เกลื้อน (Pityriasis versicolor)
- โดย แพทย์หญิง สลิล ศิริอุดมภาส
- 6 มิถุนายน 2563
- Tweet
สารบัญ
- บทนำ
- อะไรเป็นสาเหตุของโรคเกลื้อน?
- โรคเกลื้อนมีอาการอย่างไร?
- แพทย์วินิจฉัยโรคเกลื้อนได้อย่างไร?
- โรคเกลื้อนมีผลข้างเคียงและมีความรุนแรงอย่างไร?
- รักษาโรคเกลื้อนอย่างไร?
- ควรดูแลตนเองและป้องกันโรคเกลื้อนอย่างไร?
- ควรพบแพทย์เมื่อไร?
- บรรณานุกรม
บทความที่เกี่ยวข้อง
- โรคผิวหนัง (Skin disorder)
- กลาก (Tinea)
- เชื้อรา (Fungal infection)
- โรคติดเชื้อ ภาวะติดเชื้อ (Infectious disease)
- ผื่นแพ้สัมผัส (Allergic contact Dermatitis)
- โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังในเด็ก (Atopic dermatitis)
- ยารักษาเกลื้อน (Tinea versicolor medication)
- โรคด่างขาว (Vitiligo)
บทนำ
โรคเกลื้อน หรือ Pityriasis versicolor หรือ Tinea versicolor เป็นโรคเชื้อราที่เกิดขึ้นเฉพาะกับผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (ผิวหนังชั้นนอก) เท่านั้น
คำว่า Versicolor แปลว่า หลายสี เนื่องจากผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ จะมีรอยโรคบนผิวหนังที่มีสีแตกต่างกันไปในแต่ละคน
โรคเกลื้อนไม่มีภาวะแทรกซ้อน (ผลข้างเคียง) ไม่อันตรายถึงชีวิต ไม่ทำให้พิการ ที่สำคัญคือ ไม่ได้ติดต่อกันโดยการสัมผัส และโรคเกลื้อนมียารักษาให้หายได้
พบโรคเกลื้อนในประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นมากกว่าในประเทศที่มีภูมิอากาศหนาวเย็น ตัวอย่างเช่น ในประเทศซามัว ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ พบผู้ที่เป็นโรคเกลื้อนได้ถึงประมาณ 50% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ในขณะที่ประเทศสวีเดนพบผู้ป่วยเพียงประมาณ 1 % เท่านั้น มักพบโรคในช่วงฤดูร้อนมากกว่าในฤดูหนาว ผู้หญิงและผู้ชายพบได้เท่าๆกัน ส่วนใหญ่จะพบในวัยรุ่น ส่วนในเด็กเล็กและผู้สูงอายุ พบได้น้อยมาก สำหรับในประเทศไทย ไม่มีรายงานจำนวนผู้ป่วยที่ชัดเจน แต่จากสถิติผู้ป่วยที่มาที่แผนกผิวหนังของโรงพยาบาลต่างๆ พบโรคเกลื้อนอยู่ในอันดับต้นๆ
อะไรเป็นสาเหตุของโรคเกลื้อน?
สาเหตุของโรคเกลื้อนเกิดจากเชื้อราที่ชื่อ Malassezia spp. (เดิมชื่อ Pity rosporum spp.) ซึ่งทั่วไปจะอาศัยอยู่บนผิวหนังชั้นนอกของคนเราโดยไม่ได้ทำให้เกิดโรคอะไร เชื้อฯมีรูปร่างเป็นเม็ดกลมๆ ซึ่งเรียกว่า ยีสต์ (Yeast) แต่เมื่อมีปัจจัยบางอย่างเกิดขึ้น เชื้อราที่อยู่บนผิวหนังของเราเหล่านี้ ก็จะเปลี่ยนรูปร่างจากเม็ดกลมๆกลายเป็น ‘เส้น’ ซึ่งเรียกว่าไฮฟี (Hyphae) รูปร่างของเชื้อราแบบนี้นี่เอง ที่จะทำให้เกิดรอยโรคบนผิวหนังขึ้นมา
สาเหตุ/ปัจจัยที่ทำให้เชื้อราเปลี่ยนรูปร่างและก่อโรคขึ้นมานั้น ยังไม่ทราบชัดเจน แต่พบเกี่ยวข้องกับปัจจัยบางอย่าง เช่น
- สภาพอากาศที่ร้อน ชื้น ร่วมกับ
- มีพันธุกรรมบางชนิดที่ทำให้ง่ายต่อการติดเชื้อ
- มีภาวะภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
- ขาดสารอาหารบางชนิด
นอกจากนี้ การค้นพบว่า เชื้อราส่วนใหญ่นั้นอาศัยอยู่ตาม ผิวนังหน้าอก และผิวหนังแผ่นหลัง ซึ่งเป็นบริเวณที่มีต่อมไขมันอยู่มาก, ประกอบกับการที่โรคเกลื้อนมักพบในช่วงวัยรุ่น ซึ่งเป็นช่วงที่ต่อมไขมันทำงานมาก จึงสันนิษฐานว่า
- ปริมาณและชนิดของไขมันบนผิวหนัง น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เชื้อราชนิดนี้เปลี่ยนรูปและก่อโรคขึ้นมา
- แต่การศึกษาวิจัยบางรายงานพบว่า ไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับไขมันบนผิวหนัง แต่น่าจะเกี่ยวข้องกับชนิดกรดอะมิโนบางตัวมากกว่า
จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น โรคเกลื้อนจึงไม่ใช่โรคติดต่อ และการสัมผัสผิวหนังของผู้ป่วย ก็ไม่ได้ทำให้เป็นโรคเกลื้อน
เชื้อ Malassezia spp. ที่พบทำให้เกิดโรคเกลื้อนได้ มีอยู่ 11ชนิด (Species) แต่ชนิดที่พบเป็นสาเหตุได้บ่อยคือ Malassezia globosa รองลงมาคือ Malassezia sympodialis และ Malassezia furfur
โรคเกลื้อนมีอาการอย่างไร?
อาการของโรคเกลื้อน คือ
- ผู้ป่วยจะมีผื่นรูปวงกลม หรือวงรี แบบแบนราบที่มีขอบเขตชัดเจน ผิวสัมผัสของผื่นจะไม่เรียบ
- ผื่นมีลักษณะเป็นขุยละเอียด และมีได้หลายสี ตั้งแต่สีชมพู เทา น้ำตาล น้ำตาลแดง หรือสีออกขาว (คือจางกว่าสีของผิวหนังปกติ)
- ผู้ป่วยจะมีผื่นหลายๆวง ตั้งแต่ขนาดเล็กๆ จนกระทั่งเป็นปื้นขนาดใหญ่
- มักพบผื่นตามบริเวณ หน้าอก และแผ่นหลัง เป็นส่วนใหญ่ บางครั้งอาจพบผื่นบริเวณหน้าท้อง ลำคอ และแขนส่วนต้น มีส่วนน้อยมากอาจพบผื่นที่บริเวณใบหน้า
- * ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะไม่มีอาการคัน
ทั้งนี้:
- การที่ผื่นโรคเกลื้อนมีสีขาวนั้น เกิดจากเชื้อราสร้างเอนไซม์ที่ไปขัดขวางการสร้างเม็ดสีของเซลล์ที่มีหน้าที่สร้างเม็ดสี (Melanocyte) ของผิวหนังชั้นหนังกำพร้า (ชั้น นอก)
- ส่วนผื่นที่มีสีอื่นๆนั้น เกิดจากเชื้อรากระตุ้นให้เซลล์สร้างเม็ดสี ผลิตเม็ดสีชนิดต่างๆมากขึ้น
*อนึ่ง: สำหรับโรคเกลื้อนน้ำนม หรือกลากน้ำนม หรือ Pityriasis alba ไม่ใช่โรคเกลื้อน หรือโรคกลากที่แท้จริง และไม่ได้เกิดจากเชื้อรา แต่เป็นโรคที่เซลล์สร้างเม็ดสีที่ชั้นหนังกำพร้าสร้างเม็ดสีลดลง ทำให้เกิดเป็นผื่นแบนราบสีออกขาว ดูคล้ายโรคเกลื้อนได้ แต่ผื่นในโรคเกลื้อนน้ำนมมักพบบริเวณใบหน้า และขอบเขตของผื่นจะไม่ชัดเจน ซึ่งจะแตกต่างกับผื่นของโรคเกลื้อน
แพทย์วินิจฉัยโรคเกลื้อนได้อย่างไร?
แพทย์วินิจฉัยโรคเกลื้อนจาก
- อาการของผู้ป่วย (ซึ่งมักไม่มีอาการอื่นๆร่วมด้วย) และลักษณะและตำแหน่งผื่น เป็นหลัก
- ในกรณีที่ผื่นมีลักษณะไม่ชัดเจนดังกล่าวข้างต้นใน’หัวข้อ อาการฯ’ ต้องใช้การตรวจวินิจฉัยทางห้องปฏิบัติการมาช่วยโดย
- การขูดเอาผิวหนังตรงบริเวณผื่น นำมาวางบนสไลด์ (Slide,แผ่นแก้วบางๆที่ใช้เป็นอุปกรณ์ช่วยการตรวจทางห้องปฏิบัติการ) หยอดน้ำยาเคมีชื่อ โปแตสเซียม ไฮดรอกไซด์ (KOH) และนำไปดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ก็จะพบเชื้อราที่มีรูปร่างแบบเส้น (Hyphae) ปนกับรูปร่างกลมๆ (Yeast) ซึ่งลักษณะเฉพาะนี้เรียกว่า สปาเกตตี้ กับ มีทบอล (Meatball อาหารฝรั่งชนิดหนึ่งเป็นก้อนกลมๆทำจากเนื้อบด) หรือ เบคอนกับไข่ดาว ซึ่งถ้านำไปย้อมด้วยสีพิเศษชนิดต่างๆ ก็จะเห็นได้ชัดเจนขึ้น
อนึ่ง: ผิวหนังของคนเราแบ่งออกเป็นชั้นผิวหนังกำพร้า/ผิวหนังชั้นนอก (Epidermis) และชั้นผิวหนังแท้(Dermis) ในส่วนของชั้นผิวหนังกำพร้า แบ่งย่อยออกอีกได้เป็น 4-5 ชั้น
โดยเมื่อตัดชิ้นเนื้อจากบริเวณผิวหนังที่เป็นผื่นเกลื้อนไปตรวจทางพยาธิวิทยา จะพบ
- เชื้อราโรคนี้ ทั้งรูปร่างแบบเส้นและแบบกลมๆ อยู่เฉพาะบนผิวหนังชั้นบนสุดของชั้นผิวหนังกำพร้าเท่านั้น คือในหนังกำพร้าชั้นที่เรียกว่า Stratum corneum หรือชั้นขี้ไคลนั่นเอง เชื้อราจะไม่ลุกลามลงไปยังชั้นผิวหนังส่วนล่างๆ ซึ่งจะแตกต่างกับเชื้อราชนิดอื่นๆ
- นอกจากนี้ ในโรคเกลื้อนจะพบชั้นผิวหนังกำพร้ามีการหนาตัวขึ้น และมีการสร้างสารเคราติน (Keratin, โปรตีนชนิดหนึ่ง มีลักษะแข็ง)มากขึ้น และพบมีเซลล์เม็ดเลือดขาวมาอยู่รอบหลอดเลือดที่อยู่ในชั้นผิวหนังแท้
โรคเกลื้อนมีผลข้างเคียง และมีความรุนแรงอย่างไร?
โรคเกลื้อนมีผลข้างเคียงและการพยากรณ์โรค ดังนี้
ก. การพยากรณ์โรค:
- โดยทั่วไป โรคเกลื้อนเป็นโรคไม่รุนแรง เมื่อผู้ป่วยได้รับยารักษา ผื่นจะค่อยๆหายไป
- ผิวหนังจะกลับมามีสีปกติเหมือนเดิมภายในระยะเวลา 1-2 เดือน และ
- จะไม่มีรอยแผลเป็นเกิดขึ้น
- ในผู้ป่วยบางคนเมื่อหายแล้ว จะกลับเป็นซ้ำอีกได้เรื่อยๆ
- ในผู้ที่เป็นบ่อยๆ อาจต้องใช้ยาสำหรับป้องกัน
ข. ผลข้างเคียง:
- โรคเกลื้อนไม่มีผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อน ไม่มีอันตรายถึงชีวิต ไม่ทำให้พิการ แม้ผู้ป่วยจะไม่ได้ใช้ยารักษาเลยก็ตาม
- เพียงแต่ทำให้ผิวหนังเป็นด่างดวง ดูไม่สวยงามเท่านั้น
รักษาโรคเกลื้อนอย่างไร?
แนวทางการรักษาโรคเกลื้อนมีดังนี้
ก. การรักษาโรคเกลื้อน: แนวทางการรักษาโรคเกลื้อน ได้แก่ การใช้ยาซึ่งมีทั้งชนิดทาและชนิดกิน โดยมียาหลายตัวให้เลือกใช้
- ยาแบบทา: เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นไม่มาก แต่จะใช้เวลารักษานานกว่ายาแบบกิน โดยส่วนใหญ่ต้องใช้ทุกวันติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์ขึ้นไป
- ยาแบบกิน: เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นเป็นบริเวณกว้าง การใช้ยาในรูปแบบทาจึงไม่สะดวก ระยะเวลาที่ใช้รักษาจะสั้นกว่ายาแบบทา แต่ผลข้างเคียงจากยาก็ย่อมจะมีมากกว่า ซึ่งผลข้างเคียงขึ้นกับชนิดของยา เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และ/หรือผิวหนังขึ้นผื่น
- นอกจากนี้ยังมียาในรูปแบบสบู่ หรือแชมพู สำหรับใช้ฟอกตัวหลังขั้นตอนการอาบน้ำ เหมาะสำหรับผู้ที่มีผื่นเกลื้อนเป็นบริเวณกว้าง
ข. การรักษาโรคเกลื้อนที่เป็นซ้ำย่อยๆ: อาจรักษาแบบป้องกัน ซึ่งต้องขึ้นกับดุลพินิจของแพทย์เท่านั้น
- อาจโดยการใช้ยาทาสัปดาห์ละหนึ่งครั้งนานประมาณ 2-3 เดือนในบริเวณที่มักเป็นผื่นบ่อยๆ
- หรืออาจใช้วิธีกินยาเดือนละ 1 ครั้ง ประมาณ 6 เดือน
*อนึ่ง: สำหรับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณในการรักษาโรคเกลื้อน เช่น ทองพันชั่ง กุ่มบก ข่า อัคคีทวาร เป็นต้น สำหรับวิธีการใช้ และระยะเวลาการใช้ควรศึกษาจากตำรา หรือปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพรไทย
ควรดูแลตนเองและป้องกันโรคเกลื้อนอย่างไร?
การดูแลตนเอง และการป้องกันโรคเกลื้อน ได้แก่
ก. ผู้ที่เคยเป็นโรคเกลื้อนแล้ว เมื่อกลับเป็นซ้ำอีก มักจะให้การวินิจฉัยด้วยตัวเองได้ และสามารถซื้อยารักษาจากร้านขายยาเองได้ แต่ต้องให้”เภสัชกร” อธิบายการใช้ยาให้ละเอียด เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีการใช้ และระยะเวลาการใช้ที่ไม่เหมือนกัน มีผลข้างเคียงแตกต่างกัน และหากเคยแพ้ยาอะไร ต้องแจ้งให้เภสัชกรทราบด้วย *สำหรับผู้ที่เป็นบ่อยๆ และต้องการใช้ยาสำหรับป้องกัน ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
ข. ในกรณีเป็นเด็ก (นิยามคำว่าเด็ก)โดยเฉพาะเด็กเล็ก ผู้ปกครองไม่ควรรักษาเอง เพราะการเลือกชนิดยา และปริมาณยาจะแตกต่างกับในผู้ใหญ่ และในเด็กเล็กมักมีผลข้างเคียงจากยาสูงกว่าในผู้ใหญ่เมื่อใช้ขนาดยาไม่ถูกต้อง
ค. ทั้งผู้ป่วยและบุคคลทั่วไป ควรรักษาความสะอาดของร่างกายไม่ให้เหงื่อไคลหมักหมม โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อน ถ้าเหงื่อออกมาก ก็ให้อาบน้ำบ่อยๆ และเช็ดตัวให้แห้ง
ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?
เมื่อเป็นโรคเกลื้อน หรือสงสัยโรคเกลื้อน ควรพบแพทย์/มาโรงพยาบาล เมื่อ
- พบมีผื่นวงกลมแบนราบตามลักษณะข้างต้นขึ้นตามร่าง กาย และได้รักษาด้วยยารักษาเกลื้อนด้วยตนเองมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ผื่นไม่ดีขึ้น ควรพบแพทย์ หรืออาจพบแพทย์/มาโรงพยาบาลตั้งแต่ต้น หากไม่แน่ใจว่าเป็นโรคเกลื้อนหรือไม่
- พบผื่นดังกล่าว โดยพบในบริเวณที่แปลกออกไป เช่น ตามใบหน้า มือ เท้า เพราะอาจเป็นโรคอื่นๆที่ไม่ใช่เกลื้อน เช่น โรคด่างขาว เกลื้อนน้ำ นม ซึ่งมีวิธี และยาที่ใช้รักษาจะแตกต่างกัน
บรรณานุกรม
1. Tinea Versicolor. http://emedicine.medscape.com/article/1091575-overview#showall[2020,June6]
2. Pediatric Pityriasis Alba. http://emedicine.medscape.com/article/910770-overview#showall [2020,June6]
3. กลุ่มยารักษาโรคผิวหนัง ผื่นคัน กลากเกลื้อน http://www.rspg.or.th/plants_data/herbs/herbs_02_1.htm [2020,June6]