อะซาไธโอพรีน (Azathioprine)

สารบัญ

บทความที่เกี่ยวข้อง

บทนำ: คือยาอะไร?

 อะซาไธโอพรีน (Azathioprine) คือ ยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย  โดยนำมาใช้ในการรักษาโรค หรือ ภาวะที่ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายทำงานต่อต้านเนื้อเยื่อของร่างกายเอง ยานี้เป็นยาประเภทโปรดรัก(Prodrug) หรือ ยาที่ต้องได้รับการเปลี่ยนรูปหรือเมแทโบไลท์(Metabolite) ในร่างกายก่อนเปลี่ยนเป็นรูปแบบที่ยาสามารถออกฤทธิ์ได้

ยาอะซาไธโอพรีนจัดเป็นยาจำเป็นที่มีในบัญชียาขององค์การอนามัยโลก (WHO Model List of Essential Medicines) และจัดเป็นยาอันตรายตามกฎหมายของไทย การใช้ยานี้ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างใกล้ชิด

ยาอะซาไธโอพรีนมีสรรพคุณอย่างไร?

อะซาไธโอพรีน

ยาอะซาไธโอพรีนมีสรรพคุณ/ข้อบ่งใช้ เป็นยากดภูมิคุ้มกัน(Immunosuppressant) มีข้อบ่งใช้รักษาโรคดังต่อไปนี้ เช่น

1. โรคข้อรูมาตอยด์
2. โรคลูปัส-โรคเอสแอลอี หรือโรคภูมิต้านตันเอง/โรคออโตอิมมูน
3. โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ (Dermatomyositis and Polymyositis)
4. โรคตับอักเสบจากภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง(Auto-immune chronic active hepatitis)
5. โรคเพมฟิกัสวัลการิส (Pemphigus vulgaris) หรือภาวะที่มีการแยกตัวของผิวหนังในชั้นลึกจากภูมิคุ้มกันฯของร่างกายทำลายการยึดของเซลล์ผิวหนัง มีอาการแสดงคือการเกิดตุ่มน้ำพองโดยทั่วไปบริเวณผิวหนัง
6. Immune Thrombocytopenia (ITP) หรือภาวะที่ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต้านโรค ต้าน/ ทำลายเกล็ดเลือดของตัวเอง (เป็นข้อบ่งใช้ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน/Unlabeled use)
7. Autoimmune Hemolytic Anemia (IHA) หรือภาวะที่ผู้ป่วยสร้างภูมิคุ้มกันฯขึ้นมาต้านทานเม็ดเลือดของตัวเอง
8. Thrombocytopenic Purpura (TTP) เป็นภาวะที่เกล็ดเลือดในร่างกายเกาะ/จับรวมตัวกันส่งผลทำให้เกิดภาวะเกล็ดเลือดต่ำ และเกิดการอุดตันของหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆจากเกล็ดเลือดที่จับรวมตัวกัน
9. โรคโครห์น (Crohn’s Disease) และโรคลำไส้ใหญ่อักเสบเป็นแผลเรื้อรัง(Ulcerative colitis) เป็นโรคที่เกี่ยวกับการเกิดแผลในระบบทางเดินอาหาร (เป็นข้อบ่งใช้ที่ไม่ได้รับการขึ้นทะเบียน/Unlabeled use)

10. ใช้ในผู้ป่วยหลังเปลี่ยนถ่ายไตเพื่อกดภูมิคุ้มกันฯเพื่อป้องกันร่างกายไม่ยอมรับไตใหม่

ยาอะซาไธโอพรีนออกฤทธิ์อย่างไร?

ยาอะซาไธโอพรันเป็นยาประเภทโปรดรัก หรือยาที่ต้องได้รับการเมทาโบไลท์ใน ร่างกายก่อนจึงจะอยู่ในรูปที่สามารถออกฤทธิ์ได้ ยาอะซาไธโอพรีนเป็นโปรดรักของยาเมอร์แคปโตพิวรีน (Mercaptopurine, ยาเคมีบำบัดชนิดหนึ่ง) ออกฤทธิ์โดยการยับยั้งกระบวนการสังเคราะห์สารพันธุกรรมได้แก่ ดีเอ็นเอ (DNA), อาร์เอ็นเอ (RNA) และโปรตีนบางชนิดในขั้นตอนของการแบ่งเพิ่มจำนวนเซลล์ ยาอะซาไธโอพรีนจึงมีฤทธิ์ในการยับยั้งการเพิ่มจำนวนเซลล์ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวเร็ว เช่น เซลล์เม็ดเลือดขาวชนิดลิมโฟไซต์ (Lymphocytes) ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสร้างภูมิคุ้มกันฯของร่างกาย เมื่อผู้ป่วยได้รับยานี้จึงมีระดับภูมิคุ้มกันฯที่ลดลงจึงนำมาใช้ในการรักษาโรคที่มีความเกี่ยวข้องกับภาวะที่ภูมิคุ้มกันฯของร่างกายต่อต้านเนื้อเยื่อของร่างกายเองหรือการแพ้ภูมิตัวเอง/โรคภูมิต้านตนเอง

ยาอะซาไธโอพรีนมีรูปแบบจัดจำหน่ายอย่างไร?

         ยาอะซาไธโอพรีนมีการจัดจำหน่าย:

  • ยาเม็ด ขนาดความแรง 50 มิลลิกรัมต่อเม็ด

ยาอะซาไธโอพรีนมีขนาดรับประทานอย่างไร?

ยาอะซาไธโอพรีนมีขนาดใช้ยาซึ่งขอยกตัวอย่างดังต่อไปนี้ เช่น

ก. โรคข้อรูมาตอยด์: เช่น

  • เริ่มต้นการรักษาด้วยขนาดยา 1 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน โดยอาจให้ครั้งเดียวต่อวันหรือแบ่งให้เป็นวันละสองครั้งก็ได้ และแพทย์อาจปรับระดับยาจนกว่าได้ผลการรักษา ที่พึงพอใจขึ้นอยู่กับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา การรักษาด้วยยานี้อาจใช้เวลาอย่างน้อย 12 สัปดาห์ในการดูผลการตอบสนองต่อการรักษา
  • หลังจากแพทย์ปรับจนได้ขนาดยาที่เหมาะสมต่อการตอบสนองต่อการรักษา เมื่อผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นหรือสามารถควบคุมอาการได้ในระยะหนึ่ง แพทย์อาจพิจารณาปรับขนาดยาลดลง โดยให้อยู่ในระดับยาที่ต่ำที่สุดที่ตอบสนองต่อการรักษาหรือต่อการควบคุมอาการ

         ข. โรคผิวหนังและกล้ามเนื้ออักเสบ:  เช่น

  • ขนาดยาโดยทั่วไปคือวันละ 50 มิลลิกรัมโดยให้ร่วมกับยาเพรดนิโซโลน (Prednisolone) การปรับระดับยาขึ้นอยู่กับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

         ค. Immune Thrombocytopenia (ITP): เช่น

  • ขนาดยาโดยทั่วไปคือวันละ 100 - 200 มิลลิกรัม การปรับระดับยาขึ้นอยู่กับดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษาซึ่งขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อยาของผู้ป่วย

         ง. ในผู้ป่วยหลังเปลี่ยนถ่ายไต (Renal transplantation): เช่น

  • โดยทั่วไปเริ่มให้ยาวันแรกในวันที่มีการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต ขนาดยาโดยทั่วไปคือ 3 - 5 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน หากการตอบสนองต่อยาได้ดีแพทย์อาจพิจารณาปรับระดับยาลดลงได้

         จ. ข้อบ่งใช้อื่นๆ: เช่น

  • สำหรับข้อบ่งใช้อื่นๆ ยาอะซาโธโอพรีนมีขนาดยาเริ่มต้นโดยทั่วไปที่ 1 - 3 มิลลิกรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมต่อวัน การปรับขนาดยาเพิ่มหรือลดขึ้นกับการตอบสนองของผู้ป่วยต่อยา อาการข้างเคียงจากยาที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยและดุลยวินิจของแพทย์ผู้ทำการรักษา
  • การใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคไต แพทย์ผู้รักษาอาจพิจารณาปรับระดับยาลดลงตามค่าการทำ งานของไต (Creatinine Clearance) ผู้ป่วย

 *อนึ่ง: ควรทานยานี้หลังอาหารเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (ผลข้างเคียง) เช่น คลื่นไส้อาเจียน

 *****หมายเหตุ:ขนาดยาและระยะเวลาในการใช้ยาที่ระบุในบทความนี้ เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งเท่านั้น ไม่สามารถใช้ทดแทนคำสั่งใช้ยาของแพทย์ผู้รักษาได้ การใช้ยาที่เหมาะสมควรต้องปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอ

เมื่อมีการสั่งยาควรแจ้งแพทย์/พยาบาลและเภสัชกรอย่างไร?

เมื่อมีการสั่งยาอะซาไธโอพรีน ควรแจ้ง  แพทย์ พยาบาล และเภสัชกร เช่น

  • ประวัติการแพ้ยา แพ้อาหาร และแพ้สารเคมีทุกชนิด
  • ประวัติการใช้ยาต่างๆทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ซื้อทานเอง รวมไปถึง วิตามิน ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และสมุนไพร โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากกำลังใช้ยาดังต่อไปนี้ เช่น
    • ยาต้านการอักเสบ เช่นยา เมซาลาไมน์ (Mesalamine) ยาออลซาลาซีน (Olsalazine) และยาซัลฟาซาลาซีน (Sulfasalazine)
    • กลุ่มยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่นยา วาฟาริน (Warfarin)
  • โรคประจำตัวโดยเฉพาะโรคติดเชื้อ โรคมะเร็ง และโรคไต
  • แจ้งให้แพทย์ทราบหากผู้ใช้ยากำลังตั้งครรภ์ วางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระยะให้นมบุตร
  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาอะซาไธโอพรีนหากจำเป็นต้องได้รับการผ่าตัด รวมถึงการผ่าตัดในช่องปากควรแจ้งให้ทันตแพทย์ทราบล่วงหน้า
  • แจ้งให้แพทย์ทราบว่ากำลังใช้ยาอะซาไธโอพรีนหากต้องได้รับวัคซีนต่างๆ เนื่องจากภูมิคุ้มกันฯของร่างกายผู้ป่วยต่ำกว่าปกติจึงมีความเสี่ยงในการติดเชื้อสูงกว่าบุคคลทั่วไปถ้าวัคซีนที่ใช้เป็นวัคซีนเชื้อเป็น นอกจากนั้นวัคซีนที่ฉีดยังมีผลอาจไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

หากลืมรับประทานยาควรทำอย่างไร?

หากลืมรับประทานยาอะซาไธโอพรีน ให้รับประทานทันทีเมื่อนึกขึ้นได้ แต่หากใกล้เคียงกับการรับประทานมื้อถัดไป ให้ข้ามไปโดยไม่ต้องเพิ่มปริมาณยาเป็น 2 เท่าในการรับประทานมื้อถัดไป

ยาอะซาไธโอพรีนมีผลไม่พึงประสงค์ไหม?

ยาอะซาไธโอพรีนอาจก่อให้เกิดผล/อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(ผลข้างเคียง/ อาการข้างเคียง)บางประการ เช่น

  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ท้องเสีย

*อนึ่ง หากอาการดังกล่าวไม่ดีขึ้น หรือมีแนวโน้มว่าจะแย่ลงให้รีบแจ้งให้แพทย์ทราบ/รีบไปโรงพยาบาล

นอกจากนั้น:

  • หากรับประทานยาอะซาไธโอพรีนแล้วเกิดอาการแพ้ยา เช่น ผื่นคัน อาการบวมของริมฝี ปาก เปลือกตา/หนังตา ใบหน้า หรือหายใจไม่สะดวก/หายใจลำบาก ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน
  • อาการข้างเคียงที่มีความรุนแรงเช่น มีผื่นคันขึ้นทั้งตัว มีอาการเหมือนติดเชื้อ เช่น มีไข้ หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลียอย่างรุนแรง อาการเหมือนเลือดออกได้แก่ มีจ้ำห้อเลือด ปัสสาวะเหมือนมีเลือดปนหรือมีสีน้ำตาล อุจจาระเหนียวและมีสีดำเข้ม น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว ให้รีบพบแพทย์/ไปโรงพยาบาลโดยทันที/ฉุกเฉิน

อย่างไรก็ดี ผู้ป่วยควรตระหนักว่า การที่แพทย์สั่งใช้ยานี้เนื่องจากแพทย์พิจารณาแล้วเห็นว่ายานี้จะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมากกว่าโทษหรือมากกว่าการได้รับผลข้างเคียงจากยา ผู้ป่วยที่ได้รับยานี้ส่วนมากพบว่าอาจเกิดผลข้างเคียงชนิดรุนแรงได้ง่าย ผู้ป่วยจึงควรเฝ้าระวังผลข้าง เคียงดังกล่าวที่อาจเกิดขึ้นและรีบแจ้งให้แพทย์ผู้ทำการรักษาทราบ/ไปโรงพยาบาลก่อนนัด หรือทันที/ฉุกเฉินหากเกิดอาการรุนแรงดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น

ยาอะซาไธโอพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่นไหม?

ยาอะซาไธโอพรีนมีปฏิกิริยาระหว่างยากับยาตัวอื่น เช่น

ก. หลีกเลี่ยงการใช้ยาต่อไปนี้ร่วมกับยาอะซาไธโอพรีน เช่น

  • วัคซีนบีซีจี (BCG, วัคซีนวัณโรค)
  • ยารักษาโรคข้อรูมาตอยด์ชนิดอื่น เช่น ยาฟีบูโซสแตด (Febuxostat)
  • ยากดภูมิคุ้มกันฯชนิดต่างๆ เช่น ยาเมอร์แคปโตพิวรีน  ยานาทาลิซูแมบ (Natalizumab)  ยาพิโมโครไลมัส (Pimocrolimus) ยาทาโครไลมัส (Tacrolimus)

ข. การใช้ยานี้ร่วมกับยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาฟาริน   ควรรับการตรวจวัดค่า PT/INR (Prothrombin time/International normalized ratio, ค่าบ่งบอกการแข็ง ตัวของเลือด) ภายใต้การดูแลของแพทย์ผู้รักษาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้แพทย์ผู้ทำการรักษาสามารถปรับระดับยาวาฟารินให้เหมาะสม

มีข้อควรระวังในการใช้ยาอะซาไธโอพรีนอย่างไร?

มีข้อควรระวังในการใช้ยาอะซาไธโอพรีน เช่น

  • ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่แพ้ยาหรือแพ้ส่วนประกอบของยานี้
  • ควรหลีกเลี่ยงการใช้ในสตรีตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
  • ผู้ป่วยควรได้รับการตรวจเม็ดเลือด (Complete Blood Count; CBC) ในช่วงเริ่มต้นการให้ยาอะซาไธโอพรีนและมีการตรวจวัดอย่างสม่ำเสมอ ในผู้ป่วยบางรายพบว่าในร่างกายอาจขาดเอนไซม์ Thiopurine Methyltransferase (TPMT) ซึ่งเป็นเอนไซม์ที่ใช้ในการ (การเปลี่ยนรูปที่รวมถึงการทำลาย) ยาอะซาไธโอพรีน ในผู้ป่วยกลุ่มนี้อาจมีความเสี่ยงในการเกิดการกดไขกระดูกสูงขึ้น การติดตามระดับเม็ดเลือดหรือการตรวจซีบีซี/CBC จึงมีความสำคัญในการเฝ้าระวังและป้องกันการกดไขกระดูก
  • ควรทานยานี้หลังอาหารเพื่อป้องกันอาการไม่พึงประสงค์ เช่น คลื่นไส้อาเจียน
  • ห้ามแบ่งยาให้ผู้อื่นใช้
  • ห้ามใช้ยาหมดอายุ
  • ห้ามเก็บยาหมดอายุ

***** อนึ่ง:  ทุกคนต้องตระหนักถึงความปลอดภัยจากการใช้ ”ยา” ที่รวมถึงยาแผนปัจจุบันทุกชนิด (รวมยาอะซาไธโอพรีน) ยาแผนโบราณ   อาหารเสริม  ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร  ทุกชนิด  และสมุนไพรต่างๆเสมอ เพราะยามีทั้งให้คุณและให้โทษ ดังนั้นเมื่อมีการใช้ยาทุกชนิดควรต้องปฏิบัติตามข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิดเสมอ (อ่านเพิ่มเติมได้ในเว็บ haamor.com บทความเรื่อง ข้อปฏิบัติพื้นฐานในการใช้ยาทุกชนิด) รวมทั้งควรต้องปรึกษาเภสัชกรประจำร้านขายยาก่อนซื้อยาใช้เองเสมอด้วยเช่นกัน

ควรเก็บรักษายาอะซาไธโอพรีนอย่างไร?

ควรเก็บรักษายาอะซาไธโอพรีน: เช่น

  • เก็บยาในภาชนะดั้งเดิมของผู้ผลิต ปิดฝาภาชนะให้แน่น และ เก็บให้พ้นมือเด็กและสัตว์เลี้ยง
  • หลีกเลี่ยงการเก็บยานี้ในบริเวณที่มีความชื้นสูง เช่น บริเวณใกล้ห้องน้ำหรือในตู้เย็น ไม่ควรนำสารดูดความชื้นที่ผู้ผลิตใส่ไว้ในภาชนะของผลิตภัณฑ์ออกจากภาชนะ
  • เก็บภาชนะบรรจุยานี้ในอุณหภูมิห้อง

ยาอะซาไธโอพรีนมีชื่ออื่นอีกไหม? ผลิตจากบริษัทอะไรบ้าง?

ยาอะซาไธโอพรีน มียาชื่อการค้าอื่น และบริษัทผู้ผลิต เช่น

ชื่อการค้า บริษัทผู้ผลิต
อะซาไธโอพรีน ฟาร์มาเคมี (Azathioprine Pharmachemie) Pharmachemie/Teva
อิมูพรีน (Imuprin) Remedica
ซิโนธิน (Zinothin) Naprod Life Sciences

 

บรรณานุกรม

  1. อารยา กว้างสุขสถิตย์. https://mgronline.com/qol/detail/9570000093407 [2022,July2]
  2. American Pharmacists Association. Azathioprine, Drug Information Handbook with International Trade Names. 23;2014:209-10
  3. https://www.medicines.org.uk/emc/product/11143/smpc#gref [2022,July2] 
  4. https://apps.who.int/iris/bitstream/handle/10665/93142/EML_18_eng.pdf;jsessionid=E5A1DAE8128D6C1547523C7D76B55E47?sequence=1 [2022,July2]