เนื้องอกสมองในเด็ก มะเร็งสมองในเด็ก (Childhood brain tumor)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ

เนื้องอกสมองในเด็ก (Childhood brain tumor) คือโรคเนื้องอกที่เกิดขึ้นในสมองของเด็ก โดยสามารถเกิดได้กับเนื้อสมองทุกส่วน แต่พบบ่อยที่สมองน้อย และรองลงไปคือที่สมองใหญ่

 

เนื้องอกสมองในเด็กพบได้ในเด็กทุกอายุ รวมถึงตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา แต่อายุที่พบได้บ่อยคือช่วงอายุ 3 - 6 ปี พบได้ต่ำสุดในช่วงอายุ 10 - 14 ปี พบในเด็กหญิงและในเด็กชายได้ใกล้เคียงกัน

 

เนื้องอกสมองในเด็กเป็นโรคที่พบน้อย น้อยกว่าเนื้องอกสมองในผู้ใหญ่มาก ในประเทศ ตะวันตกพบเนื้องอกสมองในเด็กได้ประมาณ 48.5 รายต่อเด็ก 1 ล้านคน (เนื้องอกสมองในผู้ ใหญ่ชาวตะวันตกพบได้ประมาณ 6.5 รายต่อประชากร 1 แสนคน แต่พบในผู้สูงอายุที่มีอายุมาก กว่า 75 ปีได้ประมาณ 50 รายต่อประชากร 1 แสนคน)

 

ส่วนในประเทศไทย ทะเบียนมะเร็งที่จัดทำโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ (รายงานในปี พ.ศ. 2558) ไม่แยกรายงานผู้ป่วยเด็กและผู้ใหญ่ แต่รายงานรวมทุกอายุ โดยพบในผู้หญิง 2.9 รายต่อประชากรหญิง 1 แสนคน และในผู้ชายพบ 2.9 รายต่อประชากรชาย 1 แสนคนเท่ากับในเพศหญิง

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เป็นโรคที่พบได้น้อย แต่จัดเป็นเนื้องอกหรือมะเร็งที่พบได้บ่อยในเด็ก โดยพบได้บ่อยเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งเม็ดเลือดขาว

 

เนื้องอกสมอง เป็นคำที่ใช้เรียกรวมทั้งเนื้องอกชนิดไม่ร้ายแรง (ไม่ใช่มะเร็ง) และเนื้องอกชนิดที่เป็นมะเร็ง ทั้งนี้เพราะสมองเป็นอวัยวะสำคัญ เนื้องอกที่เกิดในสมองถึงแม้เป็นเนื้องอกไม่ร้ายแรง ก็จัดว่าเป็นโรคที่รุนแรงกว่าเนื้องอกไม่ร้ายแรงของอวัยวะอื่นๆ

 

ดังนั้นในบทความนี้ คำว่า ‘เนื้องอกสมอง’ จึงหมายถึงทั้งเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง (Benign tumor) และเนื้องอกมะเร็ง (Malignant tumor) ซึ่งทั้ง 2 ชนิดจะมีธรรมชาติของโรคใกล้เคียงกัน เช่น สาเหตุ อาการ วิธีวินิจฉัย การรักษา การดูแล *แต่ต่างกันที่การพยากรณ์โรค (โรคเนื้องอก การพยากรณ์โรคจะดี กว่าโรคมะเร็งมาก) จึงสามารถกล่าวถึงไปพร้อมกันได้

 

เนื้องอกสมองในเด็กเกิดจากอะไร? มีปัจจัยเสี่ยงไหม?

เนื้องอกสมองในเด็ก

ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดเนื้องอกสมองในเด็ก แต่จากการศึกษาพบ ว่า ปัจจัยเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดได้ เช่น

  • มีความผิดปกติทางโครโมโซมของตัวเด็กเอง เพราะพบเนื้องอกสมองในเด็กกลุ่มอาการดาวน์ (Down’s syndrome) ได้สูงกว่าเด็กที่ไม่มีความผิดปกติทางโครโมโซม
  • เด็กมีประวัติเคยได้รับรังสีปริมาณสูงที่บริเวณศีรษะ โดยเฉพาะรังสีเอกซ์ (X-ray) เช่น การเคยได้รับรังสีรักษาบริเวณสมอง
  • เด็กมีประวัติเคยได้รับยาเคมีบำบัด
  • เด็กมีการติดเชื้อโรคบางชนิดเช่น การติดเชื้อเอชไอวี
  • มีประวัติมารดาได้รับสารเคมีระหว่างตั้งครรภ์เช่น ยาฆ่าแมลง
  • มารดาติดเชื้อบางชนิดขณะตั้งครรภ์เช่น การติดเชื้อเอชไอวี
  • มารดาขาดสารอาหารช่วงตั้งครรภ์
  • มารดา สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และ/หรือติดสารเสพติด/ยาเสพติดช่วงตั้งครรภ์
  • มารดาได้รับยารักษาโรคบางชนิดในขณะตั้งครรภ์ (เป็นข้อสันนิษฐาน ไม่สามารถระบุตัวยาที่แน่ชัดได้)

 

เนื้องอกสมองในเด็กมีอาการอย่างไร?

ไม่มีอาการเฉพาะของเนื้องอกสมองในเด็ก แต่อาการจะเป็นอาการเช่นเดียวกับโรคสมองจากสาเหตุอื่นๆเช่น ติดเชื้อ หรือมีความพิการแต่กำเนิด ทั้งนี้โดยทั่วไป อาการและความรุนแรงของอาการจะขึ้นกับ

  • ตำแหน่งในสมองที่เกิดโรค/รอยโรค
  • ขนาดของก้อนเนื้อ
  • และอายุของเด็ก

 

ก. ในเด็กอ่อน: อาการที่สำคัญคือ เด็กมีขนาดศีรษะที่โตขึ้นผิดปกติ เนื่องจากกะโหลกศีรษะแต่ละชิ้นยังติดกันไม่ดี ดังนั้นเมื่อมีก้อนเนื้อ ความดันในกะโหลกศีรษะจึงสูงขึ้น ส่งผลให้ดันกะโหลกศีรษะขยายตัว ศีรษะจึงใหญ่ขึ้น

นอกจากนั้น เด็กอาจ

  • เจริญเติบโตด้อยกว่าเกณฑ์
  • แขน ขาอ่อนแรง อาจด้านเดียวกันหรือทั้งสองด้าน

 

ข. ส่วนในเด็กเล็กและเด็กโต: กระดูกกะโหลกแต่ละชิ้นสมานติดกันแล้ว เด็กจึงมักมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง อาจร่วมกับ

  • อาเจียน
  • กล้ามเนื้อ แขน ขา ด้านเดียวกันอ่อนแรง
  • และถ้าก้อนเนื้อเกิดในตำแหน่งที่ติดกับฐานสมอง เด็กอาจมีอาการ
    • ตาเหล่
    • เดินเซ
    • หรือมีอาการทางการหายใจ เช่น หายใจแผ่วเบา หายใจตื้น จนถึงหยุดหายใจได้

 

ควรพบแพทย์เมื่อไร?

เนื่องจากเด็กในทุกวัยไม่สามารถสื่อสารบอกเล่าอาการได้เหมือนผู้ใหญ่ ดังนั้นผู้ดูแลเด็กจึงต้องหมั่นสังเกตเด็ก เมื่อพบเด็กมีความผิดปกติดังกล่าวใน ‘หัวข้อ อาการฯ’ ควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลเสมอ

 

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกสมองในเด็กได้อย่างไร?

แพทย์วินิจฉัยเนื้องอกสมองในเด็กได้จาก

  • การซักถามประวัติทางการแพทย์ของเด็กจากผู้ปกครอง/ผู้ดูแลเด็ก ที่สำคัญ เช่น ประวัติอาการ
  • การตรวจร่างกายเด็ก
  • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
  • และการถ่ายภาพสมองด้วยเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือ เอมอาร์ไอ

 

*ซึ่งเมื่อพบภาพก้อนเนื้อในสมอง แพทย์จะผ่าตัดก้อนเนื้อโดยมักไม่มีการตัดชิ้นเนื้อก่อน (เพราะ สมองเป็นอวัยวะสำคัญ การตัดชิ้นเนื้ออาจส่งผลให้เกิดเลือดออกในสมองจนผู้ป่วยเสียชีวิตได้ และเหตุผลอีกประการคือ การรักษาหลักของเนื้องอกสมอง คือการผาตัดอยู่แล้ว) ซึ่งหลังผ่าตัด จะมีการตรวจชิ้นเนื้อด้วยการตรวจทางพยาธิวิทยา จึงจะทราบผลที่แน่นอนว่า เด็กเป็นเนื้องอกสมองชนิดใด

 

เนื้องอกสมองในเด็กมีกี่ชนิด?

เนื้องอกสมองในเด็กแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มหลัก คือ ชนิดไม่ใช่มะเร็ง และเนื้องอกชนิดเป็นมะเร็ง

 

ก. เนื้องอกชนิดไม่ใช่มะเร็ง (Benign tumor): แบ่งได้เป็นอีกหลากหลายชนิด ซึ่งเซลล์เนื้องอกชนิดเดียวกัน

  • ถ้ามีการแบ่งตัวของเซลล์ (Grade) ต่ำ ก็จะเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • แต่ถ้ามีการแบ่งตัวของเซลล์สูง ก็จัดอยู่ในกลุ่มมะเร็ง

 

อนึ่ง ตัวอย่างเนื้องอกกลุ่มนี้ เช่น ชนิด Astrocytoma, Oligodendroglioma, Ependymoma ซึ่งเนื้องอกกลุ่มนี้

  • ถ้าเซลล์เนื้องอกแบ่งตัวต่ำ/น้อย(Grade1 หรือย่อว่า G1) ก็จะมีธรรมชาติของโรคเป็นเนื้องอกที่ไม่ใช่มะเร็ง
  • แต่ถ้าเซลล์เนื้องอกเหล่านี้มีการแบ่งตัวสูง(G3,G4) ธรรมชาติของโรคก็จะเป็นเนื้องอกมะเร็ง
  • แต่ถ้าเซลล์เนื้องอกแบ่งตัวปานกลาง(G2) ยังไม่จัดเป็นมะเร็งอย่างแท้จริง ความรุนแรงโรค/การพยากรณ์โรคจะแย่กว่าเมื่อเป็นG1 แต่ความรุนแรงโรคจะดีกว่ากรณีเป็น G3, G4 มาก

 

ข. เนื้องอกชนิดเป็นมะเร็ง (Malignant tumor): มีได้หลากหลายชนิดเช่นกัน เช่น นอกจากเป็นเนื้องอกชนิดมีการแบ่งตัวของเซลล์สูงดังได้กล่าวแล้วในข้อ ก. ยังมีเนื้องอกบางชนิดที่เป็นมะเร็งด้วยชนิดของเซลล์โดยไม่ขึ้นกับการแบ่งตัวของเซลล์ ที่พบได้บ่อยคือ มะเร็งชนิด Medulloblatoma นอก จากนั้น ที่พบได้ประปราย เช่นชนิด Glioblastoma เป็นต้น

 

เนื้องอกสมองในเด็กมีกี่ระยะ?

สมอง เป็นอวัยวะที่ไม่มีระบบน้ำเหลือง และธรรมชาติของเนื้องอกสมองทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ มักไม่มีการลุกลามแพร่กระจายเข้าต่อมน้ำเหลืองและ/หรือเข้าสู่กระแสโลหิต

 

เมื่อเป็นเนื้องอกสมองชนิดไม่ใช่มะเร็ง เนื้องอกจะโตและกดเบียดทับเนื้อเยื่อข้างเคียงโดยไม่ลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง ส่งผลให้มักสามารถผ่าตัดก้อนเนื้อออกได้หมด ถ้าก้อนเนื้อยังมีขนาดเล็กไม่เกิน 3 – 5 เซนติเมตร

 

เมื่อเป็นเนื้องอกมะเร็ง โรคจะลุกลามเข้าเนื้อเยื่อข้างเคียง และถ้าก้อนเนื้ออยู่ใกล้กับโพรง น้ำในสมอง หรือทางเดินของน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง (CSF: Cerebrospinal fluid) เซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายเข้าโพรงน้ำนี้ได้

 

ดังนั้น ในเนื้องอกสมองทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ จึงไม่มีการจัดระยะโรคเช่นในโรคมะเร็งทั่ว ไป (ระยะที่ 1 ถึง ระยะที่ 4) ยกเว้นโรคมะเร็งสมองบางชนิด แต่ก็จัดระยะโรคที่มักเป็นเฉพาะกรณีที่แพทย์ทำการศึกษาวิจัยเป็นส่วนใหญ่ ไม่ได้นำมาใช้ทางคลินิก

 

โดยทั่วไป มักจัดแบ่งเนื้องอกสมองเป็นระยะต่างๆโดยใช้ลักษณะทางคลินิก โดยเรียงลำ ดับจากระยะที่มีการพยากรณ์โรคดีที่สุดลงไปจนถึงระยะที่มีการพยากรณ์โรคเลวที่สุด ดังนี้

 

  • ระยะผ่าตัดได้ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ
    • กลุ่มผ่าตัดเนื้องอกออกได้หมด
    • และกลุ่มผ่าตัดเนื้องอกออกได้เพียงบางส่วน
  • ระยะผ่าตัดไม่ได้
  • ระยะโรคกลับเป็นซ้ำ
  • และระยะโรคแพร่กระจายเข้าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มของโรคระยะที่4

 

เนื้องอกสมองในเด็กมีการพยากรณ์โรคอย่างไร?

การพยากรณ์โรคของเนื้องอกสมองในเด็กขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ที่สำคัญ ได้แก่

  • ขนาดของ ก้อนเนื้อ (ก้อนใหญ่ การพยากรณ์โรคไม่ดี)
  • ตำแหน่งที่เกิดโรค (ถ้าเกิดโรคในเนื้อสมองส่วนที่อยู่ลึก ส่วนที่ผ่าตัดไม่ได้ การพยากรณ์โรคไม่ดี)
  • ชนิดของเซลล์มะเร็ง (เซลล์ชนิดที่เป็นเซลล์มะเร็ง การพยากรณ์โรคไม่ดี)
  • การแบ่งตัวของเซลล์เนื้องอก/Grade (เซลล์เนื้องอกที่แบ่งตัวได้สูง/G4,G4 การพยากรณ์โรคไม่ดี)
  • การผ่าตัด (ถ้าผ่าตัดไม่ได้หรือผ่าตัดได้ไม่หมด การพยากรณ์โรคไม่ดี)
  • ระยะโรค (ถ้าเป็นระยะผ่าตัดไม่ได้ กลับเป็นซ้ำและ/หรือ แพร่กระจายเข้าน้ำหล่อเลี้ยงสมองและไขสันหลัง การพยากรณ์โรคไม่ดี)
  • และอายุ (อายุยิ่งน้อย การพยากรณ์โรคไม่ดี)

 

*โดยทั่วไปในภาพรวม การพยากรณ์โรค หรือ อัตรารอดที่ห้าปี ได้แก่

  • ในเนื้องอกกลุ่มที่มีการพยากรณ์โรคที่ดีทุกปัจจัย อัตราอยู่รอดที่ห้าปี ประมาณ 95%
  • กลุ่มที่การพยากรณ์โรคไม่ดีทุกปัจจัย อัตราอยู่รอดที่ห้าปี ประมาณ 0- 20%
  • ส่วนกลุ่มที่ปัจจัยต่อการพยากรณ์โรคอยู่ในเกณฑ์ปานกลาง (มีทั้งปัจจัยที่ดีและปัจจัยที่ไม่ดี) อัตรารอดที่ห้าปี ประมาณ 40 - 70%

 

รักษาเนื้องอกสมองในเด็กอย่างไร?

วิธีรักษาเนื้องอกสมองในเด็กเช่นเดียวกับในผู้ใหญ่ กล่าวคือ การรักษาหลักคือ การผ่าตัด (ที่ใช้รักษาในทุกระยะของโรค) ซึ่งหลังการผ่าตัด แพทย์จะประเมินจากการตรวจทางพยาธิวิทยาของก้อนเนื้อ เพื่อดูปัจจัยต่างๆว่า สมควรที่จะได้รับการรักษาต่อเนื่อง ด้วยรังสีรักษา และ/หรือยาเคมีบำบัด หรือไม่

 

ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเลือกวิธีรักษาของแพทย์ คือ

  • ชนิดของเซลล์เนื้องอก
  • การแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง(Grade)
  • ขนาด ตำแหน่ง ของสมองที่เกิดโรค
  • ผ่าตัดก้อนเนื้อได้หมดหรือไม่
  • ระยะของโรคทางคลินิก
  • และอายุของผู้ป่วย

 

อนึ่ง การรักษาหลังผ่าตัด หลังประเมินปัจจัยต่างๆดังกล่าวแล้ว อาจเป็น

  • การเฝ้าติดตามโรค: กรณีเป็นเนื้องอกสมองชนิดไม่ใช่มะเร็ง ด้วยการมาพบแพทย์เป็นระยะๆเพื่อรับ
    • การตรวจร่างกาย
    • การตรวจร่างกายทางระบบประสาท
    • และการตรวจภาพสมองด้วยเอกซ เรย์คอมพิวเตอร์ และ/หรือเอมอาร์ไอเป็นระยะ
  • กรณีมีปัจจัยเสี่ยงต่อโรคย้อนกลับเป็นซ้ำสูง หรือเป็นมะเร็ง: การรักษาต่อเนื่องอาจเป็น รังสีรักษา, และ/หรือยาเคมีบำบัด ทั้งนี้ขึ้นกับปัจจัยต่างๆดังได้กล่าวแล้วและดุลพินิจของแพทย์
  • ส่วนการใช้ยารักษาตรงเป้า/ ยารักษาแบบจำเพาะต่อเซลล์มะเร็ง เช่น ยาทางชีวโมเลกุลต่างๆ ยังอยู่ในการศึกษาทางการแพทย์ แต่ก็มียาบางตัว ที่ได้นำมาใช้ทางคลินิกบ้างแล้วในกรณีผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งสมองชนิดที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษามาตรฐาน

 

มีผลข้างเคียงจากการรักษาเนื้องอกสมองในเด็กอย่างไร?

ผลข้างเคียงจากการรักษาเนื้องอกสมองในเด็ก จะขึ้นกับวิธีรักษา ซึ่งเช่นเดียวกับในผู้ ใหญ่ กล่าวคือ

  • การผ่าตัด: เช่น การสูญเสียอวัยวะ การเสียเลือด แผลผ่าตัดติดเชื้อ และเสี่ยงต่อการดมยาสลบ
  • รังสีรักษา: คือ ผลข้างเคียงต่อผิวหนังและต่อเนื้อเยื่อสมอง (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง การดูแลผิวหนังและผลข้างเคียงต่อผิวหนังบริเวณฉายรังสีรักษา และเรื่องการดูแลตนเองเมื่อฉายรังสีรักษาบริเวณสมอง)
  • ยาเคมีบำบัด: คือ อาการ คลื่นไส้ อาเจียน ผมร่วง ภาวะซีด และการติดเชื้อจากภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำ (แนะนำอ่านเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ภาวะเม็ดเลือดขาวต่ำจากเคมีบำบัดและ/หรือรังสีรักษา:การดูแลตนเอง) และการมีเลือดออกได้ง่ายจากภาวะเกล็ดเลือดต่ำ

 

มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกสมองในเด็กไหม?

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีตรวจคัดกรองเนื้องอกสมองในเด็กให้พบโรคได้ตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ดัง นั้น การหมั่นสังเกตอาการเด็กและรีบนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลแต่เนิ่นๆ จะช่วยให้พบโรคได้ตั้งแต่ในระยะเริ่มเป็น ที่จะส่งผลให้การรักษาได้ผลดีกว่าการมาพบแพทย์เมื่อโรคลุกลามมากแล้ว

 

ป้องกันเนื้องอกสมองในเด็กอย่างไร?

เนื่องจากเป็นโรคที่ยังไม่ทราบสาเหตุ ดังนั้นจึงยังไม่สามารถป้องกันเนื้องอกสมองในเด็กได้ แต่อย่างไรก็ตาม การหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงดังได้กล่าวแล้วในหัวข้อสาเหตุ/ปัจจัยเสี่ยง โดยการดูแลตนเองของมารดาในช่วงก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ก็สามารถช่วยลดโอกาสเกิดเนื้องอกสมองของลูกได้ ซึ่งที่สำคัญ คือ

  • กินอาหารมีประโยชน์ห้าหมู่ให้ครบถ้วนในทุกวัน
  • หลีกเลี่ยงสารเคมีและยาที่ไม่จำเป็น
  • ไม่สูบบุหรี่/สูบบุหรี่มือสอง
  • ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ไม่บริโภคสิ่งเสพติด/ยาเสพติด

 

ดูแลผู้ป่วยเนื้องอกสมองในเด็กอย่างไร?

เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้ยังเป็นเด็ก การดูแลจึงต้องอาศัย บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ผู้ดูแล ซึ่งต้องเป็นไปตามคำแนะนำของแพทย์ พยาบาล ที่ให้การรักษาเด็ก และต้องนำเด็กพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลตรงตามนัดเสมอ

 

ผู้ดูแลเด็กควรต้องมีสมุดจดบันทึกอาการเด็กและข้อสงสัย เพื่อการสอบถาม แพทย์ พยา บาล ได้ครบถ้วน ถูกต้อง รวมทั้งควรจดบันทึกคำแนะนำของ แพทย์ พยาบาลด้วย เพื่อการดูแลเด็กได้ถูกต้องเช่นกัน

 

ผู้ดูแลเด็กต้องเพิ่มการสังเกตอาการต่างๆของเด็ก เพราะเด็กมักไม่สามารถบอกเล่าได้ ซึ่งเมื่อพบเด็กมีอาการผิดปกติไปจากเดิม หรือมีอาการต่างๆเลวลง ควรต้องรีบนำเด็กพบแพทย์ /ไปโรงพยาบาลก่อนนัดเสมอ

 

นอกจากนี้ สมองเป็นอวัยวะสำคัญมาก การเกิดเนื้องอก ถึงแม้จะเป็นชนิดไม่ใช่มะเร็งก็จัด เป็นโรครุนแรงคล้ายการเป็นมะเร็ง รวมทั้งวิธีการที่ใช้รักษาก็เช่นเดียวกับการรักษาโรคมะเร็งด้วย

 

ดังนั้นการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยในเนื้องอกสมองทั้งในเด็กและในผู้ใหญ่ จึงเช่นเดียวกับการดูแลตนเองและการดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด แนะนำอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บ haamor.com ในบทความเรื่อง

  • การดูแลตนเองเมื่อป่วยเป็นโรคมะเร็ง และการดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และในเรื่อง การดูแลตนเอง การดูแลผู้ป่วยเคมีบำบัด

 

บรรณานุกรม

  1. DeVita, V., Hellman, S., and Rosenberg, S. (2005). Cancer: principles& practice of oncology (7th edition). New York: Lippincott Williams & Wilkins.
  2. Halperin,E., Wazer, D., Perez,C., and Brady,L. (2013). Principle and practice of radiation oncology.(6th ed). Walter KLUWER/Lippincott Williams & Wilkins. Philadelphia
  3. Imsamran,W . et al. (2015). Cancer in Thailand. Volume. V, 2010-2012. Thai National Cancer Institute. Ministry of Public Health
  4. https://www.cancer.org/cancer/brain-spinal-cord-tumors-children/detection-diagnosis-staging/survival-rates.html [2019,Jan26]
  5. http://www.childneurologyfoundation.org/disorders/pediatric-brain-tumors/ [2019,Jan26]