เมอร์ส: โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS: Middle east respiratory syndrome)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือโรคอะไร? พบบ่อยไหม?

โรคเมอร์ส (MERS) หรือ โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือ กลุ่มอาการทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (Middle east respiratory syndrome ย่อว่า เมอร์ส/ MERS) คือ โรคติดต่อรุนแรงจากโรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสกลุ่มโคโรนาไวรัส (Coronavirus: CoV)จุดกำเนิดจากประเทศเขตตะวันออกกลาง คือ ไวรัส “Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus ย่อว่า เมอร์สโควี(MERS–CoV)”

โคโรนาไวรัส หรือ Coronaviridae เป็นชื่อวงศ์ (Family) ของไวรัสกลุ่มนี้ที่มีหลากหลายสายพันธ์ย่อย ทั้งสายพันธ์ที่ก่อโรคในคน, ในสัตว์, และที่ไม่ก่อโรค, ซึ่งที่ก่อโรคในคน ที่พบบ่อย คือ โรคหวัดทั่วๆไป นอกนั้น เช่น โรคซาร์ส์, โรคปอดบวม, โรคโควิด-19

โรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน (Zoonosis) โดยมีรายงานพบโรคครั้งแรกในประเทศซาอุเดียอารเบีย เมื่อ กันยายน ค.ศ. 2012 (พ.ศ.2555), สัตว์ที่เป็นรังโรคของโรคนี้ จากการศึกษาเชื่อว่า คือ “อูฐหนอกเดียว” แต่การศึกษายังพบว่า “ค้างคาว”ในตะวันออกกลาง ก็อาจเป็นสัตว์รังโรคสำหรับไวรัสสาเหตุโรคเมอร์สได้เช่นกัน

อนึ่ง:

  • จากเหตุที่เป็นไวรัสตัวใหม่ที่พบในปี 2012 ในระยะแรกที่พบโรค โรคนี้จึงมีชื่อว่า “Novel coronavirus(NCoV) 2012 หรือ Coronavirus 2012” หรือ มีชื่อตามโรงพยาบาลที่พบโรคนี้ครั้งแรกว่า “HCoV-EMC/2012 (Human Coronavirus Erasmus Medical Center/2012)”
  • ชื่อที่คนทั่วไปเรียก คือ “ไข้หวัดอูฐ หรือ ไข้หวัดใหญ่อูฐ (Camel flu)”

โรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง พบทั่วโลก แต่ทั่วไปพบน้อยยกเว้นช่วงมีการระบาดของโรค มักพบในประเทศแถบอาหรับ/ตะวันออกกลาง พบทุกเพศ แต่พบในเพศชายบ่อยกว่าเพศหญิง(รายงานจากตะวันออกกลาง พบประมาณ 3 เท่า) พบทุกอายุ แต่พบในเด็ก(นิยามคำว่าเด็ก)น้อยกว่าวัยอื่นมาก โดยมักพบในวัยตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป, นอกจากนั้น ยังพบได้สูงและโรครุนแรงขึ้นในผู้มีโรคประจำตัว และ/หรือมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคระบบทางเดินหายใจเรื้อรัง และผู้กินยากดภูมิคุ้มกัน

โรคเมอร์สเกิดจากอะไร?

เมอร์ส-01

โรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เกิดจาก คนติดเชื้อไวรัสระบบทางเดินหายใจจากเชื้อโคโรนาไวรัสสายพันธ์ย่อยที่ชื่อว่า“ Lineage C Betacoronavirus” หรือที่เรียกว่า CoV/เมอร์สโควี (MERS–CoV) ซึ่งเป็นไวรัสที่เชื่อว่ามีอูฐ และ ค้างคาว ในแถบตะวันออกกลางทุกประเทศเป็นแหล่งรังโรค

โรคเมอร์สติดต่อได้อย่างไร?

การติดต่อของโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง เกิดขึ้นได้ง่าย โดยเกิดจาก 2 ขั้นตอน

ก. ขั้นตอนแรก: คือ คนติดเชื้อจากสัตว์รังโรค: ขั้นตอนนี้ ปัจจุบัน ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าด้วยวิธีใด แต่จากการศึกษาพบ “อูฐหนอกเดียว” ในตะวันออกกลางเป็นต้นตอการระบาดในปี พ.ศ 2558, แต่ยังไม่มีการศึกษาที่ยืนยันการระบาดจากค้างคาว ทั้งนี้เชื่อว่า คนอาจได้รับเชื้อเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เช่น ทางการหายใจ การสัมผัสสารคัดหลั่งที่รวมถึงปัสสาวะของอูฐ และ/หรือได้รับเชื้อผ่านเข้าทางระบบทางเดินอาหาร จากการกิน/ดื่ม สารคัดหลั่ง และ/หรือ นมอูฐ

ข. ขั้นตอนที่ 2: คือ การติดต่อจากคนสู่คน(Human to human หรือ Person to person): โดยคนได้รับเชื้อเข้าระบบทางเดินหายใจจากการคลุกคลีหรือใกล้ชิด และ/หรือ อาจจากระบบทางเดินอาหาร จากการ”สัมผัสใกล้ชิด” รวมถึงการสัมผัส สารคัดหลั่งของผู้ป่วย เพราะผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะมีอาการทางระบบทางเดินอาหารด้วย

*อนึ่ง

  • “การสัมผัสใกล้ชิด(Close contact)”: องค์กรป้องกันควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (U.S. CDC: United State Centers of Disease Control and Prevention) ให้นิยาม คือ “อยู่ใกล้ชิดผู้ติดเชื้อระยะห่างต่ำกว่า 6 ฟุต (ประมาณ 1.5-2 เมตร) เป็นระยะเวลานานตั้งแต่15นาทีขึ้นไป หรือ มีกิจกรรมเดียวกันนานมากกว่า 24 ชั่วโมง ทั้งนี้เริ่มนับจาก 2 วันก่อนผู้ติดเชื้อมีอาการไปจนถึงช่วงเวลาที่ผู้ติดเชื้อยังถูกกักตัว
  • ระยะฝักตัวของโรคเมอร์ส คือ 2-14 วัน (ส่วนใหญ่ 5-6 วัน)

ใครมีปัจจัยเสี่ยงเกิดโรคเมอร์ส?

ผู้มีปัจจัยเสี่ยงติดเชื้อโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ได้แก่

  • ผู้เดินทางท่องเที่ยว หรือทำงาน หรือ อยู่อาศัย ในถิ่นอยู่อาศัยของสัตว์รังโรค/ประเทศแถบอาหรับ
  • สัมผัสใกล้ชิดสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรค รวมถึงสัมผัส/บริโภคเนื้อ หรือ สารคัดหลั่งของมัน เช่น ปัสสาวะ, นม
  • บุคคลากรห้องปฏิบัติการที่ศึกษาไวรัสชนิดนี้
  • บุคคลากรห้องปฏิบัติการของโรงพยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้
  • บุคคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลผู้ป่วยโรคนี้โดยเฉพาะที่ดูแลผู้ป่วยนอก
  • ผู้สัมผัสใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับบุคคลที่ทำงานเกี่ยวข้องกับโรคเมอร์ส(เช่น แพทย์ บุคลากรห้องปฏิบัติการฯ), หรือ ผู้เพิ่งกลับจากประเทศอาหรับ
  • ผู้สัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ป่วยโรคเมอร์ส
  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ เช่น ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง โรคปอดเรื้องรัง โรคมะเร็ง ผู้กินยากดภูมิคุ้มกัน(เช่น ใน โรคหืด โรคออโตอิมมูน/โรคภูมิต้านตนเอง ผู้ปลูกถ่ายอวัยวะ)

โรคเมอร์ส มีอาการอย่างไร?

อาการของโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง มักเกิดภายใน 2-14 วันหลังได้รับเชื้อ (ส่วนใหญ่ประมาณ 5-6 วัน) และเป็น’อาการไม่จำเพาะ’ โดยเป็นอาการเช่นเดียวกับโรคติดเชื้อทางเดินหายใจรุนแรงทุกโรค

อาการหลักของโรคเมอร์สประกอบด้วย มีไข้สูงเฉียบพลันที่มักเกิดร่วมกับอาการหนาวสั่น (พบได้ประมาณ 90%ของผู้ป่วย) ร่วมกับมีอาการทางระบบทางเดินหายใจ, นอกจากนั้น คือ อาการรองที่เกิดกับระบบทางเดินอาหาร, และอาการทั่วไป

ก. อาการทางระบบทางเดินหายใจ: เช่น

  • ไอ มีน้ำมูก มีเสมหะ: พบประมาณ 80%
  • หายใจหอบเหนื่อย/หายใจลำบาก: พบประมาณ 70%
  • เจ็บคอ/คออักเสบ: พบประมาณ 21%
  • ไอเป็นเลือด: พบประมาณ 17%
  • เมื่อตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์ จะพบความผิดปกติ/ ลักษณะเป็นปอดอักเสบ/ปอดบวม เกือบ 100% ของผู้ป่วย
  • มีปัญหาทางการหายใจจนต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ: ประมาณ 70%

ข. อาการทางระบบทางเดินอาหาร: เช่น

  • ท้องเสีย: พบประมาณ 25%
  • อาเจียน: พบประมาณ 20%
  • ปวดท้อง: พบประมาณ 15%

ค. อาการอื่นๆ: เช่น ปวดกล้ามเนื้อ พบประมาณ 30% ของผู้ป่วย

*อนึ่ง:

  • *ประมาณ 25% ของผู้ป่วยโรคเมอร์ส จะไม่มีอาการ หรือมีอาการน้อยมากเหมือนโรคหวัดทั่วไป อาจคล้ายไข้หวัดใหญ่ที่ไม่รุนแรง
  • ผู้มีปัจจัยเสี่ยงต่อการมีอาการโรคเมอร์สที่รุนแรงซึ่งมีอัตราตายประมาณ 30-40% ของผู้ป่วยโรคนี้ทั้งหมด คือ ผู้ที่มีโรคประจำตัวและมีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ ดังได้กล่าวแล้วใน”หัวข้อ ผู้มีปัจจัยเสี่ยงฯ”

ควรพบแพทย์เมื่อใด?

เมื่อมีอาการดังกล่าวใน’หัวข้อ อาการฯ’ โดยเฉพาะเมื่อเดินทาง หรืออยู่อาศัยในถิ่นของโรค ควรต้องรีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลทันที/ฉุกเฉิน, *โดยต้องแจ้งแพทย์/โรงพยาบาลถึงประวัติการเจ็บป่วยด้วยอาการนี้ของครอบครัว, การเดินทาง, ถิ่นที่พักอาศัย, โดยเฉพาะในระยะเวลา ประมาณ 14 วันย้อนหลังนับจากวันมีอาการ (บางประเทศแนะนำให้เป็น 30 วัน)

แพทย์วินิจฉัยโรคเมอร์สได้อย่างไร?

การวินิจฉัยโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ที่สำคัญที่สุด คือ ประวัติสัมผัสโรค ได้แก่ ประวัติเดินทาง โดยเฉพาะจากตะวันออกกลาง และอาการเกิดระหว่างเดินทาง หรือภายใน 14 วันนับจากกลับจากต่างประเทศ, *ดังนั้นผู้ป่วยที่มีอาการคล้ายโรคหวัด จึงต้องแจ้งแพทย์/แจ้งโรงพยาบาลถึงประวัติเดินทางเสมอ

นอกจากประวัติสัมผัสโรคซึ่งเป็นการวินิจฉัยโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง, ในเบื้องต้นการวินิจฉัยโรคเมอร์สจำเป็นต้องได้รับการตรวจยืนยันว่า โรคเกิดจากเชื้อไวรัส MERS CoV ด้วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูงที่ให้การตรวจได้เฉพาะในโรงพยาบาล หรือ ในสถาบันทางวิทยาศาสตร์ขนาดใหญ่ เช่น การตรวจหาสารพันธุกรรมไวรัสนี้ด้วยเทคนิคที่เรียกว่า Polymerase chain reaction (PCR/พีซีอาร์), และ/หรือ การตรวจเลือดดูสารภูมิต้านทานไวรัสนี้ ที่เรียกว่า Enzyme-linked immunosorbent assay (ELISA)โดยเป็นการตรวจจากสารคัดหลั่งจากจมูกหรือลำคอ/คอหอย

การตรวจสืบค้นอื่นๆเพื่อการวินิจฉัยแยกโรค: เพราะอาการโรคคล้ายกับหลายๆโรคดังกล่าวและเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ เช่น

  • ตรวจภาพปอดด้วยเอกซเรย์: เพื่อดูพยาธิสภาพของปอด เช่น ปอดบวม/ปอดอักเสบ
  • ตรวจเลือด: ดูค่าสารเคมีต่างๆเพื่อประเมินความรุนแรงของอาการ
  • ตรวจเพราะเชื้อจากอุจจาระ: หาสาเหตุของอาการท้องเสีย
  • ตรวจเสมหะและเพาะเชื้อจากเสมหะ: ดูการติดเชื้อ

รักษาโรคเมอร์สอย่างไร?

ปัจจุบัน ยังไม่มียารักษาเฉพาะโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง และยังไม่มีวัคซีน, แต่เป็นการรักษาในหอวิกฤติที่แยกผู้ป่วยเฉพาะเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคในระดับสูงสุด โดยเป็นการรักษาตามอาการ และการแยกผู้ป่วยเพื่อ ป้องกันการแพร่ระบาดระดับสูงสุดของโรค

การรักษาตามอาการ: เพื่อให้ร่างกายค่อยๆสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรคขึ้นมาเองเพื่อกำจัดไวรัสนี้ เช่น

  • ยาลดไข้, ยาแก้ปวด, ยาแก้ไอ
  • การให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ
  • การให้ออกซิเจน
  • การให้ยาปฏิชีวนะเมื่อสงสัยมีการติดเชื้อในปอดซ้ำซ้อนจากเชื้อแบคทีเรีย

อนึ่ง: ในกรณีที่ไม่สามารถรอผลการตรวจ PCR หรือ ELISA ได้เพราะผู้ป่วยมีอาการมาก มีการแนะนำให้รักษาไปก่อนด้วยยาต้านไวรัส Oseltamivir ที่ใช้รักษาโรคในตระกูลไข้หวัดใหญ่ที่รุนแรง

อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กำลังมีการศึกษาในเรื่องวัคซีนและมีการศึกษาทดลองใช้ยาชนิดต่างๆในการรักษาโรคนี้ เพราะยาที่เคยใช้ในช่วงโรคนี้ระบาด เช่น ยา Interferon, Chloroquin, และยาต้านไวรัส Ribavirin, พบว่าไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

โรคเมอร์สมีผลข้างเคียงอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่มักทำให้มีอัตราตายสูง คือ

  • ติดเชื้อในปอด/ปอดบวมที่รุนแรงจนเกิดภาวะหายใจล้มเหลวที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • ติดเชื้อในร่างกายที่รุนแรงจนเกิดไตวายเฉียบพลัน
  • ภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด

โรคเมอร์สมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

โรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง โดยทั่วไปเป็นโรครุนแรง เป็นโรคที่มีการพยากรณ์โรคไม่ดี ผู้ป่วยมักต้องได้รับการรักษาในหอผู้ป่วยวิกฤต และถึงแม้จะได้รับการรักษาตามอาการอย่างเหมาะสม อัตราตายจะประมาณ 30-40% ซึ่งการตายมักเกิดภายใน 14 วันหลังเกิดอาการ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยที่มีอัตราตายสูง: ได้แก่

  • ผู้สูงอายุ
  • ผู้มีโรคประจำตัวที่เรื้อรังที่มักควบคุมโรคได้ไม่ดี เช่น โรคปอด, โรคเบาหวาน, โรคมะเร็ง
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคต่ำ

ดูแลตนเองอย่างไร?

การดูแลตนเองที่เกี่ยวข้องกับโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง ได้แก่

ก. เมื่อหายจากโรคและแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านแล้ว การดูแลตนเองที่บ้าน ได้แก่

  • ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล แนะนำ อย่างเคร่งครัด
  • กินยา/ใช้ยาต่างๆที่แพทย์สั่งให้ครบถ้วนถูกต้อง
  • รักษาสุขอนามัยพื้นฐาน (สุขบัญญัติแห่งชาติ) ที่สำคัญ คือ ล้างมือบ่อยๆ กินอาหารปรุงสุกใหม่ ไม่กินอาหารค้าง ใช้ช้อนกลาง
  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบในทุกๆวัน
  • ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8-10 แก้ว ถ้าแพทย์ไม่แนะนำให้จำกัดน้ำดื่ม
  • ไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัยกับตนเอง
  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัยเมื่อต้องออกนอกบ้าน โดยเฉพาะในสถานที่ที่แออัด/อากาศระบายไม่ดี
  • หลีกเลี่ยงการไปในที่แออัด
  • รู้จักรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลเสมอ
  • ล้างมือบ่อยๆด้วยน้ำสะอาด+สบู่ หรือ แอลกอฮอล์เจล
  • พักผ่อนให้เพียงพอ
  • ออกกำลังกายทุกวันตามควรกับสุขภาพ
  • พบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตามนัดเสมอ

ข. เมื่อกลับจากการเดินทางไปต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศกลุ่มเสี่ยงที่มีการระบาดของโรคนี้ การดูแลตนเอง เช่น

  • ควรแยกตัวอยู่ในบ้านและในพื้นที่ของตนเอง ประมาณ 14 วันนับจากเดินทางถึงบ้าน ทั้งนี้เพื่อเฝ้าสังเกตอาการ เพราะระยะฝักตัวของโรค จะประมาณ 2-14 วัน
  • วัดไข้ทุกวัน อย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง เช้า เย็น และช่วงเวลาที่รู้สึกมีไข้ จดไว้เพื่อแจ้งแพทย์/พยาบาล/แจ้งโรงพยาบาล
  • ถ้ามีไข้ (อุณภูมิสูงตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป)ต้องรีบไปโรงพยาบาล, ใช้หน้ากากอนามั, และ*แจ้งแพทย์/โรงพยาบาลว่า เพิ่งกลับจากต่างประเทศและประเทศใด
  • หลังจากนั้น รวมทั้งครอบครัว ให้ปฏิบัติตาม แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แนะนำอย่างเคร่งครัด

ค. ครอบครัวผู้ป่วย: ต้องดูแลตนเอง ผู้ป่วย และคนในบ้าน ตามแพทย์ พยาบาล แนะนำอย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการกักแยกตนเองอยู่ในบ้าน และวัดอุณหภูมิร่างกาย ดังข้อ ข. และรีบไปโรงพยาบาลทันทีเมื่อมีไข้ *โดยแจ้งแพทย์/โรงพยาบาลว่า เป็นญาติ/ครอบครัวของผู้ป่วย

ควรพบแพทย์ก่อนนัดเมื่อไร?

ควรพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลก่อนนัดในผู้ป่วยโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่แพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้แล้ว: เมื่อ

  • อาการแย่ลง เช่น ไอมากขึ้น ท้องเสีย อ่อนเพลียมาก
  • อาการที่เคยหายไปแล้วกลับมามีอาการอีก เช่น มีไข้ ไอ
  • มีอาการใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน เช่น ชัก ปวดหัวมาก
  • กังวลในอาการ

ป้องกันโรคเมอร์สอย่างไร?

การป้องกันโรคเมอร์ส:

ก. การป้องกันโรคเมอร์ส/โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลางที่มีประสิทธิภาพที่สุด จะเช่นเดียวกับการป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่, โรคซาร์ส, โรคโควิด-19, ซึ่งที่แนะนำโดย CDC /ศูนย์ควบคุมโรคติดเจต่อ สหรัฐอเมริกา: เช่น

  • รู้จักใช้หน้ากากอนามัย
  • หลีกเลี่ยงการไปที่สาธารณที่แออัด
  • หลีกเลี่ยงสัมผัสผู้ป่วย
  • ล้างมือด้วยสบู่บ่อยๆ ถ้าทำไม่ได้ให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ ที่เรารู้จักกันดีบ่อยๆและเมื่อสัมผัสสิ่งต่างๆในที่สาธารณ เช่น ราวบันใด โทรศัพท์ ฯลฯ
  • ใช้ช้อนกลาง ไม่ใช้เครื่องใช้ในการรับประทานร่วมกับผู้อื่น เช่น ช้อน แก้วน้ำ ที่ปลอดภัยที่สุดคือ แยกกินอาหาร
  • ไม่สัมผัส ใบหน้า ตา จมูก ปาก ด้วยมือที่ไม่สะอาด
  • ระวังการสัมผัส การใกล้ชิดส่วนบุคคล รวมถึงการใช้สิ่งของต่างๆร่วมกัน
  • พยายามรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลเสมอ
  • กินอาหารปรุงสุกใหม่ๆ รวมถึงนมที่ต้องผ่านพาสเจอไรซ์
  • ติดตามข่าวสาร และคำแนะนำจากกระทรวงสาธารณสุข
  • ดูแล /ฆ่าเชื้อจุดผื้นที่สัมผัสร่วมกันบ่อยๆ เช่น ลูกบิดประตู ราวบันได

*อนึ่ง: หลักการในการดูแลตนเองจะเช่นเดียวกับในโรคโควิด-19

ข. กรณีเดินทางในถิ่นมีการระบาดของโรค: เช่น

  • หลีกเลี่ยงการเดินทาง ถ้าทำได้
  • ขอคำแนะนำการปฏิบัติจากกระทรวงสาธารณสุข ถึงมาตรการในการเดินทางและการดูแลตนเอง
  • ถ้าไปประเทศในเขตตะวันออกกลาง ห้ามสัมผัสตัว และสิ่งคัดหลั่งจากอูฐ และผลิตภัณฑ์จากอูฐทุกชนิดรวมถึงนมอูฐ
  • ดูแลตนเองในเรื่องพื้นฐานเช่นเดียวกับในโรคโควิด-19

บรรณานุกรม

  1. Oboho,I., et al. (2015). N Engl J Med. 372, 846-854
  2. https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/middle-east-respiratory-syndrome-coronavirus-(mers-cov) [2022,July23]
  3. https://www.epysa.org/cdc-close-contact-definition/ [2022,July23]
  4. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7155742/ [2022,July23]
  5. https://en.wikipedia.org/wiki/MERS [2022,July23]
  6. https://www.cdc.gov/coronavirus/mers/index.html [2022,July23]
  7. https://www.moph.go.th/index.php/news/read/66 [2022,July23]
  8. https://ddc.moph.go.th/uploads/files/1030120191119015311.pdf [2022,July23]
  9. https://www.cdc.gov/coronavirus/mers/about/prevention.html [2022,July23]