เกลื้อน (Pityriasis versicolor) - Update
- โดย ณภัทร กิตติวรนนท์
- 13 ธันวาคม 2567
- Tweet
สารบัญ
- เกริ่นนํา
- อาการและสัญญาณของโรคเกลื้อน
- ลักษณะของโรคเกลื้อน
- การวินิจฉัยโรค
- การรักษา
- ยาทาเฉพาะที่
- ยาเเบบรับประทาน
- การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
เกริ่นนำ
เกลื้อน เป็นภาวะที่ผิวหนังมีการเกิดผื่นบริเวณลำตัวและแขนขาส่วนต้น สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อรา เชื้อยีสต์เหล่านี้ปกติจะพบอยู่บนผิวหนังของมนุษย์ และจะก่อปัญหาเมื่ออยู่ในสภาวะที่เหมาะสม เช่น สภาพอากาศที่ร้อนและชื้น แม้ว่าตอนนี้จะยังไม่เข้าใจแน่ชัดว่าสภาวะใดที่เริ่มต้นกระบวนการของโรคนี้
โรคเกลื้อน ถูกระบุครั้งแรกในปี ค.ศ. 1846 ชื่อ versicolor มาจากภาษาละติน versāre ที่หมายถึง “การเปลี่ยนแปลง” + color ที่หมายถึง “สี” ในหลายพื้นที่ของเอเชียใต้ โรคนี้มักถูกเรียกว่า “โรคปีเตอร์อีแลม” (Peter Elams)
อาการและสัญญาณของโรคเกลื้อน
โรคเกลื้อนมักทำให้เกิดภาวะผิวหนังสีจาง โดยสามารถมองเห็นได้ชัดในผู้ที่มีโทนสีผิวเข้ม โรคเกลื้อน ในผู้ชาย และภาพจากกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนแสดงให้เห็นสปอร์ของเชื้อรา Malassezia ที่มีลักษณะเป็นวงกลมบนผิวหนังของเขา
ลักษณะของโรคเกลื้อน
- มีขุยบาง ๆ บนผิวหนังที่หลุดลอกเป็นเกล็ดเล็กน้อย
- รอยโรคมีสีซีด, สีน้ำตาลเข้ม, หรือสีชมพู พร้อมกับเฉดสีแดงที่อาจเข้มขึ้นเมื่อผู้ป่วยมีอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น เช่น หลังอาบน้ำอุ่นหรือหลังออกกำลังกาย การฟอกผิว มักทำให้รอยโรคเด่นชัดขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับผิวบริเวณโดยรอบ
- มีขอบเขตชัดเจนระหว่างผิวหนังที่เป็นรอยโรคกับผิวหนังปกติ
โรคเกลื้อน พบได้บ่อยในสภาพอากาศร้อนและชื้น หรือในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก ซึ่งอาจเกิดซ้ำในช่วงฤดูร้อนของทุกปี ยีสต์ที่เป็นสาเหตุสามารถมองเห็นได้ด้วยกล้องจุลทรรศน์ในบริเวณรอยโรค และมักมีลักษณะที่เรียกว่าเหมือนสปาเกตตี้เเละลูกชิ้น เนื่องจากยีสต์ทรงกลมสร้างเส้นใยขึ้นมา ในผู้ที่มีสีผิวเข้ม มักเกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผิว เช่น ภาวะสีผิวซีด ในขณะที่ผู้ที่มีสีผิวอ่อน มักเกิดภาวะสีผิวเข้มขึ้น เนื่องจากผิวหนังที่ติดเชื้อจะไม่เปลี่ยนสีตามการถูกแดดเหมือนผิวหนังปกติ ทำให้เกิดการฟอกสีผิวที่ไม่สม่ำเสมอ จึงมีการเรียกภาวะนี้ว่า "เชื้อราจากแสงแดด" ในบางครั้ง
การวินิจฉัยโรค
โรคเกลื้อน สามารถวินิจฉัยได้โดยการเตรียมตัวอย่างด้วยโพแทสเซียมไฮดรอกไซด์ และรอยโรคอาจเรืองแสงเป็นสีส้มทองแดงเมื่อส่องด้วย Wood's lamp (แสง UV-A)
การวินิจฉัยแยกโรคสำหรับการติดเชื้อเกลื้อน คือการเปรียบเทียบกับโรคอื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อช่วยให้แพทย์ระบุโรคได้ถูกต้อง โรคที่มักต้องแยกออกมีดังนี้:
- ภาวะสีผิวซีดแบบกระจายตัวอย่างต่อเนื่อง
- ผื่นผิวขาวชนิดพิติไรเอซิสอัลบา (ลักษณะเป็นผื่นหรือรอยด่างสีขาวที่เกิดจากภาวะผิวแห้ง พบได้บ่อยในเด็ก)
- ผื่นกุหลาบ (ลักษณะเป็นผื่นแดงรูปไข่ คล้ายกลีบกุหลาบ มักพบในวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ช่วงต้น)
- โรคผิวหนังอักเสบจากไขมัน
- โรคผิวหนังอีริทราสมา (เป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่ทำให้เกิดรอยปื้นสีน้ำตาลแดง บริเวณรอยพับของผิวหนัง เช่น ขาหนีบ รักแร้)
- โรคด่างขาว
- โรคเรื้อน
- ซิฟิลิส
- ภาวะสีผิวซีดหลังการอักเสบ
การรักษา
- ยาทาเฉพาะที่
- ยาต้านเชื้อรา เช่น selenium sulfide มักถูกแนะนำ
- Ketoconazole (ยาต้านเชื้อราที่มีทั้งในรูปแบบครีมและยาสระผมเเบรนด์ Nizoral) ใช้ทาลงบนผิวแห้ง ทิ้งไว้ 20 นาทีแล้วล้างออก ทำซ้ำทุกวันเป็นเวลา 2 สัปดาห์
- Ciclopirox olamine (ยาต้านเชื้อราที่ช่วยยับยั้งการเติบโตของเชื้อราและลดการอักเสบ) เป็นอีกทางเลือกที่ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อรา และช่วยลดอาการอักเสบ
- ยาต้านเชื้อราอื่น ๆ เช่น clotrimazole, miconazole, terbinafine หรือ zinc pyrithione สามารถบรรเทาอาการได้ในบางกรณี
- Hydrogen peroxide เคยใช้ในการบรรเทาอาการ แต่บางครั้งอาจทำให้เกิดแผลเป็นถาวร
- Clotrimazole บางครั้งใช้ร่วมกับ selenium sulfide
- ยาเเบบรับประทาน
ยารับประทานมักใช้ในกรณีที่เป็นเกลื้อนรุนแรง หรือมีการกลับมาเป็นซ้ำ โดยมียาที่นิยมใช้ได้แก่: - Itraconazole: 200 มิลลิกรัมต่อวัน นาน 7 วัน
- Fluconazole: 150–300 มิลลิกรัมต่อสัปดาห์ เป็นเวลา 2–4 สัปดาห์
- Ketoconazole แบบรับประทาน ไม่ได้รับอนุมัติอีกต่อไปเนื่องจากผลข้างเคียงที่เป็นพิษต่อตับ
การเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา
ผู้ป่วยสามารถออกกำลังกาย 1–2 ชั่วโมงหลังรับประทานยาเพื่อกระตุ้นให้เหงื่อออก จากนั้นปล่อยให้เหงื่อระเหยโดยไม่อาบน้ำทันที เพื่อให้ฟิล์มของยายังคงอยู่บนผิวหนังเป็นเวลา 1 วันก่อนอาบน้ำ
อ่านตรวจทานโดย นพ. ธัชชัย วิจารณ์
แปลและเรียบเรียงจาก https://en.wikipedia.org/wiki/Tinea_versicolor [2024, December 12] โดย ณภัทร กิตติวรนนท์