตอนต่อไป คงต้องแยกโรคให้ได้ว่าเป็นชนิดใด/สาเหตุ เกิดจากเชื้อไวรัส หรือแบคที เรีย หรือจากภูมิแพ้ เพื่อให้การรักษาที่ถูกต้องต่อไป หากสงสัยชนิดของเชื้อ หรือเมื่อโรครุนแรง อาจต้องขูดบริเวณผิวเยื่อตา ตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ เพื่อยืนยันว่าน่าจะเป็นจากเชื้อไวรัส แบคทีเรีย หรือภูมิแพ้ ตลอดจนการเพาะเชื้อที่เป็นต้นเหตุ เพื่อจะได้เลือกยาที่เหมาะสมในการรักษา

รักษาเยื่อตาอักเสบอย่างไร?

แนวทางการรักษาเยื่อตาอักเสบ คือ

1. ไม่ว่าเยื่อตาอักเสบชนิดใด/สาเหตุจากอะไร เมื่อมีอาการระคายเคืองตามาก ตาไม่สู้แสง ให้ใช้แว่นกันแสง/กันแดด จะช่วยให้สบายตาขึ้น

2. รักษาความสะอาดบริเวณใบหน้า โดยเฉพาะรอบๆตา หากมีขี้ตาต้องเช็ดออกด้วยผ้าหรือสำลีชุบน้ำสะอาด อย่าให้มีขี้ตาเกรอะกรัง เป็นเหตุให้เชื้อโรคชนิดอื่นซ้ำเติมเข้าไป และต้องเช็ดขี้ตาออกก่อนหยอดยาทุกครั้ง

3. หากจำเป็นต้องใช้สายตาในการอ่านเขียน เช่น ใช้คอมพิวเตอร์ยังพอใช้ได้ แต่ควรพักเป็นระยะๆ หากมีอาการเคืองตามาก

4. เยื่อตาอักเสบบางชนิด/บางสาเหตุ เช่น ตาแดงระบาดจากเชื้อไวรัส อาจหายได้เองในเวลาต่อมา (โรคนี้หายได้เองจากร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านทาน เพื่อกำจัดเชื้อไวรัสนี้ได้) จึงอาจใช้เพียงหยอดน้ำตาเทียม เพื่อความสบายตาเท่านั้น

5. เมื่อเกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ให้ยาหยอดตาด้วยยาปฏิชีวนะที่คาดว่าจะฆ่าเชื้อนั้นๆได้ ในบางราย แม้คาดว่าเป็นไวรัส อาจจำเป็นต้องให้ยาหยอดตาปฏิชีวนะ เพื่อป้องกันเชื้อแบค ทีเรีย ซ้ำเติม

6. หากเป็นจากภูมิแพ้ ควรหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการแพ้ และอาจใช้น้ำตาเทียม, ยาหยอดตาชนิดต้านสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ (Histamine), ยาต้านการแพ้ในกลุ่ม Mast cell stabilizer, ยาลดการอักเสบชนิดไม่ติดเชื้อ ยาเอ็นเสด (NSAIDs, Nonsteroid anti inflamma tory Drugs) ตลอดจนยาในกลุ่มสเตียรอยด์ (หากจำเป็น) อนึ่ง อ่านเพิ่มเติมใน Blog สาระน่ารู้จากหมอตา ในเว็บ haamor.com เรื่องยาหยอดตาแก้โรคภูมิแพ้เยื่อบุตา)

ผลข้างเคียงจากเยื่อตาอักเสบมีอะไรบ้าง?

ผลข้างเคียงจากเยื่อตาอักเสบ ได้แก่

1.เยื่อตาส่วนใหญ่ เมื่อหายแล้ว มักจะไม่มีผลแทรกซ้อนอะไร

2. บางรายที่เป็นเยื่อตาอักเสบเรื้อรัง อาจก่อให้เกิดแผลเป็นที่เยื่อตาใต้หนังตา ที่มีการทำลายต่อมสร้างน้ำตา (Globlet cell) ทำให้เป็นโรคตาแห้งในเวลาต่อมา

3. บางรายก่อให้เกิดเยื่อตาติดกัน (Symblepharon) หากเป็นมาก ทำให้จำกัดการกลอกตาของลูกตา ทำให้เห็นภาพซ้อน หรือแลดูไม่สวยงาม

4. เยื่อตาอักเสบจากโรคริดสีดวงตา ทำให้มีแผลเป็น เกิดภาวะขนตาเก (Trichiasis) ทำให้กระจกตาเป็นฝ้า บางรายเกิดถุงน้ำตาอักเสบ (Dacryocystitis) ท่อน้ำตาตันในเวลาต่อมา

5. เยื่อตาอักเสบจากเชื้อไวรัส มีผู้ป่วยบางรายเกิดกระจกตาอักเสบ ทำให้มีฝ้าขาวเป็นจุดเล็กๆที่กระจกตาได้ ที่ทำให้การเห็นภาพไม่ชัด/ตามัว

6. เยื่อตาอักเสบจากไวรัส Picornavirus เคยมีรายงานว่าเกิดอาการอัมพฤกษ์ของแขนขา เนื่องจากเป็นเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับไวรัสโปลิโอ พบเป็นเพียงรายงานผู้ป่วย ซึ่งพบได้น้อยมาก

7. เยื่อตาอักเสบจากภูมิแพ้ชนิดรุนแรง อาจทำให้กระจกตาอักเสบ (Shield ulcer) รุน แรงได้

ดูแลตนเองและป้องกันโรคเยื่อตาอักเสบอย่างไร?

การดูแลตนเอง และการป้องกันเยื่อตาอักเสบมีหลักการคล้ายคลึงกัน ปรับใช้ด้วยกันได้ ซึ่งคือ

1. เยื่อตาอักเสบจากเชื้อไวรัส ติดต่อกันง่ายมาก โดยการสัมผัสเนื้อตัว และของใช้ส่วนตัวร่วมกัน จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ของในชีวิตประจำวัน เช่น ผ้าเช็ดหน้า หมอน ผ้าห่มร่วม กัน

2. ไม่ควรขยี้ตา หากมีอะไรเข้าตา ให้ใช้น้ำสะอาดล้างตา

3. ไม่คลุกคลีกับผู้ป่วยโรคตาแดง

4. หลีกเลี่ยงบริเวณที่มี ลม ฝุ่นละออง หรือใช้แว่นกันแดดช่วย

5. ล้างมือให้สะอาดเสมอ

6. รักษาสุขอนามัยบริเวณหน้า รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) เพื่อให้มีสุขภาพแข็งแรง ลดโอกาสติดเชื้อต่างๆ