เมทฟอร์มิน (Metformin)
- โดย เภสัชกร อภัย ราษฎรวิจิตร
- 26 กรกฎาคม 2563
- Tweet
- บทนำ
- ยาเมทฟอร์มินมีสรรพคุณอย่างไร?
- ยาเมทฟอร์มินออกฤทธิ์อย่างไร?
- ยาเมทฟอร์มินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
- ยาเมทฟอร์มินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
- เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
- หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
- ยาเมทฟอร์มินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
- ยาเมทฟอร์มินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
- มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมทฟอร์มินอย่างไร?
- ควรเก็บรักษายาเมทฟอร์มินอย่างไร?
- ยาเมทฟอร์มินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
- บรรณานุกรม
- ยา(Pharmaceutical drug)
- ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด
- โรคเบาหวาน (Diabetes mellitus)
- รู้ทันเบาหวาน(Diabetes mellitus)
- เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy)
- เบาหวานในเด็กและวัยรุ่น(Juvenile diabetes mellitus)
- เบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Diabetes mellitus and pregnancy)
- ยาเบาหวาน หรือ ยารักษาโรคเบาหวาน (Antidiabetic agents)
บทนำ
ยาเมทฟอร์มิน (Metformin) จัดเป็นยารักษาโรคเบาหวานชนิด2 เป็นลักษณะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน หรือร่างกายไม่สามารถนำฮอร์โมนอินซูลินมาใช้ให้เกิดประโยชน์อย่างเต็มที่จึงทำให้การเผาผลาญน้ำตาลของร่างกายด้อยประสิทธิภาพลง
ยาเมทฟอร์มิน ถูกค้นพบและสังเคราะห์มานานกว่า 90 ปี วงการแพทย์ยอมรับในประสิทธิภาพของการรักษาเป็นอย่างดี ส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาป้องกันในผู้ที่มีภาวะเสี่ยงและมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานชนิด 2 ได้อีกด้วย
ยาเมทฟอร์มินมีสรรพคุณอย่างไร?
ยาเมทฟอร์มินมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้:
- ใช้รักษาโรคเบาหวานชนิด 2
- ช่วยทำให้น้ำตาลในกระแสเลือดลดลง
- นอกจากนี้ยังใช้เป็นยาทางเลือกในการรักษากลุ่มอาการรังไข่ทำงานผิดปกติ (Polycystic Ovarian Syndrome: กลุ่มอาการพีซีโอเอส) ซึ่งมีอาการประจำเดือนมาไม่ปกติขาดๆหายๆ มักพบในผู้ที่มีน้ำหนักของร่างกายมากหรือในคนโรคอ้วนและน้ำหนักตัวเกิน
ยาเมทฟอร์มินออกฤทธิ์อย่างไร?
ยังไม่ทราบกลไกการออกฤทธิ์ที่แน่ชัด แต่พบว่าการใช้ยาเมทฟอร์มินช่วยทำให้การดูดซึม น้ำตาลจากระบบทางเดินอาหารลดลง ลดการสร้างน้ำตาลกลูโคสของร่างกาย และช่วยให้ฮอร์โมนอินซูลินในร่างกายทำงานโดยเร่งการเผาผลาญน้ำตาลได้ดียิ่งขึ้น
ยาเมทฟอร์มินมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?
รูปแบบจัดจำหน่ายของยาเมทฟอร์มิน:
- ชนิดเม็ด ขนาด 500 และ 850 มิลลิกรัม
- ชนิดเม็ดร่วมกับยาอื่น ขนาด 1,000 มิลลิกรัม
ยาเมทฟอร์มินมีขนาดรับประทานอย่างไร?
ยาเมทฟอร์มินจัดเป็น ยาอันตราย และมีผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) มากมาย จึงไม่ควรซื้อยากินเอง
ขนาดของยาที่รับประทานใน ผู้ใหญ่ เด็ก(นิยามคำว่าเด็ก) คนชรา มีขนาดที่ต่างกัน และต้องค่อยๆปรับปริมาณขนาดยาที่รับประทานอย่างเหมาะสม ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำการใช้ยานี้จากแพทย์ หรือเภสัชกรเท่านั้น
ก. สำหรับการรักษาโรคเบาหวานชนิด 2 : ขนาดสูงสุดที่รับประทานในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 2.25 กรัม/วัน, ขนาดสูงสุดที่รับประทานในเด็กไม่ควรเกิน 2 กรัม/วัน
ข. สำหรับการรักษากลุ่มอาการรังไข่ทำงานผิดปกติ/กลุ่มอาการพีซีโอเอส (Polycystic Ovarian Syndrome) ขนาดสูงสุดที่รับประทานในผู้ใหญ่ไม่ควรเกิน 1.5 - 1.7 กรัม/วัน
*****หมายเหตุ: ขนาดยา และระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสม ควรต้องปรึกษา แพทย์ หรือเภสัชกร ก่อนเสมอ
เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?
เมื่อมีการสั่งยาทุกชนิดรวมถึงยาเมทฟอร์มิน ผู้ป่วยควรแจ้ง แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น
- ประวัติแพ้ยาทุกชนิด เช่น กินยา/ใช้ยาแล้วคลื่นไส้มาก ขึ้นผื่น หรือแน่น/ หายใจติดขัด/หายใจลำบาก
- มีโรคประจำตัวต่างๆ รวมทั้งกำลังกินยา/ใชเยาอะไรอยู่ เพราะยาเมทฟอร์มินอาจส่งผลให้อาการของโรคเหล่านั้นรุนแรงขึ้น หรืออาจเกิดปฏิกิริยาระหว่างยากับยาอื่นๆที่กิน/ที่ใช้อยู่ก่อนแล้ว
- หากเป็นสุภาพสตรีควรแจ้งว่าอยู่ในภาวะตั้งครรภ์/มีครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เพราะยาหลายชนิดมักผ่านรก หรือผ่านเข้าสู่น้ำนม และเข้าสู่ทารก ก่อผลข้างเคียงต่อทารกได้ หรือก่อผลข้างเคียงกับมารดาและกระทบกับทารกในที่สุด
หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?
หากลืมรับประทานยาเมทฟอร์มิน สามารถรับประทานยาเมื่อนึกขึ้นได้ หากการลืมทานยาใกล้กับมื้อถัดไปให้รับประทานขนาดปกติ โดยไม่ต้องเพิ่มขนาดยาเป็น 2 เท่า
ยาเมทฟอร์มินมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?
ผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง) จากยาเมทฟอร์มิน เช่น
- ใจสั่น
- คลื่นไส้-อาเจียน
- ท้องเสีย
- น้ำหนักตัวลด
- หนาวสั่น
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ
- ผื่นคัน
- ภาวะขาดวิตามินบี12
- ปวดหัว
- ท้องอืด
- อาหารไม่ย่อย
ยาเมทฟอร์มินมีปฏิกิริยากับยาตัวอื่นไหม?
ยาเมทฟอร์มินมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นๆ เช่น
- การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับ สุราจะก่อให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด(Lactic Acidosis) และเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานร่วมกัน
- การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับ ยาโรคหัวใจบางกลุ่ม อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง จึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยาร่วมกัน กลุ่มยารักษาโรคหัวใจดังกล่าว เช่นยา อะซีบูโทลอล (Acebutolol)
- การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับยา ไทรอยด์ฮอร์โมน อาจก่อให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง หากต้องใช้ยาร่วมกัน ควรต้องได้รับการตรวจสอบระดับน้ำตาลในเลือดอย่างใกล้ชิด และแพทย์จะเป็นผู้ปรับขนาดรับประทานของไทรอยด์ฮอร์โมน
- การกินยาเมทฟอร์มิน ร่วมกับ ยาลดกรดบางชนิด อาจจะยับยั้งการขับถ่ายยาเมทฟอร์มิน ออกจากร่างกายโดยทางไต ทำให้ระดับยาเมทฟอร์มินในเลือดสูงขึ้น และส่งผลต่อการรักษาระดับน้ำตาลในเลือดตามมา ตัวอย่างยาลดกรด เช่นยา ไซเมทิดีน (Cimetidine)
มีข้อควรระวังในการใช้ยาเมทฟอร์มินอย่างไร?
ข้อควรระวังในการใช้ยาเมทฟอร์มิน เช่น
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มีภาวะตับ-ไตผิดปกติ เพราะอาจก่อให้เกิดภาวะขาดน้ำ และเกิดการติดเชื้อในร่างกายตามมา
- ระวังการใช้ยานี้กับผู้ที่มี ภาวะหัวใจล้มเหลว, ผู้ป่วยด้วยพิษสุราทั้งชนิดเรื้อรังและเฉียบพลัน, ผู้ป่วยโรคไทรอยด์, ผู้ป่วยต้องได้รับการปรับขนาดยานี้จากแพทย์
- ระวังการใช้ยานี้กับหญิงที่อยู่ในภาวะตั้งครรภ์และภาวะให้นมบุตร ถึงแม้ยาเมทฟอร์มินจะจัดเป็นยารักษาโรคในหมวด Category B ก็ตาม (กล่าวคือ ยาเมทฟอร์มินมีการศึกษากับตัวอ่อน ที่อยู่ในครรภ์ของสัตว์ทดลอง พบว่าไม่ก่อให้เกิดความผิดปกติ หรือเกิดความเสี่ยงกับตัวอ่อนในครรภ์ของสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีการศึกษาการใช้ยากับมนุษย์ และยังไม่มีการยืนยันรับรองความผิด ปกติของทารกในครรภ์ในระยะ 3 เดือนแรก: ดัชนีความปลอดภัยการใช้ยาในหญิงตั้งครรภ์)
- ห้ามใช้ในผู้แพ้ยานี้
- ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
- ห้ามใช้ยาหมดอายุ
***** อนึ่ง: ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด(รวมถึงยาเมทฟอร์มิน) ยาแผนโบราณ อาหารเสริม ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ทุกชนิด และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด ) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน
ควรเก็บรักษายาเมทฟอร์มินอย่างไร?
ควรเก็บยาเมทฟอร์มิน: เช่น
- เก็บยาให้พ้นแสงแดด
- เลี่ยงการเก็บในที่ชื้นหรือในที่ที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส (Celsius)
- ามเก็บยาในช่องแช่แข็งของตู้เย็น
- ไม่ควรเก็บยาที่หมดอายุ ควรทิ้งทำลาย
- เก็บยาให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
- ไม่เก็บยาในห้องน้ำหรือในรถยนต์
ยาเมทฟอร์มินมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?
ยาเมทฟอร์มิน มียาชื่อทางการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น
ชื่อการค้า | บริษัทผู้ผลิต |
---|---|
Actosmet (แอคโทเมท) | Takeda |
Amaryl M (อะมาริล เอ็ม) | sanofi-aventis |
Amaryl M SR (อะมาริล เอ็ม เอสอาร์) | sanofi-aventis |
Ammiformin (แอมมิฟอร์มิน) | MacroPhar |
Buformin (บูฟอร์มิน) | Burapha |
Deglucos (ดีกลูโคส) | Suphong Bhaesaj |
Deson (ดีซัน) | Unison |
Diamet (ไดอะเมท) | Weifa |
Diaslim (ไดอะสลิม) | Community Pharm PCL |
Formin (ฟอร์มิน) | Pharmaland |
Galvus Met (แกลวุส เมท) | Novartis |
Gluco (กลูโค) | Masa Lab |
Glucoles (กลูโคเลส) | T Man Pharma |
Glucolyte (กลูโคไลท์) | T. O. Chemicals |
Glucophage (กลูโคฟาก์) | Merck |
Glucophage XR (กลูโคฟาก์ เอ็กอาร์) | Merck |
Glugon (กลูกอน) | K.B. Pharma |
Glustress (กลูเทรส) | Charoon Bhesaj |
Maformin (มาฟอร์มิน) | Pharmadica |
ME-F (มี - เอฟ) | Thai Nakorn Patana |
Metfor (เมทฟอร์) | Millimed |
Metforex (เมทฟอร์เรค) | The United Drug (1996) |
Metformin Utopian (เมทฟอร์มิน ยูโทเปียน) | Utopian |
Poli-Formin (โพลี่-ฟอร์มิน) | Polipharm |
บรรณานุกรม
1. http://en.wikipedia.org/wiki/Anti-diabetic_medication [2020,July25]
2. http://en.wikipedia.org/wiki/Metformin#Prediabetes [2020,July25]
3. http://www.mims.com/Thailand/drug/AdvancedSearch/[2020,July25]